xs
xsm
sm
md
lg

งัดข้อ สรรหา คตง. จบที่ คสช.จะเอาไง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์กรอิสระจะมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจหลายแห่ง เพราะผู้ดำรงตำแหน่งในหลายองค์กรจะครบวาระในไม่ช้านี้ เริ่มจาก ***คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ คตง.*** ตอนนี้ หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งให้เริ่มกระบวนการสรรหา คตง.ไปเลย ทั้งที่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง

กรณีนี้ ***ต่างจากองค์กรอิสระอื่น ที่การสรรหาต้องรอ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เสียก่อน*** คำสั่ง คสช. ที่ให้ คตง. เร่งสรรหากรรมการชุดต่อไป จึงดูลักลั่นอยู่ เป็นเหตุให้สังคมให้ความสนใจ คิดกันว่า มีอะไรหมกเม็ดอยู่หรือไม่

แต่ถ้าจะอธิบายความกรณีที่ให้มีการสรรหาคนใหม่มาแทนชุดเก่าใน คตง. ทันที ไม่ต้องรอกฎหมายใหม่ เพราะว่าไม่ให้มีสูญญากาศเกิดขึ้น ต้องการให้การทำงานของ คตง. มีความต่อเนื่อง ไม่มีช่องว่าง *** ในที่นี้ก็หมายความรวมไปถึง ตำแหน่งที่มีความสำคัญในการรักษาเงินแผ่นดินอย่าง ผู้ว่าการ ตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่มีการขยายอายุไปจนครบวาระพร้อมกับคตง.ชุดปัจจุบันด้วย ***

ต้องรู้ว่า เหตุที่ คสช. ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ เป็นเพราะช่วงนี้ ทั้ง คตง.และ สตง. มีผลงานตรวจสอบทุจริตออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจับผิดผู้ว่าฯ กทม. จนต้องเปลี่ยนตัว, การรับลูกเกาะติดเรื่องสินบนข้ามชาติ รวมไปถึงการทำงานเป็นเครื่องการันตีความโปร่งใสให้รัฐบาล

*** ล่าสุด ก็คือเรื่องเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ที่ตกลงทำสัญญาแบบจีทูจี กับประเทศจีน*** ผู้ว่าฯสตง.ต้องนำทีมงานไปตรวจสอบถึงกองทัพเรือ เบื้องต้นไม่มีอะไรซุกไว้ใต้พรมทุกอย่างดำเนินการอย่างโปร่งใส เป็นจีทูจีแท้ ไม่ใช่ จีทูเจี๊ยะ เหมือนโครงการของรัฐบาลก่อน

คนที่ติดตามการทำงานของ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ก็ฟันธงได้ล่วงหน้าว่า ผลตรวจสอบการจัดซื้อครั้งนี้ จะเป็นโครงการที่โปร่งใส ไม่มีอะไรผิดปกติอย่างแน่นอน ประทับตราขาวสะอาดกันไปแบบเนียนๆ ตัวผู้ว่าพิศิษฐ์ สนองพระเดชพระคุณชุดใหญ่ไฟกระพริบเช่นนี้ คสช.จะทิ้งขว้างได้ยังไง

ดังนั้น องค์กรอิสระอื่น จะเป็นยังไงไม่รู้ แต่ คตง.ต้องเริ่มกระบวนการสรรหาภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ 5 เม.ย. ที่คำสั่งคสช.ที่ 23/2560 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีผลบังคับใช้

แต่เรื่องมันไม่มันง่ายอย่างที่คิด เพราะกระบวนการสรรหาตามคำสั่งดังกล่าว ต้องมีคณะกรรมการสรรหาขึ้นมา ชุดหนึ่งประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานศาลปกครองสูงสุด บุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งองค์กรละหนึ่งคน เป็นกรรมการ และให้เลขาธิการวุฒิสภา เป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา

องค์กรอิสระต่างๆ เฟ้นหาหาคนแทบไม่เจอเพราะคุณสมบัติกำหนดไว้สูงลิ่ว เวลานี้มีเพียงผู้ตรวจการแผ่นดิน เพียงองค์กรเดียวเท่านั้นที่ส่งตัวแทนเข้ามาร่วมคณะกรรมการสรรหาได้

*** ความวุ่นวายไม่ได้มีแค่คุณสมบัติของกรรมการสรรหาเท่านั้น ในหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดินเอง ก็เหมือนมีความคิดเห็นที่แตกต่าง ระหว่าง คตง.กับสตง. ***

เพราะ คตง.ขอให้ชะลอการสรรหาออกไปก่อน อ้างว่าอยากให้รอ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินออกมาก่อน ขณะที่ผู้ว่าฯสตง. บอกว่ากระบวนการสรรหาต้องเดินหน้าตามเจตนารมณ์ของคสช.ที่ต้องการให้การทำงานต่อเนื่องไม่มีสะดุด และที่สำคัญในคำสั่งคสช.ระบุกรอบเวลาสรรหาไว้อย่างชัดเจนรอช้าไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เอาได้

พูดง่ายๆ เมื่อ คสช. สั่งก็ต้องเล่นตาม ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดกระเด็นออกจากเรือแป๊ะได้ ในที่สุดวงประชุม คตง. เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา ก็ได้ข้อสรุปว่า คตง.จะส่งรายชื่อผู้แทนไปเป็นคณะกรรมการสรรหา คตง.ชุดใหม่ ต่อเลขาธิการวุฒิสภาภายในวันที่ 24 พ.ค. นี้

*** หากกระบวนการสรรหาเป็นตามกรอบเวลาของคำสั่งหัวหน้าคสช. เราอาจได้เห็น คตง.ชุดใหม่ทั้ง 7 คน มาทำหน้าที่รับไม้ต่อจากคตง.ชุดปัดจุบัน ที่จะหมดวาระลงไปในช่วงเดือน ก.ย.นี้ ***

***ส่วนผู้ว่าฯ พิศิษฐ์ จะคัมแบ๊ค มาเป็น คตง. ไม่ได้ เพราะคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญ แต่การรับงานมาครั้งนี้ อาจจะมีส่วนช่วยดันเด็กในสังกัดมาสวมตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง. คนต่อไป ส่วนตัวเขาอาจจะรอไปทางสายวุฒิสมาชิก เพราะทำงานเข้าตาคสช. จนถึงนาทีสุดท้าย หรืออาจจะขึ้นแท่นเป็นรัฐมนตรีไปเลย เพราะคุณสมบัติโดนใจเรือแป๊ะสุดๆ***
กำลังโหลดความคิดเห็น