อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขา Business Analytics and Intelligence และวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขา Business Analytics and Intelligence และวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
วันก่อนมีข่าวว่าบริษัทไอทีในอินเดียยักษ์ใหญ่ทั้งหลายเลย์ออฟวิศวกรคอมพิวเตอร์และโปรแกรมเมอร์กันยกใหญ่ เป็นบทความชื่อ “WIPRO WHIPLASH: More and more Indian IT engineers are under-skilled, unwanted, and unemployed” จากเว็บไซต์ https://qz.com/965291/wipro-to-h1b-more-and-more-indian-it-engineers-are-under-skilled-unwanted-and-unemployed/ ซึ่ง Thongchai Cholsiripong ได้แปลข่าวนี้ไว้ในชื่อว่า “วิศวกรไอทีอินเดีย เตรียมตกงานระนาว คาดไม่ต่ำกว่า 6.4 แสนคนในปีหน้า เหตุเพราะทักษะไม่ถึง” จากเว็บไซต์ https://brandinside.asia/india-engineers-unemployed/
ทำไมวิศวกรคอมพิวเตอร์และโปรแกรมเมอร์จึงตกงานมากมายขนาดนี้ บทความได้วิเคราะห์เอาไว้ว่า เพราะว่าวิศวกรคอมพิวเตอร์และโปรแกรมเมอร์เหล่านั้นแค่เขียนโปรแกรมได้ แต่งานไอทีจำนวนมากในปัจจุบันไม่ได้ใช้คนแล้ว แม้กระทั่ง IT support ที่เคยใช้คนมากมายก็สามารถจะทำให้ automate ได้ โดยเขียนโปรแกรมให้ฉลาดขึ้นและแก้ไขปัญหาต่างๆ แทนผู้เชี่ยวชาญได้
ความรู้ทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine learning) ทำให้คอมพิวเตอร์ฉลาดขึ้นมาก คิดเองได้ในระดับที่เก่งขึ้นเรื่องๆ สิ่งที่ในอดีตเคยทำไม่ได้ก็จะทำได้ ว่ากันว่าปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องจักรอาจจะทำให้โปรแกรมเมอร์ตกงานหมดทั้งสิ้นเพราะปัญญาประดิษฐ์จะเขียนโปรแกรมแทนโปรแกรมเมอร์ได้ ความจำเป็นในการจ้างพนักงานไอทีที่มีทักษะระดับต่ำคือแค่เขียนโปรแกรมได้จึงไม่เพียงพอที่จะทำให้ทำงานได้จริง การเข้ามาของข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) และการเกิดขึ้นของข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตรวมไปถึง Internet of Things (IOTs) การเติบโตของ Social media และการทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต อย่างเช่น Block chain ที่กำลังมาแรงและเป็น Financial technology ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของธุรกิจการเงินในอนาคตอันใกล้ การเกิด disruptive technology หรือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโฉมหน้าโลกมากขนาดนี้ ย่อมทำให้บุคลากรด้านคอมพิวเตอร์ล้าหลังอยากรวดเร็ว
โปรแกรมเมอร์สมัยนี้รู้แต่การเขียนโปรแกรมไม่ได้ต้องรู้เรื่องวิทยาการข้อมูล (Data science) การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine learning) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) และความมั่นคงปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ (Cybersecurity) ด้วยถึงจะสามารถทำงานได้จริงอยู่รอดได้ และไม่ล้าสมัย (Obsolete)
มีการประมาณกันว่าในอีกสามปีข้างหน้าบุคลากรด้านไอทีของอินเดียประมาณหนึ่งในห้าจะล้าหลังและไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านไอทีอีกต่อไปซึ่งจำเป็นต้องเอาออกจากงานไป นอกจากนี้การศึกษากับนักศึกษาด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ในอินเดียจำนวน 36,000 มีเพียง 4.77% เท่านั้นที่ผ่านความต้องการขั้นพื้นฐานสำหรับการเป็นโปรแกรมเมอร์ในปัจจุบัน แต่ในขณะนี้การเรียนการสอนด้าน IT ในอินเดียไม่ได้มีความก้าวหน้าเพียงพอที่จะครอบคลุมเนื้อหาอันเป็นความรู้และทักษะสมัยใหม่ที่จำเป็นในการทำงาน หรือพูดง่ายๆ คือสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตคนด้าน IT และคอมพิวเตอร์ในอินเดียก็เริ่มล้าหลังอย่างรุนแรง การฝึกอบรมความรู้และทักษะใหม่ให้บุคลากรเดิมจึงอาจจะเป็นความจำเป็น
เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้เกินกว่าที่คาดไว้แต่อย่างใด ปัญหาความล้าหลังของบุคลากรด้านไอทีในอินเดียก็เป็นสิ่งที่คาดว่าจะเกิดอยู่แล้ว และการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะใหม่ให้กับบุคลากรเดิมไม่ใช่เรื่องง่าย ผมเคยเห็นช่างเรียงพิมพ์ตัวตะกั่วตกงานและปรับตัวไม่ได้กันเป็นแถบๆ เมื่อมีเทคโนโลยีการเรียงพิมพ์ด้วยแสงและคอมพิวเตอร์เข้ามาในประเทศไทย มีเพียงน้อยรายมากที่ปรับตัวได้
บุคลากรด้าน IT ของอินเดียนั้นเคยได้ชื่อว่าเก่งกาจและเป็นกำลังสำคัญของอุตสาหกรรมไอทีทั่วโลก แต่มาวันนี้ก็กลับเกิดวิกฤติความล้าหลังเช่นนี้ได้ สาเหตุหลักน่าจะเป็นปัญหาการศึกษาด้านไอทีและคอมพิวเตอร์ที่ปรับตัวตามไม่ทัน เช่นเดียวกันกับบุคลากรที่ปรับตัวตามไม่ทัน
ในประเทศไทยก็มีปัญหาแบบนี้ บริษัทต่างๆ ของไทยประสบปัญหาในการว่าจ้างบุคลากรด้านไอทีอย่างรุนแรง การจะหาโปรแกรมเมอร์ดีๆ ที่ทำงานได้จริงนั้นยากยิ่ง และนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่แทบจะทำงานจริงไม่ได้เลย ต้องมาฝึกกันอีกเป็นปี มีการเปลี่ยนงานสูงมาก (High turnover rate) และนักศึกษาที่จบมาหลายสาขา เช่น คอมพิวเตอร์ธุรกิจ ไม่สามารถทำงานได้จริงเลย เขียนโปรแกรมหรือวิเคราะห์ระบบไม่เป็นเลย ปัญหาเหล่านี้ได้ยินจากนายกสมาคมวิชาชีพทางด้าน software หรือนักวิชาการด้านนี้เป็นจำนวนมาก
ที่แย่ยิ่งกว่าคือ แม้จะว่าจ้างคนทาง IT ที่ดีที่สุดและเก่งกาจที่สุดมาได้ก็ตาม แต่บุคลากรด้าน IT นั้น ตกยุคและตกสมัยที่สุด เพราะอะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมาก พวกบริษัทต่างๆ ยุคหนึ่งถึงกับ outsource ด้าน IT ออกไปหมด เพราะว่าจ้างมาแล้วเปลืองสวัสดิการ ที่เคยเก่งๆ ตอนเข้ามาทำงานใหม่ๆ พอผ่านไปก็ตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ ไม่ทันเสียแล้ว ทำให้ทำงานไม่ได้จริง และลงท้ายก็ต้องไปจ้างบริษัทภายนอกมาอยู่ดี แต่พอ outsource ไปทั้งหมดก็พบปัญหาว่าเมื่อระบบ IT มีปัญหาจะไม่มีคนแก้ไขได้ทันท่วงทีเช่นเดียวกัน เลยเกิดภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
แม้แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยทางด้าน computer sciences ก็ตกยุคล้าหลังได้เร็วมากที่สุด ไม่ติดตามแค่เทคโนโลยีเพียงอึดใจเดียวถึงขั้นทำงานจริงไม่ได้ แล้วจะสอนนักศึกษาให้ไปทำงานจริงได้อย่างไร นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย หลายสถาบันใช้วิธีการยัดเยียดเขียนหลักสูตรบังคับให้นักศึกษาเรียนเฉพาะวิชาที่ตัวเองสอนได้ ไม่ต้องเหนื่อยไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แทนที่จะออกแบบหลักสูตรให้นักศึกษาเรียนวิชาที่สามารถเอาไปใช้งานได้จริงและทันสมัย หลักสูตรด้าน IT นั้นหากจะรอปรับปรุงหลักสูตรอย่างน้อยทุกห้าปีตามเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ) อาจจะช้าไปเสียด้วยซ้ำ
ปัญหานี้ความล้าหลังอย่างรวดเร็วนี้ ทางหนึ่งก็น่าเห็นใจทุกคนในวงการ IT แต่อีกทางหนึ่งมันก็เป็นบททดสอบทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส ดาร์วิน ที่ว่า
“สิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่งที่สุด แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้เร็วกว่า”
การทำงานทางด้าน IT ถ้าไม่มีความสนุกที่จะติดตามความรู้ใหม่ เพียงไม่นานท่านก็จะล้าหลังในทันที ดังนั้นคนในอาชีพนี้ต้องกระหายการเรียนรู้ และต้องสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ และปรับตัวเองได้อย่างรวดเร็วเช่นกันจึงจะประสบความสำเร็จได้ และนักวิชาการทางด้านนี้คงต้องขยันและมีความกระหายใคร่รู้และศึกษาด้วยตนเองได้ แสวงหาข้อมูลและความรู้ใหม่ได้เก่งสุดๆ เช่นกัน จึงจะมีความรู้ไปสอนนักเรียนนักศึกษาให้สามารถทำงานได้จริง ทั้งนี้คนเราคงต้องเรียนรู้หรือเลือกที่จะร่วงโรยไปตามกระแสแห่งกาลเวลาอันบ่าท่วมอย่างรวดเร็ว