xs
xsm
sm
md
lg

เพราะไม่เชื่อ ดร.โกร่ง ยิ่งลักษณ์จึงมีวันนี้

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


เมื่อแรกเริ่มที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ทำโครงการจำนำข้าวที่พี่ชาย นายทักษิณ ชินวัตร เป็นคนคิด และสั่งให้ทำ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ส่งออก นักเศรษฐศาสตร์ พรรคฝ่ายค้านว่า โครงการนี้จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศเป็นจำนวนมหาศาล

คนของพรรคเพื่อไทย กลับมองว่า ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ ถ้าไม่ใช่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ก็เป็นพ่อค้าส่งออกที่เสียประโยชน์จากนโยบายนี้ คนที่คัดค้าน คือ คนที่ไม่อยากเห็นชาวนามีชีวิตที่ดีขึ้น

แต่เสียงที่ไม่เห็นด้วยเสียงหนึ่งคือ นายวีรพงษ์ รามางกูร นักเศรษฐศาสตร์ ที่เป็น คนในฝั่งทักษิณ พรรคเพื่อไทย เป็นประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี คือ นางสาวยิ่งลักษณ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และเป็นผู้เขียนคอลัมน์ “คนเดินตรอก” ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

นายวีรพงษ์ เขียนเรื่อง “ใครได้ประโยชน์โครงการรับจำนำสินค้าเกษตร” ในคอลัมน์ “คนเดินตรอก” วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เตือนว่า โครงการจำนำสินค้าเกษตร เป็นช่องว่างให้พรรคพวกนักการเมืองฉ้อราษฎร์บังหลวง

“มีนโยบายและมาตรการอันหนึ่งที่น่าห่วงเพราะใช้เงินเป็นจำนวนมาก มีปัญหาทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติ โครงการที่ว่าคือโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด กุ้ง ฯลฯ นโยบายรับจำนำสินค้าเกษตรนี้เป็นนโยบายที่ล้มเหลวที่สุดตั้งแต่ทำกันมาตั้งแต่ปี 2529 สูญเสียเงินละลายน้ำไปมากมาย โดยผลประโยชน์ไม่ได้ตกถึงมือเกษตรกรอย่างที่คิด ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับโรงสี ผู้ส่งออกลานตากมัน รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

พรรคพวกของนักการเมือง จึงไม่มีใครยอมเลิกโครงการนี้

เริ่มต้นชื่อก็ผิดแล้ว การรับจำนำนี้ปกติผู้รับจำนำต้องรับจำนำในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด โดยคาดว่าผู้จำนำจะมาไถ่คืน แต่การรับจำนำสูงกว่าราคาตลาดก็ไม่น่าจะเรียกว่าการรับจำนำ เพราะไม่มีใครมาไถ่คืนในราคาจำนำที่สูง แล้วเอาไปขายในราคาที่ต่ำในตลาด การตั้งชื่อว่าโครงการรับจำนำจึงเป็นการตั้งชื่อหลอกลวงประชาชนเท่านั้นเอง

สินค้าเกษตรทุกตัวมีปริมาณออกสู่ตลาดโลกตลอดเวลา การกักตุนเพื่อเก็งกำไรไม่สามารถทำได้ หรือการกักตุนของเราก็ไม่ทำให้ราคาตลาดโลกเปลี่ยนแปลง เพราะจะมีผู้ผลิตรายอื่นเสนอขายในตลาดโลกแทนเรา และถ้าเราเก็บไว้นาน 3-4 เดือน ก็จะมีผลผลิตใหม่ออกมาแทนที่ พอเราจะขายราคาก็จะตกทันที การกักตุนจึงมีแต่ขาดทุน นอกจากมีไว้เพื่อค้าขายปกติ

ฟังว่าจะใช้เงิน 4-5 แสนล้านบาทหมุนเวียนซื้อสินค้าเกษตรมากักตุน ก็เท่ากับคิดจะปั่นราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกหรือที่ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่าจะ “Corner the Market”ตลาดโลกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด จึงเป็นไปไม่ได้ คนเคยทำแล้วล้มละลายก็มีมาก ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การที่ล้มก็สืบเนื่องมาจากการพยายามปั่นตลาด หรือจะ Corner ตลาดใบยาสูบ

ในทางปฏิบัติยิ่งมีปัญหา วิธีทำก็คือ การเลือกโรงสีเข้าร่วมโครงการ โรงสีไหนได้รับเลือกก็เหมือนถูกหวย

เมื่อรัฐบาลตั้งราคารับจำนำไว้สูงกว่าราคาตลาด สมมติ 10 เปอร์เซ็นต์ โรงสีก็จะซื้อข้าวเปลือกในราคาตลาด หรือไม่ก็ไม่ซื้อเลย แล้วทำใบประทวนสินค้าปลอมว่า ซื้อข้าวใส่โกดังแล้วให้ชาวนาหรือลูกจ้างของตนมาลงชื่อว่าเอาข้าวมาจำนำเท่านั้นเท่านี้เกวียน เอาค่าลงชื่อไป 50 บาท 100 บาท อาจจะซื้อข้าวชาวนาอิทธิพลบางรายในราคาที่รัฐบาลประกาศบ้าง เวลาทางการมาตรวจเช็กก็จะให้เอาชาวนา 5-6 คนนี้มายืนยัน

เวลาทางการมาตรวจสต็อก ก็เอาสต็อกข้าวของตนเองมาแสดงพอเป็นพิธี ชาวนาโดยทั่วไปเมื่อขายข้าวให้โรงสีก็ขายในราคาตลาดนั่นเอง นี่คือการฉ้อราษฎร์บังหลวงในรอบแรก

ต่อมาเมื่อข้าวเปลือกที่นำมาจำนำเป็นของรัฐบาล อาจจะมีข้าวจริงบ้าง ข้าวลมบ้าง กระทรวงพาณิชย์ก็เอาไปขายเป็นข้าวรัฐบาล โดยจะมีบริษัทส่งออกที่รู้กันกับรัฐมนตรี ไปเร่ขายในตลาดต่างประเทศ และกล้ารับคำสั่งซื้อเพราะรู้กันกับรัฐมนตรีว่าจะสามารถซื้อข้าวจากรัฐบาลได้ในราคาเท่าใด รายอื่นไม่กล้ารับคำสั่งซื้อ เพราะไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะขายให้หรือไม่ในราคาเท่าใด ผู้ส่งออกรายอื่นๆ จึงไม่อาจจะรู้ต้นทุนของตน ยกเว้นรายที่ทำมาหากินกับรัฐมนตรีพาณิชย์หรือนายกรัฐมนตรี

ประเทศเราส่งออกปีละ 9-10 ล้านตัน บางปีข้าวรับจำนำของรัฐบาลมีปริมาณถึง 3.5 ล้านตัน โครงการนี้จึงเป็นโครงการทำลายโครงสร้างตลาดข้าวในประเทศ โรงสีที่ไม่มีเส้นสายเข้าร่วมโครงการก็ล้มละลายไป เพราะไม่มีข้าวส่งออก ทำให้โรงสีมีน้อยลง โรงสีที่เคยมีการแข่งขันก็กลายเป็นการผูกขาดโดยโรงสีที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้เท่านั้น

เป็นการเพาะศัตรูให้กับพรรครัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา เพราะโรงสีที่ไม่ได้ร่วมโครงการ หรือผู้ส่งออกที่ไม่ใช่พวกรัฐมนตรี มีมากกว่าที่เป็นพวกรัฐมนตรี

ในกรณีรับจำนำมันสำปะหลังก็ดี ยางพาราก็ดี หรือแม้แต่ลำไยก็มีลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ โรงมัน โรงเก็บยางแผ่น ซื้อมัน ซื้อน้ำยาง ยางแผ่นในราคาตลาด ให้ชาวไร่ชาวสวนยางลงชื่อเพื่อรับเงินค่าลงชื่อ แล้วก็เอามาจำนำกับรัฐบาลในราคาสูงกว่าราคาตลาด เมื่อรัฐบาลจะขายก็ขายในราคาต่ำกว่าราคาตลาดให้กับผู้ส่งออกที่หาเงินให้รัฐมนตรีไปขายในตลาดโลกตัดราคาผู้ส่งออกรายอื่น เอาคำสั่งซื้อไป เพราะตนรู้อยู่คนเดียวว่าจะสามารถซื้อจากรัฐบาลได้ในราคาเท่าใด

เมื่อรัฐบาลจะขายข้าว ขายมัน ขายยาง โดยรับคำสั่งซื้อแล้วก็จะไม่ส่งออกเอง แต่มอบให้พ่อค้าผู้ส่งออกประมูลไป การประมูลก็ทำหลอกๆ เพราะมีการกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติให้ตรงกับผู้ส่งออกที่รัฐมนตรีกำหนดตัวไว้แล้ว แบ่งกำไรกินกัน

นี่คือการฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือคอร์รัปชันจากโครงการจำนำสินค้าเกษตรรอบสอง

รัฐบาลเสียเงินขาดทุนมากมายส่วนเกษตรกรไม่ได้อะไรเลย ขายของได้ในราคาตลาดเท่านั้นเอง ที่ประชาธิปัตย์ทำไว้โดยการประกันรายได้นั้นดีแล้ว จ่ายส่วนต่างระหว่างราคาตลาดกับราคาประกันตรงให้ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนเลย ถ้าชาวนา ผู้ใหญ่บ้าน กำนันจะโกง ก็ยังดีกว่าโรงสีผู้ส่งออก รัฐมนตรีโกง

วิธีการโกงจำนำข้าว ที่นายวีรพงษ์ กล่าวไว้ในบทความนี้ก็คือ เรื่องที่ ป.ป.ช. กล่าวหา นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับพวกในคดีทุจริตโครงการจำนำข้าว และกล่าวหานางสาวยิ่งลักษณ์ ว่า ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต มีคนเตือนแล้วก็ไม่ฟัง

ถ้าเชื่อนายวีรพงษ์ ที่ตัวเองตั้งเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่ตอนนั้น ยิ่งลักษณ์ก็คงไม่มีวันนี้ วันที่รอฟังคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ชี้ชะตาตัวเองในวันที่ 25 สิงหาคมนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น