ธนาคารอิลสามแห่งประเทศไทย หรือ ไอแบงก์ เป็นหนึ่งในสองธนาคารรัฐ ที่มีหนี้เสียสูงมากจนเงินกองทุนติดลบ ถ้าไม่ใช่ธนาคารของรัฐ ป่านนี้คงจะล้มละลายหรือเลิกกิจการไปนานแล้ว
ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวว่า มีผู้เสนอให้ควบรวมกิจการไอแบงก์กับธนาคารของรัฐอื่นๆ ที่มีฐานะมั่นคง เช่น ธนาคารกรุงไทย หรือธนาคารออมสิน แต่กระทรวงการคลังผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่เห็นด้วยที่จะเอาของเสียไปรวมไว้เป็นภาระกับของที่ยังดีอยู่
หลังเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 เป็นต้นมา ธนาคารทั้งที่เป็นของเอกชน และของรัฐ มีการปฏิรูปการบริหารงานจนมีความเข้มแข็ง เมื่อเกิดปัญหาลูกหนี้รายหนึ่งรายใดไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็มีระบบติดตามแก้ไข และตัดตอนไม่ให้ลุกลามกระทบกระเทือนกับฐานะของธนาคาร และความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงินโดยรวม
ไอแบงก์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐอีกแห่งหนึ่งที่มีปัญหาหนี้เสียเกิดขึ้น หลังวิกฤตต้มยำกุ้งผ่านไปแล้วหลายปี และเกิดขึ้นในยุคที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย นักการเมืองจากการเลือกตั้ง มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน
หนี้เสียของไอแบงก์มีจำนวน 4- 5 หมื่นล้านบาท เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นๆ ที่ธนาคารเริ่มดำเนินกิจการเมื่อประมาณปี 2551-2552 ในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทย สาเหตุที่มาของหนี้เสียไม่ต่างจากปัญหาของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ หรือแบงก์บีบีซี เมื่อ 20 กว่าปีก่อน คือปล่อยกู้ให้กิจการโครงการที่ใช้การเมืองเป็นใบเบิกทางเข้ามา โดยไม่สนใจว่าจะได้รับการชำระหนี้คืนหรือไม่ และส่วนใหญ่หลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน ถูกตีมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริง
ข้อแตกต่างระหว่างไอแบงก์ในยุคนี้กับแบงก์บีบีซีในยุคก่อนหน้านี้ คือ ไอแบงก์ ไม่มีใครที่ต้องรับผิดชอบกับความเสียหาย 4-5 หมื่นล้านบาทที่เกิดขึ้นเลยสักคนเดียว ในขณะที่ผู้บริหารแบงก์บีบีซี ทั้งระดับสูง ระดับกลาง ถูกดำเนินคดีรับโทษจำคุกไปแล้วหลายคน
สมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กระทรวงการคลังตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้บริหารไอแบงก์ ผลออกมาว่า มีความผิดเล็กน้อย แค่เรื่องทำผิดระเบียบขั้นตอนเท่านั้น แต่ไม่มีการทุจริตไม่โปร่งใส หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องการปล่อยสินเชื่อจำนวนหลายหมื่นล้านบาทจนก่อให้เกิดความเสียหาย
ปัญหาก็คาราคาซังมาจนถึงยุค คสช.ไอแบงก์อยู่ในสภาพที่ขาดสภาพคล่อง ขาดทุนสะสมสองหมื่นกว่าล้านบาท ต้องยุบสาขาซึ่งมีอยู่มากมายร้อยกว่าแห่งจนเกิดข่าวลือว่า ไอแบงก์จะปิดกิจการ แต่กระทรวงการคลังได้ยืนยันว่า ถึงอย่างไรก็จะไม่ปิดไอแบงก์ แต่จะเร่งแก้ไขฟื้นฟูกิจการให้ดีขึ้นโดยเร็ว
สูตรแก้ปัญหาไอแบงก์ก็เป็นตำราเดียวกับการแก้ปัญหาสถาบันการเงินสมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง คือ ลดทุน เอาหนี้เสียออกไปจากงบดุลแบงก์ เพิ่มทุนอัดฉีดเงินใหม่เข้าไป
หนี้เสียของไอแบงก์จำนวน 48,000 ล้านบาท ถูกโอนไปให้กับบริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลาม หรือ IAM เป็นผู้บริหารติดตามไล่เบี้ยเอากับลูกหนี้ต่อไป ส่วนตัวไอแบงก์ซึ่งเอาของเสียออกไปจากตัวแล้ว ทางกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 49% ก็จะอัดฉีดเงินเพิ่มทุนเข้าไปอีก 18,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ไอแบงก์แข็งแรงเดินหน้าต่อไปได้ ต้องหาผู้ร่วมทุนที่เป็นนักลงทุนเอกชนที่สนใจ
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่มีมติเห็นชอบเรื่อง การเพิ่มทุน และแยกหนี้เสียออกมาให้บริษัทบริหารสินทรัพย์รับไปบริหารต่อนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับว่า ให้เร่งหาตัวผู้รับผิดชอบที่ก่อให้เกิดความเสียหายมาดำเนินคดีให้ได้ โดยได้บันทึกไว้เป็นข้อหนึ่งของมติ ครม.ในวันนั้น
การประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร.เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธาน คนร.เป็นประธานการประชุม ได้รับทราบความคืบหน้าการแก้ปัญหาไอแบงก์ในเรื่องการเพิ่มทุนว่า มีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ 3-4 รายที่แสดงความสนใจจะร่วมลงทุน ถือหุ้นในไอแบงก์ด้วย ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งการว่า ให้หาผู้ร่วมทุนให้ได้ภายในสิ้นปีนี้
แต่ไม่เห็นมีรายงานว่า การเอาตัวคนที่เป็นต้นเหตุให้ไอแบงก์มีหนี้เสีย 4-5 หมื่นล้านบาทมาลงโทษนั้นไปถึงไหนแล้ว หรือว่าจะปล่อยให้คนผิดลอยนวลต่อไป เหมือนรัฐบาลก่อนหน้านี้
ปัญหาหนี้เสียของธนาคารอิสลามนั้น เป็นเรื่องร้ายแรงที่ทำความเสียหายให้กับธนาคารจนเกือบจะล้มละลาย ถ้าหากว่าไม่ใช่เป็นธนาคารของรัฐ มูลค่าของหนี้ที่สูงถึง 4-5 หมื่นล้านบาท ที่มีการปล่อยสินเชื่อออกไปในยามที่เศรษฐกิจยังดีอยู่ จึงไม่ใช่หนี้เสียที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจ หรือความบกพร่องในการบริหารงาน หากแต่เป็นเจตนาทุจริต
หากหาตัวคนรับผิดชอบมาลงโทษไม่ได้ จะอธิบายกับประชาชนอย่างไร