xs
xsm
sm
md
lg

ระเบียงเศรษฐกิจอีอีซี เหล้าเก่า 30 ปีในขวดใหม่

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


30 กว่าปีก่อน ประเทศไทยค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ในปริมาณที่คุ้มค่าต่อการลงทุนนำขึ้นมาใช้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งเป็นยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ประกาศว่า ก๊าซธรรมชาตินี้ จะนำประเทศไทยเข้าสู่ยุคโชติช่วงชัชวาล

โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก หรืออีสเทิร์น ซีบอร์ด (Eastern Seaboard) ถูกจัดตั้งขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม มีการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่แหลมฉบัง และมาบตาพุด รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก เพื่อเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากค่าเงินเยนที่แข็งขึ้น อันเนื่องมาจากข้อตกลงของกลุ่มประเทศจี 7 ที่เรียกกันว่า พลาซ่า แอคคอร์ด จำเป็นต้อง ย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ ไปยังที่ที่จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ประกอบกับขณะนั้นสงครามลัทธิในกลุ่มประเทศอินโดจีนเริ่มสงบลง รัฐบาลไทย ดำเนินนโยบายผลิตเพื่อการส่งออก ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่นักลงทุนต่างชาติให้มาตั้งฐานการผลิตเพื่อส่งออกในประเทศไทย ประเทศไทยจึงถูกเลือกจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะญี่ปุ่นเป็นแหล่งลงทุนสร้างฐานการผลิตแห่งใหม่ โดยพื้นที่อีสเทิร์น ซีบอร์ด ในเขตจังหวัดชลบุรี และระยอง เป็นที่ต้องการมาก เพราะรัฐบาลลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า ถนน ฯลฯ รอรับไว้แล้ว

โครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ด เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษกิจไทย จากประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตร ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า เป็นผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก มีการตั้งนิคมอุตสาหกรรม 32 แห่ง โรงงานอุตสาหกรรมเกือบ 5 พันโรง ด้วยเงินลงทุนมากกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ก้าวขึ้นเป็น “ดีทรอยต์ แห่งเอเชีย” ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในภูมิภาค และฐานการผลิตปิโตรเคมี ที่ใหญ่ที่สุด 1 ใน 5 แห่งของเอเชีย

เป็นเวลากว่า 30 ปีที่ประเทศไทยกินบุญเก่าจากยุคโชติช่วงชัชวาล และบุญเก่านี้ ถูกใช้ไปหมดแล้ว ในขณะที่สิ่งแวดล้อมด้านเศรษฐกิจรอบๆ บ้านเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเกิดขึ้นของ AEC และระบบการคมนาคมขนส่งในภูมิภาค ทำให้เกิดฐานการผลิตใหม่ๆ เช่น จีนตอนใต้ ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ และเวียดนาม ที่เป็นทางเลือกที่ดีกว่าประเทศไทย

ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพกับดักรายได้ปานกลาง เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ต่ำมากปีละ1-2 เปอร์เซ็นต์ เพราะไม่มีเครื่องจักรใหม่ๆ ที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แทนเครื่องจักรเก่าคือ การลงทุนจากต่างประเทศ

รัฐบาล คสช.จึงต้องหันกลับไปลอกเลียนแบบความสำเร็จของโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ด ด้วยการตั้งชื่อใหม่ว่า โครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ อีอีซี (Eastern Economic Corridor) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ด้วยความหวังว่า จะจุดประกายแห่งความโชตช่วงชัชวาลได้อีกครั้ง เพื่อนำประเทศไทยก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0

ด้วยพิมพ์เขียวเดียวกันกับอีสเทิร์น ซีบอร์ด ในโครงการอีอีซี จะมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในพื้นที่ 30% โดยรัฐบาลคือ โครงการท่าเรือแหลมฉบังช่วงที่ 3 โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินนานาชาติขนาดใหญ่ขึ้น โครงการพัฒนาท่าเรือจุกเสม็ดที่สัตหีบ เพื่อการท่องเที่ยว โครงการสร้างรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง เชื่อมแหลมฉบัง และระยองกับกรุงเทพฯ และการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ รวมทั้งพื้นที่จัดสรรเป็นการเฉพาะสำหรับ นักลงทุนจีน และเกาหลีที่ต้องการมาอยู่ในที่เดียวกัน

เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในอีอีซี จำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจด้วยสูตรสำเร็จ การยกเว้น และลดหย่อนภาษีเงินได้เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี ที่เพิ่มขึ้นมาคือ การขยายระยะเวลาเช่าที่ดินเป็น 50 ปี และให้ต่ออายุได้ 49 ปี รวมแล้วเป็น 99 ปี ซึ่งกำลังเป็นเรื่องที่ถูกจุดกระแสต่อต้านอยู่ในขณะนี้

โครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ด ได้รับความสำเร็จในแง่ของการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นตกอยู่กับกลุ่มทุนต่างชาติ และไทยเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น

โครงการอีอีซี ก็คงเป็นไปในแบบเดียวกัน เพราะเป็นโครงการที่ต้องการสร้างการขยายตัวของเศรษฐกิจเหมือนกัน มีปรัชญาแนวคิดพื้นฐาน กระบวนการขั้นตอน วิธีการในการขับเคลื่อนโครงการชุดเดียวกัน เปลี่ยนก็แต่เพียงชื่อเท่านั้น เหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น