xs
xsm
sm
md
lg

พ.ร.บ.ที่ดินบีบ"คนจน-คนชั้นกลาง"อยู่ยาก ภาษีโหด ใครไม่จ่ายถูกยึดทรัพย์สิน!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**จับตา พ.ร.บ. ที่ดินฯ ฉบับใหม่ ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้จะทำให้คนไทยเดือดร้อนไม่ต่างจากวิกฤตรถกระบะ เพราะคนจน คนชั้นกลาง ที่เคยเก็บหอมรอมริบซื้อทรัพย์สินไว้ให้ลูกหลาน ต้องตัดสินใจขายทิ้ง หลีกหนีการเสียภาษีตลอดชีวิต ส่วนใครเบี้ยวไม่เสียภาษีตามกฎหมายกำหนด ต้องถูกยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด ขณะที่กฎหมายเก่าไม่มีระบุไว้ ด้านสนช.หวั่น พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ม.77 เชื่อบรรดาธุรกิจเอกชนโวยแน่ เพราะแบกรับภาษีหนัก ทั้งกลุ่มโรงแรม โรงพยาบาล โรงเรียน และพวกเช่าที่ดินรถไฟทำกิจการ โดนทั่วหน้า !

พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.... ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และคาดว่าจะผ่านการพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายใน 2-3 เดือนนี้ โดยในปี 2561 จะเป็นช่วงของการออกกฎหมายลูก และเตรียมข้อมูลในการจัดเก็บ แต่จะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 1 มกราคม 2562
ที่สำคัญเมื่อกฎหมายตัวนี้มีผลบังคับใช้ คนจน คนชั้นกลาง และคนรวย จะได้รับผลกระทบและเดือดร้อนกันอย่างทั่วหน้า ไม่ต่างจากเมื่อครั้งที่รัฐบาลใช้คำสั่งตามมาตรา 44 แก้ไข พ.ร.บ.จราจร เกี่ยวกับเรื่องการคาดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งตำรวจมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มีผลไปถึงการห้ามนั่งท้ายรถกระบะ ห้ามนั่งในส่วนแค็บของรถกระบะ ซึ่งไม่มีเข็มขัดนิรภัยด้วย จนนำไปสู่กระแสการต่อต้านมาตรการดังกล่าว หลากหลายรูปแบบเมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา และนำไปสู่การถอยของรัฐบาลเช่นเดียวกัน
ในเบื้องต้นผู้ที่เสียภาษีอาจคิดว่า พ.ร.บ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ...(ฉบับใหม่) ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ หากมองผิวเผินจะรู้สึกว่าดี เพราะเชื่อว่ารัฐบาลต้องการสนับสนุนให้คนมีบ้านหลังแรก เพราะในการคำนวณภาษีในกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของใช้เป็นที่อยู่อาศัย และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายในวันที่ 1 มกราคม ของปีภาษีนั้นจะได้รับการยกเว้นในกรณีที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท
**"คนจนมีบ้านหลังเล็กๆ ราคา 2 แสนบาท คนชั้นกลาง มีบ้านราคา 2-5 ล้าน ส่วนคนรวยมีบ้านราคาหลายสิบล้าน แต่ไม่ถึง 50 ล้าน พวกนี้จะได้รับยกเว้นภาษีในกรณีบ้านหลังแรกเท่ากัน"
แหล่งข่าวจาก สนช. อธิบายว่า ปัญหาที่น่าห่วงสำหรับ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯฉบับใหม่ ก็คือ คนจน กับ คนชั้นกลาง ที่เคยเก็บหอมรอมริบ เพื่อจะนำเงินไปซื้อบ้าน ซื้อคอนโดมิเนียม เพื่อเก็บเป็นสมบัติให้ลูกหลาน เพราะเชื่อว่าการเก็บในรูปของบ้านและที่ดิน เป็นทรัพย์สินที่จะมีมูลค่าเพิ่มมากกว่าการฝากเงินที่มีผลตอบแทนต่ำมากในยุคปัจจุบันนี้
ดังนั้นเราจะเห็นว่า คนเหล่านี้ จะนิยมไปซื้อบ้านและคอนโดฯ แล้วนำไปปล่อยเช่าเพื่อสร้างรายได้ส่วนหนึ่งมาบวกกับเงินออมอีกเล็กน้อย ก็สามารถนำไปผ่อนบ้านหรือคอนโดฯ ได้ทันที
"คนที่ซื้อทรัพย์สินในรูปบ้าน ที่ดิน ก็จะเลือกทำเล และราคา ที่เห็นว่าปล่อยเช่าได้ง่าย และในอนาคตจะมีมูลค่าเพิ่มเมื่อผ่านไประยะหนึ่ง คนที่ต้องการปล่อยให้นักศึกษาเช่า ก็จะเลือกคอนโดฯใกล้มหาวิทยาลัย บางคนเลือกใกล้รถไฟฟ้าเพื่อให้คนทำงานเช่า"
ตัวอย่างเช่น ข้าราชการกระทรวงหนึ่ง มีบ้านหลังแรกที่ตัวเองผ่อนหมดแล้ว จากเดิมซื้อเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ราคาเพียงไม่ถึงล้านบาท แต่วันนี้บ้านของเธอมีมูลค่ากว่า 2.5 ล้านบาท ทำให้เธอมั่นใจว่า การซื้ออสังหาฯ เก็บไว้ จะเป็นทรัพย์สินให้ลูกและหลานได้เป็นอย่างดี จึงเริ่มหันไปซื้อบ้านชั้นเดียว และคอนโดฯ ที่หาคนเช่าได้ง่าย รวม 3 หลัง เฉลี่ยหลังละประมาณ 1.4 ล้านบาท และผ่อนชำระกับสหกรณ์ของทางราชการ 2 หลัง อีก 1 หลัง ผ่อนกับธนาคารอาคารสงเคราะห์
"บ้านทุกหลังมีคนเช่าหมด จึงได้ค่าเช่าจากทุกหลังมาผ่อน และบวกเงินส่วนตัวเพิ่มอีกเดือนละเฉลี่ยไม่เกิน 12,000 บาท และอีกไม่นานบ้าน 3 หลังก็จะเป็นกรรมสิทธิ์โดยไม่ต้องผ่อนอีกต่อไป"
ตรงนี้แหละที่กำลังจะเกิดปัญหาตามมา เพราะพ.ร.บ.ที่ดินฯ ฉบับใหม่ บ้านหลังที่ 2 และจะมีอีกกี่หลังก็ตาม ทุกหลังจะต้องเสียภาษีทั้งหมดไม่ว่าเราจะนำไปปล่อยเช่าได้หรือไม่ได้ก็ตาม
"ถ้ามองกันอย่างเป็นธรรม คนจน คนชั้นกลาง จะมีบ้านหลายหลังก็ตาม แต่เมื่อนำมารวมกันแล้วก็ไม่ถึง 50 ล้านบาท พวกเขาก็ยังจัดอยู่ในกลุ่มคนจน คนชั้นกลาง ค่อนไปล่าง แต่พวกเขาจะต้องเสียภาษีไปตลอดชีวิต ถามว่าเป็นธรรมหรือไม่"
**แหล่งข่าว สนช. อธิบายอีกว่า สิ่งที่จะตามมาจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุดก็คือ ใครก็ตามไม่ว่าจะเป็นคนจน คนมีรายได้น้อย คนชั้นกลาง หรือคนรวยก็ตาม ในส่วนที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่ยอมชำระภาษีตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จะมีบทลงโทษที่ถือว่ารุนแรง คือต้องถูกอายัดทรัพย์ หรือ ยึดทรัพย์ เพื่อนำไปขายทอดตลาด ซึ่งกฎหมายเดิมไม่มีบทลงโทษนี้ไว้ ส่งผลให้คนกลุ่มที่เริ่มสร้างเนื้อสร้างตัว ต้องการสร้างทรัพย์สินไว้ให้รุ่นลูก รุ่นหลาน หากไม่สามารถหาคนเช่า และคาดว่าจะไม่สามารถแบกรับภาษีได้ ก็ต้องเลือกขายทรัพย์สินออกไปก่อน และเก็บเงินสดไว้แทน
"คงได้เห็นความวุ่นวายเกิดขึ้นก่อนที่กฎหมายจะบังคับใช้ เมื่อทุกคนแห่กันออกมาขาย ราคาทรัพย์สินก็จะถูกกดราคาได้ จะเป็นการซ้ำเติมคนเหล่านี้มากขึ้นไปอีก"
อย่างไรก็ดี เมื่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้เริ่มมีความชัดเจนขึ้น สังคมไทยจะได้เห็นบรรดาเศรษฐี นักธุรกิจ ออกมาโวยวายเพราะต้องแบกรับภาษีหนัก โดยเฉพาะบรรดา กิจการโรงแรม โรงพยาบาลเอกชน โรงเรียนเอกชน จะถูกตีมูลค่าภาษีกันใหม่หมด ไม่เว้นแม้กระทั่งพวกที่เช่าที่ดินของการรถไฟ รวมไปถึงบริเวณสถานี ที่มีสิ่งปลูกสร้างในเชิงพาณิชย์ ทุกรูปแบบ มีอัตราการจัดเก็บภาษีไว้ที่ 2%
ดังนั้นในการจัดเก็บภาษีที่ดิน จะแบ่งตามลักษณะการใช้ประโยชน์เป็นสำคัญ โดยในส่วนของที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพกำหนดให้เก็บภาษีในอัตรา 2% จากเดิมที่กระทรวงการคลังเสนอให้เก็บภาษีในอัตรา 5% โดยการเริ่มเก็บภาษีในอัตรา 2% จะสามารถปรับการเก็บภาษีขึ้นได้ครั้งละ 0.5% หากไม่มีการใช้ประโยชน์ โดยจะมีการประเมินทุก 3 ปี แต่ไม่เกินอัตรา 5%
ส่วนที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมและที่เป็นที่อยู่อาศัยคงไว้อัตราเดียวกับร่างของกระทรวงการคลัง ที่ 0.2 % เช่นเดียวกับที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์อื่น เช่น พาณิชยกรรม คงการจัดเก็บภาษีไว้ที่ 2% และด้านที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัย ให้มีอัตราภาษีไม่เกิน 0.5% ของฐานภาษี
"ถ้ามาดูรายละเอียด จะพบว่าการจัดเก็บภาษีตาม พ.ร.บ.ที่ดินฉบับนี้ จะแพงขึ้นกว่าเดิม 10-100 เท่า ขึ้นอยู่กับว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นอยู่ในประเภทใดและอัตราใด"
อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะเป็นประเด็นปัญหาตามมาจากการออก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.... ให้"รัฐบาลบิ๊กตู่"ต้องแก้ปัญหาก็คือ พ.ร.บ.ที่ดินฉบับนี้ ขาดความชอบธรรมตาม มาตรา 77 ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งประกาศใช้ เมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมานี้ ที่จะเป็นประเด็นกดดันรัฐบาลต่อไป เพราะสาระสำคัญของ มาตรา 77 ระบุไว้ ให้รัฐต้องฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องก่อนการตรากฎหมาย จะต้องวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ ในขณะที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่มีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นแต่อย่างใด
"ตรงนี้จะเป็นประเด็นที่น่าห่วง รัฐบาลต้องวางแผนรับมือให้ดี หากต้องการบังคับใช้พ.ร.บ.ที่ดินฉบับนี้ ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดปัญหาแล้วค่อยมาตามแก้ สนช.ได้มีการคุยกัน และเป็นห่วงประเด็นนี้มาก เพราะความจริงการจัดเก็บภาษีที่สร้างผลกระทบกับประชาชนต้องฟังเสียงประชาชนด้วย และอัตราที่จัดเก็บก็ต้องได้รับการยอมรับ" แหล่งข่าวจาก สนช.ระบุ
**ดังนั้น จากนี้ไปต้องจับตาดูว่า พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.... ฉบับรัฐบาลบิ๊กตู่ จะสามารถคลอดออกมาใช้ได้ตามที่รัฐบาลวางไว้หรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำลังจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า !
กำลังโหลดความคิดเห็น