การเลือกตั้งประธานาธิบดีของฝรั่งเศสรอบแรกเสร็จสิ้นลง ผลเป็นไปตามที่คาดไว้คือไม่มีใครได้เสียงเกินครึ่งจนชนะเด็ดขาด วันที่ 7 เดือนหน้าผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงสูงสุด 2 คนจะกำหนดเส้นทางชะตากรรมและอนาคตของประเทศซึ่งแตกต่างแยกทางกันไปคนละทิศ
ผลการเลือกตั้งยังเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในการเมืองฝรั่งเศส เมื่อผู้มีคะแนนนำทั้ง 2 คนไม่ได้เป็นตัวแทนของพรรคการเมืองหลัก 2 พรรค คือพรรคโซเชียลลิสต์ หรือพรรคสังคมนิยม และพรรครีพับลิกัน ซึ่งผลัดกันบริหารประเทศมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
เห็นได้ชัดแล้วว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งรู้สึกเบื่อหน่ายนักการเมืองอาชีพ หรือนักการเมืองประจำจากพรรคกระแสหลักซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ในธุรกิจการเมือง ชาวฝรั่งเศสต้องการลองของใหม่เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงท่ามกลางปัญหาด้านความมั่นคง
เป็นครั้งแรกเช่นกันที่ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี นายฟรังซัวส์ ออลลองด์ ไม่ขอลงสมัครเข้าชิง แม้ยังมีสิทธิลงแข่งได้อีกหนึ่งสมัย เพราะเรื่องอื้อฉาวส่วนตัวและกระแสความนิยมของตนเองตกต่ำสุดๆ ทำให้นายออลลองด์ประเมินว่าโอกาสจะชนะนั้นยากเกินไป
เอ็มมานูเอล มาครง ผู้สมัครหน้าใหม่ นายธนาคารการลงทุนวัย 39 ปีจากกลุ่มขวากลางได้คะแนนเฉือนนักการเมืองสตรีห้าวแบบขวาสุดโต่ง นางมารีน เลอ เพน ไม่มากนัก นับว่าสูสี ซึ่งก็ทำให้เห็นความแตกต่างในทางเลือกว่าที่ผู้นำคนใหม่ของชาวฝรั่งเศส
หลังประกาศผลในรอบแรก แนวโน้มเริ่มปรากฏว่าพรรคที่เหลือ อาจเลือกสนับสนุนมาครงให้เป็นผู้นำ อย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้ฝรั่งเศสไม่เดินเข้าสู่กระบวนการยุ่งยากในการปรับเปลี่ยนตามแนวนโยบายของนางเลอ เพน ซึ่งชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่รู้สึกสยดสยอง
จะไม่ให้คนฝรั่งเศสผวาได้อย่างไร ช่วงหาเสียงนางเลอ เพน ประกาศกร้าว “My Way or No Way” “ต้องตามทางของข้า หรือไม่มีทาง” เท่านั้น ไม่มีครึ่งทางหรือกั๊ก! นางเลอ เพนยังมีนโยบายหลักคือต้องการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป และยูโรโซนอย่างแน่วแน่
นั่นคือจะต้องมี “Frexit” ตามอย่างอังกฤษ ซึ่งกำลังอยู่บนเส้นทางของ “Brexit” นอกจากนั้นยังต้องการปรับตัวออกจากกลุ่มผู้ใช้เงินตราสกุลยูโรซึ่งมี 26 ประเทศ ต้องหวนคืนสู่เงินตราสกุล “ฟรังก์ใหม่” หรือถ้าไม่ไปไกลขนาดนั้นก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบ
เพียงแค่นี้ยังไม่ทำให้กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปผวามากเท่าไหร่ นางเลอ เพนยังบอกว่าถ้านางได้เป็นผู้นำ จะให้ฝรั่งเศสถอนตัวจากองค์การสนธิสัญญานาโตอีกด้วย และจะคืนดีกับรัสเซีย เลิกเดินตามก้นสหรัฐฯ ในการดำรงนโยบายคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย
นางเลอ เพน จะเข้มงวดกับการรับผู้ลี้ภัย จะจำกัดโควตาคนต่างด้าวให้เข้าอยู่ในฝรั่งเศสเพียง 10,000 คนต่อปี อาจเข้มงวดกับการดูแลกลุ่มชนต่างชาติโดยเฉพาะพวกนับถือศาสนาอิสลามและวัตรปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนา รวมทั้งการปิดสุเหร่าทั่วประเทศ
นโยบายขวาสุดโต่ง “ฝรั่งเศสต้องมาก่อน” คือการยกเลิกการข้ามแดนโดยเสรีระหว่างพลเมืองประเทศในสหภาพยุโรป ใครจะเข้าฝรั่งเศสต้องขอวีซ่า ไม่มีวีซ่าเชงเก้นสำหรับกลุ่มอียู พลเมืองจะใช้เพียงบัตรประจำตัวหรือใบขับขี่ข้ามแดนดังเช่นปัจจุบันไม่ได้
เธอจะเพิ่มงบประมาณป้องกันประเทศและเพิ่มจำนวนตำรวจอย่างน้อยอีก 15,000 คนเพื่อดูแลภารกิจด้านความมั่นคงปลอดภัยหลังจากเป็นเป้าหมายหลักในยุโรปของการก่อการร้ายโดยกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง ทำให้เสียชีวิตแล้วหลายร้อยคน บาดเจ็บกว่าพันคน
นอกจากนั้นจะปรับปรุงอัตราภาษีเพื่อให้มีการลดการเลี่ยงการเสียภาษี ลดภาษีให้คนยากจน คนรายได้น้อย สนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรม ลดวันเกษียณอายุให้อยู่ที่ 60 ปี ส่งเสริมให้บริษัทเอกชนมีการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยมีสิทธิพิเศษด้านภาษีเพื่อให้เป็นสิ่งจูงใจ
นายมาครง ผู้ถูกมองว่าจะไม่ผลักดันนโยบายสุดโต่งเหมือนนางเลอ เพน ไม่มีแนวทางหวือหวา น่าจะมีความหวังในชัยชนะเมื่อพรรคอื่นเทคะแนนให้ ตอนนี้เหลือเพียง 2 ทางเลือกเท่านั้น มาครงก็มีทั้งแผนเพิ่มงบป้องกันประเทศ เพิ่มจำนวนตำรวจเช่นกัน
ในด้านประสบการณ์การทำงานภาครัฐ มาครงเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เห็นความสำคัญในการเป็นหนึ่งเดียวของสหภาพยุโรป มีแนวคิดหนุนการค้าเสรี รวมทั้งข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปกับแคนาดา ยังรับผู้ลี้ภัย ไม่มีนโยบายปิดกั้น
มาครงยังอยู่ร่วมกับสหภาพยุโรป และประกาศว่าการต่อต้านและต่อสู้กับการก่อการร้ายนั้นฝรั่งเศสจำเป็นต้องคงความสัมพันธ์แนบแน่น มีผลประโยชน์ร่วมกับยุโรป และมีแผนจะลดภาษีสำหรับธุรกิจจาก 33 เปอร์เซ็นต์เหลือ 25 ทั้งปรับปรุงภาษีความมั่งคั่งด้วย
อีกแผนหลักของมาครงคือการลดงบการใช้จ่ายภาครัฐถึง 6 หมื่นล้านยูโร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และจะลดจำนวนลูกจ้าง เจ้าหน้าที่รัฐให้มากถึง 120,000 คน โดยการไม่จ้างงานเพื่อทดแทนพวกที่เกษียณอายุ และจะเพิ่มงบกระตุ้นเศรษฐกิจใน 5 ปี
เห็นได้ว่านโยบายของมาครงนั้นไม่หวือหวาจนอาจสร้างปัญหาซับซ้อนให้กับชาวฝรั่งเศส ผู้นำกลุ่มอียูก็แอบพอใจ แม้โอกาสที่มาครงจะชนะมีมาก เว้นแต่จะเกิดเรื่องฉาวโฉ่ทำให้ความนิยมพลิกผันหรือเกิดวิกฤตรุนแรง ทำให้สถานการณ์ไปเข้าทางนางเลอ เพน
ถ้าชนะในเดือนหน้า มาครง ยังอาจเผชิญปัญหาสำคัญในเดือนมิถุนายนเมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ส.เพราะตนเองไม่มีพรรคการเมือง เป็นเพียงกลุ่มตั้งขึ้นมาเพื่อการเลือกตั้ง การไม่มี ส.ส.สนับสนุนนโยบายสำคัญจะทำให้การเดินหน้าต่อไปไม่ราบรื่นตามที่คาดหวัง
ประธานาธิบดีเป็นตำแหน่งสูงสุด มีนายกรัฐมนตรีดูแลงานบริหารทั่วไปก็จริง แต่ถ้าเผชิญแรงต้านหนักหน่วง งานและนโยบายที่ว่าจะง่ายในการขับเคลื่อนประเทศนั้นอาจช้าหรือเจอการถ่วงก็ได้ ดังนั้น การสนับสนุนจากเสียง ส.ส.ในพรรคใหญ่จึงยังเป็นความจำเป็น