อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขา Business Analytics and Intelligence และวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขา Business Analytics and Intelligence และวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
วันที่ 12 พฤษภาคม เป็นวันพยาบาลสากล หลายคนอาจจะทราบดีว่า Florence Nightingale นั้น เป็นผู้ให้กำเนิดวิชาการพยาบาล การอาสาสมัครไปดูแลทหารที่บาดเจ็บจากการรบในสงครามบนคาบสมุทรไครเมียทำให้ไนติงเกลได้รับการยกย่องมาก ผลงานของเธอในการดูแลทหารที่บาดเจ็บทำให้ลดอัตราการตายของทหารจาก 42% เหลือแค่ 2% โดยการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่และความสะอาดในโรงพยาบาลสนาม เธอได้รับสมญานามว่า lady with the lamp เนื่องจากเธอจะถือตะเกียงไปเยี่ยมทหารเจ็บป่วยแม้ยามค่ำคืน
หลายคนไม่เคยทราบว่า Florence Nightingale นั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นนักสถิติคนหนึ่ง กราฟด้านล่างนี้เป็นกราฟที่เปลี่ยนโลกและมีส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้วิชาชีพพยาบาลได้ ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกนี้ เธอใช้เวลาทั้งบริบาลและพยาบาลทหารบาดเจ็บและเก็บข้อมูลสถิติและเขียนรายงานเพื่อของบประมาณมาปรับปรุงการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลสนาม และถูกพิมพ์เผยแพร่ออกมาในภายหลังใน Nightingale, F. (1859a) A Contribution to the Sanitary History of the British Army During the Late War with Russia. London: Harrison.
กราฟข้างล่างนี้เป็นผลงานร่วมระหว่าง Florence Nightingale และ William Fair ซึ่งคนหลังนี้เป็นนักสถิติทางการแพทย์และมีชื่อเสียงโด่งดังด้านกราฟิกเชิงสถิติมากที่สุดในขณะนั้นและอาศัยอยู่ในลอนดอน กราฟนี้เรียกว่า polar area chart ซึ่งเป็นการออกแบบเลียนแบบพื้นที่ขั้วโลก โดยแบ่งวงกลมออกเป็น 12 เสี้ยวตามจำนวนเดือนในหนึ่งปี และวงนอกสุดนั้นเป็นจำนวนทหารที่เสียชีวิตจากแผลที่เกิดจากการรบนั้นติดเชื้อฉับพลัน (Zymotic disease) วงกลางสีเข้มของแต่ละเสี้ยวแทนจำนวนทหารที่เสียชีวิตจากบาดแผลและการบาดเจ็บจากการไปรบ ส่วนวงในสุดแทนจำนวนทหารที่เสียชีวิตจากเหตุอื่นๆ เช่น ตกม้าตาย หรือ เป็นโรคอื่นๆ กราฟนี้มีชื่อเสียงมาก เพราะเห็นได้ชัดว่า ทหารที่เสียชีวิตไปในระหว่างรบในสงครามคาบสมุครไครเมียนั้นแท้จริงแล้วไม่ได้เสียชีวิตจากการรบแต่เสียชีวิตจากการได้แผลจากการรบแล้วแผลติดเชื้อฉับพลันจนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากมายหลายเท่ากว่าการเสียชีวิตเพราะการบาดเจ็บธรรมและสาเหตุอื่นๆ รวมกัน
กราฟข้างบนที่ Nightingale และ William Fair วาดนั้นทำให้วิชาชีพพยาบาลได้รับการยอมรับ แต่กว่าจะวาดได้ก็ยากเอาการ แก้สมการแสนลำบาก แม้กระนั้นก็เป็นกราฟที่มี impact สูงมากคือทำให้เกิดวิชาชีพพยาบาลที่เปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการบริบาลที่ดีขึ้นและรอดชีวิตได้
มีนักสถิติรุ่นหลังมาศึกษางานของ Florence Nightingale ชิ้นนี้กันมากมาย และด้วยมาตรฐานทางสถิติในปัจจุบันก็มีคนวิจารณ์ว่า 1) กราฟของ Nightingale นั้นอ่านยาก ต้องพลิกหมุน 360 องศาตามรูปวงกลมเพื่อให้อ่านได้ครบทุกเดือน 2) การเปรียบเทียบจำนวนทหารที่เสียชีวิตในแต่ละเดือนทำได้ยาก เพราะไม่ใช่รูปเรขาคณิตพื้นฐาน แต่ต้องหาพื้นที่ระหว่างรัศมีสองอัน ที่มีฐานแตกต่างกัน (โดยเฉพาะวงนอกและวงกลาง) ทำให้การเปรียบเทียบตีความระหว่างเดือนทำได้ยากมาก 3) การเปรียบเทียบระหว่างเดือนก็ทำได้ยากเพราะจำนวนทหารที่ไปรบในแต่ละเดือนนั้นไม่เท่ากัน บางเดือนอาจจะไปรบมากแต่มีทหารเสียชีวิตเป็นสัดส่วนที่น้อยมากก็ได้ แต่ก็ยังดูมากในกราฟอยู่ดี เพราะมีทหารถูกส่งไปรบมาก
ดูข้อวิจารณ์เหล่านี้ได้จาก https://www.edwardtufte.com/bboard/q-and-a-fetch-msg?msg_id=00007o (ข้อวิจารณ์ของ Edward Tufte ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงมากด้าน Statistical Graphic และ Data Visualization) และhttp://www.florence-nightingale-avenging-angel.co.uk/?p=462 แต่ทุกคนก็ต่างยอมรับว่ากราฟนี้ของไนติงเกลมีอิทธิพลมากเหลือเกิน น่าจะเป็นการใช้สถิติเพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะและนโยบายสาธารณสุขเป็นครั้งแรกของโลกด้วยซ้ำไป
กราฟของไนติงเกลได้มีนักสถิติเอามาวาดใหม่โดย Andrew Gelman & Antony Unwin (2013). Infovis and Statistical Graphics: Different Goals, Different Looks. Journal of Computational and Graphical Statistics. Vol 22. Page 2-28 สามารถอ่านได้จาก http://www.stat.columbia.edu/~gelman/research/published/vis14.pdf
โดยวาดให้เป็น time-series plot ที่สมัยนี้เราคุ้นเคยกันดี อ่านจากซ้ายไปขวา โดยแกนนอนเป็นเวลา และแกนตั้งเป็นอัตรามรณะต่อพันคน (ทำให้เปรียบเทียบกันได้ง่ายเพราะเทียบเป็นสัดส่วนจากทหารที่อยู่ในสนามรบในช่วงเวลานั้นๆ จึงมีฐานเปรียบเทียบบนฐานเดียวกัน) นอกจากนี้ยังแยกวาดอนุกรมเวลาออกเป็นสามอนุกรม เป็นกราฟเส้นง่ายๆ ดังแสดงในรูปด้านล่างนี้ และมี เส้นแนวตั้งหนึ่งเส้นแสดงช่วงเวลาที่คณะกรรมการสุขาภิบาลเข้าไปในโรงพยาบาลสนามทำให้อัตราการตายจากแผลติดเชื้อฉับพลันลดลงไปอย่างฉับพลันเช่นกัน กราฟ multiple time series แบบนี้ทำให้เปรีบบเทียบได้ทั้งสาเหตุการตาย ช่วงเวลา และ เวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสุขาภิบาลที่ช่วยลดอัตราการตายลงไปได้ จึงเป็นตัวอย่างการ redesign กราฟให้สื่อสารได้ง่ายมากขึ้นชั้นดีเป็นตัวอย่างได้ แม้แต่กราฟที่มีชื่อเสียงแล้วก็สามารถวาดใหม่ให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้นได้
วันนี้ประเทศไทยเกิดวิกฤติพยาบาลอย่างรุนแรง ทำให้ปัญหาสาธารณสุขสั่นคลอน พยาบาลลาออกเพราะทนกับสภาพการทำงานที่แสนหนักและสภาพการจ้างงานที่ขาดความมั่นคงไม่ไหวแล้ว อยากจะแนะนำให้สภาการพยาบาลและวิชาชีพพยาบาลได้ทดลองเอาความเก่งกาจของ Florence Nightingale โดยรวมรวมสถิติและนำเสนอกราฟที่น่าจะมี impact ต่อวิชาชีพพยาบาลอย่างที่ Nightingale ได้เคยทำมาแล้วเช่นกัน ขอให้กำลังใจกับพยาบาลทุกคนที่เสียสละครับ