xs
xsm
sm
md
lg

แฉกมธ.ขาดความรู้สื่อ-จี้ยกร่างพรบ.ฉบับใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360- นายกฯสมาคมนักข่าวฯ นำคณะยื่นหนังสือถึง “บิ๊กตู่” ให้ยกเลิก พ.ร.บ.คุมสื่อ ฟาก สปท. แฉเหตุร่างกฎหมายตีทะเบียนสื่อถูกต้านหนัก มาจากความผิดพลาดการแต่งตั้ง กมธ. ที่ได้คนไม่เข้าใจเรื่องสื่อ ด้านองค์กรผู้บริโภคออกแถลงการณ์คัดค้าน พร้อมเรียกร้องให้ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวโดยเร็วที่สุด และร่างฉบับใหม่ ที่เน้นการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน โดยปราศจากการกำกับดูแลจากภาครัฐหรือตัวแทนภาครัฐ

เช้าวานนี้ (2 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นำคณะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อมอบเสื้อที่ระลึกและรณรงค์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พ.ค.ของทุกปี พร้อมยื่นจดหมายเปิดผนึก เรื่องคัดค้านและขอให้ยกเลิก ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องการทำให้ประเทศดีขึ้นและสื่อทุกคนก็ต้องช่วยกัน ส่วนที่เป็นประโยชน์ก็ขอให้ช่วยขยายความ เช่น เรื่องใหม่ๆ สำหรับประเทศไทย รัฐบาลอาจไม่ได้คิดเอง แต่ต้องดูต่างประเทศด้วย ทุกอย่างต้องพัฒนาโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่จะดีได้นั้น บ้านเมืองต้องสงบเรียบร้อย เราต้องดูว่ารอบบ้านและโลกภายนอกเป็นอย่างไร วันนี้รัฐบาลกำลังทำโครงสร้างของประเทศและเปลี่ยนแปลงเขตเศรษฐกิจ

เมื่อถามว่า เห็นว่าควรมีตัวแทนภาครัฐในสภาวิชาชีพสื่อหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า ถ้าไม่ควรมีจะให้คุมกันเองได้หรือไม่ อย่าคิดว่าตนต้องการครอบงำทั้งหมด เพราะไม่ได้ครอบงำใครเลย และถ้าครอบงำการออกกฎหมายจะเร็วกว่านี้และทุกอย่างจะจบเพราะสามารถใช้อำนาจได้แต่ตนไม่ใช้ เพราะให้ทุกคนคิดขึ้นมาแล้วจะมาดูและขัดเกลา ขณะเดียวกันถ้าสื่อคุมกันเองก็ต้องคุมให้ได้ สมาคมและผู้ประกอบการต้องมีความเชื่อมต่อกันเพื่อจะคุมกันเองได้”

** แฉ กมธ.สื่อขาดความเชี่ยวชาญ

ด้าน แหล่งข่าวจาก สปท. เปิดเผยว่า สาเหตุที่ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อฯ เกิดกระแสการคัดค้านต่อต้านอย่างรุนแรงจากองค์กรวิชาชีพสื่อ เนื่องจากตั้งแต่เริ่มต้นการแต่งตั้ง กมธ. ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน การปฏิรูปการสื่อสารมวลชนมีความผิดพลาด เพราะไม่ได้คัดเลือกมาจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านสื่ออย่างแท้จริง มีเพียง 2 คนที่เคยเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสื่อที่ได้กลับมาเป็น สปท. คือ พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร และนางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด แต่ทั้งสองคนนี้ก็แทบไม่มีบทบาทในคณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อ สปช.ที่มีนายจุมพล รอดคำดี เป็นประธาน

แหล่งข่าวคนเดิมข่าวกล่าวว่า ภายหลังประกาศรายชื่อสมาชิก สปท. โดย คสช. แต่งตั้งเมื่อวันที่ 5 ต.ค.58 เมื่อให้สมาชิกแจ้งความจำนงว่าใครจะเข้าไปเป็นกรรมาธิการชุดใด ปรากฏว่า มีเพียง 3 คน ที่แจ้งว่าจะอยู่ กมธ.สื่อฯ โดย 2 คนประกอบด้วย พล.อ.อ.คณิต และนางประภา ในขณะที่กรรมาธิการคณะอื่นๆ มีสปท.แจ้งความจำนงจำนวนมาก ทำให้ พล.อ.อ.คณิต ต้องไปขอร้องสมาชิก สปท. ให้ช่วยสละสิทธิ์จากกรรมาธิการที่แจ้งไว้ แล้วมาอยู่กับกรรมาธิการสื่อฯ เพราะไม่เช่นนั้น ด้านสื่อจะตั้งกรรมาธิการไม่ได้

สุดท้ายจึงได้ สปท. 13 คน มาเป็นกรรมาธิการโดยไม่ได้สมัครใจ เพราะรู้ตัวว่าไม่มีความรอบรู้ด้านสื่อเพียงพอ ประกอบกับ สปช. ด้านสื่อที่เคยทำเรื่องนี้ไม่ได้รับแต่งตั้งมาเป็น สปท. จึงเป็นเหตุให้การทำงานของกรรมาธิการด้านสื่อ สปท. ประสบปัญหา ไม่ได้รับการยอมรับจากคนในวงการสื่อ แม้แต่คนทำสื่อที่เข้าไปเป็นอนุกรรมาธิการด้านสิ่งพิมพ์ก็ประท้วงด้วยการลาออกจำนวน 4 คน

ข่าวแจ้งว่า พล.อ.อ.คณิต ประธานกรรมาธิการนั้นเป็นทหารอากาศ มีตำแหน่งเป็น เลขานุการของ พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งพล.อ.อ.ธเรศ เคยตกเป็นข่าวอื้อฉาวเรื่องใช้งบประมาณจำนวนมากในการเดินทางไปต่างประเทศ นอกจากนี้ เลขานุการกรรมาธิการก็เปลี่ยนจากนางเมธินี เทพมณี มาเป็นนางจุไรรัตน์ จุลจักรวัฒน์ ที่ย้ายจากกรรมาธิการขับเคลื่อนฯ ด้านการศึกษา มาอยู่กรรมาธิการสื่อได้ไม่นาน ทั้งยังเป็นผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านสื่อมาก่อน

“น่าแปลกใจว่าทำไมเว็บไซต์ของ สปท. ในส่วนของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนฯ ด้านสื่อ จึงไม่มีการรายงานสรุปผลการประชุมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อฯ ว่าคืบหน้าไปอย่างไร มีแต่หนังสือนัดประชุมคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ในแต่ละสัปดาห์นำมาลงไว้ หัวข้อที่ว่าด้วยสรุปผลการประชุมก็มีการสรุปไว้แค่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 จากนั้นมาแม้มีการนัดประชุมสัปดาห์ละครั้งมาจนถึงปัจจุบัน กลับไม่มีรายงานสรุปผลการประชุม ทั้งๆ ที่คณะกรรมาธิการชุดอื่นๆ เขามีกัน แสดงให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพของคณะกรรมาธิการ” แหล่งข่าวกล่าวจาก สปท. ระบุในตอนท้าย

*** องค์กรผู้บริโภค จี้ยกเลิกร่างกม.คุมสื่อ

ด้านองค์กรผู้บริโภค ประกอบด้วย คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมออกแถลงการณ์คัดค้านและเรียกร้องให้ ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … มีเนื้อหาระบุว่า กมธ.ด้านสื่อสารทวลชน สปท.ขาดความจริงใจในการปฏิรูปสื่อ ด้วยการออกร่าง พ.ร.บ.ที่ต้อนสื่อเข้าคอก ให้มีเจ้าหน้าที่กำกับ และไม่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาชน แม้ สปท.ยอมถอนการทำบัตรสื่อมวลชนและบทลงโทษในร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนฯ เมื่อสื่อและสังคมกดดัน แต่ยังคงยืนยันตำแหน่งปลัดกระทรวงอยู่ถึง 2 ที่นั่ง และยังคงโทษปรับอยู่ ซึ่งแสดงเจตนาชัดเจนว่า สปท. มิได้มีเจตนาและความจริงใจที่จะส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของสื่อ ตลอดจนการคุ้มครองสื่อมวลชนและส่งเสริมมาตราฐานวิชาชีพ ในทางตรงกันข้าม ยังมีเจตนาในการคุกคามสื่อ การลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อนั้น คือการลิดรอนสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งสิทธิเสรีภาพทั้ง 2 ประการนี้ ถือเป็นหลักการใหญ่ที่ต้องคงรักษาไว้ในสังคมประชาธิปไตย

โดยองค์กรผู้บริโภคขอเรียกร้องให้ 1.ยกเลิกร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้โดยเร็วที่สุด 2.ร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่สร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ยกเว้นการกำกับดูแลจากภาครัฐหรือตัวแทนภาครัฐ 3.ให้ส่งเสริมศักยภาพประชาชนในการเป็นพลเมืองที่รู้เท่าทันสื่อและปกป้องสิทธิเสรีการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอประกาศว่าจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมใดๆ กับสภาวิชาชีพสื่อ ตามร่าง พ.ร.บ.นี้ หาก สปท.ยังคงยืนยันเนื้อหาที่นำไปสู่การลิดรอนสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น