ผู้จัดการรายวัน360-เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ออกหนังสือชี้แจงเหตุผลออกคำสั่งไล่ "ธาริต เพ็งดิษฐ์" พ้นจากการเป็นข้าราชการ เพราะมีความผิดร้ายแรง หลังถูก ป.ป.ช. กล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ป.ป.ช. ก.พ. และกฤษฎีกา เห็นตรงกัน ด้าน "วิษณุ"พูดชัดเจน หมดสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งมติให้ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีความผิดฐานร่ำรวยผิดปกติ และถูกอายัดทรัพย์ โดยพิจารณาโทษไล่ออกตามที่นำเสนอข่าวมาต่อเนื่องนั้น
ล่าสุดเมื่อเวลา 10.15 น. วานนี้ (24เม.ย.) พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชาของนายธาริต ได้ส่งหนังสือชี้แจงการมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ กรณีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ถึงสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ว่า เรื่องนี้ เป็นการดำเนินการตามที่ประธานกรรมการป.ป.ช. แจ้งว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริง และมีมติว่านายธาริต ร่ำรวยผิดปกติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ และมีหนี้สินลดลงผิดปกติ รวมมูลค่า 346,652,588 บาท ซึ่งเป็นกรณีการดำเนินการตามมาตรา 80 (4) แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ.2542 ที่กำหนดว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริง และมีมติแล้ว ให้ประธานกรรมการป.ป.ช. แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาดำเนินการ สั่งลงโทษไล่ออก หรือปลดออก โดยถือว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่
ทั้งนี้ เดิมนายธาริต ดำรงตำแหน่งอธิบดี ดีเอสไอ ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พ.ค.2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งให้ย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ ที่สำนักนายกรัฐมนตรี และเมื่อ 27 มิ.ย.2557 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีตามลำดับ เรื่องนี้จึงเป็นอำนาจของเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชาที่จะเป็นผู้ออกคำสั่ง
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ได้รับเรื่องดังกล่าวจากสำนักงานป.ป.ช. ในช่วงปีที่ผ่านมา และได้ตรวจสอบประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการกรณีดังกล่าว โดยได้มีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานป.ป.ช. สำนักงาน ก.พ. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาโดยตลอด เพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อกฎหมายและเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา
จากผลการหารือ หน่วยงานดังกล่าวข้างต้นได้ให้ความเห็นสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันว่า กรณีนี้เป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาในการพิจารณาลงโทษตามที่กำหนดในมาตรา 80 (4) แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542โดยไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายอื่น ประกอบกับที่ผ่านมา ได้มีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ว่า การทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เป็นความผิดร้ายแรง ควรลงโทษไล่ออกจากราชการ จึงได้มีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2560 ที่ผ่านมา
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การไล่ออกมี 2 อย่าง คือ ไล่ออก เพราะมีการดำเนินการทางวินัย สามารถอุทธรณ์ไปที่สำนักงานคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ได้ ส่วนอีกกรณีคือการลงโทษทางวินัย ตามที่ ป.ป.ช. ได้แจ้งมา กรณีนี้ไม่สามารถไปอุทธรณ์ที่ไหนต่อไปได้ ถือว่ายุติที่คำสั่ง ป.ป.ช. แต่ตนไม่ทราบว่าในกรณีของนายธาริต ลงโทษด้วยเรื่องใด แต่เข้าใจว่าลงโทษตามที่ ป.ป.ช. แจ้งความผิดมา