xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯรับสอบปมซื้อเรือดำน้ำ งบกห.พุ่ง2.2แสนล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"วิทวัส"เผยผู้ตรวจฯ รับวินิจฉัยปมจัดซื้อเรือดำน้ำแล้ว พร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ดึงผู้เชี่ยวชาญประเมิน ภัยคุกคามประเทศ ร่วมถกความจำเป็นในการจัดซื้อ รวมทั้งวิธีการงบประมาณ ก่อนสรุป เผยร่างงบประมาณปี 61วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท จำแนก 6 กลุ่ม/กระทรวง"ศึกษาฯ" มากสุด 510,961 ล้าน งบกลาง 394,326 ล้านบาท ขณะที่กลาโหมได้เพิ่มเป็น 222,436 ล้านบาท รวมงบด้านความมั่นคงเกือบ 3 แสนล้าน เพิ่มจากปีก่อนกว่า 1 แสนล้าน

พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึง ความคืบหน้าการพิจารณาคำร้องของ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ขอให้ตรวจสอบ และเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลปกครองวินิจฉัยว่า การลงนามสัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำของรัฐบาลเป็นโมฆะ เนื่องจากผิด พ.ร.บ.วิธีงบประมาณว่า หลังสำนักงานได้รับคำร้องจากนายศรีสุวรรณแล้ว ก็ได้ทำการศึกษา และเสนอให้ผู้ตรวจฯ พิจารณา โดยเห็นว่าอยู่ในอำนาจที่ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถรับไว้พิจารณา และมีคำวินิจฉัยได้ พร้อมกับเสนอว่า การแสวงหาข้อเท็จจริงควรทำในลักษณะการตั้งคณะกรรมการ ซึ่ง ผู้ตรวจการแผ่นดินก็เห็นด้วย ซึ่งจะได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป โดยคณะกรรมการตรวจสอบชุดนี้ นอกจากจะประกอบด้วยฝ่ายสอบสวนของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว ก็จะมีบุคคลภายนอกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ มีความรู้ เข้าใจถึงเรื่องการประเมินภัยคุกคาม เพราะเวลาจะซื้อยุทโธปกรณ์ต่างๆ ก็ต้องมาจากยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศ ถึงจะมากำหนดความต้องการว่าอาวุธแบบไหนถึงจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศทางทะเล โดยระยะเวลาในการทำงานของคณะกรรมการก็คิดว่าไม่น่าจะช้า

เมื่อถามว่า คณะกรรมการชุดนี้ จะดูเฉพาะประเด็นที่ร้อง คือการเสนอจัดซื้อถูกต้องตามพ.ร.บ.วิธีงบประมาณ หรือรวมไปถึงความจำเป็นในการจัดซื้อด้วย พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า คงดูรวมกัน เพื่อที่จะได้ข้อมูลมาประกอบว่าแล้วการจัดซื้อดังกล่าวที่ผูกพันงบประมาณ มันมาจากความจำเป็นต้องซื้อหรือไม่ แล้วเรื่องที่ว่ามันขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 เพราะการดำเนินการจัดซื้อเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญา ตรงนี้ขัดไม่ขัดก็ต้องไปดูก่อนว่าแล้วมันเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศหรือไม่ ซึ่งถ้าเราได้ศึกษาให้ดีแล้วตนก็เชื่อว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏน่าจะตอบคำถามได้

" ดีมากที่สังคมมีการตั้งคำถามว่า ทำไมต้องเรือดำน้ำ เพราะสิ่งที่คณะกรรมการตรวจสอบควรจะไปดูคือ ดูถึงว่ายุทธโธปกรณ์ที่จะไปซื้อมา อยู่ยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศหรือเปล่า อยู่ในแผนการจัดหายุทธโธปกรณ์ 10 ปี ของกองทัพหรือไม่ แล้วก่อนทำยุทธศาสตร์มีการประเมินภัยคุกคามไว้อย่างไร ซึ่งถ้าเราดูประเด็นเหล่านี้ครบถ้วน ก็น่าจะตอบคำถามได้หมดว่าเราพิจารณาเรื่องนี้รอบคอบหรือไม่ อย่างไร และการที่ผู้ตรวจฯเข้าไปดูถึงประเด็นความจำเป็นต้องซื้อ ก็ไม่ได้ถือว่าทำเกินกว่าอำนาจหน้าที่ที่มี แต่อยู่ในขอบเขตอำนาจ เพียงแต่ว่าการที่เราจะมาสรุปในข้อร้องเรียนอย่างนี้ จะต้องประกอบไปด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างครบถ้วน"

พล.อ.วิทวัส ยังยืนยันว่า แม้ตนเองจะเป็นอดีตนายทหาร แต่ก็ให้ความมั่นใจว่าเป็นกลาง เป็นอิสระ และเป็นธรรม จะช่วยกันหรือไม่ช่วยกัน ก็อยู่ที่ 3 เรื่องนี้ ว่าตนทำงานด้วยความเป็นกลาง เป็นอิสระ และเป็นธรรมหรือไม่ ในการออกคำวินิจฉัย ดังนั้นถึงจะเป็นทหารมาก่อน แต่การพิจารณาตนก็ต้องยึดเรื่องความเป็นธรรมเป็นหลัก

**เผยร่างงบประมาณปี 61

ทั้งนี้ มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ภายหลังที่ประชุมครม. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน มีมติเห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 วงงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท ลดลง 23,000 ล้านบาท จากปีงบประมาณ 60 ขณะที่รายได้งบประมาณปี 61 อยู่ที่ 2.45 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 79,921 ล้านบาท และตั้งขาดดุลงบประมาณ 450,000 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐานว่าเศรษฐกิจไทยในปี 61 เติบโตได้ 5.8% เมื่อหักเงินเฟ้อออกแล้ว จะเหลือประมาณ 3.5-3.6%

สำหรับงบประมาณการรายจ่ายตั้งไว้ ที่ 2.9 ล้านล้านบาท ลดลง 0.8% จากปีงบประมาณ 60 แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 2.15 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 74.2% ลดลง 2,552 ล้านบาท, รายจ่ายลงทุน 659,924 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22.8% เพิ่มขึ้น 875 ล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 86,942 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.0% เพิ่มขึ้น 5,755 ล้านบาท

ทั้งนี้ หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กระทรวงศึกษาธิการ 510,961 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 2,999 ล้านบาท หรือลดลง 0.6%, งบกลาง 394,326 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 54,554 ล้านบาท หรือลดลง 12.2% และกระทรวงมหาดไทย 355,995 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20,849 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.2% ขณะที่กระทรวงกลาโหม 222,436 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ทีเคยได้รับ 214,347.4 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณปี 61 มรากำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายไว้ 2,900,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น มีงบประมาณรายจ่ายเพียงพอในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน

สำหรับประมาณการรายได้สุทธิ จำนวน 2,450,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และกำหนดวงเงินกู้ เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 450,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งการขาดดุลงบประมาณจำนวนดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบ ต่อวินัยและฐานะการคลังของประเทศในระยะยาว โดยมีโครงสร้างงบประมาณ สรุปได้ดังนี้

1. งบฯรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 61 จำนวน 2,900,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 60 จำนวน 23,000 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 0.8 โดยวงเงินงบประมาณดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

2. รายจ่ายประจำ กำหนดไว้เป็นจำนวน 2,153,133.7 ล้านบาท ลดลงจากปี 60 จำนวน 2,552.3 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 0.1 โดยรายจ่ายประจำดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 74.2 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับร้อยละ 73.8 ของปีงบประมาณ 60

3. รายจ่ายลงทุน จำนวน 659,924 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 60 จำนวน 875.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 โดยรายจ่ายลงทุนดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.8 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับร้อยละ 22.5 ของปีงบประมาณ 60

4. รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ได้จัดสรรไว้ 86,942.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ปีงบประมาณ 60 จำนวน 5,755.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 โดยรายจ่ายชำระคืน ต้นเงินกู้ดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับร้อยละ 2.8 ของปีงบประมาณ 60
ทั้งนี้ รายละเอียด งบปี 61 จำแนกตามกระทรวงดังนี้

งบกลาง 394,326,061,000 บาท หรือ ร้อยละ 13.6 , สำนักนายกรัฐมนตรี 34,104,373,400 บาท หรือ ร้อยละ 1.2 , กระทรวงกลาโหม 222,436,597,500 บาท หรือ ร้อยละ 7.7 , กระทรวงการคลัง 238,356,050,300 บาท หรือ ร้อยละ 8.2 ,กระทรวงการต่างประเทศ 8,780,436,500 บาท หรือ ร้อยละ 0.3 , กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 6,794,823,400 บาท หรือร้อยละ 0.2 , กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 13,905,929,800 บาท หรือ ร้อยละ 0.5 ,กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 102,559,663,700 บาท หรือร้อยละ 3.5 ,กระทรวงคมนาคม 172,876,279,500 บาท หรือร้อยละ 6.0 ,กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 6,700,487,000 บาทหรือร้อยละ 0.2
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 34,706,449,600 บาท หรือร้อยละ 1.2, กระทรวงพลังงาน 2,273,729,000 บาท หรือร้อยละ 0.1, กระทรวงพาณิชย์ 7,151,813,700 บาท หรือร้อยละ 0.2, กระทรวงมหาดไทย 355,995,342,000 บาท หรือร้อยละ 12.3, กระทรวงยุติธรรม 24,818,155,900 บาท หรือร้อยละ 0.9, กระทรวงเเรงงาน 49,636,784,000 หรือร้อยละ 1.7, กระทรวงวัฒนธรรม 8,179,042,900 บาท หรือร้อยละ 0.3,กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 14,623,100,300 หรือ ร้อยละ 0.5, กระทรวงศึกษาธิการ 510,961,812,600 บาท หรือร้อยละ 17.6, กระทรวงสาธารณสุข 136,168,837,100 บาท หรือร้อยละ 4.7, กระทรวงอุตสาหกรรม 5,332,811,800 บาท หรือร้อยละ 0.2

ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง 130,740,085,100 บาท หรือร้อยละ 4.5, หน่วยงานของรัฐสภา 5,791,491,100 บาท หรือร้อยละ 0.2, หน่วยงานของศาล 21,735,137,600 บาท หรือร้อยละ 0.7, หน่วยงานอิสระของรัฐ 15,805,643,100 บาท หรือร้อยละ 0.5, จังหวัดและกลุ่มจังหวัด 32,653,520,400 หรือร้อยละ 1.1 , รัฐวิสาหกิจ 152,787,536,200 บาท หรือร้อยละ 5.3, กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน 181,346,711,200 บาท หรือร้อยละ 6.3, สภากาชาดไทย 8,451,294,300 บาท หรือร้อยละ 0.3

**งบความมั่นคงเกือบ3แสนล้าน

ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ได้จัดทำขึ้นให้ สอดคล้องกับร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2558-2564) แผนแม่บทอื่นๆ และนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของรัฐบาลได้อย่างต่อเนื่อง และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยน้อมนำ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นแนวทางหลักในการปฏิบัติคำนึงถึงหลักความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี เพื่อให้ประเทศไทยมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ สรุปดังนี้

1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 273,954 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 60 ซึ่งอยู่ที่ 157,155.5ล้านบาท

2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 476,596.6 ล้านบาท

3. ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน 575,709.8 ล้านบาท

4. ยุทธศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตจากภายใน 332,584.8 ล้านบาท

5. ยุทธศาสตร์ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 125,459.4 ล้านบาท

6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 784,210.1 ล้านบาท

7. รายการค่าดำเนินการภาครัฐ 331,485.3 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น