ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา...เหลือบไปเห็นข่าวต่างประเทศข่าวเล็กๆ อยู่ชิ้นหนึ่ง แต่ต้องเรียกว่า...น่าคิด น่าสะกิดใจ มิใช่น้อย คือข่าวเรื่อง “น้ำแข็งไฟ” หรือ “น้ำแข็งติดไฟ” ก็แล้วแต่จะเรียก หรือที่ภาษาปะกิตใช้คำว่า “Combustible Ice” มั่ง “Flammable Ice” มั่ง ก็แล้วแต่จะว่ากันไป ซึ่งเว็บไซต์ “ผู้จัดการ” ได้นำเสนอไปบ้างแล้ว แต่อาจจะสั้นไปนิด จนต้องไปขวนขวายหาคำอธิบายเพิ่มเติมจากอีกหลายต่อหลายเว็บ ถึงพอจะถึง “บางอ้อ” ได้บ้าง...
คือสรุปง่ายๆ ว่า...ไอ้สิ่งที่เรียกว่าน้ำแข็งไฟ น้ำแข็งติดไฟ Combustible Ice หรือ Flammable Ice ที่ว่านี้ ก็คือสารประกอบของมีเทน อันเต็มไปด้วยโมเลกุลของก๊าซมีเทนซึ่งถูกเก็บกักเอาไว้ในผลึกน้ำแข็ง หรือรูปของของแข็งเป็นก้อนๆ นั่นเอง สามารถดำรง คงรูป อยู่ภายใต้เงื่อนไขสภาวะที่มีอุณหภูมิต่ำเอามากๆ หรือมีแรงกดดันสูงเอามากๆ เช่น ในพื้นที่ใต้ทะเลลึก หรือบริเวณที่ราบสูงซึ่งมีอากาศหนาวเย็นเป็นพิเศษ จนมีรูปร่างคล้ายๆ ผลึกคริสตัลน้ำแข็ง หรือ “เอทานอลแข็ง” ที่สามารถเอามาจุดติดไฟให้ลุกพรึ่บขึ้นมาได้ เพราะคุณภาพ ปริมาณของมีเทนที่ถูกเก็บกักเอาไว้ ค่อนข้างบริสุทธิ์ เข้มข้น ถึงขั้นว่ากันว่า...ผลึกแต่ละก้อน ที่มีปริมาณประมาณ 1 คิวบิกเมตร สามารถให้พลังงานเทียบเท่ากับปริมาณแก๊สธรรมชาติถึง 164 คิวบิกเมตร อันนี้...ถ้าว่ากันตามการศึกษาวิเคราะห์ของหน่วยงานวิจัย “US Energy Information Agency” แถมยังมีการระบุเอาไว้ด้วยว่า บรรดาสารประกอบมีเทนที่แทรกอยู่ในแหล่งน้ำแข็งไฟที่ว่านี้ มีจำนวนมากเป็น 2 เท่าของจำนวนแหล่งแก๊สธรรมชาติ น้ำมัน และถ่านหินในโลกนี้รวมกัน ชนิดสามารถสนองตอบความต้องการพลังงานของมนุษย์ได้อีกนับเป็นพันๆ ปีเอาเลยถึงขั้นนั้น แถมยังเป็นพลังที่ช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าพลังงานฟอสซิลอื่นๆ...
ดังนั้น...ความพยายามจะนำเอา “น้ำแข็งไฟ” ที่ว่า มาใช้เป็นสิ่งทดแทนพลังงานฟอสซิลในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าแก๊สธรรมชาติ น้ำมัน และถ่านหิน ที่นอกจากใกล้จะหมดโลกเต็มที แถมยังเป็นตัวทำลายสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างฉกาจฉกรรจ์ จึงเป็นสิ่งที่บรรดาประเทศซึ่งมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งหลาย พยายามประดิษฐ์ คิดค้น หากรรมวิธีที่จะขุด จะกลั่น เอามาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ให้เป็นมรรค เป็นผล ให้จงได้ โดยมีประเทศอย่างอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย ไปจนถึงคุณพี่จีน พยายามลงทุนลงแรงมานานพอสมควร จนกระทั่งกลายมาเป็นข่าวพาดหัวสำนักข่าว “เอเอฟพี” เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ว่า “Flammable ice; Chinese breakthrough could lead to global energy revolution” หรือ “น้ำแข็งไฟ...การก้าวผ่านของจีนอาจนำไปสู่การปฏิวัติพลังงานระดับโลก” อะไรประมาณนั้น หรือที่เว็บไซต์ “ผู้จัดการ” พาดหัวไว้แบบเรียบๆ ขึ้นมาซักหน่อยว่า “ความหวังใหม่! จีนสกัดพลังงานใหม่จากน้ำแข็งติดไฟได้เป็นผลสำเร็จ” เป็นต้น...
คือสรุปคร่าวๆ ก็คงประมาณว่า...โดยการแถลงอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรของจีน “นายเจียง ต้าหมิง” (Jiang Daming) ได้ยืนยืนเอาไว้อย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะ ว่าจีนประสบความสำเร็จในการสกัดก๊าซจากน้ำแข็งไฟ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้เรียบโร้ยย์ย์ย์โรงเรียนจีนแล้ว หลังจากใช้เวลาในการวิจัยและสำรวจไม่ต่ำกว่า 20 ปี จนสามารถลงทุนสร้างเหมืองเพื่อขุดเจาะน้ำแข็งไฟเหล่านี้ ไว้ในพื้นที่ที่เรียกว่า “Shenhu” ในแถบทะเลจีนใต้ ห่างจากเกาะฮ่องกงไปประมาณ 300 กิโลเมตร โดยสามารถสกัดน้ำแข็งไฟจากแหล่งสำรองที่ว่า ได้ถึงวันละประมาณ 1,600 คิวบิกเมตรเป็นอย่างน้อย เฉพาะแค่ช่วงเริ่มต้น เพราะก่อนหน้านั้นทางการจีนเคยแถลงว่าจะเริ่มขุดแบบจริงๆ จังๆ ตั้งแต่ช่วงประมาณปี ค.ศ. 2020 เป็นต้นไป โดยจะใช้งบประมาณขั้นต้นไม่น้อยกว่า 800 ล้านหยวน เป็นประเดิมเริ่มแรก...
ส่วนที่น่าคิด น่าสะกิดใจขึ้นมาบ้างเล็กน้อยก็คือว่า...จุดซึ่งถือเป็น “แหล่งสำรอง” ของน้ำแข็งไฟที่ใหญ่ที่สุดนั้น เอาไป-เอามาแล้ว ก็คืออาณาบริเวณที่เรียกๆ กันว่า “หนานชา” (Nansha) ในภาษาจีน หรือในอาณาบริเวณหมู่เกาะ “สแปรตลีย์” นั่นเอง!!! อันเป็นพื้นที่ที่จีนยังมีข้อพิพาทกับหลายต่อหลายประเทศในทะเลจีนใต้ ซึ่งว่ากันว่า...ปริมาณแหล่งสำรองน้ำแข็งไฟแหล่งนี้ เก็บกักพลังงานเทียบเท่ากับน้ำมันไม่น้อยไปกว่า 10,000 ล้านตันขึ้นไป โดยเมื่อช่วงปี ค.ศ. 2005 ภายใต้การสำรวจของคณะสำรวจชาวจีนร่วมกับเยอรมนี ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า บริเวณพื้นที่แห่งนี้ซึ่งครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 430 ตารางกิโลเมตร เต็มไปด้วยปริมาณน้ำแข็งไฟระดับถือเป็น “แหล่งน้ำแข็งไฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก”...
อย่างไรก็ตาม...ไม่เพียงแต่การแถลงครั้งนี้ จะแสดงถึงความสำเร็จในการสกัดพลังงานน้ำแข็งไฟมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เท่านั้น ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการเหมืองของจีน “นายQiu Haijun” ยังได้แสดงท่าทีต่อการบริหารจัดการแหล่งทรัพยากรเหล่านี้กับหนังสือพิมพ์ธุรกิจ อย่าง “The Economic Times” เอาไว้ด้วยว่า... “หลายต่อหลายประเทศที่อยู่ในทะเลจีนใต้ ตะวันออก หรืออยู่ในเส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) ล้วนมีอุปสงค์ในด้านพลังงาน และมีขีดความสามารถพอที่จะสร้างเหมืองน้ำแข็งไฟขึ้นมาได้ โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ซึ่งสามารถหาได้จากความร่วมมือกับจีน เราสามารถช่วยแก้ปัญหาพลังงานให้กับประเทศเหล่านี้ ด้วยการแลกเปลี่ยนกับประเทศนั้นๆ อันจะนำไปสู่การกระตุ้นและการพัฒนาทางเศรษฐกิจร่วมกัน...” นี่...ต้องเรียกว่า อะไรจะร้ายกาจ ทั้งก้าวหน้า ทั้งนิ่มๆ ทั้งเนียนๆ เท่านี้ย่อมไม่มีอีกแว้วว์ว์ว์ แต่ที่น่าคิด น่าสะกิดใจยิ่งไปกว่านี้ ยังมีอีกหลายส่วน...ซึ่งคงต้องไปว่าต่อวันพรุ่งนี้ก็แล้วกัน...