xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้นภาษีน้ำหวาน คาด"ดื่มชูกำลัง-น้ำอัดลม"ผลักภาระคนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360-คลังชงพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากเครื่องดื่มผสมน้ำตาลทรายให้ ครม. พิจารณาวันนี้ อิงระดับความหวาน 5 ระดับ ต่ำสุด 0-6 กรัมต่อ 100 มิลลิกรัม ไม่เสียภาษี แต่ถ้าความหวานสูงเกิน 14 กรัมต่อ 100 มิลลิกรัม จะเสียภาษีสูงสุด 1 บาท เผยเครื่องดื่มชูกำลัง เจอภาษีสูงสุด รองลงมา คือ น้ำอัดลม คาดประชาชนรับเคราะห์แทน เหตุถูกผลักภาระด้านราคา ระบุมีเวลาให้ผู้ประกอบการปรับตัว 2 ปี เริ่มเก็บจริงปี 63 ส่วนภาษีเหล้า-บุหรี่ จะเสนอครม. อนุมัติอีกครั้งก่อนกฎหมายบังคับใช้ 16 ก.ย.นี้

นายสมชาย พูนสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเสนอกฎหมายลูกตามพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ว่า กระทรวงการคลังจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติกฎกระทรวงเกี่ยวข้องกับการกำหนดตัวเลขพิกัดอัตราภาษีที่กรมสรรพสามิตจะใช้เก็บจริงสำหรับรายการสินค้าทั่วไป เช่น รถยนต์ เครื่องดื่ม ในวันนี้ (15 ส.ค.) ก่อนจะประกาศให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ส่วนพิกัดอัตราภาษีในหมวดรายการสินค้าที่มีความอ่อนไหว เช่น เหล้า บุหรี่นั้น จะยังไม่เสนอให้ ครม. พิจารณาในครั้งนี้ แต่จะรอเสนออีกครั้งในช่วงที่ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตใหม่ใกล้จะมีผลบังคับใช้ คือ วันที่ 16 ก.ย.2560 โดยจะดำเนินการพร้อมกันกับการเสนอกฎกระทรวงเรื่องการกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตที่เป็นกฎหมายลูกซึ่งยังเหลืออีก 1 ฉบับ

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ผ่านมา ได้อนุมัติกฎกระทรวงเพื่อรองรับการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ไปแล้วทั้งสิ้น 28 ฉบับ จากจำนวนรวมการออกกฎกระทรวงที่จำเป็นทั้งสิ้น 30 ฉบับ โดยกฎกระทรวงทั้ง 28 ฉบับดังกล่าว จะเป็นเรื่องของกระบวนงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับวิธีชำระภาษี การขอใบอนุญาตต่างๆ เป็นต้น

สำหรับวัตถุประสงค์ของการกำหนดตัวเลขพิกัดอัตราภาษีสำหรับสินค้าทั่วไป เนื่องจากผู้ประกอบการเรียกร้องให้กำหนดพิกัดอัตราภาษีใหม่ที่ชัดเจน เพื่อใช้ในการคำนวณต้นทุนและวางแผนการดำเนินธุรกิจ หลังจากที่ผู้ประกอบการมีความเข้าใจว่าอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่จะไม่สร้างภาระให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคสินค้า แต่เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกในกระบวนการทำงานเท่านั้น

โดยการกำหนดพิกัดอัตราภาษีเครื่องดื่ม จะอิงตามค่าระดับความหวานใน 5 ระดับ คือ เริ่มตั้งแต่ 0-6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ไม่ต้องเสียภาษี , เกิน 6-8 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษีที่ 10 สตางค์ , เกิน 8-10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 30 สตางค์ , เกิน 10-14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 50 สตางค์ , เกิน 14-18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาท และตั้งแต่ 18 กรัมขึ้นไป เสียภาษีที่ 1 บาท

ทั้งนี้ เครื่องดื่มที่มีค่าความหวานเกิน 18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จะอยู่ในกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง ส่วนเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าภาษีที่ใหญ่สุด จะมีค่าความหวานอยู่ที่ระดับเกินกว่า 10-14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร

ส่วนระยะเวลาการเริ่มจัดเก็บภาษีตามอัตราใหม่ กรมสรรพสามิตจะกำหนดให้เริ่มเก็บจริงหลังกฎหมายได้มีผลบังคับใช้แล้ว 2 ปี เพื่อให้เวลาเอกชนในการปรับตัว โดยบางรายอาจยินยอมปรับสูตรการผลิตโดยการปรับลดค่าความหวานลง เพื่อที่จะทำให้ตัวเองเสียภาษีในอัตราที่ถูกลงเรื่อยๆ ตามช่วงค่าความหวานซึ่งสามารถปรับลดลงมาได้ แต่เมื่อถึงปี 2563 กรมสรรพากรจะเริ่มทำการเก็บภาษีตามอัตราใหม่ตามประกาศของกฎกระทรวงการคลัง และในทุกๆ 2 ปีกรมสรรพสามิตจะมีการทบทวนอัตราภาษีแบบขั้นบันใด โดยจะดำเนินการ 3 ครั้ง ซึ่งจะทำให้การปรับอัตราภาษีโดยรวมใช้เวลาทั้งสิ้น 6 ปี

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมสรรพากร ได้แสดงความเป็นห่วงต่อกลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและเครื่องดื่มที่ช่วยเหลือภาคการเกษตร เช่น เครื่องดื่มพืชผัก-ผลไม้ ซึ่งมีทั้งสิ้น 111 รายการตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่ก่อนการออกกฎหมายใหม่จะเป็นกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต แต่กำลังต้องเริ่มแบกรับภาษีค่าความหวานตามกฎหมายใหม่ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปรับขึ้นภาษีน้ำหวานในครั้งนี้ ผู้ผลิตมีแนวทางที่จะลดต้นทุนได้ คือ ต้องลดปริมาณน้ำตาลลงมา เพื่อให้เกณฑ์ความหวานลดต่ำลง และเสียภาษีในอัตราที่น้อยลง แต่หากไม่ลดปริมาณน้ำตาล จะมีทางออกอีกทางหนึ่ง ก็คือ การผลักภาระไปให้กับผู้บริโภคโดยการปรับขึ้นราคา เพื่อชดเชยต้นทุนภาษีที่สูงขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น