xs
xsm
sm
md
lg

ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทุกระดับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"โสภณ องค์การณ์"

ประเทศไทยมีหลายองค์กรสำคัญทำหน้าที่สืบสวน ปราบปราม จับกุมผู้กระทำผิดในคดีทุจริต ประพฤติมิชอบในวงราชการ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการและโครงสร้างหน่วยงานและเจ้าหน้าที่มาโดยตลอด แต่ปรากฏว่าการทุจริต คอร์รัปชั่น ยังคงติดอันดับโลก ทำไม?

ถ้ามีองค์กรเหล่านี้มาก ต้องแก้ไขกฎหมายให้รัดกุมก็สะท้อนให้เห็นว่าผลงานยังไม่ได้ผลตามความคาดหวังหรือเป้าหมายของการทำงาน ยิ่งมีสภาวะปัญหาเศรษฐกิจ การดิ้นรนเพื่อให้มีความมั่นคงในทรัพย์สินและชีวิตสุขสบาย ทำให้เกิดกิเลศในกลุ่มผู้มีโอกาสโกง

การทุจริต คอร์รัปชั่นในวงการราชการแต่เดิมนั้นมีตัวหลัก 3 ประการคือ นักการเมือง ข้าราชการ พ่อค้าผู้จ่ายเงินสินบน  จากนั้นมีการพัฒนาด้วยการตั้งงบประมาณไว้โกงกินยาว ผูกมัดผ่านการจัดซื้อจัดจ้าง แม้จะพ้นตำแหน่งไปแล้วรายได้จากการโกงยังมีต่อเนื่อง

เว้นแต่ว่าจะมีการจ่ายรับเป็นงวดเดียวเพื่อความสะดวกปลอดภัยในการซุกซ่อนให้พ้นจากการตรวจสอบ ที่น่ากังวลคือการทุจริต คอร์รัปชั่นยังติดเชื้อลามมายังเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ปราบปรามการประพฤติมิชอบ ในรูปแบบของการละเว้น การทำสำนวนให้อ่อนละมุน

 เรามีอะไรบ้างที่ตรวจสอบ จับกุมการทุจริตในภาครัฐ? อ๋อ! เรามี ป.ป.ช. ปปท. ปปง. สตง. ดีเอสไอ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และหน่วยงานต่างๆ ภายไต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช่นกองปราบ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ตำรวจเศรษฐกิจ ตำรวจคอมพิวเตอร์

มีหน่วยงานเยอะแยะ แต่ทำไมปัญหาการทุจริตยังคงมีเพิ่ม ไม่มีวี่แววว่าจะลด ทั้งๆ ที่ผู้นำรัฐบาลแต่ละคณะก็ประกาศคึกโครมว่าจะจัดการปัญหาการทุจริตอย่างเด็ดขาด ไม่เห็นแก่หน้าใครทั้งสิ้น ใครมีหลักฐานให้ยื่นไปยังเจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้ผล ทำไม...? 

คำตอบที่มักได้ยินคือ...เจ้าหน้าที่ไม่ทำหน้าที่ ทำแล้วเจอตอ ระบบเส้นสายอิทธิพล มีการเอื้ออวยประโยชน์ ดำเนินคดีทำสำนวนไม่รัดกุม ขาดหลักฐานสำคัญ พยานไม่มีน้ำหนัก และยังมีการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องบ้าง ตัดบางประเด็นออกไปบ้าง เกิดความเจือจางในข้อหา

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพียงแค่ตำรวจก็ทำหน้าที่แทนบางองค์กรที่บ้านนี้เมืองนี้มี และทำงานได้ผล ถ้ามีความตั้งใจจริง มือสะอาด ไม่จำเป็นต้องมีองค์กรยั้วเยี้ยซ้ำซ้อน ทั้งมีข้อครหาเรื่องค้าสำนวน กินตามน้ำ ทวนน้ำ ไต้โต๊ะ หักดิบ ทำให้การทุจริตเฟื่องฟูขยายตัว

แต่น่าประหลาด ผู้รับผิดชอบบ้านเมืองกลับไม่รู้สึกอับอาย หน้าบาง เมื่อองค์กรปราบปรามการทุจริตไม่ได้เรื่อง องค์กรปราบโกงในเมืองไทยมีคดีค้างคาอยู่มากมาย ใช้เวลาเป็น 10 ปีหรือนานมากกว่านั้นกว่าจะสรุปสำนวนได้ว่าจะฟ้องร้องได้หรือไม่ได้

บางองค์กรมีเรื่องดองไว้มากกว่า 1 หมื่นคดี จนชาวบ้านเชื่อมั่นว่าต่อให้ใช้เวลาถึงชาติหน้าก็ไม่จบสิ้นเพราะกว่าแต่ละเรื่องเก่าผ่านไป มีเรื่องใหม่มาแทนมากกว่ากันเยอะ การไม่ได้เรื่องแบบนี้ทำให้เกิดแรงจูงใจเสี่ยงโกง ได้เงินก้อนใหญ่ก็คุ้ม และยังมีต่อเนื่อง

แน่นอน มีเงินโกงเหลือเพียงพอสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการสู้คดี ในกรณีถูกจับได้ไล่ทัน ดังนั้นเสียงร่ำลือถึงการวิ่งเต้นใช้อิทธิพลเส้นสายจ่ายเงินเปิดทางเพื่อให้หลุดคดีอาญาจึงเป็นแนวหนทางปฏิบัติสำหรับอาชญากร ตัวโกงให้รอดพ้นโทษได้ง่ายดาย

 คำพูดซึ่งคนได้ยินซ้ำซากจำเจ แต่เป็นเรื่องจริงที่ทำให้คนบ้านนี้ เมืองนี้หัวเราะไม่ออก ร้องไห้ไม่ได้ก็คือ “คุกมีไว้ขังคนจน คนไม่มีเส้นสาย” แต่คนมีอำนาจจัดการก็ยังไม่รู้สึกว่าต้องอาย ต้องเร่งปรับปรุงยกเครื่องกระบวนการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ น่าเชื่อถือได้ 

การมีองค์กรมาก ทำให้เรื่องเยอะ คดียืดเยื้อ เจ้าหน้าที่ต้องทำงานเตรียมเอกสาร ผู้ถูกกล่าวหาต้องทนทุกข์อยู่นานเป็นปีๆ กว่าคดีจะถูกนำขึ้นสู่ศาลเพื่อพิจารณาตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิด ระหว่างนั้นทำให้คนถูกกล่าวหาหมดโอกาสทำมาหากินตามปกติเพราะมีมลทิน

 ข้ออ้างในภาษาโลกสวยที่ว่า “ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนยังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีการพิสูจน์และคำพิพากษาของศาลว่าเป็นผู้กระทำความผิด” นั้น ก็ฟังกันได้ในโลกสวย

แต่ความเป็นจริงของชีวิตก็คือ “ผู้ถูกกล่าวหา หรือจำเลย ไม่เป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ในศาลและมีคำพิพากษายืนยันว่าเป็นผู้บริสุทธิ์” เพราะการมีคดีย่อมไม่ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว ผู้บริสุทธิ์ย่อมไม่ควรถูกฟ้องร้องมีคดีติดตัวตั้งแต่แรก และส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ 

มีเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำเพื่อฟื้นฟูความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่นของประชาชน โดยเฉพาะองค์กรตำรวจซึ่งอยู่ต้นน้ำ รัฐบาลคุณท่านเพิ่งเริ่มก้าวแรกในงานปฏิรูปตำรวจ ไปถึงไหนยังไม่รู้

ส่วนอีก 2 ระดับคงจะยากเพราะมีขั้นตอน และไม่ได้สังกัดหน่วยงานเดียวกัน การอนุมัติร่างกฎหมายปราบปรามการทุจริต 3-4-7 ชั่วโคตรอะไรก็แล้วแต่จะเรียกนั้น จะได้ผลหรือไม่ขึ้นอยู่ตัวบุคคลที่ทำหน้าที่ ทุกวันนี้มีกฎหมายสารพัด ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ทำ ก็สิ้นท่า

ความผิดปกติในกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่มีเฉพาะในคดีทุจริต คอร์รัปชั่น ยังมีคดีพิพาทฟ้องร้อง ละเมิด ความขัดแย้ง การกระทำผิดกฎหมายในคดีต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องให้มีกระบวนการยุติธรรมที่เที่ยงธรรมทำงานอำนวยความยุติธรรมที่เที่ยงธรรมอย่างแท้จริง

ถ้าเกิดปัญหาความอยุติธรรม ประชาชนพึ่งพากระบวนการและองค์กรเหล่านี้ไม่ได้ ก็ไม่ต่างจากสภาวะรัฐล้มเหลว บ้านเมืองรอวันเกิดมิคสัญญีกลียุค กฎหมายก็เอาไม่อยู่ถ้าประชาชนคับแค้นใจเมื่อมีการบิดเบือน การทุจริตในการใช้อำนาจหน้าที่ ไม่เที่ยงธรรม

ยิ่งมีคดีเกี่ยวโยงกับการเมือง มวลชน การขัดแย้งด้านผลประโยชน์ การช่วงชิงอำนาจ ถ้ามีข้อสงสัยในการใช้อำนาจไม่เป็นธรรม การใช้อิทธิพล เงิน วิ่งเต้นเบี่ยงเบนผลแห่งคดีได้ จะทำให้เกิดความเสี่ยง ความมั่นคงมีปัญหา ความไม่น่าเชื่อถือส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม

 ประเทศไทยจะเป็น 4.0 ตามคำอ้างได้หรือไม่ ก็อยู่ที่ความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม และบุคคลต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่ ดังนั้นการปฏิรูปแค่ต้นน้ำ ไม่เป็นผล ต้องใช้ความกล้าหาญจัดการให้ครบทุกขั้นตอน เป็นการแสดงให้เห็นความจริงใจ ความตั้งใจด้วย 


กำลังโหลดความคิดเห็น