xs
xsm
sm
md
lg

“โมเมนตัม” ของพลังงานสะอาดในสหรัฐอเมริกา

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางองค์กรที่ชื่อว่า “สโมสรนักวิทยาศาสตร์ที่มีความห่วงใย (Union of Concerned Scientists)” ได้ออกรายงานยาว 24 หน้าเรื่อง “Clean Energy Momentum : Ranking State Progress” นอกจากจะมีเนื้อหาที่น่าสนใจแล้ว ยังได้ทำให้ความหมายของคำว่า “พลังงานสะอาด” มีความชัดเจนมากขึ้น ผมได้นำเสนอภาพปกและสรุปสาระสำคัญบางส่วนมาให้ดูกันด้วยครับ

โดยสรุป พลังงานจะสะอาดหรือไม่สะอาด เขาพิจารณาใน 3 ประเด็น (1) การใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้ารวมทั้งรถยนต์ไฟฟ้าด้วย (2) มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมากน้อยแค่ไหน รวมถึงการจ้างงานด้วย และ (3) ใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาโลกร้อน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์รวมทั้งสังคมศาสตร์เห็นตรงกันว่าเป็นภัยคุกคามต่อโลกมากที่สุด มากกว่าภัยจากสงครามใดๆ

ประเด็นที่ผมเห็นว่ามีความชัดเจนมากขึ้น คือ การพูดถึงการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและจำนวนการจ้างงานเข้าไปในความหมายของพลังงานสะอาดด้วย

มีการศึกษาของบางองค์กรพบว่าภายในอีกไม่เกิน 25 ปีข้างหน้า จำนวนตำแหน่งงานในปัจจุบันจะลดลงถึงเกือบ 50% เพราะจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งขณะนี้เราก็ได้เห็นตัวอย่างกันบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์และในกิจการธนาคาร ซึ่งในอนาคตจะลามไปถึงการบริการในร้านอาหาร การดูแลผู้ป่วย เป็นต้น ดังนั้น หากไม่มีแผนการใดๆ ไว้รองรับ สังคมจะอยู่กันอย่างไร ในเมื่อคนส่วนใหญ่ไม่มีงานทำ ภาคการเกษตรก็ถูกทำลาย

จากแผ่นภาพข้างต้น เราจะเห็นว่าในปี 2016 เฉพาะในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์อย่างเดียวในสหรัฐอเมริกามีการจ้างงานถึง 2.6 แสนคนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 25%

ผลการศึกษาบางชิ้นพบว่า ทุกๆ 1 เมกะวัตต์ของโซลาร์เซลล์จะมีการจ้างงาน 7 คน ในขณะที่ในโรงไฟฟ้าถ่านหินมีการจ้างงานเพียง 1 คนเท่านั้น

เรื่องที่ผมรู้สึกว่ามีความยากที่จะอธิบายในรายงานฉบับนี้ก็คือคำว่า “โมเมนตัม” และเมื่อผมได้อ่านอย่างละเอียดแล้วพบว่า ไม่มีคำอธิบายและไม่มีคำนิยามอาจจะเป็นเพราะว่า ผู้เขียนคงคิดว่า เป็นคำที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกันดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องอธิบาย

แต่ผมซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์ประยุกต์ ผมเห็นต่างครับ และเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญมากที่ต้องทำความเข้าใจกันให้ถ่องแท้ ถ้าเราเข้าใจกลไกของเรื่องนี้ได้อย่างกระจ่าง เราจะมีกำลังใจ หรือเกิดพลังใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดีกว่า

ผมจะลองพยายามอธิบายนะครับ ผมเป็นคนชอบดูการแข่งขันเทนนิสมากครับ ทั้งๆ ที่เล่นเองไม่เป็น (แต่ผมชอบเล่นปิงปองนะ) ที่ชอบก็เพราะว่ามันเป็นเกมที่คนดูสามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในแต่ละลูก และเห็นผลที่คาดไว้ได้ในพริบตาไม่ต้องรอนาน นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ถึงจิตวิทยาของคู่แข่งขัน รวมทั้งความรู้ในวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ ตลอดจนกติกาการแข่งขันที่ให้โอกาสคนได้แก้ตัวและมีความซับซ้อนมากกว่าเกมปิงปองเยอะ

ผมยกเรื่องเทนนิสขึ้นมาพูดก็เพื่อจะนำเข้าสู่บทเรียนถึงความหมายของคำว่า “โมเมนตัม” เพราะผู้บรรยายเกมการแข่งขันบางคนมักจะใช้คำว่า “โมเมนตัมเปลี่ยน” หากเกิดสถานการณ์ที่นักกีฬาฝ่ายหนึ่งซึ่งเคยเสียเปรียบอยู่ก่อนระยะหนึ่งแล้ว แต่กลับพลิกมาเป็นฝ่ายได้เปรียบ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือแนวโน้มของผลการแข่งขันมันเปลี่ยนไปนั่นเอง

ความจริงแล้ว คำว่า “โมเมนตัม (Momentum)” เป็นศัพท์ทางวิทยาศาสตร์สาขาฟิสิกส์ครับ หมายถึงปริมาณที่เกิดจากผลคูณของมวลวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่กับความเร็วของวัตถุนั้น ถ้าเปรียบเทียบระหว่างรถบรรทุกสิบล้อกับรถเก๋งที่มีความเร็วเท่ากัน แต่โมเมนตัมของรถบรรทุกสิบล้อจะมากกว่าโมเมนตัมของรถเก๋งมาก เพราะรถบรรทุกสิบล้อมีมวลมากกว่ารถเก๋งนั่นเอง

ลูกปืนที่พุ่งออกจากกระบอกปืน แม้จะมีมวลเพียงนิดเดียว แต่เนื่องจากมีความเร็วสูงมาก จึงถือว่ามีโมเมนตัมสูงมาก

การยกเอาโมเมนตัมมาอธิบายปรากฏการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงมันได้ความหมายที่เหมาะสมกว่าใช้มวลและความเร็วโดดๆ

ถ้าพูดกันตามหลักวิชาฟิสิกส์ โมเมนตัมไม่ใช่แรงที่ทำให้วัตถุเคลื่อนที่ แต่มันคือผลคูณระหว่างแรงกระทำต่อวัตถุกับเวลา ถ้าเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นมากๆ เขามักเรียกผลคูณของแรงกับเวลาว่า “แรงกระแทก (Impulse)” เช่น แรงที่ใช้ค้อนทุบอะไรสักอย่าง เป็นต้น เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นมาก

ดังนั้น ผมจะสรุปว่า โมเมนตัมก็คือแรงกระแทกนั่นเอง วัตถุใดก็ตามที่ถูกรถบรรทุกสิบล้อกระแทก ย่อมได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าจากการถูกกระแทกด้วยรถเก๋ง หรือถูกรถจักรยานกระแทกอย่างชัดเจน

กลับมาที่เรื่อง “โมเมนตัม” ของพลังงานสะอาดในสหรัฐอเมริกา อีกครั้งครับ

รายงานฉบับนี้ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญมากว่า “กังหันลมใน 41 รัฐ ได้ผลิตไฟฟ้าเพียงพอสำหรับการใช้ในกว่า 20 ล้านครัวเรือน จำนวนโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งเพิ่มขึ้นในปี 2016 สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอสำหรับ 2 ล้านครัวเรือน นอกจากนี้การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) มีผลเท่ากับการขัดขวางไม่ให้ต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ใหม่ถึง 300 โรง การใช้ไฟฟ้าในภาคการขนส่งซึ่งเป็นกิจการที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมีรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่าครึ่งล้านคันอยู่บนถนน”

ข้อมูลดังกล่าวถือได้ว่าเป็น “พลังงานสะอาด” จำนวนมหาศาล เฉพาะ 20 ล้านครัวเรือนในภาคกังหันลม คิดเป็นจำนวนคนก็ไม่น้อยกว่า 60 ล้านคน และโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จำนวน 300 โรง และอื่นๆ ก็เปรียบเสมือน “มวลของวัตถุก้อนมหึมาที่กำลังเคลื่อนที่” เมื่อนำมาคูณกับอัตราการเติบโตซึ่งเปรียบเสมือนเป็น “ความเร็ว” จึงหมายถึง “แรงกระแทก” อย่างรุนแรง หรือเป็นสึนามิที่สังคมโลกต้องสะเทือน

สังคมไทยอาจจะยังไม่ทราบเรื่องราวที่อยู่ในรายงานฉบับนี้ อาจเป็นเพราะความอืดอาดของการสื่อสาร การไม่เห็นความสำคัญ หรืออาจเพราะกลุ่มทุนพลังงานฟอสซิลขัดขวาง แต่ผมมีความมั่นใจมากๆ ว่า หากสังคมไทยได้รับรู้ความจริงนี้แล้ว มีหรือที่พวกเขาจะยอมอยู่เฉยๆ ไม่รู้สึกอะไร ไม่ส่งแรงกระแทกต่อไป เพราะ “พลังงานสะอาด” คือทางออกจากปัญหาโลกร้อน ออกจากความเหลื่อมล้ำเพราะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้และขายได้เอง

รายงานฉบับดังกล่าวได้จัดลำดับเรื่องโมเมนตัมของพลังงานสะอาดไว้หลายด้าน ในที่นี้ผมขอนำเสนอเพียงด้านเดียว คือ ลำดับของรัฐที่มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์มากที่สุด 10 อันดับแรก

พบว่ารัฐฮาวายซึ่งเป็นเกาะอยู่ทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกาที่มีภูมิอากาศคล้ายกับประเทศไทยมากติดอันดับหนึ่งครับ

เหตุผลสำคัญมี 2 ข้อ คือฮาวายเป็นรัฐหนึ่งที่มีราคาไฟฟ้าแพงที่สุด และมีแดดเยอะ เขาคงรู้สึก “เสียดายแดด” จึงนำมาผลิตไฟฟ้าเสียเลย โดยเฉลี่ยทุกๆ 7 หลังคาเรือนได้ติดโซลาร์เซลล์ไปแล้ว 1 หลัง ขนาดติดตั้งเฉลี่ย 960 กิโลวัตต์ (ดูภาพข้างล่างครับ) โดยเฉลี่ยครอบครัวชาวอเมริกาถ้าติดตั้งขนาด 5 กิโลวัตต์ก็จะเพียงพอสำหรับการใช้ตลอดไป

ล่าสุด ผู้ชนะการประมูลในรัฐฮาวายขนาด 13 เมกะวัตต์ พร้อมติดตั้งแบตเตอรี่ขนาด 52 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดทั้งปี สามารถขายไฟฟ้าในราคาประมาณ 4.80 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า โดยมีราคาคงที่ตลอดอายุคือ 20 ปี (หมายเหตุ ค่าไฟฟ้าขายปลีกในสหรัฐอเมริกาปี 2016 เฉลี่ยเท่ากับ 10.28 เซนต์หรือ 3.60 บาทต่อหน่วย โดยภาคครัวเรือนเท่ากับ 12.55 เซนต์ หรือ 4.39 บาทต่อหน่วย https://www.statista.com/statistics/183700/us-average-retail-electricity-price-since-1990/)

ในขณะที่ไฟฟ้าในประเทศไทยกำลังประกาศจะขึ้นราคาอีก 12.52 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมทุกอย่างก็ประมาณ 3.50 บาทต่อหน่วยและประกาศว่าจะขึ้นอีกในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี

ลองทายดูซิครับว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า ค่าไฟฟ้าในบ้านเราจะสูงกว่า 4.80 บาทหรือไม่

สรุป โมเมนตัมเปลี่ยนแล้ว อำนาจในการจัดการไฟฟ้ามาอยู่ในมือของคนธรรมดาๆ ทุกคนแล้ว แต่คนไทยยังไม่รู้ตัวครับ จะด้วยเหตุใดก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น