xs
xsm
sm
md
lg

ยุ "บิ๊กตู่"ลงเลือกตั้ง-แผนล่อลงหลุม !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**นับจากนี้ถือว่า"ปี่กลองการเมือง"ใกล้จะเชิดฉิ่งกันเข้ามาเต็มแก่แล้ว เวลานี้เพียงแต่รอสัญญาณเป่านกหวีดเท่านั้น พวกนักการเมืองก็จะออกสตาร์ทกันแล้ว อย่างไรก็ดี คนคุมเกมอย่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่เปิดทาง ก็ได้แต่ซอยเท้าอยู่กับที่ไปก่อน
แต่ถึงอย่างไรมันก็ใกล้เวลาเต็มแก่แล้ว เนื่องจากเวลานี้กฎ กติกา ต่างๆ กำลังจะใกล้เสร็จสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับสำคัญอย่างน้อย 3 ฉบับ เช่น พระราชบัญญัติที่ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยพรรคการเมือง และ ว่าด้วยการเลือกตั้งและที่มาของ สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น กำลังอยู่ในขั้นพิจารณาตามตารางเวลาที่กำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ
ขณะเดียวกัน ไม่ว่าเส้นทางข้างหน้าจะเป็นแบบไหน ด้วยสัญชาติญาณทางการเมืองหากเป็นไปได้ก็ต้องหาทางกำจัดคู่แข่ง หรือบั่นทอนให้ได้มากที่สุดเอาไว้ก่อน เหมือนกับเวลานี้ บรรดานักการเมืองบางกลุ่มกำลังพยายามเตะตัดขา และใช้แผนหลอกล่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงมาติดกับดักในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งรวมไปถึงประเภท "หวังดีแต่ประสงค์ร้าย" ก็มี
**อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากอาการและความเป็นไปได้แล้ว ก็ต้อง "ฟันธง" แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แบบที่ไม่กลัวหน้าแหกตั้งแต่ตอนนี้ได้เลยก็ต้อง ไม่มีทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะลงสนามเลือกตั้ง ตามที่มีพวก"กองแช่ง" หรือพวกหวังดีประสงค์ร้ายคอยยุยง เรียกร้องให้เขาลงมาแน่นอน
เหตุผลก็ไม่มีอะไรมาก เพราะหากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเลือกที่จะ "ไปต่อ" นั่นคือ คิดจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องอีกสมัย เขาก็ไม่จำเป็นต้องลงเลือกตั้งให้ตกเป็น "เหยื่อน้ำลาย" ของบรรดานักการเมืองและนักเลือกตั้งที่จ้องขย้ำระบายความแค้น หลังการก่อรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา
แน่นอนว่า เมื่อใดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระโจนลงสู่สนามการเลือกตั้ง ก็ต้องโดนพวกผู้สมัครตามพรรคการเมืองต่างๆ รุมถล่มจมเขี้ยว ไม่ว่าจะเป็นระดับไหน ไม่เว้นแม้กระทั่งพวกแกนนำเสื้อแดงอย่าง จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รวมไปถึง เหวง โตจิราการ เพราะถือว่ามีสถานะเท่ากันแล้ว สารพัดเรื่องก็จะฉวยโอกาสนำมาโจมตี ซึ่งในความเป็นจริงมันก็ไม่มีทางเป็นไปได้อยู่แล้ว ที่เขาจะลงมาให้เปลืองตัว
**ขณะเดียวกัน หากพิจารณาถึงความเป็นไปได้ และความน่าจะเป็นมากที่สุดก็คือ หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะ"ไปต่อ" นั่นคือจะเป็นนายกฯ แบบต่อเนื่องก็น่าจะใช้เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญตามเส้นทาง"นายกฯคนนอก" ที่กำหนดเอาไว้ในบทเฉพาะกาล หรือแบบที่เรียกว่า "คนกลาง" และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เมื่อถึงเวลานั้นเขาก็มีเสียงของสมาชิกวุฒิสภา ตุนเอาไว้ในมือแล้วถึง 250 เสียง โดยในช่วงที่เรียกว่า "ช่วงเปลี่ยนผ่าน" กำหนดให้ ส.ว.พวกนี้ ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และสามารถร่วมโหวตกับ ส.ส.ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ถึงได้บอกว่า นี่แหละคือ "พรรคการเมืองใหญ่" ที่ถือว่ามีเสียงข้างมากอยู่แล้ว
อีกด้านหนึ่ง เมื่อถึงตอนนั้นก็ยังมีพรรคการเมืองที่จะตั้งขึ้นมาสนับสนุนเขา เท่าที่เห็นก็มีพรรคประชาชนปฏิรูป ที่กำลังจะเดินการก่อตั้งโดย ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมไปถึงพรรคอื่นๆ ที่กำลังจะเปิดเผยตัวกันมา ไม่เว้นแม้กระทั่งพวกพรรคใหญ่ทั้งหลาย ทั้ง พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีความเป็นไปได้ว่า เมื่อถึงเวลาโหวตเลือกนายกฯ อาจมีสมาชิกบางคนอาจ "แหกคอก" ยกมือหนุนก็ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคประชาธิปัตย์ ที่เวลานี้ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำ กปปส. ที่ถือว่ายังมีบทบาทสูงในพรรคก็ประกาศสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ อีกรอบ แบบนี้มันก็น่าคิดเหมือนกัน หากถึงเวลานั้นพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้รับการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมาก เพราะต้องไม่ลืมว่า การโหวตของ ส.ส.ถือว่าเป็น "เอกสิทธิ์" และเป็นอิสระ จะไปบังคับด้วยเหตุผลมติพรรคอย่างเดียวไม่ได้ แบบนี้มันก็เหมือนกับการ "เปิดช่อง" เอาไว้ให้อีก
เมื่อพิจารณาจากความเป็นไปได้และเงื่อนไขที่เปิดช่องเอาไว้ให้ดังกล่าว ถึงได้ฟันธงไว้ล่วงหน้าว่าไม่มีทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะลงเลือกตั้ง แต่จะเลือกช่องทางตามเงื่อนไข "นายกฯคนนอก" แต่ปัญหาใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังจากเป็นนายกฯรอบใหม่แล้วต่างหาก เพราะถึงตอนนั้น เขาจะไม่มีเครื่องมือที่เป็น "อำนาจพิเศษ" แบบมาตรา 44 อีกต่อไปแล้ว จะถูกพวก ส.ส.ยื่นญัติซักฟอก หรือขออภิปรายโจมตึในสภาแบบยั่วยุ ซึ่งถึงตอนนั้นไม่รู้ว่าจะทนต่อแรงกดดันแบบนั้นได้หรือเปล่า เพราะคนที่เคยมีเส้นทางจากทหารที่เคยชี้นิ้วสั่งการได้ทุกเรื่องแบบไม่มีใครเถียง แต่เมื่อเจอสภาพการเมืองแบบใหม่จะทนได้แบบตบะไม่แตกไปได้สักกี่น้ำ นี่แหละสนใจกว่า !!
กำลังโหลดความคิดเห็น