xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย(10): เรื่องที่ 10.4 คสช.กับการปรองดอง ตอนที่ 3 ตอบคำถามรมต.กลาโหม เรื่องปรองดองในประเด็นที่ 6 – 9

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

5. ข้อเสนอในการสร้างความสามัคคีปรองดองโดยการขจัดสาเหตุของความขัดแย้ง (ตอบคำถามในประเด็นที่ 6 - 9)

ตามที่ รมต.กลาโหมได้มีหนังสือเชิญพรรคการเมือง และกลุ่มต่างๆ ไปสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยในบทความตอนที่ 1 ผู้เขียนได้นำเสนอความคิดเห็นในประเด็นด้านการเมือง และด้านความเหลื่อมล้ำและการครอบครองที่ดินทำกินของเกษตรกร และต่อมาในบทความตอนที่ 2 ได้กล่าวถึงประเด็นด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม, ด้านสังคม เศรษฐกิจ การศึกษาและสาธารณสุข และด้านสื่อสารมวลชน

สำหรับในบทความตอนที่ 3 จะนำเสนอความคิดเห็นในประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ด้านการต่างประเทศ, ด้านการป้องกันทุจริตคอร์รัปชัน และด้านปฏิรูป ส่วนด้านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจเพราะเป็นเรื่องการวางแนวทางของประเทศในอนาคต โดยผู้เขียนจะขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในบทความตอนพิเศษเป็นการเฉพาะ (แยกเป็นอีกหนึ่งตอน) จึงหวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะแสดงความคิดเห็นของท่านมาเช่นเคยที่ udomdee@gmail.com

5.6 ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : ต้องยึดหลักผลประโยชน์สูงสุดของชาติ

(1) ต้องยึดหลักประเทศชาติต้องได้ผลประโยชน์สูงสุด โดยจัดสรรผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ของประเทศให้แก่องค์กรปกครองเจ้าของพื้นที่ และองค์กรบริหารส่วนกลางอย่างเหมาะสมและยุติธรรม (Profit Sharing System) โดยจะต้องจัดสรรผลประโยชน์ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเสียที่อาจเป็นอันตรายต่อประชาชน และเพื่อเป็นค่าปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในสภาพเหมาะสมที่จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ต่อไป

(2) ควรจัดตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่ในการควบคุมและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resource Management) ในแต่ละประเภทเพื่อให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด และจะต้องควบคุมปริมาณของเสียตกค้างไม่ให้มีปริมาณอยู่ในระดับที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และเป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิตของประชาชนซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง

(3) ควรจัดตั้งองค์กรกลางด้านการวิจัยผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่ประกอบด้วยบุคลากรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญมาทำหน้าที่ในการศึกษา ค้นคว้าวิจัย ประเมินผล ตรวจสอบผลกระทบที่จะได้รับจากการนำทรัพยากรธรรมชาติประเภทใดประเภทหนึ่งมาใช้ และค้นคว้าหาวิธีการกำจัดของเสียตกค้างที่มีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย โดยจะต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบจากการนำทรัพยากรดังกล่าวมาใช้ เสนอให้รัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร และสาธารณชนได้รับทราบเพื่อพิจารณาเปรียบเทียบผลประโยชน์ และผลเสียที่จะได้รับจากนำทรัพยากรนั้นมาใช้

(4) ในกรณีที่ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการนำทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนึ่งอย่างใดมาใช้ รัฐจะต้องให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวในทุกด้านอย่างเหมาะสม คุ้มค่า และเร่งด่วนที่สุด โดยจะต้องนำค่าเสียหาย(Damage Cost) และค่าเสียโอกาส(Opportunity Cost) ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบมาคำนวณด้วย

5.6 ด้านการต่างประเทศ: ผลประโยชน์ของชาติต้องมาก่อน และต้องไม่อยู่ใต้อิทธิพลใดๆ ทั้งสิ้น

ในด้านการต่างประเทศ ไทยต้องยึดความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติเหนือสิ่งอื่นใด ดำรงรักษาความเอกราชอธิปไตย จะต้องไม่ยอมอยู่ใต้อิทธิพลของประเทศหรือกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น โดยยึดหลักตนเป็นที่พึ่งแห่งตนให้ได้ จึงขอเสนอให้ดำเนินการดังนี้

(1) ควรส่งผู้อพยพ และผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายที่ไม่ใช่ชาวลาวและชาวเขมร กลับประเทศต้นทางหรือประเทศที่ผู้อพยพพักอาศัยก่อนที่จะหลบหนีเข้ามาอยู่ในดินแดนของไทย เช่น ชาวอินเดียที่หลบหนีเข้ามาอยู่บริเวณย่านพาหุรัด ย่านราชพฤกษ์ และบางส่วนเร่ขายถั่วและออกเงินกู้นอกระบบในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัด, ชาวบังกลาเทศที่เข้ามาเร่ขายโรตีตามที่ต่างๆ, ชาวปากีสถาน, ชาวศรีลังกา, ชาวแอฟริกันที่เข้าอยู่บริเวณซอยนานา ถ.สุขุมวิท และถนนสุริยวงศ์ และในพื้นอื่นๆ ของกรุงเทพฯ, และชาวยุโรปในพัทยา ภูเก็ต และในภาคอีสาน

(2) ควรให้ความสำคัญแรงงานจากชาวลาวเป็นลำดับแรก และชาวกัมพูชาเป็นลำดับที่สองก่อนแรงงานจากประเทศอื่นๆ เพราะชาวลาวพูดภาษา นับถือศาสนา และมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับคนไทยส่วนใหญ่ โดยนำแรงงานชาวลาวมาให้การศึกษาและพัฒนาเพื่อนำไปใช้ตามลักษณะงานที่เหมาะสมต่อไป ควรลดการใช้แรงงานชาวพม่าและชาวเวียดนามให้เหลือน้อยที่สุด และควรยุติการใช้แรงงานชาวปากีสถาน ชาวอินเดีย ชาวรัสเซีย และชาวยุโรปตะวันออกอย่างสิ้นเชิง

(3) ควรจัดสร้างกำแพงเมือง (The Great Wall of Thailand) กั้นตลอดแนวพรมแดนไทยมาเลเซียโดยเร็วที่สุด (ดูภาพที่ 7) การจัดระเบียบชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซียถือเป็นความเร่งด่วนสูงสุดเพื่อป้องกันอาชญากรรม และการก่อการร้ายข้ามชาติ และเพื่อทำลายกลุ่มหรือขบวนการค้าสินค้าหนีภาษี หรือค้ายาเสพติด หรือสิ่งที่ผิดกฎหมายทุกประเภทให้หมดสิ้นไปโดยเร็ว

ภาพที่ 7 การสร้างกำแพงระหว่างชายแดนไทย-มาเลเซีย*

*แผนที่แสดงจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางอำเภอของจังหวัดสงขลา (ข้อมูลภาพจาก Wikipedia ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย) เส้นประสีแดงคือ แนวสร้างกำแพงระหว่างชายแดนไทย-มาเลเซีย

(4) ควรให้องค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรทางศาสนา และองค์กรต่างๆ ที่อยู่ในประเทศไทยทุกองค์กร ขึ้นทะเบียน(จดทะเบียน)กับหน่วยงานของกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงความมั่นคงภายใน (ถ้ามีการจัดตั้งขึ้นใหม่) เพื่อขออนุญาตดำเนินการในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ถ้ามีองค์กรใดที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ ก็ไม่ควรอนุญาตให้ดำเนินการต่อไป

(5) ควรกำหนดให้จังหวัดบางจังหวัดเป็น International City ซึ่งคนไทยสามารถพูดได้ทั้งสองภาษา (ภาษาไทยกับอังกฤษ) และชาวต่างชาติสามารถเข้ามาพักอาศัยได้ โดยอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในคอนโดมิเนียมได้ แต่ห้ามชาวต่างชาติที่เป็นบุคคลธรรมดา (แม้จะแต่งงานกับคนไทยก็ตาม) หรือเป็นนิติบุคคลใดๆ ถือกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินในทุกพื้นที่ของประเทศไทยอย่างเด็ดขาด

5.7 ด้านการป้องกันทุจริตคอร์รัปชัน: ต้องขจัดการคอร์รัปชันให้หมดไปอย่างเด็ดขาด

การทุจริตคอร์รัปชันเปรียบเสมือนเชื้อโรคร้ายที่บ่อนทำลายชาติ และทำร้ายคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศในทางอ้อม จึงควรถือว่า การคอร์รัปชันเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่ไม่ควรมีการลดหย่อนผ่อนโทษ และควรได้รับโทษสถานหนัก เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง จึงขอเสนอให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาดดังนี้

(1) ควรกำหนดโทษในคดีทุจริตคอร์รัปชันในขั้นสูงสุดคือ ประหารชีวิต นอกจากนี้คดีทุจริตคอร์รัปชันจะต้องไม่หมดอายุความ และไม่มีการลดหย่อนผ่อนโทษใดๆ ทั้งสิ้น ที่สำคัญคือ ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะหนีไปอยู่ที่ส่วนใดของโลก หน่วยงานปราบปรามการทุจริตก็จะต้องติดตามไปนำตัวกลับมาดำเนินคดีและรับโทษในประเทศไทยให้จงได้ การดำเนินการเช่นนี้จะทำให้ไม่มีใครกล้าที่จะกระทำการทุจริตแล้วหนีอีก เพราะกลัวว่าจะต้องถูกส่งตัวกลับมารับโทษ

(2) ในกรณีที่พิจารณาแล้วว่าได้กระทำการทุจริตจริง จะต้องมีการยึดทรัพย์ โดยไม่เพียงจะยึดทรัพย์ของผู้กระทำผิดเท่านั้น แต่ยังจะต้องยึดทรัพย์ของบุตร ภรรยา พี่น้อง และบุคคลที่เกี่ยวข้องมาทำการสอบสวนอีกด้วย และถ้าปรากฏผลว่า บุคคลใดได้ร่วมมือกับผู้กระทำผิด บุคคลนั้นก็จะต้องได้รับโทษตามความผิดนั้นด้วย

(3) นอกจากนี้ภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ จัดหลักสูตรปลูกฝังอบรมคนไทยทุกคนตั้งแต่วัยเรียนและวัยทำงานให้ยึดมั่นอุดมการณ์ที่จะกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง โดยจะต้องสร้างความรู้สึกรังเกียจการทุจริตคอร์รัปชันฝังเข้าไปในใจ พร้อมๆ กับบ่มเพาะให้มีความกล้าที่จะต่อต้านขัดขวางการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบและในทุกโอกาส

(4) ควรเปิดช่องทางต่างๆ ให้มีการแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลการทุจริตคอร์รัปชันได้ตลอดเวลา เช่น เปิดเว็บไซต์, ตู้ป.ณ.ต่างๆ และการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น

(5) ควรตรวจสอบ และแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รีดไถ เรียกรับเงินใต้โต๊ะ เรียกส่วย หรือกระทำการด้วยวิธีการใดๆ ที่นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน เงินทอง ของมีค่า หรือการตอบแทนใดๆ ที่ไม่ใช่เป็นตัวเงิน เพื่อผลประโยชน์ของตนหรือของกลุ่มตน และกำหนดบทลงโทษสถานหนักถึงขั้นประหารชีวิตสำหรับเจ้าหน้าที่ที่กระทำการทุจริตหรือประพฤติผิดต่างๆดังกล่าว

5.8 ด้านการปฏิรูป

การปฏิรูปเป็นเรื่องที่สำคัญที่ประเทศไทยควรดำเนินการอย่างจริงจัง และต่อเนื่องยาวนาน แต่ในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ไทยก็ยังไม่ได้ดำเนินการปฏิรูปประเทศ (Thailand Reforms) อย่างเป็นจริงเป็นจัง จนทำให้เกิดความเสียหายต่างๆ เช่น มีการคอร์รัปชันอย่างมากมาย, เกิดปัญหาอาชญากรรมร้ายแรงเป็นจำนวนมาก เช่น การค้าและแพร่ขยายของยาเสพติด, การค้ามนุษย์ และการกระทำผิดทางเพศต่อเด็กและเยาวชน เป็นต้น และความบกพร่องของระบบการเมืองการปกครอง และระบบบริหารราชการ ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่ใช้ความรุนแรง (Violent Conflict) จนทำให้ประเทศเกิดความเสียหายต่างๆ เป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงขอเสนอให้ดำเนินการปฏิรูประบบการเมือง ระบบการปกครอง และระบบบริหารราชการ ดังนี้

(1) การปฏิรูประบบการเมือง

ได้กล่าวไปบ้างแล้วในข้อ I แต่ยังมีข้อเสนอบางประการที่ควรนำมาพิจารณาคือ

I. พรรคการเมือง

ภายใน 5 ปีควรห้ามเอกชนจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นเองอย่างเด็ดขาด และควรรับโอนพรรคการเมืองเอกชนที่มีสมาชิกสภาตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปมาเป็นพรรคการเมืองภายใต้การสนับสนุนของรัฐทั้งหมด เมื่อพรรคการเมืองต่างๆ เป็นของรัฐแล้ว ให้ควบรวมพรรคการเมืองทั้งหมดให้เหลืออยู่ไม่เกิน 8 พรรค และควรออกกฎหมายจัดตั้งพรรคการเมืองทั้ง 8 พรรคให้อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน โดยให้ทุกพรรคมีสถานะเป็นนิติบุคคลทุกพรรค ส่วนหลักเกณฑ์ รายละเอียดแต่ละพรรคอาจไปพิจารณาออกกันได้ในภายหลัง แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายต่างๆ

II. ระบบรัฐสภา ควรให้มี 2 สภา คือ

วุฒิสภา ให้มีจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด โดยการคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิในกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ ในแต่ละสาขาโดยประชาชนในแต่ละสาขาอาชีพจะลงคะแนนคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาของตนจำนวนหนึ่ง และพระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชดุลยพินิจคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิให้ได้จำนวนตามกำหนดของวุฒิสภาอีกครั้งหนึ่ง

คุณสมบัติที่สำคัญคือ ผู้สมัครวุฒิสมาชิกและพ่อแม่พี่น้องในครอบครัวเดียวกันจะต้องไม่สังกัดพรรคการเมืองใดๆ จบการศึกษาภาคบังคับ และควรมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี

สภาผู้แทนราษฎร ให้มาจากการเลือกตั้งตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด โดยการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่สังกัด ต้องจบการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี (ต้องมีใบรับรองมาตรฐานด้วย) มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และมีประสบการณ์ในการทำงานมาไม่น้อยกว่า 4 ปี

(2) การปฏิรูประบบการปกครอง มีข้อเสนอดังนี้

I. ควรยุบองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ทั้งหมด และควรใช้รูปแบบการบริหารในรูปจังหวัดที่มีอยู่แล้วจะเหมาะสมกว่า และยังเป็นการประหยัดงบประมาณอีกด้วย โดยรูปแบบการปกครองควรแบ่งออกเป็น 3 ระดับ (ดูภาพที่ 8) คือ ระดับชาติคือ ส่วนกลาง ซึ่งมีกระทรวง กรมต่างๆ, ระดับภูมิภาคซึ่งได้แก่ องค์กรบริหารกลุ่มจังหวัด (Provincial Cluster Organization) ดูภาพที่ 9 และระดับท้องถิ่น คือ จังหวัด และเทศบาล ถ้าพื้นที่ใดยังไม่พร้อมที่จะเป็นเทศบาล ก็ให้เป็นหน้าที่ของอำเภอที่จะดูแลและรับผิดชอบ

ภาพที่ 8 การปฏิรูประบบการปกครอง

ภาพที่ 9 องค์กรบริหารกลุ่มจังหวัด

คำชี้แจงเพิ่มเติม

ในภาพที่ 8 การปกครองระดับภูมิภาคจะเป็นรูปแบบกลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกันและอยู่ใกล้เคียงรวมกันเป็นกลุ่มจังหวัด โดยมีองค์กรบริหารกลุ่มจังหวัดบังคับบัญชา กำกับดูแล ส่วนการปกครองระดับท้องถิ่นให้มี 2 รูปแบบคือ จังหวัดกับเทศบาลเท่านั้น

สำหรับในภาพที่ 9 ในแต่ละกลุ่มจังหวัดจะมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการองค์กรบริหารกลุ่มจังหวัด โดยมีเลขาธิการเป็นหัวหน้า สำนักงานองค์กรบริหารกลุ่มจังหวัด ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (7)

I. ควรยกฐานะองค์การบริหารส่วนตำบล หรือควบรวมองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเทศบาลทั้งหมดทั่วประเทศ

II. ควรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นการบังคับบัญชาโดยตรงกับนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ดูภาพที่ 9 และคำชี้แจงใต้รูปประกอบ

III. สำหรับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดในอนาคต ควรจัดสอบพื้นฐานความรู้ และคัดเลือกจากข้าราชการในทุกส่วนราชการ เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องเป็นนักบริหารที่มีความรอบรู้ในหลายๆ ด้าน และต้องเป็นคนเก่งจริงๆ ต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี ไม่ใช่รู้แต่กฎหมายและรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่ไม่รู้เรื่องธุรกิจการค้า การก่อสร้าง การต่างประเทศ การรักษาความมั่นคง หรือเรื่องอื่นๆ เลย เพราะโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากจึงจำเป็นต้องได้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีความรู้มีความสามารถจริงๆ ไม่ใช่บุคคลที่บริหารงานด้วยปากหรือเขียนเก่งเท่านั้น แต่ต้องมีวิสัยทัศน์ มีความรู้ และทำงานเป็นด้วย

(3) การปฏิรูประบบราชการ: ควรจัดตั้งองค์กรใหม่เพื่อให้รับผิดชอบภารกิจที่เปลี่ยนไป

I. ควรจัดตั้งกระทรวงรักษาความมั่นคงภายใน

ควรให้มีฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งรับโอนบุคลากรบางส่วนจากพล.รบพิเศษ, กองพันทหารสารวัตร, และกองบัญชาตำรวจตระเวนชายแดนทั้งหมด ฝ่ายสืบสวนสอบสวนให้รับโอนกรมสอบสวนคดีพิเศษ, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐหรือ ป.ป.ท., สำนักงานปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ ฝ่ายการข่าวให้รับโอนตำรวจสันติบาลทั้งหมด และบุคลากรบางส่วนจากศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติตามจำนวนที่ต้องการ ฝ่ายต่างประเทศให้รับโอนจากกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีการสื่อสารให้รับโอนบุคลากรจากกระทรวงเทคโนโลยีฯ และจากมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน เป็นต้น

ควรให้กระทรวงนี้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และรับผิดชอบในการดำเนินคดีการเมืองทั้งหมด คดีที่เกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของข้าราชการและข้าราชการการเมือง คดีผู้หลบหนีเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย คดีที่เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว แรงงานหญิงและเด็ก และการค้ามนุษย์ คดีที่เกี่ยวกับการก่อการร้าย หรือการบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ คดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงบริเวณชายแดน คดีเกี่ยวกับยาเสพติดทุกประเภท และคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการสื่อสารทั้งหมด สำหรับตำรวจ (สำนักงานตำรวจฯ) ควรมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในคดีอาชญากรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นภายในประเทศนอกเหนือจากคดีต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น

II. ควรจัดตั้งกระทรวงกรุงเทพมหานคร และยุบเลิกกรุงเทพมหานครเดิม

ควรยุบเลิกการปกครองท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร โดยรับโอนข้าราชการกรุงเทพมหานครเดิมทั้งหมด กองบัญชาการตำรวจนครบาลทั้งหมด และกองบังคับการตำรวจจราจรกรุงเทพมหานคร มาจัดตั้งเป็นกระทรวงกรุงเทพมหานคร

III. ควรปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

โดยให้โอนย้ายไปสังกัดกระทรวงยุติธรรมและให้ทำหน้าที่ด้านบุคลากร การวางแผนและการอำนวยการ การศึกษาวิจัย และการสนับสนุนด้านต่างๆ แก่ตำรวจในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น นอกจากจะให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบัญชาการตำรวจจราจรโอนย้ายไปสังกัดกระทรวงกรุงเทพมหานครแล้ว ควรให้ตำรวจในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นไปขึ้นการบังคับบัญชากับผู้ว่าราชการจังหวัด และให้โอนย้ายกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบคดีต่างๆ ซึ่งเป็นคดีที่มีอิทธิพลต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร

ความคิดเห็นของผู้เขียน

จากการศึกษาการบริหารงานของรัฐบาลไทยที่ผ่านมาหลายสิบปี จนถึงปัจจุบัน(2560) อาจสรุปได้ว่า ยังไม่มีรัฐบาลใดที่ดำเนินการปฏิรูปประเทศไทยอย่างจริงจัง แม้แต่รัฐบาลเดียว

5.10 ด้านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

เนื่องจากประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นเรื่องที่บุคลากรทางการเมืองส่วนใหญ่ให้ความสนใจเพราะมีผลต่อการบริหารประเทศหลังจากการเลือกตั้งในระยะยาว ดังนั้นผู้เขียนจึงจะขอนำเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไปกล่าวในบทความตอนใหม่เป็นการเฉพาะต่อไป

6. หลักการสำคัญที่ต้องพิจารณาในการกำหนดแนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดองของประเทศไทย

การจะกำหนดมาตรการใดๆ เพื่อสร้างความปรองดอง ควรจะต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ดังนี้

6.1 ต้องยึดหลักความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด(National Security and National Interests must come first.) คือ การดำรงอยู่ของประเทศชาติต้องมาก่อน

6.2 ต้องยึดมั่นและรักษาเอกลักษณ์ของชาติไทย: การกำหนดแนวทางใดๆจะต้องคำนึงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีของไทย

6.3 ต้องยึดหลักความเสมอภาค เท่าเทียมกัน และความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้

6.4 ต้องมีความเป็นอิสระ และไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลหรือการชี้นำของกลุ่มหรือองค์กรใดๆ ทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ

6.5 ต้องยึดถือหลักความถูกต้อง และความยุติธรรม ไม่ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

6.6 ต้องยึดหลักความมีเมตตาต่อกันในฐานะพี่น้องคนไทย แต่ต้องไม่เป็นการกระทำผิดศีลธรรม และต้องไม่เป็นการกระทำผิดกฎหมายโดยเจตนา

6.7 การให้ความช่วยเหลือหรือเยียวยาบุคคลใดๆ ต้องเป็นไปด้วยความเหมาะสม ยุติธรรมต่อสังคม และเท่าเทียมเสมอกันทุกคน และบุคคลที่ได้รับการช่วยเหลือหรือเยียวยานั้นจะต้องเป็นผู้เสียหายที่ถูกกระทำจากบุคคลอื่นด้วยสาเหตุทางการเมืองในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น

6.8 คดีอาญาที่ควรได้รับการลงโทษตามกฎหมายโดยไม่มีการลดหย่อนโทษ เพราะไม่ได้มาจากสาเหตุทางการเมือง แต่ได้อาศัยสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ตัวอย่างเช่น

(1) คดีที่เกี่ยวกับการเผา วางเพลิง ทุบ ทำลาย อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ

(2) คดีทุบ ทำลายวัสดุ อุปกรณ์สำนักงาน อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ เช่น ตู้เก็บเอกสาร คอมพิวเตอร์ และตู้เอทีเอ็ม เป็นต้น

(3) คดีลักขโมยต่างๆ ที่เกิดจากการทุบทำลายอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ

(4) คดีอาญาต่างๆ ที่ฉวยโอกาสก่อเหตุในขณะที่เกิดเหตุความวุ่นวายทางการเมือง

(5) คดีทำร้ายประชาชนคนไทย และเจ้าหน้าที่ทางราชการในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง เป็นต้น

7. สรุปสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งในต่างประเทศ และในประเทศไทย

ได้มีผู้อ่านถามมาว่า ข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปทั้งในตอนที่ 1 และตอนที่ 2 ดูจะมุ่งไปในเรื่องการปฏิรูปประทศ (Thailand Reforms) มากกว่าการสร้างความสามัคคีปรองดองใช่หรือไม่ ผู้เขียนขอตอบว่า ถูกต้องตามที่ท่านผู้อ่านได้ตั้งข้อสงสัยมาส่วนหนึ่ง แต่ในอีกส่วนหนึ่งผู้เขียนเชื่อว่า แม้มนุษย์จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งตั้งแต่ระดับที่ไม่ใช้ความรุนแรงไปจนถึงระดับที่ใช้ความรุนแรงหรือใช้อาวุธต่อสู้กัน (Armed Conflict) ก็ตาม แต่ถ้าสามารถจัดวางระบบต่างๆ ของประเทศได้อย่างเหมาะสม และเป็นไปอย่างยุติธรรมต่อสมาชิกส่วนใหญ่ในสังคมแล้ว โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งที่มีสาเหตุมาจากบุคคล หรือกลุ่มบุคคลก็จะลดความรุนแรงลงได้

ที่กล่าวมาข้างต้นหมายความว่า ถ้าระบบต่างๆ ของประเทศ (เช่น ระบบการเมืองการปกครอง ระบบการบริหารราชการ ระบบสวัสดิการ และระบบยุติธรรม เป็นต้น) มีความเหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม, สมเหตุผล, มีประสิทธิภาพ และมีความยุติธรรมแล้ว สมาชิกส่วนใหญ่ก็จะปฏิบัติตามกฎหรือระเบียบที่กำหนดขึ้นในสังคม โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งต่างๆ ก็จะลดลงตามไปด้วย

ในทางตรงกันข้ามถ้าระบบต่างๆ ของประเทศไม่มีความเหมาะสม ขาดประสิทธิภาพ และไม่มีความยุติธรรมแล้ว สมาชิกส่วนใหญ่ของสังคมก็ย่อมจะไม่พอใจ และไม่ต้องการที่จะปฏิบัติตามกฎหรือระเบียบหรือนโยบายสาธารณะที่กำหนดขึ้นโดยฝ่ายบริหาร จนในที่สุดประชาชนอาจออกมาต่อต้านและจับอาวุธขึ้นต่อสู้เพื่อล้มล้างฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายรัฐที่ขัดแย้งกับฝ่ายของตนให้ได้นั่นเอง ดังเช่น กรณีความขัดแย้งที่ใช้อาวุธในไอร์แลนด์เหนือในช่วงปี 1968 - 1998, กรณีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเวเนซุเอลา และกรณีความขัดแย้งในซีเรีย ในขณะนี้ (เม.ย. 2017) เป็นต้น

ตัวอย่างแรกคือ กรณีความขัดแย้งที่มีการต่อสู้และใช้อาวุธที่ยาวนานกว่า 30 ปี (ค.ศ.1968 - 1998) ระหว่างอังกฤษและชาวไอร์แลนด์เหนือที่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโปรเตสแตนต์กับชาวไอริชชาตินิยมที่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก ในไอร์แลนด์เหนือ (ดูภาพที่ 10) ซึ่งความขัดแย้งของชาวไอริชดังกล่าวมีสาเหตุมาจากความเชื่อและการนับถือศาสนาคริสต์ที่นิกายแตกต่างกันระหว่างโปรเตสแตนต์ และคาทอริก และได้ขยายตัวกลายเป็นความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธเข้าสู้รบกันเพราะรัฐบาลอังกฤษโน้มเอียงเข้าข้างและให้การสนับสนุนกลุ่มชาวไอริชที่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโปรเตสแตนต์นั่นเอง

ภาพที่ 10 การเดินขบวนประท้วงของชาวไอริช นิกายคาทอลิก

*http://northernirelandperiodfourteamsix.weebly.com/ ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

ตัวอย่างต่อมาเป็นเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ (เม.ย. 2017) ที่ประเทศเวเนซุเอลา โดยกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ (จากความล้มเหลวของนโยบายของรัฐบาล) ซึ่งต้องการที่จะกดดันให้รัฐบาลสังคมนิยม ของประธานาธิบดี Nicolas Maduro ลาออกไป ดูภาพที่ 11

ภาพที่ 11 กลุ่มประชาชนประท้วงขับไล่รัฐบาลเวเนซุเอลา*

*http://todayvenezuela.com/2017/04/20/clashes-erupt-at-anti-government-protests-in-venezuela/ ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

สำหรับกรณีความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ (Armed Conflict) ในซีเรียนั้น มีสาเหตุสำคัญมาจากการที่รัฐบาลโอบามาของสหรัฐอเมริกา และบางประเทศในยุโรปเข้ามาแทรกแซงโดยให้การสนับสนุนกลุ่มต่อต้านให้ใช้อาวุธต่อสู้เพื่อโค่นล้มประธานาธิบดี Assad ของซีเรียจนทำให้เกิดสงครามกลางเมืองมานานหลายปี(ดูรูปที่ 12) ไพราะ Assad ยังได้รับการสนับสนุนทางทหารและด้านอื่นๆจากรัสเซียอย่างเต็มที่ จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องต่อสู้กันจนตายไปข้างหนึ่ง

ภาพที่ 12 การแทรกแซงซีเรียโดยอดีตรัฐบาลโอบามาของสหรัฐอเมริกา*

*ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความ แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (9)

ในภาพที่ 12 กลุ่ม al-Nusra Front ยังมีความเกี่ยวพันกับกลุ่มก่อการร้าย ISIS จึงเท่ากับว่า การกระทำของรัฐบาลโอบามาที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาล Assad ของซีเรียให้ได้ กลับเป็นการสนับสนุนกลุ่ม ISIS ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นโดยทางอ้อมผ่าน กลุ่ม al-Nusra Front ต้องขอกล่าวตรงๆ ว่า ต้นเหตุของการสู้รบจนมีการล้มตาย เกิดความเสียหาย และการอพยพของชาวซีเรีย เป็นผลจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดและคิดสั้นของรัฐบาลโอบามา (เลวมากจริงๆ-ผู้เขียน)

ผลกระทบจากความขัดแย้งในซีเรียได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสังคมโลกหลายประการคือ

ประการแรก มีผลทำให้กลุ่มก่อการร้าย ISIS (ซึ่งรู้จักกันในชื่อ The Islamic State of Iraq and Syria หรือ Islamic State) มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น เพราะกำลังทหารของรัฐบาล Assad จะต้องคอยต่อสู้กับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา จึงไม่มีโอกาสที่จะใช้กำลังไปปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย ISIS ที่อยู่ในพื้นที่ของซีเรียเอง กลุ่ม ISIS จึงมีเสรีในการปฏิบัติอย่างเต็มที่

ประการที่สำคัญต่อมาคือ การสู้รบในซีเรียได้ก่อให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ เพราะประชาชนชาวซีเรียส่วนใหญ่ต้องการหลบหนีออกนอกประเทศจนกลายเป็นคลื่นผู้อพยพชาวซีเรียจำนวนมากเข้าไปตั้งรกรากในประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และรวมทั้งในเอเชียด้วย ดูภาพที่ 13

ภาพที่ 13 ผู้อพยพชาวซีเรียจำนวนมากหลบหนีการสู้รบออกจากซีเรีย*

*Photo: United Nations High Commissioner for Refugees ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

ประการที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลซีเรียให้ต่อสู้เพื่อล้มล้างรัฐบาล Assad โดยรัฐบาลโอบามานั้น แม้จะเป็นการยืมดาบฆ่าคน คือ รัฐบาลโอบามายืมมือของกลุ่มต่อต้านเพื่อทำลายประธานาธิบดี Assad ที่รัฐบาลโอบามาไม่ชอบเพราะไม่ยอมกระทำตามหรือไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของสหรัฐอเมริกาหรือกลุ่มประเทศในยุโรป แต่การกระทำดังกล่าวกลับทำให้บริเวณพื้นที่ในตะวันออกกลางตกอยู่ในภาวะไร้เสถียรภาพ และมีความอ่อนไหวที่จะกลายเป็นสงครามขนาดใหญ่ระหว่างประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ตลอดเวลา เพราะในบริเวณนี้ยังมีน้ำมัน (ซึ่งเป็นยุทธปัจจัย) สำรองอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าเกิดสงครามขนาดใหญ่ขึ้น ฝ่ายใดที่ได้ครอบครองแหล่งน้ำมัน ฝ่ายนั้นก็ย่อมได้เปรียบนั่นเอง

ถ้าพิจารณาจากตัวอย่างทั้งสามแล้ว จะพบว่า กรณีความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธในไอร์แลนด์เหนือมีสาเหตุมาจากความเชื่อทางศาสนาของบุคคลหรือของกลุ่มคนที่แตกต่างกัน แต่ได้ถูกขยายให้กลายเป็นความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลอังกฤษ

ส่วนตัวอย่างความขัดแย้งอีก 2 กรณีจะแตกต่างไปจากความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือ คือ กรณีเวเนซุเอลา เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจกับรัฐบาลสังคมนิยมของเวเนซุเอลา โดยมีสาเหตุมาจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ล้มเหลวที่ไม่สามารถปรับตัวได้ตามภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากราคาน้ำมันโลกตกต่ำลงมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ได้ส่งผลให้เวเนซุเอลาเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เกิดภาวะเงินเฟ้อ และรัฐบาลมีหนี้สาธารณะเพิ่มสูงมากขึ้น จนประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างลำบากทนไม่ไหว ต้องออกมาประท้วงขับไล่รัฐบาลสังคมนิยม ของประธานาธิบดี Nicolas Maduro และในกรณีความขัดแย้งในซีเรีย ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการแทรกแซงของประเทศมหาอำนาจที่ต้องการรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร และรักษาบทบาทนำของตนในสังคมโลกต่อไป

อย่างไรก็ดี เมื่อกลับมาพิจารณาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจะพบว่า ความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงของไทย ไม่ได้มีสาเหตุมาจากความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างกัน หรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่มาจากความขัดแย้งระหว่างบุคคล (คือความไม่พอใจและผลประโยชน์ขัดกันระหว่างบุคคลที่เป็นคู่ขัดแย้ง) และได้พัฒนากลายมาเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มบุคคล (ดูภาพที่ 14) ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวยังได้รับการกระตุ้นจากความบกพร่องของระบบการเมือง และการบริหารราชการของไทยอีกด้วย โดยจะพบว่า ความเป็นพรรคพวกพี่น้อง การจ่ายเงินซื้อตำแหน่ง และการวิ่งเต้นช่วยเหลือผู้ทำผิด จะมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อการบริหารราชการ และการเมืองของไทย มากกว่าระบบคุณธรรมและความถูกต้องเสียอีก

ภาพที่ 14 การพัฒนาความขัดแย้งทางการเมืองของไทยในอดีต

8. ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

โดยสรุปแล้วผู้เขียนมีความเห็นว่า การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นของไทย ควรแก้ไขที่สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง นั่นก็คือ ควรพิจารณาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่สาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหา โดยการขจัดสาเหตุของปัญหานั้นๆ (ดูภาพที่ 15) ร่วมกับการใช้มาตรการต่างๆ ของ คอป.และสถาบันพระปกเกล้าที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนที่ 1 แต่ก็ควรจะให้เป็นไปตามกรอบของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในขณะนั้น รวมทั้งระบบคุณธรรม ความถูกต้อง และยุติธรรมด้วย

ภาพที่ 15 การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยการขจัดสาเหตุของความขัดแย้ง

ท้ายบทความ

การนำเสนอข้อเสนอแนะต่างๆ ในบทความนี้ เป็นการนำเสนอความคิดเห็นที่เรียกว่า ความคิดที่ไร้ขีดจำกัด (Unlimited Thinking) หรือความคิดนอกกรอบ จึงอาจไม่ตรงกับแนวทางที่ผู้รู้หลายท่านและรวมทั้งสถาบันต่างๆ ที่ได้ทำการศึกษาไว้

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเชื่อว่า การจะกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองให้ได้ผลตามที่มุ่งหวังจะต้องนำแนวทางต่างๆ มาผสมผสานกัน และต้องใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ได้เกิดขึ้นจริง นั่นคือ จะต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในขณะนั้นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น