xs
xsm
sm
md
lg

สื่อเร่งปฏิรูปตามกลไกกำกับดูแลกันเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (17 พ.ค.) สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พร้อมด้วยตัวแทนองค์กรสมาชิก และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้จัดการแถลงข่าว การจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กร หรือ Media Ombudsmanขึ้นในองค์กรสมาชิก ซึ่งเป็นสื่อหนังสือพิมพ์จากทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการกำกับดูแลกันเองให้มีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า กลไกการปฏิรูปสื่อที่สังคมเรียกร้องนั้น วันนี้สื่อได้ปฏิรูปกลไกการกำกับดูแลกันเอง โดยเฉพาะในส่วนของหนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์ข่าวที่เป็นของสมาชิก โดยเป็นการเกิดขึ้นของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กร ที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปตัวเอง
ทั้งนี้ ได้มีการแก้ไขธรรมนูญของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เพื่อจัดตั้งกก.พิจารณาร้องเรียนภายในองค์กร เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ถูกละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ สามารถร้องเรียนสื่อที่ละเมิด มีการทำข้อบังคับสภาการหนังสือพิมพ์ว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพออกมา เพื่อให้มีการปฏิบัติตามกรอบวิชาชีพ โดยในส่วนภูมิภาค จะมีการจัดตั้งตามภาคต่างๆ สำหรับส่วนกลาง ก็จะดำเนินการในองค์กรของตัวเอง
โครงสร้างของคณะกรรมการ จะมาจากเจ้าของหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการ ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย ด้านคุ้มครองผู้บริโภค หรือนักวิชาการด้านสื่อฯ โดยรวมกันไม่น้อยกว่า 3 คน และไม่เกิน 7 คน เมื่อมีการร้องเรียนว่ามีการละเมิดเกิดขึ้น ตามธรรมนูญเดิมให้ร้องเรียนไปที่ต้นสังกัด หรือองค์กรนั้นๆ แต่ส่วนมากประชาชนจะมาร้องเรียนที่สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ซึ่งทำให้กระบวนการตรวจสอบล่าช้า
ดังนั้นเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรขึ้นมา ก็ทำให้สามารถร้องเรียนได้ ทั้งที่องค์กร และสภาการหนังสือพิมพ์ฯ รวมถึงมีอำนาจการสั่งการตรวจสอบได้โดยตรง แต่การพิจารณาจะต้องเสร็จภายใน 30 วัน หากผู้ร้องยังไม่พอใจผลการพิจารณา ก็สามารถอุทธรณ์มาที่สภาการหนังสือพิมพ์ฯได้ ซึ่งในต่างประเทศก็มีสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ดำเนินการลักษณะนี้เช่นกัน อันจะส่งผลให้หนังสือพิมพ์ของประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายเทพชัย หย่อง ประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นกลไกที่สามารถกำกับดูแลกันเองได้ ถ้ามีอะไรไม่ถูกต้อง ก็จะมีกลไกดำเนินการกับสื่อเพื่อให้เป็นไปตามกรอบจริยธรรม และเสียงของประชาชนก็เป็นส่วนผลักดันที่จะคอยกำกับสื่อด้วยเช่นเดียวกัน
ขณะที่ นายมานิจ สุขสมจิตร หนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กร ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กล่าวว่า การจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรครั้งนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า เราสามารถดำเนินการกันเองได้ แต่อาจจะยังไม่เห็นผลชัดเจน เพราะเรื่องดังกล่าวต้องใช้เวลา ทุกอาชีพก็มีสภาวิชาชีพ ผู้บริโภคมีส่วนสำคัญที่จะคอยดูว่า สื่อไหนมีการละเมิดจริยธรรม ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกัน ก็จะทำให้สื่อมีกรอบจริยธรรมที่ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น