xs
xsm
sm
md
lg

เพ่ง เถิน-สุโขทัย แล้วพินิจพิจารณาประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่

เผยแพร่:   โดย: เอนก เหล่าธรรมทัศน์

สองสามวันนี้ หยุดหลายวัน ผมพา นศ ป เอก รัฐประศาสนศาสตร์ ม รังสิต สิบคนไปดูงานที่ อ เถิน จ ลำปาง ดูนิเวศน์ของป่าลึก อบต แม่มอก เห็นธรรมชาติอันสมบูรณ์ สวยสด สัมผัสนิดๆกับต้นธารที่เติมน้ำให้แม่น้ำวังช่วงท้ายๆก่อนจะไหลลงไปรวมกับแม่น้ำปิง แล้วปิง-วังนี้จะไปรวมกับน่าน-ยม ที่ปากน้ำโพ กลายเป็นเจ้าพระยา มหานทีของภาคกลาง นอกจากนั้น ยังต้องตกตะลึงกับวิสาหกิจชุมชน"ผาปัง" ที่รวมชาวบ้านมาทำอาชีพที่เกี่ยวกับไม้ไผ่ทั้งมวล ผาปังตำบลนี้เล็กมากจนไม่อาจจัดตั้ง อบต ได้ คนมีน้อยเกินไป พันกว่าคนเท่านั้น แต่ ผลงานของตำบล "จิ๋ว" นี้ ช่าง "แจ๋ว" เสียนี่กระไร ล่าสุดนี้ ผลิตก๊าซชั้นหนึ่งจากการเผาถ่านไม้ไผ่ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ก๊าซที่ได้นี้บริสุทธิ์มาก มากกว่าเบนซีน แอลพีจี หรือ เอ็นจีวี เสียอีก ซึ่งพลังงานจากก๊าซสังเคราะห์นี้นำมาใช้ปั่นไฟ ใช้สูบน้ำ และใช้ขับเคลื่อนรถนานาชนิดได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญก๊าซนี้มีราคาถูกกว่าน้ำมัน ถูกกว่าก๊าซธรรมชาติ และถูกกว่าพลังจากแสงแดดเสียอีก เห็นแล้วเกิดกำลังใจใหญ่หลวงครับ ไม่น่าเชื่อว่าวิสาหกิจบ้านๆ แห่งนี้จะทรงภูมิ ทรงประสิทธิภาพ และผลิตอะไรด้วยเทคโนโลยีที่ไฮเทคยิ่งกว่าบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งเสียอีก ทั่วประเทศควรมา "เรียนรู้จากผาปัง"ครับ

เถินเอง ที่จริงแล้ว น่าสนใจมาก แต่น่าฉงน กลับถูกคนมองข้ามไปเสมอ เถินเป็นอำเภอใหญ่ใต้สุดของลำปาง และ เป็นตอนใต้สุดของล้านนาด้วยสิครับ ณ ที่นี้เองที่อาณาจักรสุโขทัยมาต่อชนกับล้านนา ณ ที่นี้เองที่อยุธยาซึ่งครองสุโขทัยได้แล้วพยายามจะเอาชนะ เพื่อรุกคืบขึ้นเหนือไปผนวกล้านนาให้จงได้ ตอนใต้สุดของเถินจึงมีหอรบป้อมคูและเวียงพิเศษรับศึกที่ชื่อว่า "เวียงมอก" อันเป็นที่ตั้งของทัพเสริมจากลำปางหรือจากเชียงใหม่-ลำพูน มาตั้งมั่น คอยรับศึกจากอยุธยา และ บ่อยครั้ง ยังรับศึกจากพม่า ซึ่งจ้องจะเข้ายึดเถินให้ได้เช่นกันก่อน แล้วจากนั้นจึงจะยาตราทัพขึ้นเหนือตีเชียงใหม่ หรือลงใต้เพื่อตียึดอยุธยา หรือกรุงเทพฯ ต่อไป

ความที่เถินไม่แต่จะขึ้นไปถึงลำปางได้เท่านั้น หากยังเชื่อมต่อเข้ากับลำพูน-เชียงใหม่ได้สะดวก สมเด็จพระนเรศหรือพระนเรศวร เมื่อครั้งยาตราทัพไปตีอังวะ จึงยกพลเรือนแสนจากอยุธยาแล้วตัดสินพระทัยพักทัพที่เมืองเถินนี้นานทีเดียว ก่อนจะทรงยาตราทัพขึ้นไปลี้-ลำพูนและเชียงใหม่-เวียงแหง และเสด็จสวรรคตกระทันหันที่เมืองเวียงแหง จำต้องอัญเชิญพระบรมศพลงมาเพื่อนำไปถวายพระเพลิงที่กรุงศรีอยุธยา จากตำนานหลายฉบับของเมืองเถินและของเมืองใกล้เคียง เล่าว่าขบวนพระบรมศพได้หยุดพักที่เมืองเถิน เมืองใต้สุดของอาณาจักรล้านนานี่เอง ก่อนจะเคลื่อนต่อไปยังศรีสัชนาลัยและพิษณุโลกและอยุธยาเป็นที่สุด

เมืองเถินในทุกวันนี้ก็ยังเป็นเมืองแรกของล้านนาที่นักเดินทางรถยนตร์จากสุโขทัยและภาคกลางจำต้องผ่านก่อนจะไปสิ้นสุดเส้นทางท่องเที่ยวล้านนาที่ "ราชธานี"เดิม คือเชียงใหม่ หรือเป็นเมืองสุดท้ายที่นักท่องเที่ยวทางรถจะโบกมืออำลากลุ่มจังหวัดล้านนา เถินนั้นมีทำเลที่ตั้งเป็นเลิศ ติดกับลำพูน ติดกับแพร่ และนับว่าติดกับตากก็ได้ (เพียงมีอำเภอแม่พริก แยกออกจากเถิน เล็กๆ คั่นไว้นิดหน่อย) และที่น่าสนใจกว่านั้น ยังติดกับสุโขทัยด้วย

ประเด็นหลังสุดนี้ ขอพิจารณาเพิ่มเติมนะครับ คือคนไทยมักจะมองสุโขทัยจากประวัติศาสตร์อยุธยา หรือ มองจากประวัติศาสตร์ไทยฉบับทางการ ซึ่งจะมองว่าเมืองนี้เป็นต้นกำเนิดแห่งความเป็นไทย ราชธานีแห่งแรกของสยาม แม้ต่อมาจะพ่ายแพ้ต่ออยุธยา แต่ก็เป็นต้นธารแห่งอารยธรรมของอยุธยา สุโขทัยนั้น คนไทยเชื่อกันว่าเป็นต้นแบบไทยอยุธยาไทยกรุงเทพฯ แต่ถ้าพิจารณาภูมิศาสตร์ให้ดี จะน่าสงสัยมากครับในข้อสรุปข้างต้น อย่าลืมว่า สุโขทัยนั้น ใกล้ชิดกับล้านนามากกว่าภาคกลางมาก ประการแรกสุโขทัยอยู่ชิดติดกับเมืองเถิน เมืองใต้สุดของล้านนา ประการที่สอง สุโขทัยติดกับแพร่ด้วย แน่นอนนี่ก็เป็นเมืองสำคัญอีกเมืองหนึ่งของล้านนา ประการที่สาม สุโขทัยติดกับอุตรดิตถ์ ซึ่งประชากรส่วนหนึ่ง จำนวนมากเสียด้วย ครับ พูดภาษาไท ยวน หรือ ภาษาล้านนา ที่ทุกวันนี้เรียกกันว่า "คำเมือง" มาแต่โบราณกาล โปรดสังเกตครับ ในบรรดาเมืองใหญ่ที่อยู่ติดชิดใกล้กับสุโขทัยนั้น มี พิษณุโลก เพียงเมืองเดียวที่ไม่ใช่เมืองล้านนา

กลับมาคิดอีก ลองนึกถึงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์หน้าศาลากลางหลังเก่าของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งชี้ว่า ณ กาลครั้งหนึ่ง พ่อขุนรามแห่งสุโขทัย พญามังรายแห่งเชียงใหม่ และพญางำเมืองแห่งพะเยา ทรงมาช่วยกันคิดว่าจะสร้าง "เชียงใหม่" ของพญามังราย ณ ที่ใดดี จะเห็นว่าพ่อขุนรามทรงงานฉันญาติฉันสหายสนิทกับใคร องค์ใดหรือผู้ใด คำตอบคือประทับทรงงานอยู่กับกษัตริย์จากดินแดนที่ต่อมาเรียกล้านนา "ไท ยวน " ทั้งสองพระองค์ ภาพที่ได้คือพ่อขุนรามคำแหงนั้นมิได้ทรงใกล้ชิดกับกษัตริย์จากภาคกลางหรือกับไทใหญ่ที่อยู่ห่างไปอีกหน่อยทางทิศตะวันตก ถ้าถามว่ากษัตริย์สามพระองค์นั้นทรงสนทนากันด้วยภาษาอะไร ? ขอเดาว่า น่าจะใช้ภาษาที่ใกล้เคียงกันมาก ฟังกันออกสบายๆ ไม่ใช่ค่อนข้างห่างกันแบบภาษาไทยล้านนากับไทยอยุธยาในทุกวันนี้แน่ๆ และถ้าฟังคนสุโขทัยทุกวันนี้พูดจากันด้วยสำเนียงดั้งเดิม ก็จะพบว่าไม่ใช่ภาษาไทยราชการหรือไทยอยุธยาหรือไทยกรุงเทพฯแน่ๆ "เหน่อ" คล้ายสุพรรณ คล้ายโคราชมากกว่า ผมเรียกเล่นๆว่า เป็นภาษา "สุพรรณบวกโคราชหารสอง"

ประเด็นสำคัญที่สุดในสายตาผมคือสุโขทัยนั้นใกล้ภาคเหนือตอนบนหรือล้านนามากกว่าที่เราคิดครับ ! ต้นตระกูลไทยกับล้านนานั้นใกล้กันเหลือเกิน มากกว่าที่เราคิดครับ อ ทุ่งเสลี่ยม ของสุโขทัยนั้นพูดภาษาเถินเลยครับ เพราะย้ายมาจากเถินนั่นเอง ในทางวัฒนธรรมนั้น ยากที่จะแยกเถิน แพร่ อุตรดิตถ์ ของล้านนา ออกจากสุโขทัยต้นธารของประวัติศาสตร์ไทย อ เถิน ดินแดนตอนท้ายสุดของล้านนานั้น ก็ช่างใกล้เคียงหรือช่างใกล้ชิดติดอยู่กับสุโขทัยมากกว่าที่เราคิด เมืองเถิน นี้ ย้ำอีกครั้ง เพื่อสรุปด้วย ยังเป็นดินแดนที่ตั้งของพระบรมศพอันศักดิ์สิทธิ์เกินจะพรรณาได้ของสมเด็จพระนเรศวร วีรมหาราช จากการสวรรคตในสงคราม ขณะเสด็จขึ้นไปกรำศึกครั้งใหญ่ในฐานะฝ่ายรุกต่อพม่า
กำลังโหลดความคิดเห็น