xs
xsm
sm
md
lg

การขึ้นค่าเอฟทีไฟฟ้างวดหน้าสมเหตุสมผลหรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เสนอขึ้นค่าไฟฟ้าในส่วนที่เรียกว่า “ค่าเอฟที” ซึ่งหมายถึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือค่าที่เปลี่ยนไปจากงวดก่อน (ม.ค.-เม.ย.60) จำนวน 12.52 สตางค์ต่อหน่วย โดยให้เหตุผลสำคัญว่าราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงขึ้นและมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอีกจนถึงสิ้นปี นั่นหมายถึงว่าอาจจะต้องขึ้นค่าเอฟทีอีกในงวดสุดท้ายของปีนี้

ผมรู้สึกแปลกใจกับเหตุผลดังกล่าว เพราะจากข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพบว่าราคาก๊าซธรรมชาติที่ปากหลุมแหล่งผลิตในประเทศไทยในช่วง 14 เดือนที่ผ่านมาจนถึงล่าสุดกุมภาพันธ์ 2560 มีแนวโน้มที่ลดลงตลอด ผมมีตารางพร้อมแหล่งอ้างอิงมาให้ดูด้วยครับ

ที่ผมแปลกใจมากกว่านี้ก็คือ ทำไมราคาก๊าซธรรมชาติที่ทาง กฟผ.รับซื้อจากบริษัท ปตท. ที่โรงไฟฟ้าซึ่งเป็นราคาที่ได้รวมค่าผ่านท่อ ค่าดำเนินการและค่ากำไรไว้แล้วจึงได้แกว่งขึ้นลงมากตั้งแต่ 17% จนถึง 36%

ผมไม่ทราบหรอกครับว่า ผลกำไรและค่าดำเนินการที่เหมาะสมระหว่างผู้ขายคือบริษัท ปตท. กับผู้รับซื้อคือ กฟผ.ควรจะเป็นเท่าใด แต่มันไม่ควรจะแกว่งมากถึงขนาดนี้ เช่น ถ้าค่าเฉลี่ยเป็น 19% มันก็ควรจะแกว่งอยู่ระหว่าง 18% ถึง 20% แต่นี่มันต่างกันมากกว่ากันเกิน 2 เท่าตัว มันต้องมีอะไรผิดปกติมากๆ อย่างแน่นอนจึงจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้

อย่าลืมนะครับว่า ธุรกิจท่อก๊าซเป็นธุรกิจที่ผูกขาดรายเดียว คือ บริษัท ปตท. และผู้มีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องนี้คือ กกพ. ทำไม กกพ.จึงไม่รู้สึกสงสัย ไม่ตั้งคำถาม หรือทำความจริงให้ประชาชนได้เข้าใจและรับทราบ

ผลประโยชน์จากธุรกิจท่อก๊าซไม่ใช่เป็นเงินก้อนเล็กๆ ในปี 2559 กฟผ. (ซึ่งผลิตไฟฟ้าประมาณ 35% ของไฟฟ้าที่ใช้ทั้งประเทศ) ได้รับซื้อก๊าซจาก ปตท.คิดเป็นมูลค่าถึง 80,116 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นค่าผ่านท่อ ค่าดำเนินการและกำไรของบริษัท ปตท.ถึง 14,603 ล้านบาท (อ้างอิงข้อมูลของ กฟผ.แต่ต้องคำนวณเพิ่มเติมhttp://www3.egat.co.th/ft/Web/Fuel%20jan60_apr60.htm)

ในขณะที่มูลค่าก๊าซธรรมชาติที่ปากหลุม (ไม่นับผลผลิตชนิดอื่นๆ) ที่ผลิตในประเทศไทยในปีเดียวกันประมาณ 2.05 แสนล้านบาท ดังนั้น ค่าผ่านท่อ ค่าดำเนินการ และกำไรน่าจะตกปีละหลายหมื่นล้านบาท

ที่ได้กล่าวมา ผมได้แสดงความแปลกใจมาแล้ว 2 เรื่อง ยังมีอีกหนึ่งเรื่องครับ คือ ข้อมูลของ กกพ.เองซึ่งมี 2 ชิ้น แต่มีข้อความสำคัญไม่ตรงกัน กล่าวคือ จากเอกสารประชาสัมพันธ์ (19 เมษายน 2560) ซึ่งมีความยาว 2 หน้ากระดาษกับเอกสารรับฟังความคิดเห็นซึ่งมีความยาว 14 หน้ากระดาษ มีข้อความสำคัญไม่ตรงกัน คือเอกสารชิ้นแรกบอกว่าราคาก๊าซที่ กฟผ.รับซื้อใน 2 งวดเพิ่มขึ้น 9.35 บาทต่อล้านบีทียู แต่อีกชิ้นหนึ่งบอกว่าเพิ่มขึ้น7.52 บาทต่อล้านบีทียู

แม้ในเชิงตัวเลขจะแตกต่างกันไม่มากนัก แต่ปริมาณก๊าซมีนับหลายล้านล้านบีทียู นอกจากนี้มันมีความไม่ชัดเจนถึงที่มาที่ไปของอัตราค่าผ่านท่อ ค่าดำเนินการแยกก๊าซ และการกำหนดผลกำไรที่เหมาะสมและยังมีความผิดพลาดอีกหลายจุดรวมทั้งราคาน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล ผมได้นำหลักฐานมาให้ดูกันด้วย 2 ภาพ ดังข้างล่างนี้ครับ


อนึ่ง โปรดสังเกตว่า จากตารางในแผ่นภาพสุดท้าย เราจะเห็นว่า มีเพียงก๊าซธรรมชาติอย่างเดียว (ซึ่งมีส่วนในการผลิตไฟฟ้า 65% ของไฟฟ้าทั้งหมด) ที่ทาง กกพ. อ้างว่ามีราคาสูงขึ้น (ทั้งๆ ที่ข้อมูลจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติชี้ว่ามีแนวโน้มลดลงด้วยซ้ำ) ราคาถ่านหินนำเข้าก็ลดลง ราคาน้ำมันเตาก็ลดลง ราคาลิกไนต์ก็คงที่

แล้วปัจจัยใดละครับที่ทำให้ทาง กกพ.ต้องเสนอขอขึ้นค่าเอฟทีไฟฟ้าในครั้งนี้

ประเด็นที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้คือ สมมติว่าราคาก๊าซขยับตัวเพิ่มขึ้น 7.52 บาทต่อล้านบีทียู (ตามที่ กกพ.อ้างในตารางที่ 3) แล้วปัจจัยอื่นๆ คงที่หมด จะมีผลทำให้ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นเท่าใด ชัดเจนนะครับ โดยจะไม่สนใจว่าตัวเลขดังกล่าวมาจากไหน มีความถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่

การจะตอบคำถามนี้ได้ เราต้องมีข้อมูลว่า ก๊าซ 1 ล้านบีทียูสามารถผลิตไฟฟ้าได้กี่หน่วย และเมื่อเฉลี่ยแล้วราคาก๊าซที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจะส่งผลให้ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นเท่าใด

จากรายงานประจำปี 2559 ของ กฟผ. (หัวข้อ ข้อมูล และสถิติ) พบว่าก๊าซธรรมชาติ 1 ล้านบีทียู (หรือ 1,000 ลูกบาศก์ฟุต) ทั้งในโรงไฟฟ้าของ กฟผ.และในโรงไฟฟ้าของเอกชนสามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยจำนวน 120 หน่วย นี่เป็นค่าเฉลี่ย 2 ปีที่ผมแค่นำมาคำนวณและหาค่าเฉลี่ยเอง

ดังนั้น สมมติว่า เราผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซธรรมชาติอย่างเดียว ราคาก๊าซที่เพิ่มขึ้น 7.52 บาทต่อล้านบีทียู จะมีผลต่อค่าเอฟทีไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเท่ากับ 7.52 บาทหารด้วย 120 หน่วย ซึ่งจะเท่ากับ6.27 สตางค์ต่อหน่วย

แต่เนื่องจากเราผลิตด้วยก๊าซเพียง 65% ดังนั้น ปัจจัยจากก๊าซธรรมชาติจึงมีผลทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหรือเปลี่ยนไปเพียง 4.08 สตางค์ต่อหน่วย (มาจาก 6.27 คูณด้วย 0.65)

ผมขออนุญาตย้ำอีกครั้งนะครับว่า ราคาก๊าซที่ปากหลุม (ที่เสนอโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ) มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ยังไม่มีสัญญาณว่าจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ราคาก๊าซจากประเทศพม่า (ที่ประเทศไทยนำเข้า) ก็ลดลง ข้อมูลจากการนำเสนอของหนังสือพิมพ์เมียนมาร์ไทมส์ ระบุว่า “รายได้จากการส่งออกก๊าซธรรมชาติหายไปวันละ1.5ล้านเหรียญสหรัฐ”ผมนำภาพมาให้ดูด้วยครับ แม้ช่วงเวลาอาจจะไม่ตรงกันทีเดียวนัก แต่ก็พอชี้ให้เห็นแนวโน้มได้นะครับ และก็เป็นการลดลงทั่วทั้งโลกไม่มีการยกเว้นแม้แต่ประเทศเมียนมาร์

ยังมีอีก 2 ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่าเอฟที คือ (1) ค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐบาล และ (2) ค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชน

ผมเรียนตามตรงว่า ผมเข้าใจคำชี้แจงในเอกสารประชาสัมพันธ์ของ กกพ. เฉพาะใน 2 บรรทัดครึ่งแรกเท่านั้น (ซึ่งผมนำภาพเอกสารมาให้ดูด้วยครับ) ส่วนที่เหลือผมไม่เข้าใจจริงๆ ทั้งๆ ที่ได้พยายามอ่านหลายรอบแล้ว

ตามความเข้าใจของผม นโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนมีผลทำให้ค่าเอฟทีไฟฟ้างวดแรกกับงวดที่สอง (พ.ค.-ส.ค.) เพิ่มขึ้นเพียง 0.56 สตางค์ต่อหน่วย

จากที่ได้กล่าวมาแล้ว พอสรุปได้ว่า

(1) ราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 14 เดือนที่ผ่านมาจนถึงกุมภาพันธ์ 2560 แต่ทาง กกพ.กลับคาดการณ์ว่าในงวดหน้าราคาก๊าซจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาเชื้อเพลิงอื่นๆ มีราคาลดลง อย่างไรก็ตาม ถ้าราคาสูงขึ้นจริงจำนวน 7.52 บาทต่อล้านบีทียู ก็จะทำให้ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นเพียง 4.08 สตางค์ต่อหน่วย

(2) นโยบายส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ตามความเข้าใจของผม มีผลทำให้ค่าเอฟทีสูงขึ้น 0.57 สตางค์ต่อหน่วย

(3) ประเด็นสำคัญที่ได้จากกรณีนี้คือ การทำความชัดเจนเรื่องอัตราผลตอบแทนของบริษัท ปตท.ที่เป็นผู้รับผลประโยชน์เพียงรายเดียวจากกิจการท่อก๊าซและการแยกก๊าซที่บางเดือนได้รับในอัตรา 17% แต่บางเดือนได้รับถึง 36% ซึ่งการกำกับกิจการท่อก๊าซเป็นหน้าที่หนึ่งของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

ผมยังไม่ได้กล่าวถึงค่าเอฟทีที่เกิดจากค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชน ซึ่งเอกชนมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าถึงประมาณ 65% ของไฟฟ้าทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทไฟฟ้าจากเอกชนก็ใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเดียวกันกับ กฟผ.การเคลื่อนไหวด้านต้นทุนของโรงไฟฟ้าเอกชนจึงย่อมจะมีความคล้ายคลึงกับของ กฟผ.

วันนี้ขอเท่านี้ก่อนครับ

กำลังโหลดความคิดเห็น