xs
xsm
sm
md
lg

สภาพการทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ : เมื่อแพทย์ป่วยและทนไม่ไหวจนต้องลาออกหรือเสียชีวิต

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

แฟ้มภาพ
อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขา Business Analytics and Intelligence และวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ข่าวแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐทำงานหนักจนเสียชีวิตติดเชื้อในปอดจากการทำงาน แล้วยังมีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขออกมาให้สัมภาษณ์ว่าน้องหมอนั้นเพราะอยากได้เงินจึงขึ้นเวรมากเกินไป ต้องการเก็บเงินเพื่อจะไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง ผมว่าเป็นคำพูดที่ไม่ควรหลุดออกมาจากปากของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเลย

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้แพทย์ไทยทำงานหนักที่สุดในโลก โดยได้ผลตอบแทนที่ต่ำมาก แต่แน่นอนว่ามีแพทย์บางพวกที่ไปเป็นผู้บริหารหรือไปเป็น NGO หรือ บริหารองค์กรอิสระ ที่ไม่ต้องทนทำงานหนัก การขึ้นเวรที่เหน็ดเหนื่อยกว่ามาก แต่ได้เงินน้อยกว่า เรื่องนี้ต่างชาติตะลึงมากว่าไทยทำได้อย่างไร ทั้งๆ ที่เงินน้อยมาก ไม่ใช่ผลงานอะไรของ สปสช. หรอกครับผม นั่นเป็นการตีกินโดยคนทำงานจริงๆ ต้องกรอกข้อมูลส่งเพื่อแลกเงิน คนทำงานหน้างานนั้นหนักและเหนื่อยมากในการรักษาและดูแลคนไข้ แต่อีกคนได้ผลงานไปโดยไม่ต้องทำอะไรมากนักนอกจากรวบรวมตัวเลข ดังนั้นก็อย่าได้แปลกใจว่าทำไมแพทย์ไทยถึงได้ลาออกมากนัก

ส่วนเรื่องขึ้นเวรไม่เคยต่อเนื่องกันเกินกว่า 24 ชั่วโมงนั้นก็ไม่เป็นเรื่องจริงแต่อย่างใด ผลการศึกษาชื่อ ชั่วโมงการทำงานของแพทย์เพิ่มพูนทักษะในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่ใน Srinagarind Medical Journal (http://www.smj.ejnal.com/e-journal/showdetail/?show_detail=T&art_id=1691)

ซึ่งพบว่าแพทย์เพิ่มพูนทักษะจำนวน 168 จาก 182 ราย ตอบแบบสอบถาม คิดเป็นร้อยละ 92.3 แพทย์เพิ่มพูนทักษะส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80-90) ทำงานมากกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แพทย์เพิ่มพูนทักษะในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปอยู่เวรนอกเวลาราชการมากกว่าแพทย์เพิ่มพูนทักษะในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ระยะเวลาที่ทำงานติดต่อกันนานที่สุดเป็น 48 + 36, 48 + 36 , 72+ 57 ชั่วโมงในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปตามลำดับ แพทย์เพิ่มพูนทักษะส่วนใหญ่รายงานว่ามีการทำการรักษาหรือทำหัตถการผิดพลาด 1-2 ครั้งและเหตุเกิดที่แผนกอายุรกรรมมากที่สุด



ได้อ่านดังนี้ก็น่าตกใจมากว่าอยู่กันได้อย่างไร ทำงานหนัก อดหลับอดนอน จนร่างกายทรุดโทรม และเกิดข้อผิดพลาดในการทำงานได้ด้วย แล้วก็เสี่ยงที่จะถูกฟ้องอีก

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร แห่งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า

สาเหตุแพทย์พยาบาลเสียชีวิตจากการติดเชื้อทางเดินหายใจ นั้นเกิดจาก
1.ภูมิคุ้มกันต่ำ จากการทำงานหนักจนหมดสภาพเพราะมีผู้เข้ามารับบริการทั้งกลางวันและกลางคืน แบบไม่สามาถแยกได้ว่าหากไม่ฉุกเฉินควรมานอกเวลา ทำให้ ระบบภูมิต้านทานโรคอ่อนแอลงเนื่องจากการรับภาระงานที่หนักตลอด 24 ชั่วโมงขาดการพักผ่อน
2.ระบบไหลเวียนอากาศไม่ดีทำให้ไม่สามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อในอาคาร การปรับปรุงการระบายอากาศของอาคารและการแยกผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อทำได้ยากเพราะโรงพยาบาลขาดทุนไม่มีเงินบำรุงใช้ทางออก โรงพยาบาลควรหารายได้เพิ่มโดยไม่เป็นภาระของบุคลากร และลดงานบริการที่ไม่จำเป็นลง

ดังนั้น

1.ควรเก็บเงินค่าบริการนอกเวลาหากไม่ใช่ฉุกเฉิน
2.monitor เวลาทำงานอย่างเปิดเผย
3.รัฐบาลให้งบประมาณเร่งด่วนปรับปรุงสภาพการระบายอากาศในโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อวัณโรคและเชื้อดื้อยาอื่น ๆ


ทั้งนี้มีแพทย์ใช้ทุนคนหนึ่งที่กำลังจะลาออกเขียนไว้ว่า

ทำไมหมอถึงลาออกจากราชการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ น่ะหรอ
เพราะ...
1. “รุ่นก่อนหน้านี้ เค้าก็ผ่านกันมาได้ น้องก็ต้องผ่านไปได้”
.... อะไรที่มันแย่ มันก็เลยแย่อยู่แบบนั้น ....
2. ตอนตีสาม “หมอ แสบท้องค่ะ กินน้ำพริกไปตอนตีหนึ่ง ขอใบรับรองแพทย์ด้วยนะคะ หมอเขียนว่า สมควรลาหยุด ด้วยนะคะ ไม่งั้นหนูเบิกไม่ได้”
.... ใบรับรองแพทย์ คือ เครื่องมือที่เอาไว้ใช้สำหรับหยุดงานและเบิกเงิน ....
3. “จริงๆ มีอาการมาเป็นเดือนละ มาตรวจตอนตีสอง เพราะว่าคนน้อยดี ไม่ต้องรอคิว”
.... มักง่าย เห็นแก่ตัว ....
4. “นี่หมอ ผมเสียภาษีนะ รักษาให้มันดีๆ หน่อย รอก็นาน รู้งี้ไปเอกชนแต่แรกก็สิ้นเรื่อง”
.... หมอก็เสียภาษีนะ เผื่อคุณไม่รู้ ....
5. “หมอ ขอฉีดยาได้ปะ เอาแบบหายเลยอะ”
.... ถ้ามันมียาแบบนั้นอยู่บนโลกก็คงจะดี ....
6. “เมื่อไหร่จะได้ทำแผลอะคะ รอมาจะเกือบ 1 ชม. ละ ทำงานกันภาษาอะไร คนต้องทำมาหากินนะ”
.... ปั๊มหัวใจและใส่ท่อช่วยหายใจคนอื่นอยู่ เลยไม่ว่างน่ะ ....
7. หมอแก่: “เออ น้อง ผมติดประชุมน่ะ ตรวจได้แค่ ชม. เดียวนะ ที่เหลือฝากน้องด้วย”
หมอจบใหม่: .... พี่มีประชุมทุกสัปดาห์ เวลาเดิม วันที่พี่ต้องออกตรวจตลอดเลยแฮะ ....
8. เดือนที่ 9 ของการทำงาน...
me: “อาจารย์คะ ไม่ทราบว่าเดือนนี้ จะได้เงินเดือนตกเบิกมั้ยคะ”
อาจารย์: “เรื่องเงินเดือน ถาม กพ. นะ 555”
.... ทำงานไม่ได้เงินมา 9 เดือนนี่มันตลกมาก!?...
คงต้องรอจนกว่าผู้บริหารจะเป็นคนที่เคยใช้ทุน เคยอยู่เวรแบบเรา มันถึงจะเปลี่ยนแปลง
แต่เราคงไม่รอ
#CountDown10Days
#ทีมสองแสนหก
#มีลูกจะไม่ให้ลูกเรียนหมอ


ขณะที่แพทย์ใช้ทุนอีกท่าน เขียนจดหมายเปิดผนึกว่าต้องลาออกจากราชการเพราะสาเหตุดังนี้

#คนในอยากออก #คนนอกอยากเข้า
เสียดายไหม ตอบเลยว่ามาก ทุกวันนี้ยังมีความสุข (เป็นส่วนมาก) เมื่อตรวจคนไข้ เมื่อเช้าคนไข้ยังขอบคุณและขอให้ผมถูกหวยเลย เราก็ได้แต่ยิ้มๆแล้วบอกว่า ผมไม่เล่นหวยครับ
วันนี้จะมาขอระบายความในใจ ตลอด 6 ปี ที่เรียนและ 2 ปี ที่ก้าวเข้ามาเป็นหมอ
1. ตอนเรียนจบ เราภูมิใจมาก เพราะค่านิยมคนไทย หมอยังเป็นอาชีพที่นับหน้าถือตาอันดับต้นๆ
2. เด็กอายุ 18 จะรู้อะไร ว่าหมอต้องอดหลับอดนอนตั้งแต่ตอนเรียนและตลอดชีวิต สอบทุก 2 สัปดาห์ อ่านหนังสือยิ่งกว่าเตรียมสอบ admission ในเวลา 1 เดือน เจอคำดูถูกถากถางมานับไม่ถ้วน กว่าจะสร้างหมอคนนึงขึ้นมาได้
3. ต้องขอบคุณอาจารย์ทุกคนมากจริงๆที่สร้างผมมา ถึงแม้วันนี้ผมจะทำตามปณิธานที่ให้ไว้ไม่ได้ก็ตาม
4. ที่ตัดสินใจแบบนี้ เราใช้เวลาคิดไตร่ตรองอยู่ 8 เดือน ไม่มีวันไหนเลยที่เราเปลี่ยนใจ เราไม่ได้เบื่อคนไข้ แต่เราเบื่อระบบ
5. ตอนแรกจะเรียนต่อสูติ ทำงานวันแรกเคสแรกก็รับเด็กคลอดตายในมือเลยจ้า CPR + UVC เอง อ.เด็กอึ้งเลย บอกทำเป็นด้วยหรอ แต่ก็นะเลยกลัวมาก เลยเบนไปรังสี ก็คะแนนรังสีไม่ดีอีก เลยจะเรียนพยาธิ แฟนก็ทักว่า เธอจะเอาอะไรกิน เลยมาใช้ทางพระพุทธเจ้า มองดูต้นเหตุ คิดไตร่ตรองกับตัวเอง ว่าทำไมเราโลเลจัง เราเลยมีสติ รู้แจ้ง อ๋อ เป็นเพราะเราไม่ได้ชอบอะไรเลยไง เราแค่จะเรียนต่อเพราะอยากจะออกไปจากการเป็นแพทย์ intern สุดท้าย เราไม่อยากเอาตัวเองเข้าไปสู่บรรยากาศแบบนั้นอีกแล้ว
6. เวลาเป็นสิ่งที่ หมอไม่มี และมันเคยทำให้เรากับแฟนมีปัญหากัน เค้าบอกว่าเราไม่มีเวลาให้เขาเลย เคยต้องตื่นตี 4-5 ไป รพ. บางวันอยู่เวร 2 วันติด เหนื่อยมาก (เพื่อนเคยโดนจัดให้อยู่เวร 9 วันติด ไปท้วง อาจารย์บอกว่า “ถ้าพวกมึงมีปัญหามาก อยู่ไม่ไหวก็ไม่ต้องอยู่” เลยต้องไปช่วยเพื่อน แบ่งเวรมาอยู่โดยที่ไม่ได้บอกอาจารย์) กลับมาตอนเย็นไม่กินข้าวเย็นเพราะง่วงมาก ต้องนอนเลย ตื่นมา รพ. วนไป ทำแบบนี้ทุกวันหลายเดือน ไม่ได้คุยกับแฟน ไม่ได้เจอหน้าพ่อแม่ ทั้งๆที่อยู่บ้านเดียวกัน
7. ปัญหาที่มีผลกระทบมากคือ การนอนหลับ เพราะเราเป็นคนหลับยาก ตื่นง่ายมาก แค่เปิดสวิตไฟก็ตื่นแล้ว อยู่เวรทุกครั้ง เครียดมากกับการต้องตื่นมาดูคนไข้หลังเที่ยงคืน เพราะมันจะทำให้เรานอนไม่หลับเลย เลยต้องพึ่งยา ativan 1 mg ต้องกินทุกครั้งก่อนอยู่เวร มันเลยกลายเป็นว่า วันที่ไม่อยู่เวร มันจะนอนไม่หลับ ถ้าไม่ได้กินยา ทุกวันนี้เลิกละ
8 .เอาเรามาทำงานหนัก ไม่ได้พัก เสียสุขภาพกายและจิต และต้องเสียอะไรหลายๆอย่างในชีวิต เราก็หวังว่าสิ่งตอบแทนที่ได้กลับมามันจะต้องสมผลกัน เงินมากน้อยไม่ว่า แต่คุณต้องจ่ายตรงเวลา ไม่ใช่ติดค้างจนจะเท่าเงินเดือน 1 เดือน บางที่มีการไม่จ่ายบอกหมอว่าให้บริจาคเงินให้ รพ.
9. หลายคนพูดว่าเป็นหมอต้องเสียสละ เวลาเราไปจ่ายตลาด เราไม่ได้เอาความเสียสละไปซื้อกับข้าว หรือเปล่า เลิกพูดสักทีเถอะ ว่ามึงเป็นหมอนะ ต้องเสียสละ
10. ต้องมีการกระจายงานที่ดีกว่านี้ ไม่ใช่ให้แค่แพทย์ใช้ทุนทำงาน อยู่เวรเป็นคนขับเคลื่อน รพ. โอเคให้เราทำงานหนัก แต่พอขอปรึกษาเคส แพทย์เฉพาะทางมีอารมณ์เวลารับปรึกษา (บางกรณี) และปฏิเสธการดูเคสด้วยซ้ำไปทั้งๆที่เป็นสาขาของตัวเอง บางทีก็สงสัยนะว่าที่เรียนต่อกันเพราะอยากสบายหรือ อยากจะเป็นหมอเฉพาะทางกันจริงๆ
11. ระบบเดิมเป็นมาอย่างไร วันนี้ก็คงยังเป็นเต่าล้านปีอย่างนั้น เราคนเดียวยากที่จะเปลี่ยน มันง่ายกว่าคือการเอาตัวเองออกมา
12. ผมแนะนำน้องๆ หรือญาติคนไข้หลายๆ คนที่อยากให้มาเป็นหมอแบบผมว่า อย่ามาเรียนเลย และไม่อายปากด้วย ไม่อยากให้ใครมาเจอประสบการณ์แบบผม
13. ตอนไปสวิส คุยกับคนสิงคโปร์ เค้าถามเราว่า เวลาเข้า รพ. ครั้งนึงเสียตังประมาณเท่าไหร่ เราบอกว่าไม่ทราบ เพราะประเทศไทย ทุกคนฟรี และ doctor ต้อง hard working จริงๆ เค้าก็อึ้ง ทำหน้าตกใจ แล้วถามกลับ “งี้ก็แปลว่าคุณทำงานฟรีอะสิ”
14. ทำไมคน Gen ก่อนๆถึงมีความคิดว่า ข้าราชการ สธ. มันมั่นคง ผมกลับคิดว่ามันล่มแล้ว และมันจะแย่ลงเรื่อยๆ
สุดท้าย ผมอาจจะขาดคุณสมบัติกับตำแหน่งข้าราชการด้วยประการทั้งปวงที่กล่าวมา ขอมอบตำแหน่งให้คนอื่นๆที่พร้อมจะเสียสละสิ่งต่างๆข้างต้นมาทำงานแทนผมละกันครับ


ทุกวันนี้ ค่าตอบแทนแพทย์ชนบท ได้ค่อนข้างดีมาก เช่น แพทย์ชนบทอยู่ในพื้นที่มานานกว่า 21 ปีได้เงินเพิ่มเจ็ดหมื่นบาทต่อเดือน แต่เมื่อรายได้ดีแล้วพอสมควรทำไมถึงไม่สามารถรักษาแพทย์ไว้ในระบบราชการไว้ได้ ถ้าจะโทษ Pull Factor เช่น เอกชน ให้ค่าตอบแทนที่ดีกว่าก็อาจจะใช่ หรือสาเหตุที่แท้จริงเป็น Push Factor ที่เกิดจากความไม่ได้เรื่องของระบบที่ผลักให้คนออกจากระบบราชการกันแน่

ก็ลองรับฟัง และน่าขบคิด เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา ซึ่งต้องเริ่มต้นจากการเปิดใจรับฟังครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น