กองทัพเรือนัดชี้แจงซื้อเรือดำน้ำจีน ที่ รล.จักรีนฤเบศร์ วันนี้ “ภูมิธรรม” อัดรัฐซื้อเรือดำน้ำ ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจของประเทศ อ้างครม.ส่อผิดกฎหมาย ที่ก่องบฯผูกพันอนาคต เกินอำนาจหน้าที่ ที่กฎหมายกำหนด "พิชัย" เย้ย "บิ๊กตู่" เหมือนงมโข่งอยู่ในเรือดำน้ำ ตะแบงเศรษฐกิจไทยดี สวนทางสถาบันระดับโลก ติงคอยต่อว่าคนใส่ร้ายเศรษฐกิจ ไม่รับรู้ปัญหาจริง สถานการณ์จะยิ่งแย่ เหน็บคนที่เศรษฐกิจดีมีเงินเพิ่ม น่าจะเป็นพวกจัดซื้อ จัดจ้าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด(ผบ.สส.) พร้อมด้วย พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ(ผบ.ทร.) พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ได้เดินทางเยี่ยมชมการฝึกยุทธวิธีร่วมในทะเล และการฝึกปฏิบัติการร่วมระหว่างเรือ และอากาศยาน ระหว่างวันที่ 30 เม.ย.-2 พ.ค.นี้ ที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรื
โอกาสนี้ทางกองทัพเรือ โดยพล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร.ได้มอบหมายให้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ พร้อมด้วยพล.ร.ท.พัชระ พุ่มพิเชษฐ์ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการโครงการจัดซื้อจัดจ้างเรือดำน้ำ และพล.ร.ต.กฤษฏาภรณ์ พันธุมโพธิ ผู้อำนวยการ สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ชี้แจงโครงการจัดหาเรือดำน้ำ yuan class S26T จากประเทศจีน จำนวน 1 ลำ ตามวงเงินงบประมาณ 13,500 ล้านบาท และจะจัดซื้อให้ครบ 3 ลำ ตามวงเงินงบประมาณ 36,000 ล้านบาท ภายใน 10 ปี ในวันนี้ (1พ.ค.) เวลา 15.00 น. บนเรือหลวงจักรีนฤเบศร์
สำหรับรายละเอียดในการชี้แจงโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ จะชี้แจงตั้งแต่ความจำเป็นในการจัดซื้อ เพื่อดูแลความมั่นคงในสถานการณ์ และภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงผลประโยชน์ทางทะเล ที่มีมูลค่านับ 24 ล้านล้านบาท นอกจากนี้จะชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ทางทะเล ที่มีการถกเถียงในประเด็นความลึกของระดับน้ำทะเล 50 ม. และความลึกสุดประมาณ 85 ม. ที่สำคัญคือ ทำไมคัดเลือกเรือดำน้ำของจีน จาก 6 ประเทศที่เสนอราคามา คือ จีน เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส รัสเซีย สวีเดน และ เยอรมนี โดยเฉพาะความคุ้มค่ากับงบประมาณที่จ่ายในโครงการนี้
** เพื่อไทยซัดครม.ส่อทำผิดกม.
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง เรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ ที่มีกระแสการคัดค้านในวงกว้าง ว่า เป็นสิ่งที่รัฐบาลคสช. และกลุ่มผู้มีอำนาจในยุคปัจจุบัน ผลักดันให้เกิดขึ้น ท่ามกลางความรู้สึกของสังคมว่ามีเงื่อนงำ และมีพฤติกรรมพยายามปกปิดให้เป็น "ความลับ"
ทั้งนี้ ผู้มีอำนาจควรรับฟังเสียงที่วิพากษ์วิจารณ์ และควรนำไปทบทวนไตร่ตรองอย่างยิ่ง ถึงความเหมาะสมในการใช้งบประมาณ และทรัพยากรอันจำกัด ที่นำไปใช้จ่ายท่ามกลางสถานการณ์ที่สังคมโดยรวมกำลังรู้สึกว่า ประเทศกำลังประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และการทำมาหากินของประชาชนกำลังฝืดเคืองอย่างมาก เสียงสะท้อนที่ร้องคัดค้าน เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ซึ่งนับเป็นสัญญาณสำคัญที่บ่งชี้ว่า รัฐบาลกำลังเดินหลงทาง และมีความผิดพลาดในการบริหารทรัพยากรอันจำกัด ไม่รู้จักจัดลำดับก่อนหลังในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ ขาดการใส่ใจ และไม่ตระหนักถึงความเดือดร้อนที่ประชาชนกำลังเผชิญ
ที่สำคัญการคัดค้านนี้ มิใช่เป็นการคัดค้านที่เกิดขึ้นจากอคติทางการเมือง เพราะกลุ่มคนต่างๆ ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นล้วนเป็นเสียงที่มาจากหลากหลายภาคส่วน รวมทั้งมีผู้ที่เคยนิยม และสนับสนุนรัฐบาลมาก่อนหน้านี้รวมอยู่ด้วยเป็นจำนวนไม่น้อย ยิ่งมีปัญหาที่หลายคนรู้สึกเหมือนรัฐบาลมีท่วงทำนองพยายามปกปิดเป็นความลับ ขาดความชัดเจน และไม่โปร่งใสในเรื่องที่เกี่ยวกับรายละเอียดการใช้จ่ายของงบประมาณในครั้งนี้ ยิ่งทำให้กระแสการคัดค้านไม่เห็นด้วยแผ่กระจายไปอย่างกว้างขวาง
การจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ มีผลผูกพันต่อเนื่องกับงบประมาณของประเทศไปอีก 11 ปี จึงยิ่งมีคำถามดังๆ ถึงความเหมาะสม และที่สำคัญคือ เป็นการกระทำที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า การกระทำของคณะรัฐมนตรี เข้าข่ายการกระทำที่อาจผิดกฎหมาย เพราะก่องบประมาณผูกพันอนาคต เกินจากอำนาจหน้าที่ ที่กฎหมายกำหนด ข้ออ้างที่มีคนของรัฐบาลชี้แจงเพื่อปัดภาระว่า อนาคตหากไม่เห็นชอบ ก็อาจยกเลิกได้ ดูเหมือนเป็นเพียงความพยายามใช้วาทกรรมมาปัดให้พ้นตัว โดยทราบอยู่แก่ใจว่า การยกเลิกไม่อาจกระทำได้โดยง่าย ซึ่ง เนติบริกรเดิมๆ ของรัฐบาล คงมีภาระที่จะขวนขวาย หาช่องว่างของอภินิหารทางกฎหมาย มาหาทางออกให้รัฐบาลเช่นเดิม ดังนั้นควรอย่างยิ่งที่ คณะรัฐมนตรี จะนำเสียงทักท้วงที่กำลังเกิดขึ้น ไปทบทวนมติเรื่องนี้เสียใหม่ โดยคำนึงถึงประโยชน์ระยะยาว และการไม่สร้างปัญหา ภาระให้แก่ประเทศและประชาชน
"ในยามที่ทรัพยากรของประเทศมีจำกัด และปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนกำลังเผชิญมีอยู่มากมาย การจัดสรร และใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม และคำนึงถึงการไม่ก่อภาระในอนาคตให้ประชาชนถือเป็นความกล้าหาญที่เราอยากเห็นจากรัฐบาลชุดนี้" นายภูมิธรรม กล่าว
**ซัดนายกฯ เลิกบิดเบือนศก.ดี
ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ยังคงยืนยันว่า เศรษฐกิจดี และบอกว่าอย่าไปเชื่อคนใส่ร้ายรัฐบาลว่า เป็นการพูดที่ขัดแย้งกับความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ ที่ต่างก็รับรู้ได้ถึงความเดือดร้อนอย่างมากทางเศรษฐกิจ อีกทั้งการทำโพลสำรวจทุกครั้ง แม้พยายามเชียร์รัฐบาลในเรื่องอื่น แต่เรื่องเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลสอบตกมาตลอด โดยเฉพาะผลโพลล่าสุด ถือว่าแย่ที่สุด อีกทั้งเท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ เห็นว่าความเห็นของ เวิลด์แบงก์ ไอเอ็มเอฟ และ เอดีบี เป็นการใส่ร้ายรัฐบาลด้วย
"ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ยังคงปิดกั้นโลกทัศน์ เสมือนกำลังอยู่ในเรือดำน้ำใต้ทะเลลึก ไม่ฟังเสียงความเดือดร้อนประชาชน โดยจะเชื่อเฉพาะสิ่งที่อยากเชื่อ และอาจเชื่อข้อมูลจากรมช. พาณิชย์ ที่ว่า เรือดำน้ำจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นได้ รัฐบาลจะไม่สามารถแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนทางเศรษฐกิจได้ ภาวะเศรษฐกิจดีนั้น ไม่เหมือนเรือดำน้ำจีน ที่มีประสิทธิภาพสามารถโผล่ขึ้นมาผ่านครม.ได้" นายพิชัย ระบุ
นายพิชัย กล่าวอีกว่า รัฐบาลไม่ต้องให้ประชาชนทราบข้อมูลก็ได้ เพราะเศรษฐกิจเป็นอย่างไร คนส่วนใหญ่พิสูจน์ได้จากเงินในกระเป๋าตัวเอง ถ้าเงินในประเป๋าประชาชนมีเพิ่มขึ้น ก็คงไม่มีใครเชื่อคนใส่ร้ายได้ แต่นี่กลับตรงข้าม โดยปัจจุบันคนที่บอกว่าเศรษฐกิจดี ก็คือคนที่มีเงินในกระเป๋าเพิ่ม ซึ่งต้องถามว่าเพิ่มมาจากไหน เพิ่มจากการจัดซื้อจัดจ้าง ใช่หรือไม่ หรืออาจจะเป็นพวกนายทุนใหญ่ ที่ได้ประโยชน์และสนับสนุนรัฐบาลอยู่
ดังนั้น จึงรู้สึกเป็นห่วงอย่างมาก โดยอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เหมือนกับก้าวออกมาจากเรือดำน้ำ เพื่อฟังเสียงสะท้อนที่แท้จริงของประชาชน .