xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไหม ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในต่างประเทศ “ราคาถูกเหมือนลูกเคย”

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

“ราคาถูกเหมือนลูกเคย” เป็นสำนวนของชาวชนบทปักษ์ใต้ อย่างน้อยก็ในพื้นที่ 3 จังหวัดที่ผมคุ้นเคยคือนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลาที่มีลักษณะเป็นทุ่งนา มีห้วย หนอง คลอง บึงให้ปลามาอาศัย คำว่า “ลูกเคย” หมายถึงลูกปลาเล็กๆ หลายชนิดที่ไม่นิยมนำไปบริโภคโดยตรง แต่มักนิยมนำไปทำกะปิซึ่งชาวปักษ์ใต้เขาเรียกว่า “เคย” เมื่อเป็นลูกปลาตัวเล็กจึงเรียกว่า “ลูกเคย”

โดยสรุป เมื่อพูดว่าอะไรก็ตามที่มี “ราคาถูกเหมือนลูกเคย” จึงหมายถึงว่าสิ่งนั้นราคาถูกมากๆ

ใช่ครับ ผมกำลังพูดว่า การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในต่างประเทศกำลังมีราคาถูกลงๆ มากๆ ราวกับลูกเคยแล้ว (หมายเหตุ แต่จริงๆ แล้วในปัจจุบันนี้ลูกเคยกลายเป็นของหายากและราคาค่อนข้างแพงไปแล้ว)

คราวนี้มาว่ากันถึงเรื่องการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ ผมจะเริ่มจากในประเทศไทยก่อน แล้วตบท้ายด้วยในต่างประเทศ ผมเองอยากทราบเหมือนกันว่า ท่านผู้อ่านจะเห็นด้วยกับผมหรือไม่ เริ่มเลยครับ

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนดิน (หรือโซลาร์ฟาร์ม) สำหรับหน่วยราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ในราคาหน่วยละ 4.12 บาท ประกาศฉบับนี้ลงวันที่ 28 เมษายน 2560 โดยจะทำสัญญารับซื้อไฟฟ้ากันภายในเดือนมีนาคม 2561 แต่จะสามารถเดินไฟฟ้าได้จริงในอีกเดือนไหนผมไม่ทราบครับ แต่ขอสมมติว่าเป็นกลางปี 2561 ก็แล้วกัน

คราวนี้มาดูกรณีต่างประเทศ

ประเทศเยอรมนีเคยใช้วิธีรับซื้อเหมือนกับที่ประเทศไทยกำลังทำอยู่ในขณะนี้มากว่า 20 ปีแล้วเขาเรียกว่า Feed-in Tariff โดยรับซื้อในราคาที่สูงกว่าปกติเพื่อดึงดูดนักลงทุนและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดราคาให้คงที่ตลอดอายุสัญญา 25 ปีไม่ว่าราคาไฟฟ้าขายปลีกจะขึ้นหรือลงเท่าใดก็ตาม แต่การกำหนดราคาสำหรับผู้ลงทุนรายใหม่ต้องมีการปรับลดลงทุกเดือนขอย้ำว่าปรับทุกเดือน โดยปรับลดลงประมาณ 0.25% แต่ปัจจุบันเยอรมนีได้ยกเลิกใช้วิธีนี้สำหรับโซลาร์เซลล์เรียบร้อยไปแล้ว แต่หันมาใช้วิธีการประมูลแทน โดยในกลางปี 2559 ผู้ชนะการประมูลขนาด 128 เมกะวัตต์ได้เสนอราคาต่ำกว่าที่ประเทศไทยจะรับซื้อในกลางปี 2561 แต่แพงกว่ากันเท่าใด ผมขอปรับหน่วยตัวเลขให้ตรงกันกับเอกสารที่เป็นหลักฐานอ้างอิงนะครับ

ไม่ใช่เยอรมนีเพียงประเทศเดียวที่ได้ราคาต่ำกว่าประเทศไทย แต่มีกว่า 10 ประเทศ (ที่อยู่ในแผ่นภาพ) เช่น อาร์เจนตินา จีน เม็กซิโก ชิลี จอร์แดน ดูไบ แซมเบีย โมร็อกโก ซาอุดีอาระเบียและฝรั่งเศส เป็นต้น

จากราคา 4.12 บาทต่อหน่วย (kwh) ถ้าคิดเป็นดอลลาร์ (ด้วยอัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) จะได้ว่าราคาดังกล่าวเท่ากับ 0.118 USD หน่วย (หรือ118 USD ต่อMWh-หรือ 1,000 เมกะวัตต์ชั่วโมง) กรุณาดูหลักฐานนะครับ

ภาพดังกล่าวผมได้มาจากรายงานที่ชื่อว่า “Rethinking Energy 2017” ซึ่งศึกษาโดยองค์กรระหว่างรัฐบาลที่ชื่อว่า International Renewable Energy Agency, IRENA (สามารถดาวน์โหลดได้จากอินเทอร์เน็ต)

เราจะเห็นได้จากภาพว่า ในขณะที่ราคาจากผู้ชนะการประมูลได้ลดลงอย่างชัดเจนและรวดเร็ว แต่ทาง กกพ.ของประเทศไทยเราได้กำหนดราคารับซื้อในกลางปี 2561 เท่ากับ 118 USD/MWh ในขณะที่ของประเทศอื่นๆ ในปี 2559 อยู่ในช่วงประมาณ 30 ถึง 80 USD/MWh เท่านั้นและอีก 2 ปีกว่าจะถึง 2561 จะลดลงกว่านี้อีกประมาณ 10%

จริงอยู่ว่า ขนาดของโครงการมีผลต่อราคาไฟฟ้าเฉลี่ย กล่าวคือ ถ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่ราคาไฟฟ้าต่อหน่วยก็ย่อมลดลง แต่โครงการของประเทศไทยที่กำลังดำเนินการมีขนาดถึง5 เมกะวัตต์ (ใช้เงินลงทุนกว่า 200 ล้านบาท) ก็ไม่ถือว่าเป็นโครงการขนาดเล็ก เกือบเพียงพอสำหรับ 5 พันครอบครัว

โปรดสังเกตนะครับว่า ในปี 2016 ประเทศไทยก็รับซื้อจากโซลาร์ฟาร์มในราคา 5.66 บาทต่อหน่วย หรือ 161 USD/MWh ซึ่งสูงประมาณ 2 เท่าของประเทศเยอรมนี(ทั้งๆ ที่มีปริมาณแสงแดดประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทย) และสูงเป็นประมาณ 4 เท่าของประเทศเม็กซิโกและชิลี ซึ่งมีแดดมากกว่าไทยเล็กน้อย

เท่าที่ผมค้นได้จากบางหน่วยงานราชการพบว่า โครงการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนดินสำหรับส่วนราชการนี้ ได้ริเริ่มมาจากการประชุมคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติครั้งที่ 1/2557 เมื่อ 22 ตุลาคม 2557 ถ้านับถึงวันผลิตไฟฟ้าก็น่าจะครบ 4 ปี ราคารับซื้อได้กำหนดไว้ก่อนแล้วนานถึง 4 ปี แต่การลงทุนจริงจะต่ำกว่าที่ได้ประมาณการไว้มาก ในขณะที่เยอรมนีได้กำหนดไว้ในหลักการปฏิบัติงานว่าต้องปรับราคาลดลงตามสถานการณ์ทุกเดือน

ปัญหาความอืดอาดล่าช้าของระบบราชการไทยจึงไม่สามารถตามทันสถานการณ์ความก้าวหน้าของโลกที่มาอย่างรวดเร็วมากได้ นี่ผมมองในแง่ดีนะครับ ส่งผลให้ผู้บริโภคเสียหายอย่าลืมว่าสัญญาที่ลงนามไว้จะมีผลบังคับนานถึง 25 ปี ด้วยราคาที่สูงแบบคงที่

โดยปกติเฉพาะแผงโซลาร์เซลล์อย่างเดียวจะลดลงประมาณปีละ 10% แต่เมื่อรวมระบบทั้งชุดแล้วจะลดลงประมาณ 5% ต่อปี

ผมมีรายงานราคาระบบโซลาร์เซลล์สำหรับบริษัทไฟฟ้าทั้งชุดในครึ่งปีแรกของปี 2560 ในประเทศต่างๆ รวม 9 ประเทศมาให้ดูด้วยครับ จะเห็นว่าราคาแผงโซลาร์เซลล์จะไม่ต่างกันมากนัก (ยกเว้นเยอรมนี) แต่ที่ต่างกันมากคือค่าดำเนินการที่เรียกว่า “Soft Costs” (ไม่ใช่ค่าวัสดุและไม่ใช่ค่าแรง) ซึ่งได้แก่ค่าดำเนินการ ค่าออกแบบ เป็นต้น

วิธีการคิดง่ายๆ ในการตัดสินใจว่าจะลงทุนหรือไม่ โดยปกติเขาใช้วิธีการหาต้นทุนเฉลี่ยของไฟฟ้าตลอดอายุโครงการ โดยการนำต้นทุนทั้งหมดเป็นตัวตั้งแล้วหารด้วยจำนวนไฟฟ้าที่ผลิตได้ตลอด 25 ปี เขาเรียกว่า “Levelized Cost of Electricity-LCOE” โดยไม่คิดค่าดอกเบี้ย ไม่คิดค่าสึกหรอ ไม่คิดค่าบำรุงรักษา และไม่คิดค่าประสิทธิภาพที่ลดลง

ในกรณีของประเทศอินเดียซึ่งมีแดดมากกว่าเราเล็กน้อยพบว่า ต้นทุนเฉลี่ยไฟฟ้าจะเท่ากับ 61 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น ถ้าคิดทุกอย่างผมว่าไม่น่าจะเกิน 1 บาทต่อหน่วยเริ่มเห็น “ลูกเคย” แล้วหรือยังครับ

ในขณะที่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ค่าไฟฟ้าที่บ้านผมเองเฉลี่ยแล้วราคา 3.87 บาทต่อหน่วย (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) และมีข่าวว่าจะขึ้นค่าเอฟทีอีก 7-8 สตางค์ต่อหน่วยในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี

ที่ผมได้กล่าวมาแล้วเป็นเพียงมิติเดียวเท่านั้น คือเรื่องต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้ลดลงอย่างรวดเร็วมาก เร็วจนหน่วยงานราชการตามไม่ทัน แต่ยังมีมิติอื่นๆ ที่สำคัญเช่น ปัญหามลพิษ ปัญหาโลกร้อนและการจ้างงานซึ่งการติดตั้งโซลาร์เซลล์มีการจ้างงานสูงกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายเท่าตัว

เมื่อ 2 วันก่อน ผมได้มีโอกาสเจอผู้ประสานงาน “เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน” เขาเล่าให้ผมฟังว่า วันหนึ่งไฟฟ้าในพื้นที่ดับตอนกลางคืน ผู้สนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินได้โพสต์ข้อความมาเยาะเย้ยถากถางว่า “ทำไมไม่เอาไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มาใช้ละ”

นี่ก็เป็นพวกที่ตามโลกไม่ทันอีกเช่นกัน ผมอยากให้ดูข้อความที่ผมตัดมาให้ดูครับ

สาระสำคัญก็คือว่า บริษัทผลิตไฟฟ้าแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาสามารถผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์พร้อมกับไฟฟ้าลงแบตเตอรี่เพื่อใช้ตลอด 24 ชั่วโมง ในราคาไม่เกิน 4.5 เซนต์หรือ 1.58 บาทต่อหน่วยเท่านั้น

ไม่ถึงครึ่งของราคาไฟฟ้าที่ผมจ่ายอยู่ในวันนี้ โดยราคานี้จะคงทีตลอด 20 ปี

นี่ไม่ใช่บริษัทเดียวที่ได้ติดตั้งไปแล้ว และบริษัทรายใหม่จะสามารถทำราคาได้ต่ำกว่านี้เฉลี่ยปีละ 5% เป็นอย่างน้อย (หมายเหตุ ราคาแบตเตอรี่ลดลง 26% ในเวลา 18 เดือน)

ผมจึงได้สรุปไว้ตั้งแต่ต้นว่า “ราคาถูกเหมือนลูกเคย” ถ้าท่านผู้อ่านยังไม่ค่อยมั่นใจในข้อมูลที่ผมกล่าวมาแล้วก็สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งเปรียบเทียบกับสมาร์ทโฟนที่ท่านใช้ก็ได้ครับ

แต่ปัญหาในบ้านเรา มี 2 ด้าน คือ ด้านหนึ่งนอกจากปัญหาที่ผมได้กล่าวมาแล้ว คือ กกพ.ตั้งราคารับซื้อแบบไม่ดูชาวโลก หรือไม่ดูตาม้าตาเรือ คือสูงกว่าความเป็นจริงมาก แต่อีกด้านหนึ่ง เขาไม่ยอมรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตบนหลังคาบ้านที่สภาปฏิรูปแห่งชาติได้เคยเสนอไปแล้วคือ “โซลาร์รูฟเสรี”

ด็อกเตอร์เฮอร์มานน์ เชียร์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันแนวคิดเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ ได้สรุปว่า ความผิดพลาดที่สำคัญเป็นเพราะว่า คนส่วนใหญ่เชื่อและคิดว่าจะมีคนมาปฏิรูประบบพลังงานแทนเรา ซึ่งได้พิสูจน์มาหลายหนแล้วว่า มันไม่เป็นความจริงเลย มีแต่ผู้บริโภคเท่านั้นที่จะต้องศึกษาและรู้เท่าทัน รวมทั้งต้องลุกขึ้นมาปฏิรูปพลังงานด้วยตนเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น