xs
xsm
sm
md
lg

ผิดวินัยและผิดกฎหมาย : เหตุให้ธัมมชโยเป็นจำเลย

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“ดูก่อน อานนท์ ธรรมและวินัยอันใดที่เราตถาคต แสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไป” (โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา) นี่คือพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบพระอานนท์ผู้ทูลถามพระองค์ว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว ใครจักเป็นศาสดาแทนพระองค์

ดังนั้น พุทธมามกะคือผู้นับถือพุทธศาสนา 4 ประเภท หรือที่เรียกว่าพุทธบริษัท 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา จะต้องไม่ทำผิดพระธรรมวินัย ถ้าผู้ใดกระทำก็เท่ากับไม่เคารพพระศาสดา ซึ่งเป็นเหตุให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ไม่นาน ตามนัยแห่งพระพุทธพจน์ที่ตรัสแก่พระกิมพิละที่ว่า ดูก่อนกิมพิละ เมื่อเราดับขันธปรินิพพานแล้ว พุทธบริษัท 4 คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ในพระธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพในพระศาสดา ไม่เคารพในพระพุทธ ในพระธรรม และในพระสงฆ์ ไม่เคารพในการศึกษา ไม่เคารพในกันและกัน ดูก่อนกิมพิละ นี่แล คือเหตุให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน

จากพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า พระพุทธศาสนาจะอยู่ได้นานหรือไม่ได้นาน ขึ้นอยู่กับการกระทำของพุทธบริษัท 4

พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ถูกโจทย์ด้วยอนุวาทาธิกรณ์ใน 4 ประเด็นดังต่อไปนี้

1. สีลวิบัติ ความเสียหายเนื่องจากล่วงละเมิดศีลถึงขั้นต้องอาบัติปาราชิกจากการยักยอกที่ดินวัด และการอวดอุตริมนุสธรรม เป็นต้น

2. ทิฏฐิวิบัติ ความเสียหายจากความคิดเห็น เนื่องจากบิดเบือนคำสอนให้ผิดแยกไปจากพุทธวจนะ เช่น การสอนว่า นิพพานเป็นอัตตา เป็นต้น

3. อาชีววิบัติ ความเสียหายจากการเลี้ยงชีพเนื่องจากการแสวงหาในทางมิชอบ เช่น การขายค้อนเพื่อเปิดประตูสวรรค์ เป็นต้น

4. อาจารวิบัติ ความเสียหายจากการประพฤติไม่เหมาะกับเพศภาวะของนักบวช เช่น การใช้เครื่องบำรุงผิวพรรณ เป็นต้น

นอกจากกระทำผิดพระวินัยแล้ว พระธัมมชโยยังกระทำผิดกฎหมายหลายคดี เช่น ร่วมกันฟอกเงิน รับของโจร และบุกรุกป่า เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ มหาเถรสมาคมหรือ มส.ในฐานะเป็นองค์กรปกครองสงฆ์ จึงได้ดำเนินการทางพระวินัย และกฎหมายปกครองสงฆ์เพื่อให้พระธัมมชโยพ้นจากภาวะของความเป็นภิกษุ

รัฐบาลในฐานะผู้รักษากฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความสงบสุขของบ้านเมือง ก็จะต้องดำเนินคดีกับพระธัมมชโย เช่นเดียวกันกับผู้กระทำผิดกฎหมายคนอื่นๆ

ดังนั้น เมื่อพระธัมมชโยกระทำผิดกฎหมายกลายเป็นผู้ต้องหา และไม่ยอมมามอบตัวต่อสู้คดี ก็จะต้องตามจับกุมเพื่อนำตัวมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม

ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับพระธัมมชโย ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากการกระทำของพระธัมมชโยเอง ไม่มีใครกลั่นแกล้งหรืออ้างเหตุขัดแย้งใดๆ ถ้าพระธัมมชโยมีหิริและโอตตัปปะยอมรับผิดแล้วลาสิกขาออกไปแล้วมอบตัวต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม เฉกเช่นประชาชนคนเคารพกฎหมาย ทุกอย่างก็คงจะจบลงด้วยดี

แต่พระธัมมชโยดื้อแพ่งไม่ยอมเข้ามอบตัวเพื่อต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม ทางเจ้าหน้าที่จึงต้องเข้าตรวจค้นภายในวัดเพื่อจับกุมตัวพระธัมมชโย ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ และถูกต่อต้านจากมวลชนจัดตั้ง โดยอ้างการปฏิบัติธรรมบังหน้าเหมือนประหนึ่งมีเจตนาให้สังคมภายนอกเห็นว่า พระและผู้ปฏิบัติธรรมถูกเจ้าหน้าที่รังแก เพื่อกลบเกลื่อนความผิดทางพระวินัยและกฎหมายของพระธัมมชโย

เจตนาในครั้งนี้ ดูเหมือนจะได้ผลเกินคาด จะเห็นได้จากที่ผู้คนหลากหลายได้ออกมาแสดงความคิดเห็นใจ และคล้อยตามพฤติกรรมของพระธัมมชโย และวัดพระธรรมกาย หนึ่งในจำนวนนี้ก็คือ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร นักวิชาการชื่อดังในด้านเศรษฐกิจ ได้เขียนบทความเรื่องกรณีวัดพระธรรมกายลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 24 มีนาคม 2560 ซึ่งมีประเด็นที่ก่อให้เกิดข้อกังขาหลายประการดังต่อไปนี้

1. ในบทความนี้ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งกล่าวถึงการกระทำผิดของพระธัมมชโย ทั้งในส่วนของพระวินัย และในส่วนของกฎหมายซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของเรื่องนี้

2. ได้มีการหยิบยกเหตุปัจจัยขึ้นมาวิจารณ์ในทางลบ เพื่อให้เห็นว่าเป็นประหนึ่งเสมือนเป็นบ่อเกิดหรือที่มาของความขัดแย้ง แต่สุดท้ายก็สรุปว่าไม่น่าจะเป็นเหตุแห่งความขัดแย้ง เข้าทำนองตั้งคำถามเอง และตอบคำถามเอง เพื่อชี้นำให้เห็นว่าที่ฝ่ายตรงกันข้ามกับพระธัมมชโย ถือว่าเป็นความผิดนั้นแท้จริงแล้วไม่ผิดหรือเป็นเพียงความผิดเล็กน้อยมองข้ามได้ เหตุปัจจัยที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์พอสรุปได้เป็นประเด็นดังต่อไปนี้

2.1 การเกิดขึ้นของนิกายธรรมยุต น่าจะเป็นเหตุขัดแย้งกับมหานิกายซึ่งเป็นนิกายดั้งเดิม เนื่องจากนิกายธรรมยุตถือว่าตนเองมีฐานะสูงกว่า และบริสุทธิ์กว่า แต่ปัจจุบันความคิดนี้เจือจางลงไปแล้ว จึงไม่น่าจะเป็นเหตุแห่งความขัดแย้ง

2.2 การตีความคำสอนไม่ตรงกัน เช่น พระนิพพานเป็นอัตตาแทนอนัตตาตามพุทธพจน์ที่ปรากฏในคัมภีร์ แต่ก็ไม่ขัดแย้งถึงกับต้องรบราฆ่ากัน อยู่รวมกันได้ เนื่องจากทุกฝ่ายเชื่อเรื่องความไม่เที่ยง เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป คำสอนก็อาจเปลี่ยนไปบ้าง จึงไม่น่าจะเป็นเหตุแห่งความขัดแย้ง

2.3 วัดพระธรรมกายมีคนนับถือมาก จึงสามารถระดมคนจำนวนหมื่นจำนวนแสนในระยะเวลาอันสั้น จึงอาจทำให้รัฐบาลมองว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ ทั้งๆ ที่วัดแห่งนี้ไม่เคยเกี่ยวข้องทางการเมือง

จากเหตุปัจจัย 3 ประการที่หยิบยกขึ้นมาวิพากษ์ 2 ประการแรกจะจบลงด้วยคำว่า ไม่น่าจะเป็นเหตุแห่งความขัดแย้ง ส่วนประการที่ 3 จบลงด้วยคำพูดที่ว่า จึงนึกไม่ออกว่ารัฐบาลก็ดี คนในชนชั้นสูงก็ดี จะคิดว่าวัดพระธรรมกายเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติหรือเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับตน (ได้อย่างไร) จากคำพูดสรุปในประเด็นอนุมานได้ว่า บทความนี้มุ่งแก้ต่างให้แก่พระธัมมชโย และวัดพระธรรมกายในประเด็นที่สังคมรับรู้ว่าเป็นความผิด และในขณะเดียวกัน เปิดประเด็นให้สังคมเข้าใจว่า การเมืองคือเหตุแห่งความขัดแย้งที่แท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น