xs
xsm
sm
md
lg

ห้ามนั่งกระบะปิกอัพ : เขียนง่าย ทำได้ยาก

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

รถกระบะหรือรถปิกอัพ เป็นรถใช้งานสารพัดประโยชน์ โดยสารก็ได้ บรรทุกของก็ได้ ดังนั้น รถประเภทนี้จึงเป็นที่นิยมของคนในชนบท หรือแม้คนระดับกลางในเมืองที่ต้องเดินทางไปค้าขาย รับเหมาก่อสร้าง รวมไปถึงเกษตรกร ชาวไร่ และชาวสวน เป็นต้น แต่เดิมรถประเภทนี้มีที่นั่งด้านหน้าสำหรับผู้โดยสารหนึ่งคน และคนขับอีกหนึ่งคน แต่ต่อมาได้มีการพัฒนาเพิ่มที่นั่งผู้โดยสารด้านหลังอีก 3 ที่นั่ง และมีกระบะคงเดิมที่เรียกว่า รถปิกอัพสองตอน

แต่ในความเป็นจริงในการใช้งาน โดยเฉพาะในต่างจังหวัดเมื่อมีงานศพ งานแต่ง และงานบวช เป็นต้น รถชนิดนี้เกือบจะเป็นพาหนะชนิดเดียวในการขนคนไปช่วยงาน โดยนั่งทั้งข้างใน และบนกระบะ แถมนั่งขอบกระบะอัดกันจนแน่น

ด้วยเหตุนี้ ถ้าเกิดอุบัติเหตุชนกันหรือเสียหลักพลิกค่ำ แน่นอนว่าจะต้องมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเกิดขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่นั่งในกระบะกระเด็นออกไป และได้รับบาดเจ็บหนักหรือไม่ก็ตายในทันที และนี่เองคือเหตุผลที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายห้ามนั่งในกระบะ

แต่ในทันทีที่ประกาศออกไป ดูเหมือนว่ากระแสต้านจะดังกว่ากระแสตอบรับ ดังนั้น รัฐบาลต้องจำยอมถอยโดยการยืดหยุ่นชะลอการบังคับใช้ออกไปก่อนในช่วงสงกรานต์ และเชื่อว่าหลังสงกรานต์ก็จะยืดเวลาในการบังคับใช้กฎหมายนี้ออกไป ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังนี้

1. รถกระบะหรือรถปิกอัพเป็นยานพาหนะประเภทเดียวที่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลนิยมใช้ และใช้อย่างคุ้มค่า ทั้งบรรทุกของ และบรรทุกคน เรียกได้ว่าคุ้มค่ากว่ารถเก๋งของคนเมืองที่นั่งคนเดียวหรือสองคน เมื่อไปทำงานในวันทำการและไปรับประทานอาหาร ดูหนังฟังเพลงในวันหยุด ทำให้จราจรหนาแน่น

2. การใช้รถกระบะตามข้อ 1 เป็นความเคยชิน หรือเป็นส่วนหนึ่งของคนชนบทไปแล้ว ดังนั้น เมื่อมีกฎหมายออกมาสวนทางกับความเคยชิน จึงมีเสียงคัดค้านดังขึ้นจากสื่อแขนงต่างๆ

3. ถ้านั่งกระบะท้ายรถปิกอัพไม่ได้ การพาครอบครัวไปงานตาย งานแต่ง และงานบวช เป็นต้น จะต้องใช้รถหลายคันและหารถได้ยากด้วย ถึงแม้ว่าจะหารถเพิ่มได้ ค่าใช้จ่ายก็จะต้องเพิ่มขึ้นด้วย

จริงอยู่ เพื่อความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว ผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนเข้าใจ แต่ก็อดที่จะถามไม่ได้ว่า การนั่งบนท้ายรถกระบะ มิใช่เหตุให้เกิดอุบัติเหตุ แต่เป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น การออกกฎหมายเพื่อป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุ โดยการห้ามนั่งในกระบะ จึงน่าไม่ตรงประเด็นที่ป้องกันอุบัติเหตุ ซึ่งมีการระบุชัดเจนว่าเกิดจากเมาแล้วขับ และขับรถเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นส่วนใหญ่ ทั้งในเทศกาลสงกรานต์ และเทศกาลปีใหม่ ไม่เคยปรากฏว่านั่งบนกระบะแล้วเกิดพลัดตกลงมาโดยที่รถมิได้เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกันหรือเสียหลักพลิกคว่ำ

ส่วนการออกกฎหมายป้องกันเมาแล้วขับ และขับรถเร็วนั้น เมื่อเป็นกฎหมายแล้วจะบังคับใช้อย่างไรให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยเฉพาะเรื่องเมาแล้วขับเป็นประเด็นที่น่าเห็นใจเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รักษากฎหมาย ซึ่งจะทำหน้าที่ป้องกันที่ปลายเหตุ ทั้งนี้เนื่องจากเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

ประเทศไทยอนุญาตให้มีการผลิตและนำเข้าเครื่องดื่มที่ทำให้ผู้ดื่มมึนเมา โดยเฉพาะเหล้าและเบียร์ ดังนั้น การดื่มเหล้าและเบียร์แล้วห้ามเมาคงเป็นเรื่องปกติ ส่วนจะเมามากหรือเมาน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณที่ดื่ม และดีกรีของเครื่องดื่มชนิดนั้นๆ แต่แน่นอนว่าดื่มแล้วทำให้สติและสัมปชัญญะของผู้ดื่มลดลง

ส่วนเมาแล้วขับรถหรือไม่ขับขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคน รวมไปถึงคนรอบข้าง โดยเฉพาะผู้โดยสารรถคันนั้นว่าจะปล่อยให้คนเมาขับหรือไม่นั้น

ดังนั้น การตั้งด่านสกัดจับคนเมาแล้วขับ จึงเป็นมาตรการป้องกันที่ปลายเหตุ และป้องกันไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากว่ากฎหมายจะไปห้ามคนดื่มและไม่ให้เมาไม่ได้ และเมื่อเมาแล้วขับรถออกมาก่อนถึงด่านอาจเกิดอุบัติเหตุก็ได้

ดังนั้น ทางที่น่าจะเป็นไปได้ควรจะใช้มาตรการทางกฎหมายควบคู่กับมาตรการทางสังคม ซึ่งจะดำเนินการได้ดังนี้

1. ลดการผลิตและนำเข้าเครื่องดื่ม ซึ่งทำให้ดื่มแล้วมึนเมา

2. เพิ่มภาษีเครื่องดื่มประเภทนี้เพื่อให้ราคาขายสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล้าขาว ทั้งนี้เพื่อให้คนดื่มน้อยลง

3. ในการรณรงค์แทนที่จะใช้คำว่า เมาแล้วไม่ขับ ควรใช้คำว่า ไม่ดื่มก่อนขับ ทั้งนี้เนื่องจากว่านักดื่มส่วนใหญ่จะบอกว่าตนเองไม่เมา และยังขับรถได้ ทั้งๆ ที่ในสายตาคนอื่นแล้วยิ่งกว่าเมา จึงไม่ต้องพูดถึงการขับรถจะเดินก็ไม่ตรงทางอยู่แล้ว

4. ในงานพิธีต่างๆ ของส่วนราชการ ควรงดการให้บริการเครื่องดื่มที่เป็นข้อห้ามในศีลข้อ 5 ดื่มสุราและเมรัยเพื่อเป็นตัวอย่างให้เอกชนทำตาม

ส่วนการควบคุมความเร็วนั้น ควรจะครอบคลุมไปถึงการขับรถช้า และเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุด้วย เนื่องจากว่ามีอยู่บ่อยครั้งที่รถช้าเป็นเหตุให้รถเร็วเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากต้องหักหลบและไปเฉี่ยวชนกับรถคันอื่น หรือไม่ก็ชนท้ายรถช้าเนื่องจากเบรกไม่ทัน

ดังนั้น ในการควบคุมความเร็วเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ควรครอบคลุมถึงรถช้าด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น