ถ้ามองจากมุมมองของชาวยุโรปเอง...เช่นผู้เชี่ยวชาญนักวิจัยจากสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเนเธอร์แลนด์ (Netherlands Institute of International Relations) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าสถาบัน “Clingendael” ซึ่งได้รับเงินทุนและการสนับสนุนให้ทำการวิจัยโครงการ “One Belt, One Road” ของจีนอย่างเป็นระบบ จนสามารถสรุปเป็นเอกสารรายงานที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “Clingendael Report” เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีนักวิจัย 2 ราย คือ “Frans-Paul van der Putten” นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันแห่งนี้ และ “Minke Meijnders” ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ได้ร่วมกันเขียนวิเคราะห์รายละเอียดต่างๆ ไว้ในเอกสารชิ้นนี้ โดยได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนเมื่อช่วงเดือนมีนาคม ค.ศ. 2015 บางช่วงบางตอนของข้อวิเคราะห์ดังกล่าว ให้ข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจเอามากๆ เช่นที่ระบุไว้ว่า...
“ความสำคัญของโครงการ One Belt, One Road ของจีน...กำลังก่อให้เกิดผลที่น่าสนใจไม่น้อย คือขณะที่แนวคิดดังกล่าวได้กลายเป็นกรอบนโยบายสำหรับจีน ในการผลักดันตัวเองเข้าไปบริหารจัดการโครงการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่อุบัติขึ้นมาในเอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกาตะวันออก และยุโรป ด้วยบทบาทเช่นนี้ทำให้ง่ายเอามากๆ ต่อรัฐบาลจีน ในการเข้าไปทาบทามหรือดำเนินนโยบายต่างประเทศ ที่มีผลตอบสนองต่อประโยชน์ของจีนอย่างมหาศาล ไม่ว่าในแง่ของการขยายความมั่นคงให้ตลาดการค้าและสินค้าส่งออกของจีน จนถึงการเข้าไปแสวงหาวัตถุดิบและทรัพยากร การพัฒนาตลาดใหม่ การลงทุนใหม่ๆ รวมทั้งการเพิ่มอิทธิพลทางการเมืองและการทูต โดยเฉพาะการเข้าถึงตลาดนั้น ความคิดริเริ่มในโครงการดังกล่าว ได้สร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ต่อตลาดใน EU อันถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของโลก นอกจากนั้นระเบียงการค้าจีน-ยุโรปในทางทะเล ยังมีส่วนเชื่อมโยงไปถึงหุ้นส่วนการค้าอื่นๆ รวมทั้งสหรัฐฯ ด้วย เรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างจีนและอ่าวด้านตะวันออกของอเมริกาเหนือ กำลังเพิ่มจำนวนและเพิ่มบทบาทยิ่งขึ้นทุกที โดยอาศัยเส้นทางตัดผ่านมาทางคลองสุเอซ เพราะคลองปานามานั้นแคบกว่าคลองสุเอซ หรือไม่กว้างขวางพอสำหรับเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ อันส่งผลให้เกิดแนวโน้มของการเปลี่ยนย้ายเส้นทางการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างเอเชียกับอ่าวด้านตะวันออกของอเมริกาเหนือ จากเส้นทาง Trans-Pacific ไปยังเส้นทาง Trans-Atlantic ชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.2014 เป็นต้นมา จำนวนการขนส่งสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์โดยอาศัยคลองสุเอซเป็นทางผ่านได้แซงหน้าการขนส่งโดยอาศัยคลองปานามาเป็นครั้งแรก อันเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของประเทศอย่างจีนและสหรัฐฯ แม้แต่เฉพาะเรื่องของการค้า ว่าเริ่มแสดงแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงให้เห็นได้อย่างชัดเจน...”
นี่...ต้องเรียกว่า ขนาด “พญามังกร” ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวแค่ระดับหางๆ ก็เล่นเอา “พญาอินทรี” ขนร่วงไปแล้วไม่รู้กี่เส้นต่อกี่เส้น แต่บทวิจัยชิ้นนี้ยังคงวิเคราะห์ต่อไปอีกว่า... “ส่วนเรื่องของวัตถุดิบนั้น...น้ำมันจากตะวันออกกลาง เอเชียกลาง และแอฟริกา ถือเป็นวัตถุดิบที่มีความสำคัญอย่างมาก รวมไปถึงวัตถุดิบอีกหลายอย่าง จากแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการใช้เส้นทางขนส่งวัตถุดิบเหล่านี้ไม่ว่าในแง่ของการส่งออก หรือนำเข้า สำหรับจีนแล้ว...จำเป็นต้องสร้างความปลอดภัยและความมีเสถียรภาพให้กับเส้นทางเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ว่าความยุ่งยากใดๆ ก็ตาม จะโดยการก่อการร้ายหรือการใช้พลังอำนาจในรูปใดก็แล้วแต่ ย่อมสามารถสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจของจีนทั้งประเทศได้ทุกเมื่อ ความคิดริเริ่มในโครงการดังกล่าว จึงถือเป็นการสร้างโอกาสครั้งสำคัญให้กับรัฐบาลจีน ในอันที่ขจัดปัญหาเหล่านี้ให้กับระบบเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในระยะยาว อีกทั้งยังช่วยให้จีนสามารถลดการพึ่งพาประเทศตะวันตกให้น้อยลงๆ อีกด้วย อันทำให้ท้ายที่สุด...ถ้าหากจีนสามารถแผ่อิทธิพลทางการค้า การทูต และการเมือง เข้าไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ในยุโรป ได้มากกว่าที่จะต้องกลายเป็นฝ่ายพึ่งพายุโรปดังเท่าที่เคยเป็นมาในอดีต ถึงจุดๆ นั้น...ย่อมทำให้จีนสามารถก้าวขึ้นสู่...ความเป็นมหาอำนาจ...ได้อย่างเบ็ดเสร็จ สมบูรณ์ แม้จะยังมีอุปสรรคเบื้องต้นในแง่การจัดการปัญหาความขัดแย้งภายในภูมิภาคตะวันออกหรือตะวันออกเฉียงใต้ แต่ด้วยเหตุเพราะภูมิภาคดังกล่าวเป็นเสมือน...บ้าน...ของจีน ด้วยกระบวนการแผ่อิทธิพลในลักษณะประนีประนอมกับเพื่อนบ้านใกล้ชิด ย่อมทำให้บรรดาแรงต่อต้านที่แม้จะหมายรวมไปถึงอำนาจที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ สิ่งเหล่านี้คงไม่อาจถ่วงรั้งบทบาทของจีนเอาไว้ได้...”
ไม่ว่าแปลปะกิตเป็นไทยหรือแปลไทยเป็นไทยกันอีกเที่ยว...หนีไม่พ้นต้องสรุปว่าพลังอำนาจของคุณพี่จีนทุกวันนี้ ย่อมไม่ใช่แค่พลังอำนาจในระดับ “ภูมิภาค” อีกต่อไปแล้ว แต่ได้กลายเป็นพลังอำนาจในระดับโลก โดยเฉพาะเมื่ออาศัยโครงการ “One Belt, One Road” หรือโครงการ “หนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง” เป็นองค์ประกอบในการขับเคลื่อนทุกสิ่งทุกอย่างให้มุ่งไปสู่เป้าหมายตามที่ตัวเองได้วางไว้อย่างประณีตและแยบยลเอามากๆ ชนิดที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยเสียงขู่ เสียงคำราม อาศัยพลังอำนาจการเมือง การทหารแบบ “Hard Power” ไปบีบบังคับใครต่อใครให้ต้องหันซ้าย-หันขวา ตามที่ตัวเองต้องการ เหมือนอย่างที่คุณพ่ออเมริกาเคยกระทำย่ำยีใครต่อใครมาโดยตลอด แต่กลับหันไปใช้ “กระบวนการแผ่อิทธิพลในลักษณะประนีประนอม” อย่างที่นักวิจัยแห่งสถาบัน “Clingendael” ให้คำนิยามเอาไว้ หรือจะเรียกว่า “พลังอำนาจอย่างอ่อน” (Soft Power) “พลังอำนาจอย่างชาญฉลาด” (Smart Power) ก็แล้วแต่จะว่าไปตามรสนิยมของใครก็ของมัน...