xs
xsm
sm
md
lg

การเลือกตั้งฝรั่งเศส โลกาภิวัตน์หรือชาตินิยม

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


อีกไม่กี่ชั่วโมง เราก็จะได้รู้ว่า ใครคือประธานาธิบดีคนใหม่ของฝรั่งเศส จากผลการนับคะแนนที่จะทยอยกันออกมา หลังปิดหีบหย่อนบัตรตอนหนึ่งทุ่มตรงตามเวลาท้องถิ่น หรือราวๆ สองยามของประเทศไทย

ชัยชนะจะเป็นของนายเอ็มมานูเอล มาครง นักการเมืองหน้าใหม่สายกลาง ผู้มีอายุแค่ 39 ปี และไม่เคยลงเลือกตั้งมาก่อน หรือนางมารีน เลอ แปน หัวหน้าพรรคแนวร่วมแห่งชาติ หรือ National Front วัย 48 ปี ซึ่งเป็นพรรคขวาจัด

ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้พลิกโฉมหน้าการเมืองฝรั่งเศสไปแล้ว เพราะเป็นครั้งแรกที่พรรคใหญ่ครองอำนาจมานานกว่า 50 ปี คือ พรรคสังคมนิยม ซึ่งเป็นรัฐบาลในปัจจุบัน และเป็นพรรคฝ่ายซ้ายกับพรรครีพับลิกันซึ่งเป็นฝ่ายค้าน และเป็นพรรคฝ่ายขวาไม่ได้ลงชิงชัยในการเลือกตั้งวันที่ 7 พฤษภาคม ซึ่งเป็นการเลือกประธานาธิบดีรอบที่ 2

การเลือกประธานาธิบดีฝรั่งเศสมีขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา มีผู้สมัคร 11 คน นายมาครง ได้คะแนนสูงสุด 23.75% ของผู้มาลงคะแนน นางเลอ แปน ได้ที่สอง 21.53% ไม่มีใครได้เสียงข้างมากเกิน 50% จึงต้องมีการเลือกตั้งรอบตัดสิน โดยมีผู้ชนะที่ 1 และที่ 2 จากรอบแรกลงแข่งขันเพียงสองคนเท่านั้น เป็นการแข่งขันกันระหว่างพรรคเล็ก

พรรค En Marche หรือ On The Move ของนายมาครง เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วนี่เอง เพื่อให้เป็นพรรคทางเลือกที่ไม่ขวา และไม่ซ้าย พรรคยังไม่เคยผ่านการเลือกตั้ง จึงไม่มี ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรสักคน ส่วนพรรค National Front ของเลอ แปน แม้จะตั้งมาแล้ว 40 กว่าปี แต่ก็เป็นพรรคเล็กๆ ที่ไม่ค่อยได้รับความนิยม เพราะนโยบายขวาจัดต่อต้านยิว

เมื่อ 6 ปีก่อน มารีน เลอ แปน ยึดอำนาจพรรคจากพ่อของเธอ ฌอง มาเรีย เลอ แปน ผู้ก่อตั้งพรรค และพยายามปรับแนวทางของพรรค ลดความสุดโต่งลงเพื่อขยายฐานคะแนนนิยมพรรค National Front มี ส.ส.ในสภาฯ เพียง 2 คนจากจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 577 คน

นายมาครง มีอาชีพเป็นนักการเงินมาก่อน ที่จะมารับตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ หลังจากนั้นได้ลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาเพื่อเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจ

นายมาครง มีนโยบายเสรีนิยม สนับสนุนกลุ่มธุรกิจ เขามีนโยบายลดภาษีเงินได้ของธุรกิจจาก 33.3% เหลือ 25% ลดจำนวนเงินกองทุนสวัสดิการสังคมที่คนงานต้องจ่าย ให้มีความยืดหยุ่นในเรื่องชั่วโมงทำงานสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง อนุญาตให้ร้านค้าเปิดทำการในวันอาทิตย์มากขึ้น เปิดเสรีธุรกิจ

นโยบายที่สำคัญคือ สนับสนุนการรวมตัวกันของอียู ต้องการให้ฝรั่งเศสเป็นสมาชิกอียูต่อไป ทั้งยังต้องการให้อียูเป็นปึกแผ่นกันให้แน่นแฟ้นขึ้น โดยให้มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายรวมของอียู และมีรัฐมนตรีการคลังอียู

นโยบายของนางเลอ แปน ตรงข้ามกับมาครงทุกอย่าง คือ ต้องการให้ฝรั่งเศสกลับไปใช้เงินฟรังก์เป็นสกุลเงินท้องถิ่น และยูโรเป็นสกุลเงินทั่วไป หากได้เป็นประธานาธิบดีภายใน 6 เดือน จะเจรจากับอียูให้คืนอำนาจการตัดสินใจบางเรื่องให้กับฝรั่งเศส และหลังจากนั้น จะจัดให้มีการลงประชามติว่าฝรั่งเศสจะถอนตัวออกจากอียู เหมือนอังกฤษหรือไม่ และต่อต้านการรับผู้อพยพเข้าเมือง รวมทั้งให้มีการตั้งกำแพงภาษี ให้สิทธิธุรกิจของคนฝรั่งเศสเหนือธุรกิจต่างชาติ

เธอคือ โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งฝรั่งเศส

หลังผลการลงประชามติของชาวอังกฤษให้ถอนตัวออกจากอียู และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปลายปีที่แล้ว ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง การเลือกตั้งผู้นำฝรั่งเศสวานนี้ เป็นที่จับตามองของโลก โดยเฉพาะชาติยุโรปว่าใครจะชนะระหว่าง ผู้สนับสนุนการรวมตัวกันเป็นเขตเศรษฐกิจ หรือลัทธิโลกาภิวัตน์ คือ นายมาครง กับผู้ชูธงชาตินิยมลัทธิกีดกันทางการค้า คือ นางเลอ แปน

หากมาครงชนะ อียูก็คงใจชื้นว่า ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจ จะยังคงดำรงอยู่ได้ต่อไป แต่ถ้าผลการเลือกตั้งเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือ นางเลอ แปนชนะ อียูจะตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการล่มสลายทันที หากฝรั่งเศสถอนตัวเพราะฝรั่งเศสเป็นหัวเรือใหญ่ในการก่อตั้งอียูร่วมกับเยอรมนี

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะชนะ การผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้คงเป็นไปได้ยาก หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคใหญ่ 2 พรรค คือ พรรคสังคมนิยม และพรรครีพับลิกัน เพราะว่านายมาครงไม่มี ส.ส.ในสภาฯ และขณะที่พรรคแนวร่วมแห่งชาติมี ส.ส.เพียง 2 คนเท่านั้น

ผลการสำรวจคะแนนนิยมล่าสุด นายมาครง มีคะแนนนำนางเลอ แปนค่อนข้างมาก และเป็นที่คาดหมายว่าจะชนะเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่อายุน้อยที่สุด อย่างไม่ยากเย็น

โอกาสที่จะพลิกล็อกชัยชนะตกเป็นของเลอ แปนยังมีอยู่ หากมีผู้นอนหลับทับสิทธิ เป็นจำนวนมาก ซึ่งผลการสำรวจบอกว่า อาจจะมีผู้ไม่ไปใช้สิทธิหย่อนบัตรเกิน 25% เพราะไม่เห็นว่าทั้งคู่เหมาะสมที่จะเป็นผู้นำฝรั่งเศสคนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น