xs
xsm
sm
md
lg

One Belt, One Road โครงการเปลี่ยนโลก (จบ)

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท

Shannon Tiezzi
ไหนๆ เมื่อมองจากมุมมองของชาวยุโรปไปแล้ว...คราวนี้ลองหันไปมองจากมุมมองของชาวอเมริกันกันมั่ง โดยมีอดีตนักวิจัยแห่งมูลนิธิ “US-China Policy Foundation” นักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่แวบมาเรียนต่อ ณ มหาวิทยาลัยซิงหัว ณ กรุงปักกิ่งอย่าง “แชนนอน ทิซซี” (Shannon Tiezzi) ที่ได้สะท้อนทัศนะมุมมองต่อโครงการ “One Belt, One Road” เอาไว้ในข้อเขียนเรื่อง“จริงๆ แล้วทางสายไหมของจีนจะมุ่งไปสู่ทางไหน” (Where Is China’s Silk Road Actually Going) เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ “The Diplomat” เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งระบุไว้ในบางช่วงบางตอน ด้วยข้อความดังนี้... “ระหว่างการประชุม Boao Forum ที่คณะกรรมการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติจีน (China’s National Development and Reform Commission-NDRC) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์จีน ได้จัดขึ้นประจำปี ค.ศ. 2015 นั้น ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนได้เดินทางมากล่าวสุนทรพจน์ด้วยตัวเอง ถึงจุดมุ่งหมายที่แท้จริงสำหรับโครงการแถบและเส้นทาง (Belt and Road) โดยสำนักข่าวซินหัวได้ถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาอังกฤษอันแสดงให้เห็นว่า...ปักกิ่งไม่ได้คิดจะขวยเขินใดๆ อีกต่อไปแล้ว ที่จะป่าวประกาศถึงความทะเยอทะยานของโครงการดังกล่าวว่า...คือโครงการที่มุ่งหวังเพื่อจะเปลี่ยนภูมิภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของโลกทั้งโลก โดยผ่านกระบวนการพัฒนาบรรดาประเทศต่างๆ ที่อยู่บนเส้นทางดังกล่าวนั่นเอง...”

ข้อเขียนบทความของ “แชนนอน ทิซซี” นั้น...แทบไม่ได้ให้ความสนใจต่อตัวเลขการค้า การลงทุน ระหว่างจีนกับบรรดาประเทศที่ตั้งอยู่บนเส้นทาง “แถบ” และ “ถนน” ตามเส้นทางสายไหมมากมายซักเท่าไหร่ แม้ตัวเลขที่ถูกคาดเดาเอาไว้โดยทางการจีน จะน่าตื่นเต้นเร้าใจ น่าซี๊ดๆ ซ๊าดๆ ขนาดไหนก็ตาม คือระดับอาจส่งผลให้เกิดมูลค่าการค้าระหว่างจีนกับประเทศเหล่านี้ในแต่ละปี ไม่ต่ำไปกว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในช่วงทศวรรษที่จะถึงนี้เอาเลยถึงขั้นนั้น แม้แต่การก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน ประเภทถนนหนทาง ก็ดูจะไม่ได้เป็นสิ่งที่อดีตนักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดรายนี้ ให้ความสำคัญอะไรมากมายนัก เพราะสิ่งที่บทความชิ้นนี้พยายามเน้นหนักและให้ค่าเอามากๆ น่าจะอยู่ตรงข้อความซึ่งได้บรรยายเอาไว้ว่า“แถบและถนน...มักก่อให้เกิดความเข้าใจในเบื้องแรกถึงโครงการที่จะพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานในบรรดาประเทศที่อยู่บนเส้นทางเหล่านี้เป็นหลัก แต่ยังมีสิ่งที่มากไปกว่าเรื่องประเภทเรียบๆ ง่ายๆ เช่น การสร้างถนน รถไฟ ท่าเรือ ฯลฯ นั่นก็คือ....วิสัยทัศน์อันทะเยอทะยานของจีน ที่มองว่าบรรดาเครือข่ายการพัฒนาที่ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงขึ้นในอนุภูมิภาคเอเชีย ระหว่างเอเชียยุโรปและแอฟริกา ไม่ว่าด้านพลังงาน สื่อสาร การขนส่ง ฯลฯ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้นี่แหละที่จะกลายเป็นแรงกระตุ้นให้บรรดาประเทศนั้นๆ พร้อมที่จะหันมาร่วมมือกันในทางนโยบาย เพื่อสร้าง...ระบบ...อันเป็นตัวรับประกันสถานะทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของแต่ละประเทศ โครงการแถบและถนนที่ว่านี้...จึงมีนัยทางการเมืองควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อจีนพยายามใช้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นเสมือนเครื่องมือในการโฆษณานโยบายต่างประเทศของตัวเอง ที่วางอยู่บนหลักการพื้นฐานอันประกอบไปด้วย การให้ความเคารพซึ่งกันและกันของแต่ละประเทศ การยอมรับต่ออำนาจอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดน การไม่แสดงความก้าวร้าวต่อกันและกัน ไม่แทรกแซงกิจการภายในของแต่ละประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญต่อความเท่าเทียมกันทางผลประโยชน์ ซึ่งหลักการเหล่านี้แตกต่างไปจากสไตล์ของตะวันตก ที่มักหนีไม่พ้นต้องเข้าไปแทรกแซงประเทศอื่นๆ ไม่ว่าด้วยข้อกล่าวอ้างด้านสิทธิมนุษยชน หรือสิ่งที่เรียกว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็ตาม ในสุนทรพจน์ของสี จิ้นผิง จึงได้เน้นย้ำเอาไว้หลายครั้งว่า ความมั่นคงของเอเชียและโลกนั้น จะก่อเกิดและเป็นจริงขึ้นมาได้ ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายได้ทิ้ง...ทัศนคติแบบสงครามเย็น...ไว้เบื้องหลัง และมองหา...แนวคิดเพื่อความมั่นคงแบบใหม่”...

สิ่งที่ “แชนนอน ทิซซี” พยายามชี้ให้เห็นถึง “จุดมุ่งหมายที่แท้จริง” ที่โครงการเส้นทางสายไหมใหม่พยายามมุ่งหน้าไปให้ถึง จึงถูกสรุปเอาไว้ดังนี้ “การสร้างกลุ่มพันธมิตรขึ้นมาเป็นแกน เพื่อส่งเสริมแนวคิดแถบและถนน จึงมีความชัดเจนว่า...ก็คือความคิดริเริ่มที่จะก่อสร้างกลุ่มก้อนทางการเมืองขึ้นมาใหม่ โดยอาศัยโครงการเหล่านี้เป็นตัวขับเคลื่อนนั่นเอง...แถบและถนน จึงอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญของระบบทั้งหมด ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือดังกล่าวทั้งในระดับภายในและในระดับกิจการระหว่างประเทศ” แปลปะกิตเป็นไทยและแปลไทยเป็นไทยกันอีกเที่ยว ก็พอสรุปในแบบสั้นๆ เข้าใจง่ายๆ ว่าคงไม่ต่างอะไรไปจากโครงการความริเริ่มที่หวังจะระดมกำลังของโลกทั้งโลกเพื่อร่วมมือกัน “เปลี่ยนแปลงโลก” หรือ “เปลี่ยนระเบียบโลก” นั่นเอง!!!

อันนี้นี่แหละ...ที่ประเทศไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮา แม้จะเป็นประเทศเล็กๆ แต่ในฐานะที่ยังคงเป็นประเทศอันมีที่ตั้งอยู่ในแผนที่โลก หรืออยู่บนโลกใบนี้ ไม่ได้ล่องลอยอยู่บนอวกาศ หรือสุญญากาศแต่อย่างใด บรรดาปวงชนชาวไทยทั้งหลาย...จึงหนีไม่พ้นต้องหันมาใช้ “สติ” และ “ปัญญา” ใคร่ครวญพิจารณาถึงเนื้อหาสาระของโครงการที่ถูกเรียกขานในนาม “One Belt, One Road” เอาไว้มั่ง อย่ามัวไปคิดแบบคิดเล็ก-คิดน้อย อย่างพวก “เผาไทย” หรือพวก “เสื้อแดง” ให้ต้อง “รกสมอง” โดยใช่เหตุ เพราะไม่ว่าจีนเขาคิดจะชวน หรือไม่คิดจะชวนท่านนายกฯ “บิ๊กตู่” ไปร่วมพูดจาสนทนาระดับสูง ด้วยสาเหตุใดๆ ก็แล้วแต่ แต่มันคงไม่สำคัญเท่ากับว่า...ภายใต้การขับเคลื่อนโครงการระดับโลกที่ว่านี้ ไปสู่อนาคตเบื้องหน้า ประเทศเล็กๆอย่างประเทศไทย ควรหา “ที่ยืน” อยู่ ณ ตรงจุดไหน แบบไหน อย่างไร มันถึงจะเหมาะ จะเข้าท่า หรือจะสอดคล้องกับความเป็นไปของโลก กับความถูกต้องเป็นธรรม ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้...
กำลังโหลดความคิดเห็น