xs
xsm
sm
md
lg

ความขัดแย้งในสังคมไทย เรื่องของชนชั้น หรือแค่เรื่อง “ผิด”กับ “ถูก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

นานๆเสือจะออกจากถ้ำ ปาฐกถาของ อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล มีข้อชวนให้คิดมากมายทั้งฟังแล้วคล้อยตามเห็นด้วย ฟังแล้วเอาไปคิดต่อและฟังแล้วเกิดคำถาม แต่ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะวิวัฒนาการของสังคมย่อมเกิดขึ้นได้เพราะการคิดต่าง คิดต่อ ถ้ามนุษย์เกิดมาคิดและเชื่อเหมือนกันหมดโลกของคงไม่มีวิวัฒนาการ

เสกสรรค์เริ่มด้วยการกล่าวหาว่าคนที่ออกมาไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้นคิดว่าตัวเองเป็นคนดี เสกสรรค์ใช้คำว่า “มีคนเชื่อว่าตัวเองกำลังทำความดี ด้วยการเอาคนไม่ดีลงมาจากเวทีอำนาจ จากนั้นก็เขียนกติกาการเมืองขึ้นมาใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้คนไม่ดีกลับมามีอำนาจอีก หรือถ้าขึ้นมาได้ก็ต้องถูกฝ่ายคนดีควบคุมอย่างเข้มข้น”

ในปาฐกถาของเสกสรรค์มีทั้งคำว่า “มีคนเชื่อว่าตัวเองเป็นคนดี” รวมไปถึง “ผู้ถือตนเป็นคนดี” เห็นได้ชัดว่านัยของคำมันมีความหมายของการเสียดเย้ยปนอยู่

แล้วคำว่า “คนดี” เป็นคำที่พวกเรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ใช้แดกดันฝ่ายตรงข้ามกับทักษิณมาก่อนแล้วจนเป็นที่รับรู้กัน

เสกสรรค์ก็สรุปว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าคู่ขัดแย้งคือ “ชนชั้นนำเก่าจากภาครัฐ” ที่คุมกลไกรัฐราชการ กับ “ชนชั้นนำใหม่ที่โตจากภาคเอกชน” แล้วขึ้นสู่อำนาจด้วยการเลือกตั้ง โดยมองว่า คนชั้นกลางออกมาเคลื่อนไหวแล้วส่งให้ชนชั้นนำภาครัฐช่วยลงดาบสุดท้ายเพื่อจัดการกับรัฐบาลที่มาจากกลุ่มทุนใหม่

แต่การสรุปว่าปรากฎการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีมานี้เป็นความขัดแย้งระหว่าง “ชนชั้นนำเก่า” กับ “กลุ่มทุนใหม่ที่เข้ามาสู่การเมือง” นั้นไม่ใช่เป็นเรื่องที่เพิ่งพูดกัน มีการพูดถึงขนาดว่าทักษิณถูกโค่นล้มเพราะชนชั้นนำเก่าอิจฉาทักษิณที่ทำให้คนยากจนกินดีอยู่ดีขึ้น แต่คำถามว่ามันใช่เหรอ

แน่นอนละในทุกระบอบการปกครองต้องมีชนชั้นนำ(ผู้ปกครอง)และผู้ใต้ปกครอง ชนชั้นนำเป็นคนส่วนน้อยและผู้ใต้ปกครองเป็นคนส่วนมาก ชนชั้นนำอาจแบ่งย่อยเป็น ชนชั้นนำระดับสูง มาถึงชนชั้นข้าราชการ ผู้ใต้ปกครองอาจแบ่งเป็นชนชั้นกลาง ชนชั้นล่าง แต่ถามว่าปรากฎการณ์การเมืองไทยในรอบ10ปีเป็นเรื่องของความขัดแย้งทางชนชั้นจริงๆ หรือ ไม่ใช่เฉพาะช่วงปี 2556ที่ไล่ยิ่งลักษณ์เลย ย้อนไปถึงสมัยทักษิณเมื่อปี 2549นั่นแหละ

ถามว่าถ้าเป็นเรื่องที่ชนชั้นนำเก่าถูกเบียดพื้นที่ด้วยชนชั้นนำใหม่ที่มาจากกลุ่มทุนที่เข้าสู่การเมืองมีเหตุผลอะไรที่ชนชั้นกลางจะต้องเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำเก่าเพื่อขับไล่ชนชั้นนำใหม่ หรือจริงๆ แล้วเรื่องของ “ชนชั้น” เป็นเพียง “วาทกรรม” ที่ใช้ปลุกคนชนชั้นล่างให้มาเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจทางการเมืองที่ถูกประชาชนขับไล่เพราะใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลเท่านั้นเอง คำว่า “ชนชั้น” คำว่า “ไพร่” จึงเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อหลอกลวงมวลชนให้ออกมาต่อสู้เพื่อระบอบทักษิณเท่านั้นเอง

ถ้าจะว่าไปแล้วคนที่ออกมาไล่ทักษิณจำนวนไม่น้อยคือคนที่เคยสนับสนุนและเชียร์ทักษิณมาก่อน และออกมาไล่เมื่อเห็นว่าทักษิณใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลนั่นต่างหาก
ก่อนที่กลุ่มทุนใหม่อย่างทักษิณจะขึ้นมามีอำนาจกลายเป็นชนชั้นนำใหม่ เราเคยมีลูกจีนอพยพขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เรามีลูกแม่ค้าขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ทำไมจึงไม่มีปัญหากับชนชั้นนำเก่า

พูดกันตามความจริงในฝ่ายตรงข้ามทักษิณ ประชาชนที่ออกมาชุมนุมก็มีคนยากจนจำนวนมากไม่ได้มีแต่ชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูง แน่นอนมีคนชั้นกลางมากหน่อยเพราะเราและรู้กันว่าชนชั้นกลางเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเข้าใจสิทธิของตัวเองในระบอบประชาธิปไตยมากกว่า เพราะโดนทฤษฎีเราก็รู้กันว่า ชนชั้นกลางเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกันฝ่ายของทักษิณก็ไม่ได้มีแต่ชนชั้นล่าง ชนชั้นกลาง กลุ่มทุน ชนชั้นสูงก็สนับสนุนทักษิณไม่น้อยเหมือนกัน

ดังนั้นการเอาทฤษฎีมาจับว่าการขัดแย้งทางการเมืองไทยในรอบ10ปีเป็นเรื่องของชนชั้นนั้น อาจจะไม่ถูกทั้งหมด สำหรับผมแล้วมันเป็นเรื่อง “ผิด” กับ “ถูก” และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่แตกต่างกันเท่านั้นเอง เพราะผมมองไม่เห็นเหตุผลอะไรเลยที่การชุมนุมที่มีชนชั้นกลางที่เข้าใจประชาธิปไตยเป็นหลักจะต้องถือตนเป็น “คนดี” เพื่อขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่เป็นกลุ่มทุนใหม่ เพื่อรักษาอำนาจให้กลุ่มชนชั้นนำเก่า

คนที่โต้แย้งก็คงบอกว่า การเคลื่อนไหวของชนชั้นกลางส่งผลให้เกิดการรัฐประหารแล้วทหารเข้ามายึดอำนาจปกครองประเทศยังไงเล่า แต่เราดูรายทางก่อนที่ทหารจะเข้ามารัฐประหารนั้นมันคืออะไร มันคือฝ่ายที่กุมอำนาจปล่อยให้มีคนใช้อาวุธสงครามออกมาฆ่าประชาชนที่ชุมนุมขับไล่ ตั้งแต่การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาจนถึงกปปส.จนฝ่ายกปปส.บางคนต้องจับอาวุธมาปกป้องตัวเองเกิดเป็นมือปืนป๊อบคอร์น

การใช้อาวุธมาเข่นฆ่าผู้อื่นมันเป็นวิถีที่ชอบธรรมของฝ่ายประชาธิปไตยเช่นนั้นหรือ หรือชนชั้นนำใหม่มีสิทธิตอบโต้ประชาชนที่ออกมาชุมนุมขับไล่ด้วยกับปล่อยให้ฝ่ายตัวเองใช้อาวุธสงครามออกมาเข่นฆ่า นี่ต่างหากที่เป็นบัตรเชิญของคณะรัฐประหารไม่ใช่หรือ

ผมเชื่อว่า คนที่ออกมาชุมนุมขับไล่ทักษิณตั้งแต่แรกต่อมาจนถึงขับไล่รัฐบาลของระบอบทักษิณนั้น เพราะมองเห็นว่า รัฐบาลฉ้อฉลต่ออำนาจ ทุจริตคอร์รัปชั่น สร้างนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของตัวเอง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกขับไล่เพราะจะแก้กฎหมายล้มล้างความผิดของทักษิณนี่เป็นความชอบธรรมไหม จะเถียงเรื่องเหล่านี้ไหม หรือจะพูดแต่เรื่องชนชั้นโดยไม่มองเรื่องเหล่านี้ หรือทฤษฎีรัฐศาสตร์ในระบอบประชาธิปไตยบอกว่า การขับไล่รัฐบาลที่ใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมไม่ใช่ความชอบธรรม หรือรัฐบาลที่ชนะจากหีบเลือกตั้งจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้จนครบสมัย

ผมไม่เชื่อเรื่อง “สงครามชนชั้น” ที่อุปโลกน์ขึ้นมา ผมเชื่อว่าความขัดแย้งในสังคมในรอบ10ปีมาจากการมีข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกัน การยืนกันบนละมุมของข้อเท็จจริง คนชั้นกลางส่วนใหญ่เห็นว่าสิ่งที่ระบอบทักษิณทำอยู่นั้นผิดและฉ้อฉลต่ออำนาจ แต่คนชั้นล่างส่วนหนึ่งเห็นว่าสิ่งที่ระบอบทักษิณทำนั้นตัวเองได้ประโยชน์ คนชั้นสูงคนรวยที่ได้ประโยชน์จากทักษิณก็เชียร์ทักษิณก็มีมาก คนในระบบราชการเก่าส่วนใหญ่ก็เชียร์ทักษิณด้วยซ้ำไป

แม้ส่วนตัวผมไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และเป็นคนหนึ่งที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะการสืบทอดอำนาจนั่นแหละ ผมจึงเป็นคนส่วนน้อยในจำนวน10ล้านคน แต่เมื่อประชาชนส่วนใหญ่เขายอมรับผมก็ต้องยอมรับกติกานี้ เพราะในระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องยอมรับเสียงข้างมาก จึงไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นระเบิดเวลาแต่อย่างใด และจริงๆ เราก็คิดอย่างนั้นไม่ได้ด้วย สมมติว่ามีพรรคหนึ่งได้รับชัยชนะเสียงข้างมาก เช่น ไทยรักไทยได้16ล้านเสียง แล้วประชาธิปัตย์ฝ่ายค้านได้ 12ล้านเสียง เราจะบอกว่าคน12ล้านเสียงคือระเบิดเวลาหรือ

แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดโอกาสให้คสช.สืบทอดอำนาจจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนนอก และให้ส.ว.ที่ตัวเองแต่งตั้งมากับมือเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย จึงมีโอกาสสูงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหลังเลือกตั้ง รวมกับที่เป็นมาก่อนก็อาจรวมเวลาถึง9-10ปี แต่แม้ว่าจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วย เราต้องเคารพอำนาจประชาชนเขาเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ท่วมท้นมากกว่าประชามติรัฐธรรมนูญ2550ด้วยซ้ำไป ถ้าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยแล้วจะมีโต้แย้งอะไรอีก

แต่ถามว่าในทางทฤษฎีถ้าประชาชนเห็นว่าพรรคไหนมีนโยบายที่ดีมีผู้นำที่ดีก็สามารถเลือกพรรคนั้นถล่มทลายได้ ไม่ได้มีมาตราไหนที่เขียนปิดกั้นอำนาจของประชาชนในคูหาเลือกตั้ง ทุกคนต่างก็มี1คน1เสียงเท่าเทียมกัน ถ้าพรรคของทักษิณชนะด้วยเสียงเลือกตั้งเกินครึ่งหนึ่งของ2สภาคือ 375เสียงขึ้นไปก็ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ หรือรวบรวมพรรคร่วมได้เกิน375เสียงก็ได้ ความเป็นไปได้ที่จะออกจากทหารก่อนบทเฉพาะกาล5ปีจึงมี แต่ถามว่ายากไหมก็ต้องตอบว่ายาก

ผมไม่กลัวนะครับว่ารัฐธรรมนูญจะแก้ไขไม่ได้หรือแก้ยาก เพราะในอนาคตถ้าประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขก็ไม่มีวันจะทานอำนาจของประชาชนได้

และไม่เคยเชื่อว่า ฝ่ายตรงข้ามของทักษิณเป็นพวกไม่เอาประชาธิปไตยอย่างที่กล่าวหากัน แต่เขาเข้าใจต่างหากว่าประชาธิปไตยไม่ใช่แค่อยู่ในคูหาเลือกตั้ง เขาเพียงยอมให้“อำนาจนิยม” เข้ามาชั่วคราวเพื่อจัดการกับรัฐบาลที่ฉ้อฉล ไม่ใช่เขาไม่เห็นใจชาวนาไทยเคยเจอสภาพที่ถูกทอดทิ้งให้จมปลักอยู่กับความเสียเปรียบ แต่เขาเห็นว่านโยบายประชานิยมที่บางพรรคเสนอนั้นมันมีผลเสียต่อชาติมากกว่า

โลกมันเปลี่ยนไปแล้วทฤษฎีใหม่เกิดขึ้นทุกวัน สังคมไทยไม่ได้ปิดกั้นทางชนชั้น และไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่ชนชั้นกลางส่วนใหญ่จะรังเกียจชนชั้นนำใหม่แล้วแย่งอำนาจไปให้ชนชั้นนำเก่า เพียงแค่พวกที่ถูกเหน็บแหนมว่า “คนดี” มีสำนึกว่าอะไร “ผิด” อะไร “ถูก” แล้วออกมาขับไล่รัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมเท่านั้นเอง

ติดตามผู้เขียนที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น