xs
xsm
sm
md
lg

ประเด็นความมั่นคงระหว่างไทย-สหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท

เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน - สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ตามกำหนดการแล้ว...ก็คงพรุ่งนี้ 8 สิงหาคม ที่รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกัน “นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน” จะได้เวลามาเหยียบหัวกระไดบ้านประเทศไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮากันอีกครั้ง แม้ว่าครั้งนี้...เห็นว่ารองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ อย่าง “ป๋าดัน-สมคิด” ท่านตระเตรียมข้อมูล หัวข้อเจรจาทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เอาไว้เป็นกระตักๆ แต่โดยแนวโน้มแล้วหลายสิ่งหลายอย่างมันน่าจะหนักไปทาง “ความมั่นคง” ซะมากกว่า...

คือถ้าดูจากพื้นที่เป้าหมายที่ทำให้รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกันต้องโฉบๆ มาแถวนี้ ไล่มาจากไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์มันคงไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องเงินๆ-ทองๆ มากมายซักเท่าไหร่นัก แต่น่าจะหนักไปทางเรื่องความมั่นคงที่บรรดาประเทศเล็กๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหล่านี้ น่าจะมีส่วนช่วยคลายความอึดอัด หรือเพิ่มความมั่นอก-มั่นใจให้กับสหรัฐฯ ที่อาจต้องเผชิญกับงานใหญ่ งานช้าง นั่นคือการหาทางรับมือกับหัวหน้าแก๊งยันหว่างแห่งคาบสมุทรเกาหลีหรือ “คิมน้อย” แห่งเกาหลีเหนือ ที่กำลังกลายเป็นปัญหาคาอก เป็นอุจจาระคาทวารของคุณพ่ออเมริกา ชนิดต้องป่าวประกาศเอาไว้เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า “หมดเวลาแล้ว...สำหรับหนทางการเจรจา”...

แต่เมื่อไม่คิดจะใช้วิธีเจรจา...ก็คงต้องเหลือเพียง “กรรมวิธีทางทหาร” ลูกเดียวเท่านั้น ที่ไม่ว่าไล่มาตั้งแต่ตัวประธานาธิบดี รัฐมนตรีกลาโหม รัฐมนตรีต่างประเทศ ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง ฯลฯ ต่างพร้อมยอมรับออกมาในแนวเดียวกันว่ามีสิทธิเตลิดเปิดเปิงเข้ารก-เข้าพง ถึงระดับนำไปสู่ “กลียุค” เอาง่ายๆ หรืออาจต้องแลกมากับความสูญเสียระดับไม่น้อยไปกว่าคราวสงครามเกาหลีครั้งสุดท้าย ที่จบลงในปี ค.ศ.1953 เอาเลยถึงขั้นนั้น แต่ก็อย่างที่หัวหน้าคณะเสนาธิการทหารบก “พลเอกMark Milley” ได้ไปเปิดอกเอาไว้ที่สโมสรผู้สื่อข่าวแห่งชาติ ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานั่นแหละว่า “เรามาถึงจุดที่ต้องเลือกเอาทางใด ทางหนึ่ง โดยที่แต่ละทางนั้น ไม่ได้เป็นที่น่าพึงพอใจใดๆ แม้แต่น้อย หรือไม่มีทางเลือกทางใดที่ถือว่า...ดี...ได้เลยแม้ว่าการเปิดฉากสงครามกับเกาหลีเหนือนั้น เลี่ยงไม่พ้นต้องแลกด้วยค่าใช้จ่ายโดยจำนวนผู้สูญเสียชีวิตระดับสูงเอามากๆ แต่สหรัฐฯ ก็ไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกเลยที่จะรับมือกับรัฐอันธพาลแห่งนี้”...

ด้วยเหตุนี้...ถ้าหากคุณพ่ออเมริกันท่านคิดจะเดินหน้าไปในแนวนี้จริงๆ ประเทศเล็กๆ อย่างไทย ฟิลิปปินส์ รวมถึงมาเลเซียย่อมต้องมีความสำคัญขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะมาเลเซียนั้น...ได้ชื่อว่าเป็นประเทศอาเซียนที่มีความสัมพันธ์ค่อนข้างเป็นพิเศษกับเกาหลีเหนือมานานแล้ว ถึงขั้นเคยเปิดสายการบิน บินตรงระหว่างกันและกัน นักท่องเที่ยวมาเลย์สามารถบินไปเที่ยวเกาหลีเหนือโดยไม่ต้องขอวีซ่า ในช่วงระยะ 30 วัน เอาเลยก็ยังได้ เพียงแต่ดันมาเกิดอาการน็อตหลุด น็อตหลวมระหว่างกันและกัน ช่วงที่เกิดการลอบสังหาร “คิมจองนัม” พี่ชายต่างมารดาของ “คิมน้อย” ชนิดลุกลามบานปลายถึงขั้นต้องขับเอกอัครราชทูตออกจากประเทศภายใน 48 ชั่วโมง การโฉบไปมาเลเซียของ “นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน” จึงพอเป็นที่เข้าใจได้ ไม่ต่างไปจากฟิลิปปินส์ ที่เคยเป็นอดีตฐานทัพ ฐานที่มั่นของกองทัพอากาศอเมริกัน ยิ่งในช่วงระหว่างนี้กองทัพฟิลิปปินส์ยังคงต้องออกไล่ล่าพวกไอเอส ไอซิส อยู่ในเกาะมินดาเนา การพูดคุยเจรจากันในเรื่องความมั่นคง จึงเป็นอะไรที่ออกจะสอดคล้อง เหมาะสมกับฉากความเป็นไปของสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี...

แต่สำหรับประเทศไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮานี่สิ...การพูดคุยเจรจาในประเด็นเรื่อง “ความมั่นคง” อาจต้องออกมาในแนวซับซ้อน ซ่อนเงื่อน เพื่อนทรยศ พอสมควร แม้ว่าช่วงก่อนๆ...พื้นที่ประเทศไทยมักต้องถูกใช้เป็น “ทางผ่าน” ในการนำระเบิดไปหย่อนใส่หัวใครต่อใครมาโดยตลอด ไม่ว่าในแถบอินโดจีนไปจนถึงแถบตะวันออกกลางครั้งสงครามอิรักโน่นเลยแต่เมื่อมาถึงช่วงนี้...ช่วงที่ “โครงการรถไฟความเร็วสูง” ระหว่างจีนและไทยกำลังเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง ช่วงที่ “เรือดำน้ำจีน” กำลังถูกต่อ ถูกสร้าง ตามคำสั่งซื้อของกองทัพไทย ฯลฯ ถ้าหากไม่คิดบินมาจับเข่า จับหัวเหน่ากันบ้างเลย มันก็อาจเป็นอะไรที่น่าเกลียดจนเกินไป และอาจทำให้ประเทศไทยหันไปเพิ่มความรักคุณพี่จีน ผู้ซึ่งไม่ปรารถนาต้องการที่จะเห็นการแก้ปัญหาในคาบสมุทรเกาหลี ด้วยกรรมวิธีทางทหารเอาเลยแม้แต่น้อย...

การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของรัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกันคราวนี้...จึงถือว่าออกจะ “สำคัญ” ไม่น้อยทีเดียว ยิ่งในช่วงระหว่างนี้ บรรดา “ข่าวลวง-ข่าวลือ” เริ่มถูกปล่อยออกมาเป็นล็อตๆ เช่นข่าวเรื่องเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Ronald Regan เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Carl Vinson กำลังบ่ายโฉมหน้าไปยังคาบสมุทรเกาหลีกันอีกครั้ง จริง-ไม่จริง...คงต้องไปเช็กกันอีกที แต่ที่แน่ๆ ก็คือ...ระหว่างการเจรจากันในประเด็นเรื่อง “ความมั่นคง” ไทย-สหรัฐฯ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการเจรจาของฝ่ายไทยก็ตาม พึงต้องระลึกถึงวาทะ หรือคำพูดประโยคเด็ดของอดีตนายทหารแห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ รายหนึ่ง นั่นคือ “นาวาเอกArleigh A. Burke” ที่กล่าวเอาไว้จนเป็นที่จดจำกันจนตราบเท่าทุกวันนี้ว่า... “There is Never a Convenient Place to Fight a War When the Other Man Start It.” หรือ... “ไม่เคยมีสถานที่ใดอันเหมาะสมสำหรับการต่อสู้ศึกสงคราม ในเมื่อคนอื่นเป็นผู้เริ่มขึ้นก่อน...”
กำลังโหลดความคิดเห็น