xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนปฏิรูปปิโตรเลียม วัดใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ประชาชนยังไม่ชนะ แต่ก็ยังไม่แพ้ !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ณ บ้านพระอาทิตย์"
"โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์"

หลังจากที่ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม และ พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ได้ประกาศใช้ลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว หลายคนอาจจะรู้สึกสิ้นหวังในการปฏิรูปพลังงานของประเทศ จนหลายคนอาจจะรู้สึกการต่อสู้ของภาคประชาชนนั้นสูญเปล่า

เพราะก่อนที่กฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเพียงไม่กี่วัน ศาลรัฐธรรมนูญก็ออกมาวินิจฉัยว่ากรณีที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และยังไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญก่อนทูลเกล้าถวายกฎหมายเพื่อลงพระปรมาภิไธย จึงย่อมทำให้ประชาชนเสียหาย แต่ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญกลับยกคำร้องดังกล่าวโดยระบุว่าประชาชนยังไม่ได้เป็นผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

เช่นเดียวกันกับผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ซึ่งนอกจากจะยกข้อร้องเรียนของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) โดยอ้างว่าในขณะที่ยื่นนั้นกฎหมายทั้ง 2 ฉบับยังอยู่ระหว่างการทูลเกล้าถวาย กฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับจึงยังไม่มีสภาพที่เป็นกฎหมายที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะตรวจสอบได้ แถมยังปิดประตูด้วยว่าผู้ที่จะยื่นเรื่องกฎหมายให้ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องเข้าชื่อกันโดยสมาชิกรัฐสภา

ซึ่งก็ไม่ต้องสงสัยกันอีกต่อไปเพราะไม่ว่ากฎหมายปิโตรเลียมจะขัดต่อรัฐธรรมนูญเพียงใด คงไม่มีคนในรัฐบาลและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนใดที่จะไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกต่อไป เป็นอันว่าขั้นตอนการตีความในเรื่องกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ ภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และสภาเผด็จการเสียงข้างเดียว ไม่มีใครที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญได้

นอกจากนี้ประชาชนที่ยื่นหนังสือถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรัฐบาลเพื่อคัดค้านกฎหมายปิโตรเลียมนั้น กลับถูกดำเนินคดีความฐานผิดพระราชบัญญัติการชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์การยื่นหนังสือบริเวณฟุตบาทฝั่งสวนสัตว์ตรงข้ามรัฐสภานั้น กลับดำเนิดคดีความกับประชาชนโดยเอาเรื่องเข้าใกล้เขตพระราชฐาน 150 เมตร อันเป็นการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาทำร้ายดำเนินคดีความกับประชาชนที่มาคัดค้านและตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนั้น

สำหรับภาคประชาชนในนามเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)แล้วได้ทำตามหน้าที่และช่องทางกฎหมายอย่างเต็มความสามารถแล้ว แต่ถึงแม้ว่าจะยังดูเหมือนไม่ชนะแต่ก็ยังไม่แพ้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้


1.คุณประโยชน์การต่อสู้ที่ผ่านมา ได้ทำให้ประชาชนได้เห็นว่าที่อ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ให้อำนาจประชาชนในการมีส่วนร่วมและตรวจสอบนั้น บัดนี้ประชาชนได้เรียนรู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นได้ทำให้เกิดการปฏิรูปได้จริงหรือไม่อย่างไร และบรรทัดฐานเช่นนี้อาจจะเป็นอันตรายต่อประเทศชาติในอนาคตได้หรือไม่? อย่างไร?


2.อย่างน้อยที่สุด พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ฉบับใหม่นั้น ได้มีการปรับปรุงการจัดเก็บได้รายได้ให้มีประสิทธิภาพและรัดกุมมากกว่าเดิม เป็นไปตามความต้องการของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง ย่อมเป็นข่าวดีด้านหนึ่งที่เป็นผลของการต่อสู้ของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลพยายามที่จะมีการเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยไม่ได้เคยคิดที่จะมีการแก้ไขกฎหมายเรื่องภาษีเงินได้ปิโตรเลียมมาก่อนเลย

3.แม้ว่า พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับใหม่ จะยังไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวังของประชาชน เพราะแม้ว่าจะมีการเพิ่มระบบการแบ่งปันผลผลิต และจ้างบริการมาอยู่ในกฎหมายฉบับใหม่ แต่เมื่อไม่มีการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมารองรับการโอนทรัพย์สินของแปลงสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุลง รวมถึงการรับปริมาณปิโตรเลียมที่ได้จากระบบแบ่งปันผลผลิตและจ้างผลิตให้มาเป็นของรัฐเพื่อให้รัฐมีอธิปไตยในการกำหนดราคาปิโตรเลียมให้เหมาะกับฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยไม่ได้ยึดเอาผลกำไรเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นแต่เพียงอย่างเดียว ก็แปลว่าการเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิตก็จะไม่ต่างจากระบบสัมปทานเดิมเพราะต้องฝากเอกชนคู่สัญญาบริหารและขายปิโตรเลียมแทนรัฐ ในขณะเดียวกันระบบจ้างเอกชนปิโตรเลียมให้กับรัฐ ก็ทำไม่ได้จริงในในทางปฏิบัติ

การที่บรรษัทพลังงานแห่งชาติยังไม่ได้จัดตั้งขึ้น แต่คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติให้มีการศึกษาในการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ก่อนมีการประกาศใช้นั้น แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นการถ่วงเวลาเพื่อให้รัฐบาลชิงตัดหน้าเปิดให้สิทธิการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกชภายในปีนี้ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่กำลังจะหมดอายุลงในอีก 5 ปีข้างหน้า และเป็นแหล่งที่มีปริมาณก๊าซธรรมชาติมากที่สุดในประเทศไทย

ทำให้หลายคนรู้สึกว่าถึงจะมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติในภายหลังการลงนามให้สิทธิผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกชแทบไม่เกิดประโยชน์อันใด เพราะแหล่งปิโตรเลียมนั้นได้ถูกชิงตัดหน้ายกให้ไปเป็นของเอกชนก่อนจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติเสียแล้ว

ถึงแม้จะน่าห่วงว่าการศึกษาเรื่องการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะมีจุดจบอย่างไร ว่าจะเป็นการศึกษาเพื่อถ่วงเวลาและปฏิเสธภายหลังหรือไม่ แต่อย่างน้อยถ้าสมมุติว่าผลการศึกษาในอีก 1 ปีข้างหน้านั้นว่าเห็นควรจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติจริง ก็แปลว่าจะต้องมีการจัดตั้งกฎหมายการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมา ถามว่าจะทันแห่งเอราวัณและบงกชไหม คำตอบคือไม่น่าจะทันในการลงนามสัญญากับเอกชนในการให้สิทธิผลิตปิโตรเลียม แต่อาจจะทันการผลิตปิโตรเลียม เพราะสัญญาใหม่ที่จะลงนามในแหล่งเอราวัณและบงกชนั้นกว่าจะผลิตได้ก็ต้องใช้เวลา 5 ปี ดังนั้น ถ้าก่อน 5 ปีนั้น จัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติสำเร็จ ก็มีโอกาสที่จะสวมเข้าไปรับมอบสัดส่วนปิโตรเลียมที่จะแบ่งให้รัฐแทนการให้เอกชนบริหารและขายปิโตรเลียมแทนรัฐทันที ด้วยเหตุผลนี้กลุ่มทุนพลังงานจึงได้รวมหัวพยายามกีดกันทุกวิถีทางมิให้ภาคประชาชนเข้าไปร่วมทำการศึกษาในเรื่องนี้อย่างเต็มกำลัง จริงหรือไม่?

จริงอยู่ที่ว่าเมื่อมองไปข้างหน้าในการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาตินั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะต้องฝ่าฟันว่าผลการศึกษาจะเป็นเช่นไร สมมุติว่าผลการศึกษาให้มีการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติแล้ว ก็ยังไม่แน่ว่าว่าจะมีการตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่? หรือจะแสร้างทำเป็นว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลเลือกตั้งที่จะตรากฎหมายต่อไป

รับรองว่าถ้าขืนปล่อยให้มีการถ่วงเวลาข้ามรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง บอกได้เลยว่าการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติน่าจะเป็นเรื่องที่เลือนลางริบหรี่เต็มที

ถึงแม้อุปสรรคและความเสี่ยงมากมายรออยู่ข้างหน้า แต่อย่างน้อยในเรื่องบรรษัทพลังงานแห่งชาติที่จะมารองรับระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างผลิตให้สามารถปฏิบัติได้จริงในการบริหารและขายปิโตรเลียมที่เป็นสัดส่วนของรัฐนั้น ก็มีความก้าวหน้าและมีความหวังมากกว่าตอนที่รัฐบาลชุดนี้และรัฐบาลก่อนหน้านี้ซึ่งพยายามที่จะเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยไม่มีการแก้ไขกฎหมายใดๆเลย ดังนั้นในเรื่องบรรษัทพลังงานแห่งชาติเพื่อรองรับแหล่งเอราวัณและบงกชนั้น แม้จะยังไม่ชนะ แต่ก็ถือว่ายังไม่แพ้ เพราะยังมีโอกาสอยู่

4.เมื่อบรรษัทพลังงานแห่งชาติเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันกันต่อไปนับจากนี้ แต่ความเร่งด่วนในเวลานี้จะต้องทำให้เกิดการวางหลักเกณฑ์เงื่อนไขการประมูล (TOR) ที่จะต้องทำให้เกิดการแข่งขันได้จริงในทางปฏิบัติ โดยใช้ผลการเสนอสัดส่วนผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดเป็นเกณฑ์ในระบบแบ่งปันผลผลิต สำหรับแหล่งเอราวัณและบงกช ซึ่งในปัจจุบันมีการผลิตปิโตรเลียมจำนวนมหาศาลอยู่แล้ว และมีผู้ซื้อชัดเจนอยู่แล้ว

อย่าปล่อยให้รัฐบาลอ้าง "ปริมาณเนื้องาน" เป็นเกณฑ์ในการให้คะแนนในการใช้ดุลพินิจของกลุ่มบุคคลเพียงไม่กี่คนเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน เพราะเป็นช่องโหว่ทำให้เกิดการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ง่าย เพราะรัฐควรกำหนดปริมาณเนื้องานขั้นต่ำที่ตนเองต้องการ แล้วจึงปล่อยให้เกิดการประมูลแข่งขันสัดส่วนปิโตรเลียมที่จะเป็นผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน

อย่าปล่อยให้รัฐบาลอ้างเรื่องความต่อเนื่องมาเป็นตัวกำหนดให้ต้องจับคู่กับผู้รับสัมปทานรายเดิม เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับไม่ได้เกิดการประมูลแข่งขันอย่างแท้จริง เพราะความต่อเนื่องสามารถบริหารจัดการได้และยังเปิดประมูลแข่งขันอย่างเสรีได้ ถ้าตั้งใจเอาประโยชน์ชาติเป็นตัวตั้ง

ดังนั้นประชาชนจะต้องจับตาว่าการประมูลเป็นไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดของชาติจริงหรือไม่ มีการล็อกสเปคหรือไม่ มีการกั๊กข้อมูลทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบหรือไม่ มีการทำให้เกิดความไม่ชัดเจน การใช้ท่อก๊าซธรรมชาติ หรือผู้ซื้อ ราคาซื้อขายที่คลุมเครือเพื่อขจัดคู่แข่งหรือไม่ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนจะต้องจับตาดูอยู่อย่างใกล้ชิด

เพราะถ้าเราพลาดครั้งนี้ ประเทศไทยก็จะต้องรอการหมดอายุสัญญาการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกชไปอีกหลายสิบปี โอกาสในการกอบกู้แหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชจึงตกอยู่ในมือคนรุ่นเราในช่วงเวลานี้เท่านั้น ในขณะเดียวกันถ้าการประมูลเป็นไปด้วยความโปร่งใสและสร้างผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุด ประเทศก็จะมีรายได้มหาศาลหรือประเทศชาติจะมีอธิปไตยทางพลังงานอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย

สำหรับประชาชนแม้ว่าจะต้องฝ่าฟันอุปสรรคอีกมาก และไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเป็นการเดิมพันผลประโยชน์ของชาติครั้งสำคัญระหว่างกลุ่มทุนพลังงาน กับ ประเทศชาติและประชาชน แม้วันนี้ประชาชนจะยังไม่ชนะ แต่ก็ยังไม่แพ้ ดังนั้นเราก็ยังไม่หมดโอกาสเสียทีเดียว จึงยังไม่ควรหมดหวัง และประชาชนก็ควรผลักดันต่อไปให้สุดความสามารถอย่าให้เสียชาติเกิด

ส่วนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรัฐประหารเสียของ หรือจะเสียชาติเกิดหรือไม่ หรือจะเป็นวีรบุรุษหรือไม่ ก็ให้ดูเรื่องปฏิรูปปิโตรเลียมในส่วนของแหล่งเอราวัณและบงกชครั้งนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเลือกยืนข้างกลุ่มทุนพลังงาน หรือ จะเลือกยืนข้างประเทศชาติและประชาชน เราจะได้รู้พร้อมกันในอีกไม่กี่เดือนนี้อย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น