อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขา Business Analytics and Intelligence และวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขา Business Analytics and Intelligence และวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
มติที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 60 ได้รายงานว่าคณะกรรมการพิจารณาแก้ไข/ยกร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ใช้มา 14 ปี มี รศ. ดร.วรากรณ์ สามโกเศส เป็นประธานได้แบ่งการทำงานออกเป็น 2 คณะอนุกรรมการ โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาประเด็นที่ 1 มีนพ.เสรี ตู้จินดา เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการพิจารณาประเด็นที่ 2 มี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) เป็นประธาน ซึ่งสำหรับคณะกรรมการชุดที่สองนี้ได้พิจารณาปรับแก้อีก 7 ประเด็น แต่ประเด็นที่น่าจะเป็นปัญหามากคือ การจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย (ดูรายละเอียดได้ใน http://www.komchadluek.net/news/edu-health/274527#)
ทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทยนี้ย่อมหมายรวมถึงรวมพม่า ลาว เขมร เวียดนาม โรฮิงญา ฝรั่งขี้นกตกยากลำบากสำมะเลเทเมา และผู้อพยพอื่นๆ ตลอดจนคนชายขอบและคนไร้สัญชาติหรือที่ไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติทั้งหมด เรียกว่าหากเหยียบเข้ามาบนแผ่นดินไทยแล้วต้องรักษาพยาบาลฟรีตามสิทธิ์บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งหากทำเช่นนั้นจริงๆ ก็ควรต้องเปลี่ยนชื่อว่า บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค และทุกชีวิต บนแผ่นดินไทย ด้วย
ประเด็นนี้น่าคิด และเป็นประเด็นที่ NGO กลุ่มตระกูล ส นี้พยายามผลักดันมาโดยตลอด นักวิชาการบางคนที่สังกัดกลุ่มนี้เอะอะอะไรก็จะให้สิทธิ์คนต่างชาติ คนไร้สัญชาติ คนชายขอบ และให้รักษาได้ฟรีทุกโรค และให้สัญชาติไทยเข้าไปด้วยทุกคน (แล้วทำไมไม่รับเข้าไปดูแลไว้ที่บ้านตัวเองให้หมด ออกเงินเลี้ยงดูให้หมดด้วย)
จริงอยู่ที่สยามหรือดินแดนสุวรรณภูมิในอดีตนั้นเป็นเบ้าหลอมรวมวัฒนธรรมและเป็นอู่อารยธรรมที่หลอมรวมชนทุกชาติให้เป็นหนึ่งเดียวได้ แต่ในสังคมเกษตร การศึกนั้นทำเพื่อแย่งทรัพยากรที่สำคัญสำหรับการเกษตรนั่นคือกำลังคน การไปตีเมืองขึ้นต้องไปกวาดต้อนผู้คนมาเพื่อมาเป็นแรงงานในการทำการเกษตรและการพัฒนาประเทศ เราถึงมีคำว่าชุมชนบ้านครัว เพราะไปเทครัวมา
แต่ในปัจจุบันนี้เราไม่ได้จำเป็นต้องการแรงงานมากมายขนาดนั้น และการเข้ามาของแรงงานอพยพตลอดจนผู้อพยพทำให้เกิดปัญหามากมาย เช่น นำโรคระบาดที่ไม่เคยมีในประเทศไทยมานานกลับเข้ามาใหม่ การมาใช้สิทธิรักษาพยาบาลฟรีและเบียดเบียนคนไทย ปัญหาผู้อพยพโรฮิงญานั้นเห็นได้ชัดเจนว่าสหรัฐอเมริกากดดันด้วยประเด็นสิทธิมนุษยชนว่าไทยต้องรับผิดชอบ แต่ทำไมสหรัฐอเมริกาไม่ส่งเงินมาให้ และไม่รับคนเหล่านี้ไปประเทศตัวเองให้หมด สมัยที่เขมรแตก เขมรหนีตายอพยพเข้ามาในประเทศไทยมากมาย แต่เฉพาะคนที่มีการศึกษา คนที่มีศักยภาพส่วนใหญ่จึงจะสามารถอพยพไปประเทศที่สามใน และแม้ในที่สุดค่ายอพยพจะปิดลงไปแต่ก็ยังมีเขมรอพยพตกค้างที่ไปไหนไม่ได้ ไม่มีประเทศใดยอมรับไป และยังเป็นภาระของประเทศไทยจนถึงทุกวันนี้
ทุกวันนี้โรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งแทบจะไม่มีเตียงคลอดให้แม่คนไทย เพราะพม่า และคนแอฟริกามาคลอดเต็มโรงพยาบาล ที่หนักกว่านั้นคือตู้อบเด็กคลอดก่อนกำหนด เต็มไปด้วยเด็กพม่า และเมื่อเด็กไทยจะเข้าตู้อบเด็กดังกล่าวก็ไม่มีที่ว่าง เราเมตตาปรานีเขาจนเราเดือดร้อนกันทีเดียว และตอนนี้ก็มีเทรนด์ฮิตในหมู่แรงงานข้ามชาติว่าเมื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทยให้รีบมีลูกกัน หลายคนอาจจะไม่ทราบว่ารัฐบาลไทยร่วมจ่ายสมทบประกันสังคมให้แรงงานต่างด้าวด้วย และคนไทยที่ใช้สิทธิประกันสังคมเองก็แทบจะไม่ใช้สิทธิประโยชน์ด้านการคลอดและการสงเคราะห์บุตร ส่วนแรงงานต่างชาติที่ได้สิทธิประกันสังคมนี้กลับใช้สิทธิประโยชน์ด้านการคลอดและการสงเคราะห์บุตรในอัตราที่สูงมาก พุ่งทะยานติดต่อกันต่อเนื่องมาห้าหกปีแล้ว และเป็นความนิยมว่าการแพทย์ในประเทศไทยมีคุณภาพดีมากกว่าในประเทศบ้านเกิด จึงนิยมมาคลอดมามีลูกในไทย และการศึกษาไทยก็อย่างน้อยก็ยังดีกว่าในประเทศบ้านเกิด บางโรงเรียนในจังหวัดสมุทรสาครนั้นมีแต่นักเรียนพม่าเต็มทั้งโรงเรียนแต่จ่ายด้วยภาษีอากรของไทย คนไทยนั่นแหละครับที่เสียภาษีเหล่านี้
เรื่องแบบนี้เป็นปัญหาที่สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในกลุ่มชน Hispanic ที่มาจากอเมริกากลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งเม็กซิโก ผู้อพยพชาวเม็กซิโกเท่าที่ได้เห็นนั้น ไปไหนมาไหน เข็นเปลเด็กกันเรียงสามคัน มีลูกเธอ ลูกฉัน และลูกเรา และเขาบอกว่าเมื่อเข้ามาในอเมริกาได้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการมีแฟนและต้องรีบมีลูก การมีลูกทำให้ลูกได้สัญชาติโดยการเกิด และทำให้ได้ค่าสงเคราะห์ค่านมลูกทุกเดือน ดังนั้นยิ่งมีลูกมากก็ยิ่งได้เงินเยอะ นอกจากนี้ลูกยังเป็นตัวประกันให้พ่อแม่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาได้ยาวนานเพราะลูกเป็นพลเมืองอเมริกันแล้วย่อมทำให้พ่อแม่อาศัยอยู่ต่อไปได้ การไปพรากพ่อแม่ลูกส่งกลับประเทศจะเป็นเรื่องลำบากมากและผิดหลักสิทธิมนุษยชนอีก
ในอีกด้านหนึ่งอเมริกาเองก็กีดกันผู้อพยพเช่นกัน คนที่จะเข้ามาเรียนต่อหรือทำงานอย่างถูกกฎหมายในสหรัฐอเมริกาไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อเมริกามีกฎมากมาย ที่จะเลือกเฉพาะ cream หรือคนมีคุณภาพมาเป็นคนอเมริกัน เช่น ถ้าจบปริญญาเอกทาง STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) ก็จะได้ Green card ไว เป็นต้น แต่ที่แน่ๆ ไม่ว่าจะนักเรียนหรือคนทำงานที่ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะถูกบังคับให้จ่ายเงินทำประกันสุขภาพทุกคนในราคาแพง เพื่อให้รัฐบาลไม่ต้องมาจ่ายเงินรักษาพยาบาลให้ แม้กระทั่งผู้อพยพไร้กฎหมายชาวเม็กซิโกหรือ Hispanic เหล่านั้นก็ไม่ได้รับ Medicaid หรือ Medicare ต้องป่วยหนักสาหัสหรือฉุกเฉินจริงๆ จึงจะไปรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐได้ตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่เช่นนั้นคงมีคนแห่อพยพกันเข้าไปอีกมากและคงจ่ายให้รักษาฟรีไม่ไหว
เรื่องผู้อพยพมีลูกมากรากดกของแรงงานต่างด้าวนี้ มาเลเซียกับฮ่องกงตัดไฟแต่ต้นลม โดยห้ามแรงงานต่างด้าวมีบุตรโดยเด็ดขาด ถ้ามีจะถูกส่งกลับไปคลอดที่ประเทศของตนทันที ห้ามคลอดในประเทศ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในภายหลังและไม่ให้เป็นภาระทางการเงิน พอพูดอย่างนี้ก็มีนักสิทธิมนุษยชนพูดบ้างว่าไร้จิตใจ ไม่มีมนุษยธรรม คำถามคือเขาไม่ได้ห้ามมีความรักและไม่ได้ห้ามมีกิจกรรมทางเพศ ไม่ได้ห้ามคุมกำหนัดแต่ต้องรู้จักคุมกำเนิด ถ้าไม่คุมกำเนิดเขาดูแลไม่ไหวก็ต้องส่งกลับไป ไม่ให้เป็นภาระของเขา
ในอังกฤษเอง National Health Security หรือ สปสช. ของอังกฤษ ก็ให้บริการทางการแพทย์ฟรีกับผู้อพยพไปอังกฤษทุกคนอย่างที่ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา และตระกูล ส และ สปสช. กำลังพยายามผลักดันแบบนี้ และทำให้ NHS ของรัฐบาลอังกฤษเองต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวมากมาย (ดูรายละเอียดได้จาก https://fullfact.org/europe/eu-immigration-and-pressure-nhs/) และสุดท้ายอังกฤษก็ทนไม่ไหวต้องออกจาก EU หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ BREXIT นั่นเอง
สำหรับประเทศไทยควรพิจารณารักษาตามความจำเป็น ตามหลักสิทธิมนุษยชน แต่ไม่ใช่มาป่าวประกาศว่ารักษาพยาบาลให้ฟรีทุกคน หมอชนบทตัวจริงเสียงจริงเป็นหมอไร้สัญชาติตัวจริงไม่ใช่พวกชมรมแพทย์อ้างชนบทเพื่อผลประโยชน์ตัวเองอย่าง นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผางที่ผมเคยได้คุยด้วยและมีความศรัทธานั้น ข้ามไปรักษาฝั่งพม่าด้วยซ้ำไป และดิ้นรนหาเงิน ขอบริจาคยาเก่าที่ไม่ใช้แล้วไปรักษาคนไร้สิทธิ์และไร้สัญชาติเหล่านี้อย่างเต็มที่เต็มกำลัง เป็นสิ่งที่น่ายกย่องและควรสนับสนุนมาก
คนไทยจำนวนมากไปรับยาฟรีจากบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคมาเก็บไว้ที่บ้านแล้วไม่กิน เสียของไปมากมาย พอขอรับบริจาคหมอวรวิทย์เลยได้รับยาเก่ามากมายทีเดียว ที่อุ้มผางนั้น คนมารักษาเป็นคนชายขอบไม่มีบัตรประชาชน ข้ามเขากันมาเป็นสิบลูก ผมโทรคุยกับหมอวรวิทย์ พยายามจะระดมทุนไปช่วย พี่หมอบอกว่าสร้างตึกอยู่แต่ยังไม่เสร็จ ถ้าเสร็จเมื่อไหร่อาจจะต้องหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่หามาซื้อมาแล้วยังไม่ได้ใช้จะเก่าไปเปล่าๆ พี่หมอไม่มีความโลภเลย และบอกผมว่าที่นี่ขาดแคลนมาก แต่ไม่อยากให้พวกเราเอาของมาลงโดยใช้เงินซื้อโดยไม่จำเป็น ลองติดต่อไปที่โรงพยาบาลอุ้มผางได้ ที่อยู่ รพ.อุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก 63170 หรือล่าสุดที่โรงพยาบาลแม่สอด หมอและพยาบาลบริจาคเลือดตัวเองเพื่อช่วยชีวิตเด็กพม่าให้สามารถรอดชีวิตได้ นับเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ เรื่องแบบนี้คนที่เขาทำหน้างานจริงๆ ไม่ประกาศหรอกครับ
ถ้าประกาศออกมาเป็นกฎหมาย ว่าให้รักษาฟรีกันหมดจดทุกคนบนแผ่นดิน เป็นโครงการ สามสิบบาทรักษาทุกโรคทุกชีวิตบนแผ่นดินไทย ตามแนวคิดของ NGO กลุ่มนี้ เกิดมีเพื่อนบ้านทุกชาติอพยพเข้ามามากมาย สร้างภาระอันใหญ่หลวงให้กับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย และแย่งเตียงหรือกำลังคนในการรักษาคนไทยซึ่งเจ็บป่วยให้ต้องรอคอยนานขึ้นหรือมียาที่ใช้รักษาเท่าเดิมแต่ต้องรักษาผู้อพยพด้วย แล้วต้องมาแย่งชิงทรัพยากร (เงิน ยา บุคลากร) อันจำกัด จะทำเช่นไร แล้วยิ่งโรงพยาบาลของรัฐ ขาดทุน ขาดสภาพคล่องจวนเจียนจะล้มละลาย เพราะการบริหารเงินแบบซับซ้อนซ่อนเงื่อนของสปสช และภาวะสังคมผู้สูงอายุเต็มตัวของไทย จนจะไปต่อไม่ไหว และนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาต้องอนุมัติงบกลางมาแก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว เพราะหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปประชาชนชาวไทยจะเดือดร้อนเพราะโรงพยาบาลจะไม่มีเงินจ่ายค่ายามารักษาประชาชนต่อไปอีกแล้ว เลยเป็นเหตุให้ต้องเร่งแก้ไข จะทำอย่างไรกันต่อไป
แล้วทำไมจึงมีบรรจุวาระเช่นนี้ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฉบับที่กำลังร่าง ซึ่งจะสร้างปัญหาและภาระทางการคลังให้กับประเทศไทยและอาจจะสร้างความเดือดร้อนให้คนไทยด้วยเช่นกัน
ประเทศไทยไม่ได้ร่ำรวยอะไรและโรงพยาบาลของเราก็ประสบปัญหาขาดทุนมากมาย ต่อให้สิบพี่ตูน บอดี้สแลม วิ่งแทบตายก็แก้ปัญหาไม่ได้ ถ้ายังจะสร้างปัญหาต่อไป ปัญหาที่คนไทยขาดแคลน ไม่ได้รับบริการทางการแพทย์เพราะโรงพยาบาลขาดทุนและแออัดอยู่แล้ว ยังจะไปเป็นม้าอารีที่ถูกเบียดเบียนโดยผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้านอีกหรือ?
การช่วยเหลือคนอื่นทั้งๆ ที่ตัวเราเองยังเดือดร้อนไม่น่าจะเป็นผลบุญสักเท่าไหร่ แม้จะถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชนก็ตาม แล้วเวลาประชาชนคนไทยเดือดร้อน นักสิทธิมนุษยชนไปมุดหัวแถวรูตรงไหน ทำไมไม่ออกมาช่วยเหลือคนไทยด้วยกันเองก่อน
เรื่องการช่วยเหลือผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่เราต้องช่วยเหลือเขาเท่าที่เราไม่เดือดร้อน อย่างที่ Audrey Hepburn ดาราฮอลีวู้ดชื่อก้องได้กล่าวไว้ว่า As you grow older, you will discover that you have two hands, one for helping yourself, the other for helping others. เมื่อคุณโตขึ้นคุณจะค้นพบว่าคุณมีสองมือ มือหนึ่งสำหรับช่วยเหลือตนเองและอีกมือหนึ่งสำหรับช่วยเหลือผู้อื่น ถ้ายังช่วยเหลือตัวเองไม่รอดแล้วยังจะสาระแนไปช่วยเหลือผู้อื่นคงเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องนัก และถ้าเป็นชาติที่ฉลาดแล้วเขาจะไม่ดึงดูดให้คนต่างชาติอพยพมาใช้การรักษาพยาบาลฟรีๆ ในประเทศตนเอง เพราะการรักษาพยาบาลมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากและควรทำให้คนในชาติตนเองได้รับสิ่งที่ดีเพียงพอเสียก่อน ซึ่งหากจะช่วยก็ควรทำอย่างเงียบๆ ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน คนไทยทั้งหลายคิดเห็นกันอย่างไรครับผม ขอเชิญแสดงความคิดเห็นกันได้ครับ