xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ภูมิใจมากไหมกำไรอื้อซ่า!!! แต่ถูกตั้งข้อสงสัยปกปิดรายชื่อหุ้นอุปการคุณ และรายงานเท็จเรื่องท่อก๊าซต่อศาลปกครองสูงสุด?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


"ณ บ้านพระอาทิตย์"
"โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์"

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนประจำไตรมาสแรก สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 ปรากฏว่ามีกำไรสุทธิสูงสุดอันดับแรก ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. กำไรสุทธิ 46,168 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 16.09 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 23,669 ล้านบาท กำไรสุทธิ 8.23 บาท คิดเป็นกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 22,499 ล้านบาท หรือ 95.06%

ทั้งนี้ “ผู้จัดการรายวัน 360” ได้รวบรวมกำไรสุทธิของกลุ่ม ปตท.ทั้งหมด ประจำไตรมาส 1/2560 พบว่า มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 84,877 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 90% โดยกลุ่ม ปตท. มีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 90% ในหลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณ SET50 เฉพาะ บมจ.ปตท. รายเดียวจะอยู่ที่ประมาณ 11.24% ของ SET50 แล้ว

แม้ในความจริงทาง ปตท.จะอ้างว่าเพราะราคาน้ำมันตลาดโลกมีราคาสูงขึ้น แต่ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าการกำไรส่วนหนึ่งมาจากธุรกิจในกิจการท่อก๊าซธรรมชาติอย่างแน่นอน

โดยภายหลังจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ให้รัฐบาลและพวกแบ่งแยกทรัพย์สินและท่อก๊าซธรรมชาติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2550 แล้ว ในปีพ.ศ. 2551 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้โอนระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเฉพาะบนบกบางส่วนให้แก่กรมธนารักษ์มูลค่า 16,176.22 ล้านบาทเท่านั้น

โดยเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2551 กรมธนารักษ์ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลัง ได้ลงนามสัญญาให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เช่าระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่โอนในปี พ.ศ. 2551 เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2580 โดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ชำระค่าเช่าระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ย้อนหลังให้กรมธนารักษ์ระหว่าง วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2544 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2550 เป็นเงิน 1,330 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จำนวนเงินอีก 266 ล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ 1,596 ล้านบาทเท่านั้น จริงหรือไม่?

แต่ปรากฏข้อมูลที่คำนวณได้ว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เรียกเก็บค่าใช้ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งระบบ จากภาคเอกชนและจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต สำหรับช่วงเวลา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2544 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2550 เป็นเงินประมาณ 116,768 ล้านบาท ในขณะที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จ่ายค่าเช่าให้กับกรมธนารักษ์ในช่วงเวลาเดียวกันซึ่งคำนวณตามสูตรการแบ่งผลประโยชน์เป็นเงินเพียงประมาณ 1,596 ล้านบาทเท่านั้น ใช่หรือไม่?

เท่ากับว่าวันที่ลงนามในสัญญาเช่าท่อก๊าซย้อนหลังนั้น กรมธนารักษ์ย่อมรู้อยู่แล้วว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้นำระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปสร้างรายได้มากกว่าที่จ่ายให้กรมธนารักษ์ไปแล้วถึง 73 เท่าตัว ใช่หรือไม่ !!!!?

และเมื่อคำนวณสำหรับช่วงเวลา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2544 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เรียกเก็บค่าใช้ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งระบบ จากภาคเอกชนและจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตโดยอาศัยมติคณะกรรมการกำกับค่าไฟฟ้า เป็นเงินสูงมากถึงประมาณ 356,108 ล้านบาท ในขณะที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จ่ายค่าเช่าให้กับกรมธนารักษ์ในช่วงเวลาเดียวกันซึ่งคำนวณตามสูตรการแบ่งผลประโยชน์เป็นเงินเพียงประมาณ 5,996 ล้านบาท ใช่หรือไม่?

หรือหมายความว่าบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปสร้างรายได้มากกว่าที่จ่ายให้กรมธนารักษ์ถึงประมาณ 59 เท่าตัว โดยเฉลี่ยตลอด 14 ปีมานี้ จริงหรือไม่ !!!!?

ตลกร้ายของประเทศไทย คือ ซุปเปอร์ดีลจากรายได้ประมาณ 356,000 ล้านบาท แต่สามารถสร้างผลกำไรขั้นต้นถึงประมาณ 350,000 ล้านบาท จากกิจการให้เช่าท่อก๊าซธรรมชาติอย่างเดียวตลอดระยะเวลา 14 ปี เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น ปตท. ใช่หรือไม่?

อุปมาเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้น ปตท. ให้บริการค่าเช่าท่อที่คิดจากเอกชนและประชาชน 100 บาท แต่มีต้นทุนจ่ายให้กรมธนารักษ์เพียงประมาณไม่ถึง 2 บาทเท่านั้น เอากำไรขั้นต้นถึงประมาณกว่า 98 บาท ใช่หรือไม่? เป็นการเอากำไรขั้นต้นเกินสมควรจากเอกชนและประชาชน ผู้ใช้ไฟฟ้า ผู้ใช้ก๊าซหุงต้ม ผู้ใช้รถยนต์หรือรถขนส่งที่ใช้พลังงานจากก๊าซ และเอกชน จริงหรือไม่?

การไม่แยกระบบท่อส่งก๊าซออกไปก่อนหน้าที่จะมีการแปรรูป ทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อย่างมาก เนื่องจากปรากฏในรายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการระดมทุนจากภาคเอกชนในการแปรสภาพ ปตท. ครั้งที่ 3/2544 เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2544 ที่ปรึกษาทางการเงินได้ประเมินราคาหุ้นไว้ว่ามูลค่าที่เกิดจากธุรกิจก๊าซในมูลค่าหุ้นขั้นต่ำนั้นคำนวณคิดเป็นร้อยละ 78.64 ของมูลค่าหุ้นขั้นต่ำ และสัดส่วนที่เกิดจากธุรกิจก๊าซนั้นคำนวณคิดเป็นร้อยละ 81.31 ของมูลค่าหุ้นขั้นสูง ใช่หรือไม่?

และคนในจำนวนหนึ่งที่ได้ราคาหุ้นไปจำนวน 35 บาทต่อหุ้น โดยอ้างว่าเป็น “ผู้มีอุปการคุณ” ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 25 ล้านหุ้น รวมทั้งสิ้น 2,294 ราย ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการเปิดเผยโดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อ้างว่า:

“ เป็นข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้”

ความจริงแล้ว การเปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใสในเรื่องขายทรัพย์สมบัติของชาติมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาก็มีการเปิดเผยรายชื่อส่วนอื่นๆมาแล้วก่อนหน้านี้ เช่น ผู้ถือหุ้นองค์กรต่างชาติที่เป็นนอมินีทั้งหลายและผู้จองซื้อรายย่อย

แต่เหตุใดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่อ้างว่าเป็นผู้มีอุปการคุณจึงต้องถูกยกเว้นเป็นกรณีพิเศษว่า "เป็นข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้" ต่างจากผู้ถือหุ้นองค์กรต่างชาติที่เป็นนอมินีทั้งหลายและผู้จองซื้อรายย่อย?

โดยเฉพาะในหนังสือชี้ชวนการขายหุ้นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ระบุวิธีการจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้มีอุปการคุณว่า:

"การจัดสรรสิทธิในการจองซื้อหุ้นให้แก่ผู้มีอุปการคุณ ให้อยู่ในดุลพินิจของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)"

ดังนั้นเมื่ออำนาจการตัดสินใจในการจัดสรรสิทธิ์ในการจองหุ้นให้แก่ผู้มีอุปการคุณอยู่ในดุลพินิจของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) องค์กรของรัฐย่อมไม่สามารถอ้างเรื่องการละเมิดสิทธิผู้อื่นมาเป็นข้ออ้างเพื่อปกปิดข้อมูลที่เกี่ยวกับการขายทรัพย์สินของชาติในครั้งนั้น จริงหรือไม่?

โดยเฉพาะหากหุ้นของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นทรัพย์สินของชาตินั้นถูกขายไปราคาต่ำๆ เพียง 35 บาท จนมีความต้องการทั้งจากในประเทศและต่างประเทศมากล้นโควต้าไปอย่างมหาศาล สมควรหรือไม่ที่จะต้องเปิดเผยผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยอ้างว่าเป็นผู้มีอุปการคุณว่าเป็นใครในการได้โควต้าซื้อทรัพย์สินของชาติในราคาถูกๆ เช่นนี้ ?

ความน่าสงสัยในเรื่องหุ้นผู้มีอุปการคุณนั้นมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะถ้าเปิดเผยมาอาจทำให้หลายคนได้เข้าใจมากขึ้นก็ได้ว่าเหตุใดเรื่องการปฏิรูปด้านพลังงาน รวมถึงการทวงคืนท่อก๊าซธรรมชาติถึงยังไม่คืบหน้าเสียทีก็ได้ จริงหรือไม่?

โดยเฉพาะเป็นที่ทราบกันดีว่าการคืนท่อก๊าซธรรมชาติย่อมจะมีผลต่อมูลค่าทรัพย์สินของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อาจกระทบต่อผู้ที่อาจถือหุ้นในนามผู้มีอุปการคุณด้วยก็ได้ จริงหรือไม่?

โดยเฉพาพอย่างยิ่งภาคประชาชน ได้อาศัยจากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 800/2557 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557 เรื่องการคืนท่อก๊าซธรรมชาติความว่า :

“เรื่องการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่หน่วยงานราชการต้องไปว่ากล่าวกันเอง โดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยงานทั้งหลาย”

คำสั่งดังกล่าวข้างต้นมีความชัดเจนว่าการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีนั้น เป็นเรื่องหน่วยงานของรัฐต้องไปจัดการว่ากล่าวกันเอง เพราะต่างมีสถานภาพเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาคณะรัฐมนตรีทั้งสิ้น ซึ่งก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับศาลปกครองสูงสุดแล้ว

หลังจากพบว่าคณะรัฐมนตรีไม่ได้มีการว่ากล่าวหน่วยงานผู้ใต้บังคับบัญชาใดๆ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วยนางสาวรสนา โตสิตระกูล นางสาวบุญยืน ศิริธรรม นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา กับพวก ได้ไปยื่นคำร้องต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้คณะรัฐมนตรีดำเนินตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 เพราะท่อก๊าซธรรมชาติทั้งหมดเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผลปรากฏว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ได้มีมติแล้วแจ้งให้คณะรัฐมนตรีรับทราบเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 ดังนี้

“1. ท่อก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพราะได้มาจากการประกอบกิจการและใช้เพื่อกิจการของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 ก่อนมีการแปรรูปและส่งมอบให้บริษัท ปตท.

2. อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. กับพวกฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีและมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ขาดไปคิดเป็นเงิน 32,000 ล้านบาทเศษ และทำให้รัฐขาดประโยชน์จากค่าเช่าที่พึงได้รับ

นอกจากนี้ยังยื่นคำร้องอันเป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุดว่ามีการส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติครบถ้วนแล้ว โดยไม่รอผลการตรวจสอบและรับรองจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2550 และ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 มาตรา 24 ก่อน

3. ให้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาดำเนินคดีอาญากับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.กับพวก เนื่องจากมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ทั้งให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยและความรับผิดชอบทางละเมิดด้วย

4. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44, 46, และ 15 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ขอให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. กับผู้เกี่ยวข้องดำเนินการให้มีการส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติที่ขาดไปคิดเป็นเงิน 32,000 ล้านบาทเศษแก่กระทรวงการคลัง และให้คณะรัฐมนตรียื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้มีการบังคับคดีที่ถูกต้องครบถ้วนต่อไปภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

มิฉะนั้นคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จะดำเนินการตามมาตรา 17, 63, และ 64 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ต่อไป"

เวลาผ่านไปกว่า 60 วัน ตามที่กำหนดเอาไว้ มาตรา 44 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 โดยล่วงเลยไปมากกว่า 270 วัน คณะรัฐมนตรีก็ยังไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการตรวจเงินนแผ่นดิน แต่ประการใด

ข้อกล่าวอ้างของกลุ่มทุนพลังงานที่มักจะโจมตีองค์กรตรวจสอบอิสระตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงการโจมตีการเคลื่อนไหวภาคประชาชนมาโดยตลอดคือต้องยึดตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเป็นหลักว่า

“การคืนท่อก๊าซธรรมชาติครบถ้วนแล้ว ความเห็นองค์กรอื่นทั้งหลายนั้นเป็นเพียงแค่ความเห็นไม่ใช่ข้อยุติเหมือนคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดแต่ประการใด”

จึงขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าทุกภาคส่วนได้ยึดถือคำพิพากษาและคำสั่งศาลปกครองสูงสุดมาโดยตลอด และที่เรื่องมาถึงวันนี้ได้ก็เพราะการยึดถือและทำตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 เช่นกัน เพราะได้ระบุข้อความในคำสั่งดังกล่าวว่า

“เรื่องการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่หน่วยราชการต้องไปว่ากล่าวกันเอง โดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยงานทั้งหลาย”

และด้วยคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 จึงกลายเป็นช่องแสงสว่างเล็กๆที่ทำให้ภาคประชาชนซึ่งนำโดย นางสาวรสนา โตสิตระกูล ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคณะ ได้ไปยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าการดำเนินการคืนท่อก๊าซธรรมชาตินั้นไม่ได้มีการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีก็ยังไม่ได้มีการว่ากล่าวหน่วยงานทั้งหลาย จนกลายเป็นมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในครั้งนี้

ดังนั้นประเด็นในเรื่องนี้จึงอย่าหลงประเด็น เพราะไม่ใช่ว่าหน่วยงานตรวจสอบการคืนท่อก๊าซธรรมชาติไม่ฟังข้อยุติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด

แต่ประเด็นหัวใจสำคัญในกรณีนี้อยู่ที่ว่า

ในการยื่นรายงานต่อศาลปกครองสูงสุดว่าคืนท่อก๊าซธรรมชาติครบไปแล้วนั้น มีการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี จริงหรือไม่?

2. ถ้าการยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ระบุเอาในคณะรัฐมนตรีแล้ว มีการรายงานเท็จต่อศาลปกครองสูงสุดจริงหรือไม่?

เพราะมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ได้กำหนดบทบาทการตรวจสอบความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สินของ ปตท.ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดนั้น ให้เป็นหน้าที่ของ “สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน”

ข้อสำคัญจะต้องมีการเปิดเผยความจริงว่ามีการประชุมร่วมกันระหว่าง ปตท. กับ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ทักท้วงถึง 2 ครั้งว่าการคืนท่อก๊าซธรรมชาติไม่ครบถ้วนนั้น จริงหรือไม่?

โดยเฉพาะการประชุมร่วมกันระหว่าง ปตท. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินครั้งที่ 2 นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประชุมด้วย ผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินอีกครั้งทักท้วงไปแล้วว่าการคืนท่อก๊าซธรรมชาติไม่ครบถ้วน เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2560 จริงหรือไม่?

เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้รับมอบหมายโดยมติคณะรับมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ให้เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน ซึ่งหากมีการทักท้วงถึง 2 ครั้ง แต่การที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังได้ทำหนังสือยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้วนั้น เป็นการยื่นรายงานเท็จต่อศาลปกครองสูงสุดหรือไม่?

ยิ่งไปกว่านั้นจะต้องตอบคำถามว่าจริงหรือไม่กรณีที่มีหนังสือกรมธนารักษ์ ด่วนที่ กค 0304/14834 ลงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ถึงประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แจ้งว่ากรมธนารักษ์ได้มอบหมายให้นายพินิฐ อริยวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย นายอรุณ ภัทรานนท์ นิติกร และนายจตุพร หรือ ธนพร พรหมพันธุ์ (บังเอิญชื่อและนามสกุลซ้ำกับแกนนำ นปช.) เจ้าหน้าที่จัดหาผลประโยชน์ รักษาการในตำแหน่งนิติกรเดินทางไปจังหวัดราชบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อตรวจสอบสภาพของท่อก๊าซโครงการท่อจากชายแดนไทยพม่า-ราชบุรี ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในระหว่างวันที่ 8-10 มกราคม พ.ศ. 2552

ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าการยื่นหนังสือแจ้งล่วงหน้าของกรมธนารักษ์ถึงผู้บริหารบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ว่าจะมีการตรวจสอบสภาพทรัพย์สินท่อก๊าซธรรมชาติวันที่ 8-10 มกราคม พ.ศ. 2552 ย่อมแสดงว่าการตรวจสอบสภาพทรัพย์สินยังไม่แล้วเสร็จ แต่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กลับยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ไปยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้วนั้น เป็นการยื่นรายงานเท็จต่อศาลปกครองสูงสุดหรือไม่?

ถ้าเรื่องดังกล่าวเป็นรายงานเท็จต่อศาลปกครองสูงสุด อาจจะต้องก้าวไปไกลกว่านั้นว่าบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ปกปิดข้อมูลอันสำคัญต่อผู้ถือหุ้นด้วยหรือไม่?

นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ยื่นหนังสือถึงกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทุกคนให้ตรวจสอบในเรื่องสำคัญนี้เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ความตอนหนึ่งว่า:

งบการเงินของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปี พ.ศ. 2551 ได้ปรากฏเป็นหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 38 การดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดระบุความตอนหนึ่งว่า

“...เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 บริษัทฯได้ยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาต่อศาลฯ เพื่อรายงานให้ศาลฯรับทราบถึงการดำเนินการตามคำพิพากษาของบริษัทฯ และของให้ศาลฯ พิจารณาการดำเนินการตามคำพิพากษาของบริษัทฯ และมีคำสั่งตามที่ศาลเห็นสมควรต่อไป”

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ศาลฯได้บันทึกไว้ในคำร้องของบริษัทฯ ความว่า

“พิเคราะห์แล้วเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว...”

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 บริษัทฯได้รับรายงานตรวจสอบเรื่องการตรวจสอบรับรองความถูกต้องมูลค่าทรัพย์สินแบ่งแยกให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลฯ ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 จากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 บริษัทฯจึงไม่ได้ส่งรายงานการตรวจสอบเฉพาะเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีและศาลฯ อย่างไรก็ตามสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ส่งรายงานดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีและศาลแล้ว”

นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงได้แจ้งต่อคณะกรรมการของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่ากรณีนี้มีการปกปิดข้อมูลว่ามีการประชุมร่วมกันระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินถึง 2 ครั้ง และได้รับการทักท้วงว่าการคืนท่อก๊าซธรรมชาติไม่ครบถ้วนจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทั้ง 2 ครั้ง ก่อนที่จะยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดว่าคืนทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว แต่กลับไม่รายงานในหมายเหตุประกอบงบการเงินต่อผู้ถือหุ้นแต่ประการใด จึงเท่ากับเป็นเจตนาที่จะรายงานเท็จในหมายเหตุประกอบงบการเงินหรือไม่?

สิ่งที่จะฝากคำเตือนถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานั้นมีอยู่ว่ารัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกดำเนินคดีความในทุกวันนี้ในคดีจำนำข้าวก็เพราะไม่ฟังเสียงทักท้วงและคัดค้านจากองค์กรตรวจสอบอิสระตามรัฐธรรมนูญหลายครั้ง

วันนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถ้าหากยังไม่ฟังเสียงขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่เตือนโดยมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน เพียงเพื่อจะหวังโอบอุ้มผู้ที่อ้างว่าเป็นผู้มีอุปการคุณทั้งหลายของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อหมดอำนาจลงก็คงหลีกไม่พ้นที่จะต้องถูกดำเนินคดีความตามรอยคดีจำนำข้าวเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น