xs
xsm
sm
md
lg

โลกคือหอยนางรมของฉัน จะเปิดเมื่อไรก็ได้

เผยแพร่:   โดย: ภณิดา มิลเลอร์

วันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมาเป็น “วันเชกสเปียร์” (Shakespeare Day) หรือในอีกชื่อ วันเชกสเปียร์แห่งชาติ (National Shakespeare Day) เป็นวันที่ประเทศอังกฤษและทั่วโลกต่างรำลึกถึงความอัจฉริยะด้านวรรณกรรมของวิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) นักประพันธ์เอกของโลก และผู้อ่านโคลงกลอนแห่งเอวอน (Bard of Avon) วันที่ 23 เมษายนของทุกปี นอกจากจะเป็นวันเชกสเปียร์แล้ว ยังเป็น “วันหนังสือและลิขสิทธิ์สากล” (World Book and Copyright Day) ซึ่งองค์การยูเนสโก (UNESCO) องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศให้เป็นวันหนังสือและลิขสิทธิ์สากลเพื่อแสดงความเคารพ และความยกย่องต่อหนังสือหรืองานนิพนธ์ทุกชนิดและผู้ประพันธ์ และมีกฎหมายลิขสิทธิ์เพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ โดยเฉลิมฉลองครั้งแรกในวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1995 เหตุผลที่กำหนดให้เป็นวันที่ 23 เมษายนของทุกปี เพราะว่าเป็นวันเกิดและวันถึงแก่กรรมของนักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียงของโลกหลายท่าน เช่น วิลเลียม เชกสเปียร์ ถึงแก่กรรมวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1616, มิเกล เดอ เซอแฟนตีซ ซาอาเวดรา (Miguel de Cervantes Saavedra) ผู้ประพันธ์หนังสือดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน (Don Quixote) พิมพ์ครั้งแรกที่สเปนในปี ค.ศ. 1605 ถึงแก่กรรมวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1616 และโมรีส ดรูอง (Maurice Druon) นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส เกิดวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1918 ผู้ประพันธ์หนังสือติสตู นักปลูกต้นไม้ (Tistou les pouces verts) ‘ฉันคิดถูกแล้วที่เห็นว่าสงครามคือสิ่งน่าสะพรึงกลัว เพราะว่าฅนเราอาจจะสูญเสียประเทศไปเหมือนกับที่เราทำผ้าเช็ดหน้าหายยังงั้นแหละ’ ติสตูรำพึง (ติสตู นักปลูกต้นไม้, สำนักพิมพ์ผีเสื้อ, แปล: อำพรรณ โอตระกูล)

สำนวนภาษาอังกฤษที่นำมาจากบทประพันธ์ของเชกสเปียร์นั้นมีมากมาย เช่น จากบทประพันธ์The Merry Wives of Windsor เป็นสำนวนที่น่ารัก The world is my oyster. แปลว่า ฉันสามารถทำอะไรก็ได้ที่ฉันต้องการในโลกนี้ ที่มาของสำนวนนี้ จากองก์ที่ 2 ฉากที่ 2

เซอร์ ฟอลสตัฟฟ์ (Falstaff-เป็นอัศวิน):

ฉันจะไม่ให้ท่านยืมเงิน (I will not lend thee a penny.)

พิสตอล (Pistol – เป็นทหาร มีบุคลิกวางท่าใหญ่โต):

ทำไมล่ะ, ถ้าเป็นเช่นนั้น, โลกนี้เป็นหอยนางรมของฉัน ซึ่งฉันพร้อมกับดาบจะเปิดมัน (Why, then, the world’s mine oyster, which I with sword will open.)

เป็นอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบดาบกับความสามารถ ความเชื่อมั่นตนเอง สถานการณ์หรือความคิดเชิงบวกที่ส่งผลต่อจิตใจให้บังเกิดความกล้าหาญ หรือบางคนย่ามใจ เป็นได้ในหลายรูปแบบของแต่ละคน ทั้งนี้ทั้งนั้นความรู้สึกเป็นไปตามใจของเรากำหนด ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจของเรา เช่น การเปิดหอยนางรม ถ้าไม่มีมีดเพื่อจะเปิดออกมา อาจรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจแล้วว่าจะเปิดได้หรือไม่ อาจทำให้ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง บางคนร่ำรวยเงินทอง ทำให้เขาเชื่อมั่นว่าเขาสามารถซื้ออะไรก็ได้บนโลกนี้ บางคนเป็นโรคร้ายแต่เขามีความหวังเสมอและรู้จักปล่อยวางทำให้เขาไม่ท้อแท้และสามารถทำอะไรที่อยากจะทำ ซึ่งวิธีการคิดเชิงบวกนี้ส่งผลดีต่อสุขภาพกายและใจเรา จากหนังสือจิตตภาวนาทุกรูปแบบ, โดยพุทธทาสภิกขุ, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, “ความทุกข์ขึ้นอยู่กับจิต ความสุขก็ขึ้นอยู่กับจิต จึงกล่าวได้ว่าชีวิตขึ้นอยู่กับจิต เพราะฉะนั้นการจัดการอะไรลงไปที่จิตก็เท่ากับการจัดการกับสิ่งทั้งปวง”

หลักการนี้สอดคล้องต้องกันกับหลักการจิตวิทยาซึ่งเป็นศาสตร์หนึ่งของวิทยาศาสตร์อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ผลการวิจัยของศาสตราจารย์ทางจิตวิทยาคารอล เอส. ดเว็ค (Carol S. Dweck) แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกาเกิดทฤษฎีกรอบความคิด (Mindset Theory) โดยศาสตราจารย์ดเว็คและเพื่อนร่วมงาน ได้ทำการศึกษาทดลองกับนักศึกษาจำนวน 373 คนท่านพบว่า นักศึกษาที่มีกรอบความคิดจำกัด (Fixed Mindset) เชื่อว่าความสามารถพื้นฐาน เชาว์ปัญญา พรสวรรค์ ของพวกเขานั้น มีความแน่นอนเปลี่ยนแปลงไม่ได้ จุดมุ่งหมายของพวกเขาคือต้องการให้ถูกมองว่าเป็นคนโก้เก๋ ดูเฉลียวฉลาดมีการศึกษา ในกลุ่มนักศึกษาที่มีกรอบความคิดเติบโต (Growth Mindset) พวกเขามีความเข้าใจว่าพรสวรรค์และทักษะสามารถพัฒนาได้โดยใช้ความเพียรพยายาม การเรียนรู้และความอดทน ทุกคนไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันหรือเป็นเหมือนกัน ใครก็สามารถเป็นคนเก่งได้ถ้ามีความตั้งใจ จากหนังสือ Mindset: The New Psychology of Success ของศาสตราจารย์คารอล เอส. ดเว็ค ชื่อภาษาไทย “เปลี่ยน Mindset ชีวิตเปลี่ยน”, สำนักพิมพ์อี.ไอ.สแควร์, แปล:วิโรจน์ ประสิทธิ์วรนันท์, “...คนที่มีพรสวรรค์ไม่ได้วิเคราะห์ความบกพร่องของตัวเอง และได้รับการสอนหรือฝึกซ้อมเพื่อกำจัดให้หายไป ความคิดในเรื่องข้อบกพร่องเป็นเรื่องน่ากลัวอย่างยิ่ง จากอิทธิพลของกรอบความคิดจำกัด ติดกับดักพรสวรรค์อันยิ่งใหญ่ของตน...”

สุภาษิตไทย “สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” หมายถึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องใดเป็นอย่างมาก ก็อาจจะพลาดท่าหรือทำผิดพลาดได้ เพราะเราเป็นมนุษย์ แม้แต่เทวดายังผิดพลาดทำฝนตกไม่ตรงฤดูกาล.. ถึงกระนั้นก็ตาม ความผิดพลาดไม่ได้กำหนดบ่งบอกความเป็นตัวเรา แต่เป็นการเรียนรู้และการแก้ไขในความผิดพลาดนั้น คืออธิบายความเป็นตัวเรา ที่สำคัญนั้นคือ มองเห็นตัวเอง มองเห็นปัญหาและยอมรับ การมองเห็นปัญหาคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ลดอัตตาตนเอง เปิดหัวใจออกกว้าง เพราะว่าสิ่งที่เราเห็นหรือรับรู้จะไร้ประโยชน์ถ้าหัวใจเราปิดอยู่ และบอกกับตัวเองว่า ฉันสามารถทำอะไรก็ได้ที่ฉันต้องการ หอยนางรม 10 ตัว และน้ำจิ้มแซ่บต้องมา ฉันจะกินให้เรียบ

ข้อมูล: https://www.timeanddate.com/holidays/uk/shakespeare-day
http://www.un.org/en/events/bookday/
https://en.wikipedia.org/wiki/Carol_Dweck
กำลังโหลดความคิดเห็น