xs
xsm
sm
md
lg

“ปัญหามา ปัญญามี แต่ควรคิดเชิงบวกด้วย”

เผยแพร่:   โดย: ภณิดา มิลเลอร์

ภาพยนตร์เรื่อง The Shawshank Redemption (1994) ชื่อภาษาไทย “ชอว์แชงค์ มิตรภาพ ความหวัง ความรุนแรง” เป็นภาพยนตร์ในดวงใจของใครหลายคน เรียกได้ว่าเป็นภาพยนตร์ในตำนาน คำโปรยโฆษณาบนแผ่นโปสเตอร์ “Fear can hold you prisoner. Hope can set you free.” /“ความกลัวสามารถเหนี่ยวรั้งคุณเป็นนักโทษ ความหวังสามารถทำให้คุณเป็นอิสระ” ความกลัวเป็นอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าสะสมความกลัวเป็นเวลานานส่งผลให้เกิดความหวาดระแวงหรือกลัวอย่างไร้เหตุผลได้ ความกลัวเกิดจากความคิดเชิงลบ คิดแต่ว่าเป็นไปไม่ได้ส่วน Hope/ความหวัง เกิดจากความคิดเชิงบวก ว่าเป็นไปได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้เกี่ยวกับมิตรภาพและความหวัง มิตรภาพระหว่างนักโทษด้วยกันในเรือนจำ ฉากหนึ่งในภาพยนตร์ พระเอก ‘แอนดี้’ และเพื่อนของเขา ‘เรด’ นั่งคุยกัน แอนดี้ถามกับเรดว่า “คุณรู้ไหมว่าคนเม็กซิโกพูดเกี่ยวกับมหาสมุทรแปซิฟิกว่าอะไร” แอนดี้กล่าวต่อว่า “พวกเขาพูดว่ามันไม่มีความทรงจำ” “นั่นเป็นที่ซึ่งผมต้องการที่จะอยู่ในบั้นปลายของชีวิต บริเวณอบอุ่นที่ไม่มีความทรงจำ” เรดกล่าวตอบ “ผมไม่คิดว่าจะสามารถดำรงชีวิตในโลกภายนอกได้ ผมอยู่ที่นี่มาค่อนชีวิตแล้ว ผมคือมนุษย์เรือนจำ” แอนดี้จบสนทนาด้วย “มันทำให้ต้องตัดสินใจในทางเลือกที่ง่ายไม่ซับซ้อนคือ ‘get busy living or get busy dying’/ดำรงชีวิตอยู่ หรือ รอคอยความตาย” เป็นคำกล่าวที่ลึกซึ้งและใช้ได้กับเราทุกคน เพราะ “ชีวิตคือการต่อสู้” จากหนังสือชื่อ “ชีวิตคือการต่อสู้” โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ สำนักพิมพ์สุขภาพใจ “อาวุธที่จะใช้เอาชนะมารคือธรรมะที่เรียกว่า ปัญญา มีพระพุทธพจน์ว่า “โยเธถ มารํ ปญฺญาวุเธน” แปลว่า เธอจงรบมารด้วยอาวุธ คือ ปัญญา”

ปัญญาในพระพุทธศาสนามี 3 ระดับ คือ

1. สุตมยปัญญา (knowledge) คือปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้ ฟัง อ่าน

2. จินตามยปัญญา (reasoning) เกิดจากการคิดด้วยเหตุผลและความคิดสร้างสรรค์

3. ภาวนามยปัญญา (wisdom) เป็นปัญญาขั้นสูงสุด เกิดจากการเจริญวิปัสสนาภาวนาเท่านั้น เป็นปัญญาที่เห็นแจ้งโดยประจักษ์จากภายใน สามารถฆ่ากิเลสได้

แต่ทว่าจิตใจของคนในยามที่อัตคัด ขัดสน ความสามารถในการตัดสินใจและความเชื่อมั่นในตนเองลดน้อยลง บางคนไม่สามารถควบคุมจิตใจของตนเองได้ ปัญญากระเจิดกระเจิง บางคนเกิดความสิ้นหวัง ท้อแท้ ตัดพ้อโชคชะตา ฟ้าลิขิต คร่ำครวญรำพัน ขออนุญาตยกตัวอย่างความขาดแคลนมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคน จากหนังสือ ‘Scarcity: Why Having Too Little Means So Much’/ความขาดแคลน:ทำไมการมีน้อยเกินไปมีความหมายมากเหลือเกิน โดย Sendhil Mullainathan, PhD. หนังสือที่เขียนขึ้นจากการวิจัยของผู้เขียนและศาสตราจารย์EldarShafir มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) “การเป็นคนยากจน, ยกตัวอย่าง, ลดสมรรถภาพการรู้คิดของบุคคลมากกว่า การไม่นอนหลับพักผ่อน 1 คืนเต็มๆ ไม่ใช่ว่าคนยากจนมีกำลังความสามารถหรือสมรรถภาพของจิตใจไม่มากนักในการจัดการกับปัญหาของแต่ละบุคคล ถ้าจะพูดให้ถูกคือประสบการณ์ของความยากจนลดสมรรถภาพของจิตใจของใครก็ได้น้อยลง”/“Being poor, for example, reduces a person’s cognitive capacity more than going one full night without sleep. It is not that the poor have less bandwidth as individuals. Rather, it is that the experience of poverty reduces anyone’s bandwidth.” หมายเหตุ‘Bandwidth’ มี 2 ความหมาย ความหมายในหนังสือนี้ หมายถึง ‘the energy or mental capacity required to deal with a situation.’ กำลังความสามารถหรือสมรรถภาพของจิตใจที่ต้องการในการจัดการกับสถานการณ์

ขออนุญาตยกบทความของ ดร.วิรัช วิรัชนิภาวรรณ “วิเคราะห์ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ” ข้อที่ 1 “เชื่อเรื่องเวรกรรม คนไทยมีความเชื่อมูลฐานในเรื่องเวรกรรม กฎแห่งกรรม หรือสวรรค์นรก โดยเชื่อว่าคนที่มีฐานะและความเป็นอยู่แตกต่างกัน เป็นเรื่องของโชคชะตาฟ้าลิขิต เช่น คนมีฐานะร่ำรวยมีอำนาจวาสนาเพราะเมื่อชาติก่อนหรือแม้กระทั่งชาตินี้ คนนั้นหรือบิดามารดาของคนนั้นได้สร้างบุญกุศลไว้มาก จึงเกิดมารวยและสบาย ตรงกันข้ามคนที่มีฐานะยากจน เพราะเมื่อชาติก่อนได้สร้างบาปกรรมไว้มาก และทำบุญน้อยจึงเกิดมาลำบากหรือเกิดมาใช้เวรใช้กรรมในชาตินี้ ซึ่งเห็นได้จากถ้อยคำที่ว่า ถ้าคนรวยตายเรียกว่า “สิ้นบุญ” แต่ถ้าคนจนตายเรียกว่า “สิ้นเวรสิ้นกรรม” หรือ “หมดเวรหมดกรรม” เป็นต้น....

การที่คนไทยเชื่อและยอมรับสภาพความแตกต่างของคนในเรื่องฐานะและอำนาจนั้น มีส่วนสำคัญทำให้คนไทยที่มีฐานะยากจนและไม่มีอำนาจขาดความกระตือรือร้นในการพึ่งตนเองหรือพัฒนาฐานะของตนเอง เพราะเชื่อว่าทำอย่างไรก็ไม่มีทางร่ำรวย มีฐานะ มีหน้ามีตาหรือมีชื่อเสียงขึ้นมาได้ สอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า “แข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แต่แข่งบุญวาสนาแข่งไม่ได้” และเมื่อใดก็ตามที่พบอุปสรรค ความยากลำบาก หรือทำสิ่งใดไม่สำเร็จตามใจปรารถนาก็จะเกิดความท้อแท้ใจได้ง่ายพร้อมกับอ้างว่าเป็นเรื่องของเวรกรรม....”

ชีวิตแต่ละชีวิตเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้ แม้เกิดมาบนความไม่พร้อม ความขาดแคลน แต่หากมีความพากเพียร ขยัน อดทน กระตือรือร้น ก็สามารถผลักดันตนเองให้เดินไปในทางที่จะนำพาชีวิตสู่ความก้าวหน้า และประสบความสำเร็จได้ ตามหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนาที่สามารถนำไปแก้ปัญหาหรือความทุกข์ได้สำหรับทุกคน คือ หลักอริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่

1. ชีวิตแลโลกนี้มีปัญหา (ทุกข์) ชีวิตที่เกิดมาในโลกนี้ล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น ปัญหาที่มนุษย์ต้องเผชิญ มีทั้งปัญหาที่เป็นปัญหาสากล เช่น ปัญหาการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความไม่สมปรารถนา ความพลัดพรากจากบุคคล สัตว์ สิ่งของ

2. ปัญหามีสาเหตุ มิได้เกิดขึ้นลอยๆ (สมุทัย) ปัญหาที่มนุษย์เผชิญอยู่ดังกล่าวข้างต้น มิใช่เกิดขึ้นลอยๆ หรือเกิดขึ้นโดยบังเอิญ โดยไม่มีเหตุปัจจัย ทุกปัญหาเกิดขึ้นอย่างมีสาเหตุทั้งสิ้น

3. มนุษย์สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง (นิโรธ) เนื่องจากปัญหาทุกปัญหาย่อมมีสาเหตุ การแก้ปัญหาได้ต้องสืบสาวหาสาเหตุให้พบแล้วแก้ที่สาเหตุนั้น ซึ่งเรื่องนี้พระพุทธศาสนาได้สอนไว้ว่า มนุษย์มีศักยภาพหรือความสามารถเพียงพอที่จะแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยตัวมนุษย์เอง

4. การแก้ปัญหานั้นต้องใช้ปัญญาและความเพียร (มรรค) กระบวนการแก้ปัญหานั้น จำเป็นต้องใช้ปัญญา (ความรู้) และวิริยะ (ความเพียร) อย่างเกื้อหนุนกัน จึงจะสามารถแก้ปัญหาให้สำเร็จลุล่วงไปได้

การคิดในเชิงบวกกระตุ้นให้มีความหวังในการดำรงชีวิตส่งเสริมให้เห็นคุณค่าในตนเอง และเห็นคุณค่าของผู้อื่น การคิดเชิงบวกเป็นประจำช่วยให้มองเห็นโอกาส และตีความเหตุการณ์ต่างๆ ในมุมมองของการมีความหวัง และคิดหาทางออกที่สร้างสรรค์ เอาชนะปัญหาต่างๆ ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองแต่การคิดเชิงบวกไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาแบบเร่งด่วนหรือการแก้ปัญหาแบบชั่วคราว (Band-aid solution) แต่ในทางตรงกันข้ามเป็นวิธีการแก้ปัญหาทั่วไปอย่างยั่งยืนและระยะยาว

อย่างไรก็ตาม การมีปัญหาไม่ใช่ว่าจะหาความสุขไม่ได้ เพราะความสุขนั้นมีอยู่ทุกหนแห่ง ขึ้นอยู่กับใจของเรานั่นเอง “พวกเรา คนญี่ปุ่นมีความสุขกับความเพลิดเพลินใจเล็กๆ น้อยๆ ไม่สิ้นเปลือง ผมเชื่อว่าคนเราควรมีวิถีทางการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย แม้ว่าสามารถมีได้มากกว่านั้น”/“We Japanese enjoy the small pleasures, not extravagance. I believe a man should have a simple lifestyle – even if he can afford more.” ~Masaru Ibuka

ข้อมูล http://bit.ly/2r0ZIfq วิเคราะห์ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
http://www.apa.org/monitor/2014/02/scarcity.aspx The psychology of scarcity
กำลังโหลดความคิดเห็น