xs
xsm
sm
md
lg

10 เรื่องที่ต้องรู้ของ 50 ปีอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

ภาพเอพี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


วันที่ 8 สิงหาคม 2017 อาเซียน (ASEAN) หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of SouthEast Asian Nations) จะมีอายุครบ 50 ปี ผมจึงอยากจะขอโอกาสนี้แนะนำทุกท่านเกี่ยวกับอาเซียน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ ความร่วมมือในทุกระดับและทุกมิติของประชากร 629 ล้านคนใน 10 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านข้อสังเกตสั้นๆ 10 ประการดังนี้ครับ

1. 50 ปี ไทยในฐานะผู้ก่อตั้งอาเซียน

เมื่อกว่า 50 ปีมาแล้ว ข้อพิพาทในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองและปรัชญาเศรษฐกิจระหว่างประเทศมหาอำนาจนำไปสู่ภาวะสงครามเย็น ท่ามกลางภาวะสุญญากาศและความขัดแย้งระหว่างประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเลเซียมีข้อพาทกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ สิงคโปร์พึ่งจะแยกตัวออกมาจากมาเลเซียและยังเป็นประเทศในกลุ่มสังคมนิยม (Socialist International) ในลุ่มแม่น้ำโขงเอง พม่า (ชื่อในตอนนั้น) ก็ประกาศปิดประเทศเป็นสังคมนิยมสไตล์พม่า สปป.ลาวและเวียดนามเป็นคอมมิวนิสต์ ในขณะที่ไทยเป็นฝ่ายโลกเสรีทุนนิยม ท่ามกลางความขัดแย้งที่รุนแรงนี้ รัฐบาลไทยโดยการนำของกระทรวงการต่างประเทศเป็นตัวแกนหลักในการสร้างเวทีให้ผู้นำระดับสูงของประเทศเพื่อนบ้านที่มีข้อพิพาทระหว่างกันได้มาพบปะหารือเพื่อสร้างสันติในภูมิภาค

และในปี 1966 ในงานเลี้ยงรับรอง รมต.ต่างประเทศของอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งพึ่งจะบรรลุข้อตกลงสันติภาพระหว่างกัน ณ สวนอัมพร กรุงเทพมหานคร พันเอกพิเศษ ดร.ถนัด คอมันตร์ รมต. ต่างประเทศของไทยในขณะนั้น กล่าวเชิญชวนกับ Adam Malik รมต.ต่างประเทศ และหนึ่งในคณะกอบกู้เอกราชของประเทศอินโดนีเซีย เพื่อสร้างความร่วมมือครั้งใหม่ในภูมิภาคที่จะไม่เน้นเรื่องการเมือง เรื่องความมั่นคง ไม่เน้นเรื่องเชื้อชาติ หากแต่เน้นสร้างความเข้าใจทางสังคม วัฒนธรรม การศึกษา และช่วยกันในเรื่องการทำมาหากิน การทำมาค้าขาย เรื่องเศรษฐกิจการค้า และการลงทุน

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศก็ไปร่างข้อตกลงขึ้นมาหนึ่งฉบับ ในขณะที่คุณถนัดก็ไปเชิญผู้นำของมาเลเซียนั่นคือ Abdul Rasak และ Narciso Ramos แห่งฟิลิปปินส์ เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร สิงคโปร์เองก็ให้ความสนใจและขอเข้ามาร่วมโดยส่ง S. Rajaratnam เข้ามาคุยด้วยในภายหลัง เหตุการณ์เหล่านั้นเองที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของสมาคมประชาชาติแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้หรือ อาเซียน ในวันที่ 8 สิงหาคม 1967

2. 50 ปี ไทยในฐานะผู้เล่นหลักและผู้นำอาเซียน

จากวันลงนามในปฏิญญาอาเซียน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ปฏิญญากรุงเทพ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1967 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ภาวะสุญญากาศและภัยคุกคามต่างๆ ที่เข้ามาในภูมิภาค ถูกทำให้คลี่คลายไปด้วยเครื่องมือต่างๆ

สินค้าสาธารณะเพื่ออำนวยความมีเสถียรภาพและพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของภูมิภาคได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องและประเทศไทยก็เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของ เขตการค้าเสรีอาเซียนในปี 1992-1993 ที่เกิดขึ้นโดยข้อเสนอของนายกฯ อานันท์ ปันยารชุนร่วมกับ Dr.Mahathir Mohammad ผู้นำมาเลเซีย และ นาย Goh Jok Tong ผู้นำสิงคโปร์

การเกิดขึ้นของ ASEAN Regional Forum ในปี 1994 ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างสันติภายในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิค การประกาศวิสัยทัศน์อาเซียน 2020 โดยคุณสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อกำหนดเป้าหมายให้อาเซียนและประเทศคู่เจรจาซึ่งกำลังถูกถล่มโดยวิกฤตเศษฐกิจปี 1997 Asian Financial Crisis สามารถแสวงหาแนวทางการเดินหน้าไปพร้อมกันและเป็นที่มาของประชาคมอาเซียน ณ ปัจจุบัน

หรือแม้แต่การเสนอแนะ แผนแม่บทความเชื่อมโยงอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity) โดยนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะร่วมกับคณะทำงานที่นำโดยกระทรวงการต่างประเทศ

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ไทยเป็นส่วนหนึ่ง และคนไทยได้รับประโยชน์จากโอกาสที่เพิ่มมากขึ้นตลอด 50 ปี ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในเวทีประชาคมโลกได้อย่างสง่างาม

3. อาเซียน 4 ยุค

ช่วงที่ 1: ก่อร่างสร้างตัว (1967-1976) คือช่วงเวลาที่อาเซียนรวมตัววางกฎระเบียบต่างๆ โดยเฉพาะหลักการที่ว่า สมาชิกจะไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน อาเซียนจะเป็นเสมือนเวทีที่แต่ละสมาชิกสามารถออกไปทำโน่น นี่ นั่น ได้อย่างอิสระ แล้วมาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน อาเซียนตอนนั้นถึงจะยังไม่มีธรรมนูญ แต่ก็มี Treaty of Amity ที่กำหนดหลักการสำคัญๆ ของการอยู่ร่วมกันอย่างมีไมตรีต่อกัน อาเซียนจะสร้างความร่วมมือในด้านที่ทุกฝ่ายสบายใจ เช่น เรื่องการช่วยกันทำมาหากิน เรื่องปาก-ท้อง เรื่องสังคม-วัฒนธรรม ถ้าจะมีเรื่องการเมืองบ้างก็เอาเท่าที่ทุกฝ่ายสบายใจ

ช่วงที่ 2: ขยายขอบเขต (1976-1997) อาเซียนมีสมาชิกเพิ่มขึ้น โดยบรูไนเข้าเป็นสมาชิกปี 1984 ตามมาด้วย เวียดนามในปี 1995 เมียนมาและ สปป.ลาว ในปี 1997 และกัมพูชาในปี 1999 โดยมีการให้แต้มต่อเป็นพิเศษกับสมาชิกใหม่เหล่านี้ที่นิยมเรียกรวมกันว่า CLMV ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เขตการค้าเสรี (ASEAN Free Trade Area: AFTA) เกิดขึ้นในปี 1992/1993 นั่นทำให้อาเซียนมีความผูกพันใกล้ชิดกันทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น ภาษีศุลกากรทยอยลดลงจนกลาย 0 การกำหนดกรอบการเจรจาเพื่อเปิดเสรีภาคบริการรวมทั้งการสร้างความร่วมมือทางด้านการลงทุนในระดับภูมิภาคเริ่มต้นในช่วงกลางของทศวรรษ 1990

ช่วงที่ 3: วางโครงสร้างเพื่อความยั่งยืน (1997-2015) อาเซียนไม่เคยตระหนักรู้เลยว่า พวกเราผูกพันใกล้ชิดกันมากเพียงไหนจนกระทั่ง วิกฤตเศรษฐกิจ 1997 Asian Financial Crisis เกิดขึ้นและลุกลามไปทั่วทั้งภูมิภาค การวางแผนเพื่อกำหนดทิศทางของอาเซียนในระยะยาว อาทิ ASEAN vision 2020 การวางหลักเกณฑ์และการทำให้อาเซียนมีตัวตนทางกฎหมายผ่าน ASEAN Charters การวางแผนการสร้างประชาคมหรือความร่วมมือใน 3 ด้านหลักคือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมการเมือง-ความมั่นคงอาเซียน และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในเดือนธันวาคมปี 2015

ช่วงที่ 4: ปูทางสู่อนาคต ในที่สุดหลังปี 2015 อาเซียนก็เข้าสู่พัฒนาการในช่วงที่ 4 นั่นคือการปูทางไปสู่อนาคตโดยการกำหนดวิสัยทัศน์อาเซียน 2025 เพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นจุดศูนย์กลางอย่างแท้จริง
ภาพเอพี
4.อาเซียนกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจท่ามกลางความขัดแย้ง

จากวันแรกที่อาเซียนเริ่มก่อร่างสร้างตัวในปี 1967 ท่ามกลางความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองในบริบทของสงครามเย็น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ยึดโยงให้อาเซียนสามารถเดินหน้าสร้างประชาคมได้อย่างแข็งแกร่ง

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าเสรีในระดับพหุภาคีของ GATT รอบอุรุกวัยในทศวรรษ 1980-1990 อาเซียนก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA

ในท่ามกลางความสับสนของวิกฤตการเงินในภูมิภาค 1997 Asian Financial Crisis อาเซียนเดินหน้าประกาศวิสัยทัศน์ 2020 เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ผูกพันกันอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่มีทิศทางและขอบเขตความร่วมมืออย่างชัดเจนในช่วงระหว่างปี 2003-2015

AEC คือการเปิดประตูให้อาเซียนเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจโลก อาเซียนจะ Inclusive คือคำนึงถึงทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน เราจะไม่ปิดประตูเป็น Exclusive Club เราต้อนรับการค้า การลงทุนจากทั่วทุกมุมโลก โดยการเชื่อมโยงประเทศสมาชิกทั้ง 10 ให้เสมือนเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เชื่อมโยงถึงการผ่านการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และแรงงานที่สะดวกมากขึ้น อาเซียนจะกลายเป็นตลาดร่วมและฐานการผลิตร่วม ในขณะเดียวกันก็มีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ สร้างมาตรฐานร่วมกัน เพื่อให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความสามารถทางการแข่งขัน และสุดท้ายเพื่อให้ธุรกิจอาเซียนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง อาเซียนจึงเน้นการลดช่องว่างของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและส่งเสริมให้ ASEAN SMEs สามารถแข่งขันและเป็นส่วนหนึ่งของระบบการผลิตของโลกร่วมกับบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ได้ในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก

และหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่รุมเร้าโลกตะวันตกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2006/2007 และท่ามกลายกระแสความไม่แน่นอนในระบบการค้า การลงทุน และการเงินระหว่างประเทศในปัจจุบัน อาเซียนและประเทศคู่เจรจา ไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ก็ยังคงสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อขยายตลาด เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน โดยคาดหวังว่าภายในปี 2017-2018 ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ASEAN Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP จะสามารถหาข้อสรุปและเอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศสมาชิกทั้ง 16 ประเทศได้อย่างยั่งยืน

5. อาเซียนกับกลไกด้านความมั่นคงที่ก้าวหน้าเพื่อความยั่งยืนของภูมิภาค

อาเซียนเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 ทศวรรษแห่งความขัดแย้ง กรณีพิพาทระหว่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ทำให้อาเซียนกลายเป็นกลไกสำคัญที่ยึดโยงสร้างความสามัคคี ความมั่นคง และลดอุณหภูมิความขัดแย้งภายในภูมิภาคลง จากวันนั้นเมื่อ 50 ปีที่แล้ว อาเซียนก็ยังคงทำหน้าที่สำคัญในฐานะเสาหลักและกลไกการทำงานด้านการเมืองและความมั่นคงในระดับภูมิภาคเสมอมา อาทิ การเกิดขึ้นของ Zone of Peace, Freedom and Neutrality ในปี 1976 เพื่อยืนยันความเป็นกลางและสันติภาพ เสรีภาพในภูมิภาคท่ามกลางความขัดแย้งของสงครามเย็น การจัดตั้ง ASEAN Regional Forum ที่เป็นกลไกความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ขยายขอบเขตกว้างไกลมากกว่าภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และครอบคลุมถึง 27 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก อันได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ประเทศคู่เจรจาของอาเซียนอีก 10 ประเทศ อันได้แก่ Australia, Canada, China, the European Union, India, Japan, New Zealand, the Republic of Korea, Russia และ the United States และยังรวมเอาประเทศอื่นๆ อันได้แก่ Papua New Guine, Democratic People’s Republic of Korea, Mongolia, Pakistan, Timor-Leste, Bangladesh และ Sri Lanka จน ARF กลายเป็นกลไกหลักทางด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิค อาจกล่าวได้ว่า กลไกอาเซียนคือกลไกที่มีต้นทุนต่ำที่สุดในการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ (ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับกรอบความร่วมมืออื่นๆ ทั่วโลกที่ต้องมีกองกำลัง ต้องมีคณะทำงานและองค์กรที่ใหญ่โต)

และจากปี 2015-2025 พิมพ์เขียวประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียนยังกำหนดเป้าหมายการสร้างอาเซียนให้เป็นประชาคมที่มีสันติภาพ มีเสถียรภาพด้านความมั่นคง ควบคู่ไปกับการพัฒนาให้เป็นประชาคมที่มีกฎเกณฑ์ตามหลักธรรมาภิบาล ให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือในระดับภูมิภาคอย่างมีพลวัตร เพื่อให้อาเซียนมีความเป็นสถาบันเพื่อการสร้างประชาคมที่มีประชาชนเป็นจุดศูนย์กลางอย่างแท้จริง

6. อาเซียนกับการพัฒนา “คน” และเสาหลักด้านสังคม-วัฒนธรรม

ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน คือ เสาหลักที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการยึดโยงประชากรทั้ง 629 ล้านคนของ 10 ประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกัน และเสาหลักนี้เองก็เป็นโครงสร้างในการพัฒนาทรัพยากรสำคัญที่สุดของประชาคมอาเซียน นั่นคือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อาเซียนวางโครงสร้าง ASCC ไว้เพื่อพัฒนา “คนอาเซียน” โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อันได้แก่ เด็กและเยาวชน สตรี ผู้สูงวัย ผู้ทุพพลภาพและพิการ รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์และแรงงานต่างด้าว โดยจะสนับสนุนในเรื่องของสวัสดิการสังคม การส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ในเรื่องของสิทธิและความยุติธรรมทางสังคม ทั้งนี้ก็เพื่อพัฒนาให้ประชาคมอาเซียนมีสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพมีความยั่งยืน ยอมรับและร่วมกันสร้างอัตลักษณ์อาเซียน มีการลดช่องว่างทางความแตกต่างในมิติต่างๆ เพื่อวัตถุประสงค์สูงสุดคือการสร้างให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนอาเซียนเป็นจุดศูนย์กลาง

โดยในระยะที่ 2 ของประชาคมอาเซียน พิมพ์เขียว ASCC 2015-2025 ได้ระบุถึงวิธีการไว้อย่างชัดเจนว่าการจะทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นจุดศูนย์กลางอย่างแท้จริง ต้องมีการพัฒนาให้คนอาเซียนมีส่วนร่วม เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นประชาคมที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน มีภูมิคุ้มกันสามารถตอบรับกับทุกสถานการณ์ได้อย่างมีพลวัตรและมีความยั่งยืน

7. ความเชื่อมโยงอาเซียน เดินหน้า ก้าวไกล พัฒนา อย่างยั่งยืน

ประชาคมอาเซียนคือความร่วมมือในทุกมิติและในทุกระดับของประชากร 629 ล้านคนใน 10 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แน่นอนว่าความร่วมมือนี้ไม่ว่าจะเป็นในมิติการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ต่างก็ต้องการโครงสร้างที่แข็งแกร่งมารองรับเพื่อให้เกิดขึ้นจริง และทุกภาคส่วนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นแผนแม่บทความเชื่อมโยงอาเซียนที่ถูกนำเสนอโดยรัฐบาลไทยเพื่อพัฒนาอาเซียนให้เกิดความเชื่อมโยงใน 3 มิติ อันได้แก่ มิติทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นถนน ราง การขนส่งทางน้ำ การขนส่งทางอากาศ และระบบโทรคมนาคม มิติทางสถาบัน อาทิ กฎระเบียบ มาตรฐาน และข้อตกลงที่มีความสอดคล้องพ้องกัน และมิติที่ 3 ซึ่งมีความสำคัญมากที่สุด นั่นคือความเชื่อมโยงในมิติของประชาชนอาเซียน ผ่านทางการศึกษา อบรม การทำงาน การใช้ชีวิตร่วมกันโดยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ยอมรับและปรับตัวเข้าหากัน

และในปี 2016 อาเซียนก็ได้ประกาศแผนแม่บทความเชื่อมโยงอาเซียนฉบับที่ 2 ที่จะวางรากฐานการเชื่อมโยงอาเซียนใน 5 มิติเข้าด้วยกันในช่วง 10 ปีข้างหน้า (2016-2025) โดยทั้ง 5 มิตินี้ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน การสร้างนวัตกรรมในโลกดิจิตอล การเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ การสร้างระบบอำนวยความสะดวกทางการค้าที่มิความเป็นเลิศ และการสนับสนุนให้คนอาเซียนสามารถไปมาหาสู่กันได้อย่างสะดวก โดยทั้ง 5 มิตินี้จะเป็นโครงสร้างหลักที่เชื่อมเสาหลักทั้ง 3 ของประชาคมอาเซียนเข้าด้วยกัน เพื่อให้อาเซียนเดินหน้าก้าวไกล และพัฒนาอย่างยั่งยืน

8. อาเซียนกับความร่วมมือในประชาคมโลก

อาเซียนไม่ใช่ประชาคมที่โดดเดี่ยว แต่เป็นประชาคมที่มีความร่วมมือกับนานาชาติทั้งในมิติของการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ASEAN Regional Forum น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของกลไกการสร้างเสถียรภาพความมั่นคงของ 27 ประเทศทั่วโลกที่มีอาเซียนเป็นแกนหลัก ในมิติสังคมและวัฒนธรรม ค่ายเยาวชน เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน และความร่วมมือทางวิชาการตลอดจนการเดินทางไปมาหาสู่ของคนทั้งเพื่อการท่องเที่ยวและการทำงานน่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีที่สุด

ส่วนในมิติทางเศรษฐกิจ นอกจากข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับพันธมิตรคู่เจรจา ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์น่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่า อาเซียนได้เข้าไปเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในฐานะฐานการผลิต ตลาดสินค้าและบริการ รวมทั้งร่วมขับเคลื่อนห่วงโซ่มูลค่าในระดับนานาชาติ หรือ Global Value Chains

แต่อาเซียนไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้ การเดินหน้าเจรจาข้อตกลงการค้าใหม่ๆ กับสหภาพยุโรป ฮ่องกง รวมทั้งความร่วมมือในระดับอินโด-แปซิฟิก ภายใต้ชื่อ Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกสำคัญคือ อาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ร่วมกับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ หรือที่เรารู้จักกันในนาม ASEAN+6 ก็กำลังดำเนินการไปอย่างรอบคอบ และคาดว่าจะสามารถสรุปผลการเจรจาได้ภายในปี 2017 นี้ RCEP จะเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ทันสมัยโดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง และจะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและประชากรใหญ่ที่สุดในโลก
ภาพเอพี
9. รู้ลึกเรื่องอาเซียน

อาเซียนเกิดขึ้น และพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตลอด 50 ปี และสำหรับท่านที่สนใจอยากจะเข้าใจภาพรวมของประชาคมอาเซียน รวมทั้งแนวทางการเดินหน้าต่อไปของอาเซียน เอกสารที่ผมแนะนำให้ไปหาความรู้ต่อเนื่องมีดังนี้ครับ ASEAN Charter ธรรมนูญอาเซียน ซึ่งจะทำให้ท่านเข้าใจกรอบกติกาและหลักการสำคัญๆ ของอาเซียน, ASEAN Vision 2025 ที่จะทำให้ท่านเห็นภาพว่าในอนาคตอาเซียนจะเดินหน้าสร้างประชาคมไปในรูปแบบใด จากนั้นก็ต้องเป็นเอกสาร พิมพ์เขียวประชาคมทั้ง 3 เสาหลัก เพื่อที่จะทำให้เราเข้าใจว่าอาเซียนมีแผนงานในการสร้างประชาคมที่มีประชาชนเป็นจุดศูนย์กลางอย่างไร ทั้ง ASEAN Political-Security Community (APSC) Blueprint 2025, ASEAN Economic Community (AEC) Blueprint 2025 และ ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) Blueprint 2025 แน่นอนว่าความเชื่อมโยงของทั้ง 3 เสาหลักเป็นเรื่องสำคัญมาก ดังนั้นเอกสารอีก 1 ฉบับที่เราควรทำความรู้จักคือ Master Plan on ASEAN Connectivity 2016-2025 และในเมื่ออาณาบริเวณที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยในเวทีอาเซียนคืออาเซียนบนบก ซึ่งประกอบไปด้วยเพื่อนบ้านของไทยซึ่งเป็นสมาชิกใหม่ที่ยังมีระดับการพัฒนาการเศรษฐกิจที่แตกต่างจากสมาชิกอาเซียนผู้ก่อตั้ง เพื่อให้เข้าใจสิทธิพิเศษต่างๆ และเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาค เอกสราชิ้นสุดท้ายที่ผมแนะนำคือ Initiative of ASEAN Integration (IAI) Workplan 3 (2016-2020)

10. จากความร่วมมือที่ถูกดูแคลน สู่ Role Model

ในช่วงแรกของการเกิดขึ้นของอาเซียนหลายๆ ฝ่ายดูแคลน บ้างก็ไม่เชื่อว่าความร่วมมือนี้จะอยู่ได้ยั่งยืนยาวนาน บ้างก็มองว่าเป็นกระบวนการที่ล่าช้าอืดอาด ไม่มีสภาพบังคับ ไม่น่าจะผลักดันเรื่องสำคัญๆ ต่างๆ ได้ ไม่ก้าวหน้าเหมือนสหภาพยุโรปที่มีการรวมกลุ่มในระดับ Economic and Monetary Union ที่ 19 ประเทศสมาชิกจาก 28 ประเทศสมาชิกใช้เงินตราสกุลเดียวกัน ร่วมกับนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนร่วมกัน ทบางคนแอบแซวเล่น ด้วยซ้ำว่า ASEAN ย่อมาจาก All Sitting Eating And Nothing

แต่วันนี้เมื่อเวลาผ่านมา 50 ปี เราเห็นภาพการรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้หรือ South Asian Association for Regional Cooperation (SAARC) ที่ประเทศสมาชิกมีข้อพิพาทระหว่างกันจนเมื่อคราวที่ปากีสถานเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะผู้นำอินเดีย บังคลาเทศ ภูฏาณ และอัฟกานิสถานประกาศไม่ขอเข้าร่วมประชุม ความร่วมมือ ของทวีปอเมริกาใต้ที่เรียกว่า Mercosur หรือตลาดร่วม Southern Common Market เองก็มีการยุติบทบาทการเป็นสมาชิกของประเทศเวเนซูเอล่า ทำให้ปัจจุบันเหลือ Full-member เพียง 4 ประเทศนั่นคือ อาร์เจนตินา, บราซิล, ปารากวัย และอุรุกวัยเท่านั้น เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA เองประธานาธิบดี Trump ก็ประกาศนโยบายการค้าแบบคุ้มกัน America First อยากจะขอเจรจาปรับข้อตกลงใหม่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตนเองมากขึ้น และบางทีอาจจะถึงขนาดมีการสร้างกำแพงกั้นระหว่างสหรัฐอเมริกากับเม็กซิโก สหภาพยุโรปเองก็ยังมีปัญหาภาระที่เกิดขึ้นจากวิกฤตหนี้สาธารณะในหลายๆ ประเทศ ในขณะที่สภาพบังคับในลักษณะองค์กรเหนือชาติที่ทำให้สมาชิกต้องยอมรับนโยบายหลายๆ เรื่องที่ตนเองไม่ต้องการก็ทำให้สหราชอาณาจักรเองรู้สึกกดดันและไม่อยากร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอีกต่อไป กระบวนการ Brexit จึงเกิดขึ้น

นั่นเท่ากับ อาเซียนได้พิสูจน์ตนเองแล้วว่า สถาปัตยกรรมการบูรณาการภูมิภาคแบบของอาเซียนที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ไม่แทรกแซงกิจการภายใน ยอมรับในการตัดสินใจของประเทศเพื่อนบ้าน กลายเป็นรูปแบบของการบูรณาการภูมิภาคที่มีความยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็เป็นเวทีที่ทำให้มหาอำนาจอย่างญี่ปุ่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐ ซึ่งอาจไม่ Comfortable ที่จะพบปะหารือการโดยตรง ได้ใช้เวที ASEAN เป็นเวทีกลางที่ทำให้สามารถมาปฏิสัมพันธ์กันได้ แน่นอนแม้กระบวนการที่เราเรียกว่า ASEAN Way นี้อาจจะล้าช้าไปบ้าง มีคำถามในเรื่องของธรรมาภิบาลบ้าง แต่อย่างน้อยที่สุดกลไกนี้ก็ทำให้อาเซียนเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคง

แน่นอนว่าอาเซียนซึ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องก็ยังคงมีความท้าทายต่อไปในอนาคต โดยผมคิดว่า 2 เรื่องที่สำคัญที่สุดที่อาเซียนคงต้องคำนึงถึงคือ การเกิดขึ้นของอาเซียนเมื่อ 50 ปีที่แล้วและดำเนินต่อมาเกิดขึ้นจากผู้นำของแต่ละประเทศที่ไม่มากก็น้อยต่างก็เป็นผู้นำที่มีลักษณะอำนาจนิยมด้วยกันทั้งสิ้น และเมื่อโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาของอาเซียนเป็นแบบ Neo-Liberalism ซึ่งไปกันได้ดีกับผู้นำในลักษณะนี้ เศรษฐกิจของอาเซียนจึงขยายตัวต่อเนื่องและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาเซียนเดินหน้ามาได้ถึงทุกวันนี้ แต่คำถามคือในอนาคตเมื่อประชาชนอาเซียนต้องการความเสมอภาค ต้องการเสรีภาพ ต้องการธรรมภิบาล ต้องการรัฐที่ไม่เป็นอำนาจนิยมอีกต่อไป ผู้นำรุ่นใหม่ของอาเซียนจะสามารถยกระดับตนเองได้หรือไม่ และอีกความท้าทายคือ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน บทบาทของภาคประชาชนสังคม บทบาทของคนอาเซียนในการร่วมเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของอาเซียนร่วมกัน อาเซียนจะทำอย่างไรให้ประชาชนอาเซียนได้มีส่วนร่วมมากกว่าที่เป็นอยู่ ทำอย่างไรให้เกิดเวทีอย่างเป็นทางการที่จะเกิดการกำหนดนโยบายของอาเซียนร่วมกันอย่างจริงจังทั้งจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ซึ่งแน่นอน ในอีก 2 ปีข้างหน้า ปี 2019 ประเทศไทยจะประธานอาเซียนและเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียน เราคงต้องคำนึงถึงและเริ่มต้นคิดวางแผนกับเรื่องในอีก 50 ปีต่อไปของอาเซียน ตั้งแต่วันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น