xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤติพยาบาล : วิกฤติอย่างไร ทำไมถึงวิกฤติ?

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขา Business Analytics and Intelligence และวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


มีนักหนังสือพิมพ์รุ่นใหญ่ ถามผมว่ามา สปสช. เกี่ยวข้องกับวิกฤติพยาบาลหรือไม่?

ผมเลยตอบว่าปัญหามันมาจากทั้งในตัวกระทรวงสาธารณสุขเองและจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทางอ้อมด้วย

ในกระทรวงนั้น มีตำแหน่งว่างหมื่นกว่าตำแหน่ง แต่ไม่บรรจุพยาบาล ทั้งๆ ที่ขาดแคลนแสนสาหัส พี่ๆ น้องๆ พยาบาลนั้นควงเวรกันเช้าบ่ายดึก ควงกันจนขอบตาคล้ำ ได้ค่าเวรไม่คุ้มค่าอายครีมแล้วครับผม ผมไปเห็นสภาพน้องพยาบาลเป็น zombie ที่หน้างานแล้วเห็นใจอย่างยิ่ง ความที่ไม่พอและขาดแคลนมากหลายคนอยากพักผ่อน อยากเห็นหน้าลูก อยากเจอแฟน สมมติว่าเวรนี้ได้ค่าจ่าง x บาท ถึงกับยอมขายเวรโดยจ้างน้องๆ หรือ พี่ๆ กันในราคา 3x บาทเพื่อมาทำงานแทนตัวเอง จะได้ลงเวรกันบ้าง ชีวิตเหนื่อยจนไม่อยากได้เงินแล้ว อยากจะพักผ่อน

ที่น่าเห็นใจหนักกว่าคือ ตำแหน่งมีแต่ไม่เปิดบรรจุ หมอในกระทรวงสธ ไม่ได้ขาดจนวิกฤติเท่าพยาบาลหรอกครับผม แต่ตำแหน่งเอาไว้รอบรรจุตำแหน่งอื่นๆ เช่นตำแหน่ง family doctor ที่จะจ้างหมอที่เกษียณแล้ว มี c สูงๆ ไว้ทำงานต่อหลังเกษียณ โดยเฉพาะหลังพ้นตำแหน่งบริหาร ไม่ได้ตรวจคนไข้มา 20-30 ปี มาตรวจมารักษาก็คงจะขลุกขลักกันล่ะครับผม

ข้อนี้ผมว่าเราน่าจะพัฒนา Nurse Practitioner ให้ทำหน้าที่แทน Family doctor ได้ครับผม NP นี้ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าคุ้มค่าต้นทุนที่สุด (cost effectiveness) ผมไปเรียนที่นิวยอร์ก การรักษาพยาบาลขั้นปฐมภูมิ NP เป็นคนดูแลหมดก่อนจะส่งต่อให้แพทย์ด้วยซ้ำ และโรคที่คนทั่วไปไปหาที่ OPD กว่าร้อยละ 70 หรือมากกว่า ก็มักจะเป็นโรคพื้นๆ เช่น ไข้หวัด ท้องร่วง แผลถูกมีดบาด ดังนี้เป็น ต้น ซึ่ง NP ทำได้ดี และมีต้นทุนไม่สูงมาก จ่ายยาและทำหัตถการพื้นฐานเหล่านี้ได้ทั้งสิ้น โดยทำได้ดีและมีเวลาดูแลให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพมากกว่าแพทย์ครอบครัวหรือแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปครับ แต่ระบบการพัฒนา NP ของเราก็ต้องปรับให้ได้มาตรฐานสากลด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่คิดว่าจะยากอะไรครับ น่าจะทำได้

ความก้าวหน้าในวิชาชีพของพยาบาลก็มีน้อยนะครับผม พยาบาลในโรงพยาบาลชุมชนแทบทั้งหมดเงินเดือนตันที่ ซี 7 ครับ ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่หน่อยถึงจะมี ซี 8 ครับ (ขอใช้คำนี้แม้ว่ากพ จะเปลี่ยนเป็นระบบแท่งแล้วก็ตาม)

งานทุกอย่างในโรงพยาบาลไม่ว่าจะไม้จิ้มฟันยันเรือรบ พยาบาลทำทั้งนั้น พยาบาลวิสัญญี ทำงานแทนวิสัญญีแพทย์ซึ่งเราขาดแคลนมาก เป็นงานที่มีความเสี่ยงสูง งานธุรการเช่นกรอกรหัสยา 24 หลัก หรือกรอกรหัสโรค ICD9, ICD10 หรือ กรอกข้อมูลผู้ป่วยในด้วยระบบ DRG ก็เป็นพยาบาลทำทั้งสิ้น งานประกันรับรองคุณภาพ งานจัดเก็บข้อมูลสถิติส่ง สปสช. สธซ และสารพัดหน่วยงานในโรงพยาบาลก็เป็นพยาบาลทำเกือบทั้งนั้น ปัญหาพยาบาลนี้จะว่าไปก็ไม่ได้แตกต่างจากครู กล่าวคือครูถูกดึงไปทำงานที่ไม่ใช่การสอนนักเรียน ออกไปนอกห้องเรียน ส่งเอกสาร ข้อมูล ให้ สมศ สทศ กพ กพร สารพัดหน่วยงาน พยาบาลเองก็ถูกให้ไปทำงานที่ไม่ใช่หน้าที่หลัก แทนที่จะอยู่กับคนไข้หรืออยู่ข้างเตียงคนไข้เป็นหลัก

พอไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ก็พบว่า หมออนามัย ต้องจบมาทางสาธารณสุขศาสตร์ เท่านั้นถึงจะขึ้นเป็นผู้อำนวยการ รพ.สต. ได้ทันที แต่คนที่ทำหน้าที่ในการรักษาและบริบาลได้ดีกว่าคือพยาบาลใน รพ.สต. เป็น ผอ.รพ.สต. ไม่ได้ทันที ต้องไปเปลี่ยนตำแหน่งกันให้วุ่นวาย เพราะต้องเปลี่ยนจากพยาบาลข้ามสายมาเป็นนักวิชาการสาธารณสุข ทำให้ลำบากมาก

งานพยาบาลเป็นงานที่หนักและต้องใช้ความรู้สูงมาก ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วย พยาบาลพอเริ่มมีอายุมักจะเจ็บป่วย อย่างที่พบบ่อยที่สุดคือปวดหลังและปวดเข่า เนื่องจากต้องพลิกตัวคนไข้ ยกของหนัก เป็นงานที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ นอกจากนี้หลายคนยังมีปัญหาการนอนไม่หลับ เนื่องจากการทำงานแบบควงเวร หลายคนทนไม่ไหว เปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นกันก็มาก เพราะงานหนักเหนื่อยและเสียสุขภาพ

ผมคิดว่าพยาบาลไทย ทำงานหนักที่สุดในโลกแล้ว อดทนที่สุดแล้วจริงๆ ถ้าไม่ใจรักในวิชาชีพจริงๆ คงทนอยู่ในระบบที่งานหนัก ไร้ความก้าวหน้าในอาชีพ ถูกเอาเปรียบจากวิชาชีพอื่น และคนจำนวนมากดูถูกว่าเป็นงานเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวคนไข้ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเป็นงานที่ช่วยชีวิตคน เป็นงานที่มีกุศลตลอดเวลา

ด้วยงานที่หนักขนาดนี้ และจำนวนผู้ป่วยที่มากทำให้น้องๆ พี่ๆ ป้าๆ พยาบาล หลายครั้งก็เจอคนไข้ โดยเฉพาะญาติคนไข้ที่แสนจะไม่น่ารัก ไม่ได้เข้าใจหรอกว่า ในโรงพยาบาลนั้นโกลาหลกันแค่ไหน และไม่ได้เข้าใจหรอกว่า พยาบาลควงเวรกันมาแล้วกี่กะ กันบ้าง เลยทำให้เกิดการบ่นกันว่า พยาบาล หน้าบูด หน้าหงิก อันนี้ก็เข้าใจได้ เพราะคนไข้และญาติคนไข้สมัยนี้ เรียกร้องแต่สิทธิ์ของตนเอง สะกดคำว่าสิทธิ์ของคนอื่นและหน้าที่ไม่เป็น และขาดความเข้าใจเอื้ออาทรว่าอาจจะมีคนอื่นที่รอรับการบริบาลที่จำเป็นและเร่งด่วนกว่า พยาบาลที่หน้าหงิก อาจจะเจออะไรบางอย่างมาก่อน (ซึ่งผมเองก็เคยเห็นฤทธิ์เดชของคนไข้และญาติคนไข้มาซึ่งๆ หน้า ถ้าเป็นผมก็คงทนไม่ไหวเช่นกัน)

กลับมาที่เรื่อง สปสช. ปัญหาคือ เงินเดือนของโรงพยาบาลของทั้งกระทรวงสาธารณสุขนั้นอยู่ในมือของ สปสช. การเบิกจ่ายเงินเดือน ไม่ว่าจะหมอ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ ต้องไปรวมกับงบบัตรทองทั้งสิ้น กระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงเดียวในประเทศไทย ทีต้องให้ หน่วยงานอิสระมาจ่ายเงินเดือนให้ การควบคุมบัญชีเงินเดือนและการจ่ายเงินเดือนทำให้กระทรวงสาธารณสุขขาดอิสระในการบริหารงานบุคคล และโรงพยาบาลต่างๆ ก็ขาดทุนจนไม่สามารถจะจ่ายเงินเดือนค่าจ้างบุคลากร ซึ่งรวมทั้งพยาบาลเอาไว้ได้ เรื่องนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขเองพยายามต่อสู้ แต่ไม่เคยหลุดจากเอื้อมมือ สปสช. ได้เลย ล่าสุดในที่ประชุมอนุกรรมาธิการสาธารณสุข สปท. ก็เห็นอดีตรองเลขาธิการสปสช. ที่เกษียณแล้วแต่ยังได้รับการว่าจ้างต่อในตำแหน่งที่ปรึกษาด้วยเงินเดือนสูงลิ่ว ออกมาให้ข้อมูลเท็จกลางรัฐสภาว่าหากแยกเงินเดือนออกไปไม่ให้อยู่ในมือ สปสช. แล้ว งบบัตรทอง จะเหลือแค่พันกว่าบาทต่อหัวจากเดิมคือสามพันสองร้อยบาทต่อหัว มีคณะอนุกรรมาธิการที่จับได้ไล่ทัน ลุกขึ้นมาแย่งทันทีว่าไม่จริง เพราะเงินที่จ่ายมากกว่าครึ่งเป็นเงินบำรุงที่โรงพยาบาลหามาได้เอง ไม่ได้เป็นเงินจากงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาล ดังนั้นที่อดีตรองเลขาธิการ สปสช. กล่าวจึงไม่เป็นความจริง และเป็นการใส่ร้ายรัฐบาล เพราะรัฐบาลจะมาหักเงินที่ตัวเองไม่ได้ให้ได้อย่างไร

ปัญหาวิกฤติพยาบาลนี้จะยังดำเนินต่อไปและรอวันปะทุแตกหักอีกรอบ ความเป็นจริงก็คือสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว (Aged Society) มากมายไปด้วยคนแก่และเมื่อแก่ก็ต้องเจ็บป่วยและต้องการการบริบาลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น การที่นายกรัฐมนตรีอนุมัติตำแหน่งและอัตราจ้างพยาบาลในครั้งนี้ เป็นการแก้ปัญหาเพียงชั่วคราวแต่ก็ต้องขอบพระคุณที่ท่านนายกรัฐมนตรีเห็นใจและเข้าใจปัญหานี้ ผมขอทำนายไว้เลยว่าวิกฤติพยาบาลจะเป็นชนวนระเบิดใหญ่ที่สุดของสาธารณสุขไทยหากยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ตรงจุด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเห็นความสำคัญของวิชาชีพพยาบาลมาก เคยมีครั้งหนึ่ง คุณหมอคนหนึ่งเกิดความสงสัยว่าทำไม “ในหลวง” จึงทรงให้พยาบาลทำให้พระองค์ท่านทุกอย่าง ไม่ว่าจะจัดพระโอสถเม็ด พระโอสถฉีด ทำไมไม่ให้หมอทำ ในหลวงท่านก็ทรงตอบว่า เพราะเป็นหน้าที่ของพยาบาล แล้วหมอจึงได้ถามพระองค์ต่อว่า ทำไมพระองค์จึงทรงไว้พระทัยกับพยาบาลนัก พระองค์จึงมีพระราชกระแสว่า “ก็เพราะพยาบาลเป็นคนเลี้ยงเรามา”

ขอให้กำลังใจพยาบาลทุกคนที่เสียสละทำหน้าที่อย่างอดทน ตามรอยพระบาทพระราชมารดาแห่งการพยาบาลไทย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
กำลังโหลดความคิดเห็น