ศาสตราจารย์ สายัณห์ ไพรชาญจิตร์
ภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อดีตคณบดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา ประจำปี 2557
ภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อดีตคณบดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา ประจำปี 2557
วิกฤตเรื่องการบูรณะโบราณสถานที่พุทธปรางค์วัดอรุณ ฯ เป็นอาการสุดท้ายของฝีที่กลัดหนองมานาน 25 ปีนับตั้งแต่กรมศิลปากร ได้เลือกใช้วิธีการจ้างเหมาบริษัทเอกชนดำเนินการทุกขั้นตอน (ประมาณ พ.ศ.2534-2535 เริ่มจ้างเหมาครั้งแรกในการบูรณะปราสาทเมืองสิงห์) แทนการดำเนินการเองโดยคณะทำงานสหสาขาประกอบด้วยนักโบราณคดี สถาปนิก วิศวกร ช่างโยธา ช่างศิลป์ ช่างสิบหมู่เชี่ยวชาญงานช่างสาขาต่างๆ ที่เป็นข้าราชการและลูกจ้างของกรมศิลปากร โดยผู้บริหารในสมัยนั้นอ้างว่า "ช้า" และต่อมาก็จ้างเหมาทำงานวิชาการโบราณคดี งานศึกษา+ออกแบบ+จัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแบบครบวงจร และอีกสารพัดงาน
ซึ่งในช่วงที่ข้าราชการกรมศิลปากรดำเนินการบูรณะเอง (จ้างเฉพาะคนงานและช่างลูกมือ) นั้น ไม่มีกรณีใดถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องความผิดเพี้ยนหรือผลงานไม่ดี (แม้ว่าจะมีอยู่บ้างก็ตาม) เพราะคนไทยเชื่อมั่นในกรมศิลปากร และไม่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจ+กำไร มาทำให้ไขว้เขวหรือบิดเบือน อาจจะมีทุจริตบ้างก็ถูกลงโทษกันไป ที่ถูกไล่ออกก็มีหลายราย แต่โบราณสถานไม่เสียหายจนเกินทน
ในระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมากรมศิลปากรจ้างเหมาเอกชนบูรณะโบราณสถานนับร้อยแห่ง บางแห่งทำหลายครั้ง ใช้งบประมาณจ้างเหมาไปแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท (หนึ่งหมื่นล้านบาท) และมีโบราณสถานสำคัญที่ได้รับการบูรณะโดยวิธีจ้างเหมาถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่าผลงานไม่ดี ทำลายของเก่า เปลี่ยนรูปแบบจนน่าเกลียด ทำให้สังคมไทยไม่ไว้วางใจและไม่ยอมรับการดำเนินงานของกรมศิลปากรเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้ทำให้การจ้างเหมาบูรณะโบราณสถานลดปริมาณลงไปแต่อย่างใด
มีการตั้งบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัดขึ้นมารับงานโบราณคดี งานบูรณะโบราณสถานกันเป็นจำนวนมาก บริษัทก่อสร้างทั่วไปที่มีเส้นสายดีๆ ในวงในก็สามารถเข้ามาช่วงชิงงานบูรณะโครงการใหญ่ๆ และผูกขาดการรับงานมากขึ้นเป็นลำดับ ข้าราชการกรมศิลปากรจำนวนหนึ่งลาออกไปตั้งบริษัท หจก. รับงานจ้างเหมาบูรณะจนร่ำรวยไปตามๆ กัน บริษัทใหญ่ๆ ลงทุนจ้างอดีตข้าราชการใหญ่ของกรมศิลปากรที่เกษียณอายุแล้วมาเป็นที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญเพื่อเป็นหลักประกันในการ “ได้งาน” “ผ่านงาน” และอ้างอิงความถูกต้องในการทำงาน
......วันนี้ฝีจ้างเหมาบูรณะที่กลัดหนองมานานสุกเต็มที่ได้แตกแล้ว หนองและเลือดไหลท่วมแผ่นดิน จะพยายามอุดหนองและห้ามเลือดอย่างไรก็ยังไหลไม่หยุด อธิบดีกรมศิลปากรคนปัจจุบันจึงรับเละ แก้ตัวอย่างไร อธิบายอย่างไรก็ไม่มีใครฟังแล้ว รองอธิบดี ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม สำนักโบราณคดี กรรมการวิชาการด้านโบราณสถานของกรมศิลปากร ปิดปากเงียบกริบ (ซึ่งก็เป็นอย่างนี้มาทุกยุคทุกสมัย)
อธิบดีฯจะต้านพายุอารมณ์เรื่องพุทธปรางค์วัดอรุณฯ ไปได้นานเท่าไรก็ไม่รู้ ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็มาจาก “การจ้างเหมาบูรณะ” ที่สะสมความล้มเหลวมาหลายสิบแห่งจนถูกสังคมสงสัยว่าไม่โปร่งใส.......ทางออกอยู่ตรงไหน? ช่วยกันคิดนะครับ พุทธปรางค์วัดอรุณฯ ที่บูรณะไปแล้ว คงทำอะไรไม่ได้มากแล้ว นอกจากทนดูแบบนี้กันต่อไป แต่ต้องมีการทบทวนและปฏิรูปการบูรณะโบราณสถานโดยด่วนที่สุด
เหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบูรณะโบราณสถานทั่วประเทศไทยมีปัญหา โบราณสถานถูกเปลี่ยนแปลงสภาพจนหมดคุณค่า การบูรณะโบราณสถานมีค่าใช้จ่ายแพงขึ้นๆๆๆๆๆ เช่นที่เกิดขึ้นกับพุทธปรางค์วัดอรุณราชวราราม และอีกหลายสิบแห่งก็คือ ระบบการจ้างเหมาที่ทำกันมานานหลายสิบปี แม้ว่าจะยังไม่เคยมีการวิจัยประเมินผลได้ผลเสียของระบบนี้ แต่ผมเห็นว่าเสียมากกว่าได้หลายร้อยเท่า ส่วนรวมเสียมากกว่าได้ มีไม่กี่คนที่ร่ำรวยจากระบบการจ้างเหมา ดังนั้น ต้องตัดไฟเสียแต่ต้นลมด้วยการ ลด และเลิกระบบการจ้างเหมาทั้งงานโบราณคดีและงานบูรณะโบราณสถานเสียแต่บัดนี้ เพราะทั้งแพงและพัง
....เลิกระบบจ้างเหมาดีที่สุด เพื่อไม่ให้โบราณสถานสำคัญๆแห่งอื่นๆ ถูกทำให้เป็น "ปัจจุบันสถาน" อีกต่อไป