xs
xsm
sm
md
lg

ร.10พระราชทาน รธน.60 รับสั่งต้องปฏิรูปทุกด้าน เหตุผู้นำฉ้อฉล-ไม่ยำเกรงกฎเกณฑ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ทรงลงพระปรมาภิไทย-พระราชทานพระราชานุมัติตามมติของมหาชนเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กระแสพระราชปรารภย้อนความ ประเทศไร้เสถียรภาพ เกิดวิกฤติหาทางออกไม่ได้ มีผู้ไม่นำพา-ไม่ยำเกรงกฎเกณฑ์บ้านเมือง ทุจริตฉ้อฉลหรือบิดเบือนอำนาจ ขาดสำนึกต่อประเทศชาติ-ประชาชน จำปฏิรูปการศึกษา-กฎหมาย เสริมสร้างความเข้มแข็งระบบคุณธรรม-จริยธรรม พร้อมรับสั่งปวงชนชาวไทยร่วมพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ อันนำมาซึ่งความผาสุกของประเทศ

วานนี้ (6 เม.ย.) เมื่อเวลา 15.00 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากพระที่นั่งอัมพรสถาน ไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงยืนหน้าพระราชอาสน์ หน้าพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร แวดล้อมด้วยเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านเปิดพระวิสูตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่งแตร มโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะทูต สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานองค์กรอิสระ ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ตามตำแหน่งเป็นมหาสมาคม

เมื่อสุดเสียงประโคมแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เชิญรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมา ภิไธยแล้ว พระราชทานแก่นายกรัฐมนตรี เจ้าพนักงานอาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประทับพระราชลัญจกรแล้วเชิญไปประดิษฐานบนพานทองที่เสาบัวหน้ามหาสมาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อ่านกระแสพระราชปรารภประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ช่วงหนึ่งว่า “แม้ได้มีการยกเลิก แก้ไขเพิ่มเติม และประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เพื่อจัดระเบียบการปกครองให้เหมาะสมหลายครั้ง แต่การปกครองก็มิได้มีเสถียรภาพ หรือราบรื่นเรียบร้อย เพราะยังคงประสบปัญหาและข้อขัดแย้งต่างๆ บางครั้งเป็นวิกฤติทางรัฐธรรมนูญที่หาทางออกไม่ได้ เหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีผู้ไม่นำพา หรือไม่นับถือยำเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ทุจริตฉ้อฉล หรือบิดเบือนอำนาจ หรือขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน จนทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล ซึ่งจำต้องป้องกันและแก้ไขด้วยการปฏิรูปการศึกษาและการบังคับใช้กฎหมาย และเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคุณธรรมและจริยธรรม แต่เหตุอีกส่วนหนึ่งเกิดจากกฎเกณฑ์การเมืองการปกครองที่ยังไม่เหมาะสมแก่สภาวการณ์บ้านเมืองและกาลสมัย ให้ความสำคัญแก่รูปแบบและวิธีการยิ่งกว่าหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย หรือไม่อาจนำกฎเกณฑ์ที่มีอยู่มาใช้แก่พฤติกรรมของบุคคลและสถานการณ์ในยามวิกฤติที่มีรูปแบบและวิธีการแตกต่างไปจากเดิมให้ได้ผล

** โจทย์ใหญ่ลดขัดแย้งเพื่อประเทศสงบสุข

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 จึงได้บัญญัติให้มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อใช้เป็นหลักในการปกครอง และเป็นแนวทางในการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น โดยได้กำหนดกลไกเพื่อจัดระเบียบและสร้างความเข้มแข็งแก่การปกครองประเทศขึ้นใหม่ด้วยการจัดโครงสร้างของหน้าที่และอำนาจขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ และสัมพันธภาพระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารให้เหมาะสม การให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่น ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุจริต เที่ยงธรรมและมีส่วนในการป้องกันหรือแก้ไขวิกฤติของประเทศ ตามความจำเป็นและความเหมาะสม การรับรอง ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชน ชาวไทยให้ชัดเจนและครอบคลุมอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยถือว่าการมีสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก การจำกัดตัดสิทธิเสรีภาพเป็นข้อยกเว้น แต่การใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ เพื่อคุ้มครองส่วนรวม การกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต่อประชาชนเช่นเดียวกับการให้ประชาชนมีหน้าที่ต่อรัฐ การวางกลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เข้มงวด เด็ดขาด เพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจในการปกครอง บ้านเมืองหรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ และการกำหนดมาตรการป้องกันและบริหารจัดการวิกฤติการณ์ของประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ตลอดจนได้กำหนดกลไกอื่น ๆ ตามแนวทางที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557ระบุไว้ เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาประเทศ ตามแนวนโยบายแห่งรัฐและยุทธศาสตร์ชาติซึ่งผู้เข้ามาบริหารประเทศแต่ละคณะจะได้กำหนดนโยบายและวิธีดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป ทั้งยังสร้างกลไกในการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญและจำเป็นอย่างร่วมมือร่วมใจกัน รวมตลอดทั้งการลดเงื่อนไขความขัดแย้งเพื่อให้ประเทศมีความสงบสุขบนพื้นฐานของความรู้รักสามัคคีปรองดอง การจะดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ให้ลุล่วงไปได้ จำต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประชาชนทุกภาคส่วนกับหน่วยงานทั้งหลายของรัฐตามแนวทางประชารัฐภายใต้กฎเกณฑ์ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและประเพณีการปกครองที่เหมาะสมกับสถานการณ์และลักษณะสังคมไทย หลักความสุจริต หลักสิทธิมนุษยชน และหลักธรรมาภิบาล อันจะทำให้สามารถขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างเป็นขั้นตอนจนเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งในทางการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

** เชื่อมั่น ปชช.เข้าใจเนื้อ รธน.ดีแล้ว

ในการดำเนินการดังกล่าว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้สร้างความรับรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนในหลักการและเหตุผลของบทบัญญัติต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ เปิดโอกาส ให้ประชาชนเข้าถึงร่างรัฐธรรมนูญและความหมายโดยผ่านทางสื่อต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสารัตถะของร่างรัฐธรรมนูญด้วยการเสนอแนะข้อควรแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ก็ได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญโดยสรุปในลักษณะที่ประชาชนสามารถเข้าใจเนื้อหาสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ได้โดยสะดวกและเป็นการทั่วไป และจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบแก่ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
ในการนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติเสนอประเด็นเพิ่มเติมอีกประเด็นหนึ่งเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติในคราวเดียวกันด้วย การออกเสียงประชามติ ปรากฏผลว่า ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยคะแนนเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นเพิ่มเติมดังกล่าว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติม และได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าเป็นการชอบด้วยผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่ ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมข้อความบางส่วน และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการแก้ไขตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย

** พระราชทานพระราชานุมัติมติมหาชน

ต่อมา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พุทธศักราช 2560 บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมาแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะบางประเด็นได้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ นายกรัฐมนตรีจึงนำร่างรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสืบไป

ทรงพระราชดำริว่าสมควรพระราชทาน พระราชานุมัติตามมติของมหาชน จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมให้ตรารัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ขึ้นไว้ ให้ใช้แทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งได้ตราไว้ ณ วันที่ 22 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 ตั้งแต่วันประกาศนี้ เป็นต้นไป ขอปวงชนชาวไทย จงมีความสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ ในอันที่จะปฏิบัติตามและพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ เพื่อธำรงคงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยและ อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย และนำมาซึ่งความผาสุกสิริสวัสดิ์พิพัฒนชัยมงคล อเนกศุภผล สกลเกียรติยศสถาพรแก่อาณาประชาราษฎรทั่วสยามรัฐสีมา สมดั่งพระบรมราชปณิธานปรารถนา ทุกประการ เทอญ”

**ประโคมฆ้องชัย-ยิงปืนใหญ่ 21นัด

หลังจากอาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อ่านกระแสพระราชปรารภประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จบแล้ว จากนั้นชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ยิงปืนใหญ่ฝ่ายละ 21 นัด และวัดทั่วราชอาณาจักรย่ำระฆังและกลอง ครั้นสุดเสียงปืนใหญ่ มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านปิดพระวิสูตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่งแตร มโหระทึก วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับ

** เชิญรัฐธรรมนูญไว้ที่ทำเนียบฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 6 เมษายน นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เชิญรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จากพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิ มาไว้ที่กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการ ครม.ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรอขั้นตอนนำความขึ้นกราบบังคมทูล เชิญรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ นำไปเก็บรักษาไว้ที่ สำนักราชเลขาธิการ รัฐสภา และกองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯ

นายธีระพงษ์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการต่อไปนี้ คือการเชิญหัวหน้าส่วนราชการเข้ามารับฟังการชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปชี้แจงให้ข้าราชการรับทราบและเข้าใจ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีเรื่องใหม่ๆเข้ามา แต่ยังไม่ได้กำหนดวันและเวลา ส่วนการชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชนทั่วไปนั้น มีรายละเอียดเนื้อหารัฐธรรมนูญในประกาศราชกิจจานุเบกษา

** รบ.ต้องปรับปรุงการทำงานใหม่

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากมีรัฐธรรมนูญใหม่สถานภาพของแม่น้ำ 5 สายจะค่อยๆ สิ้นสุดลงไป แต่ที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือ สิทธิเสรีภาพประชาชน ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีหน้าที่ของรัฐ แต่ครั้งนี้มีหน้าที่ของรัฐในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ และสิทธิของประชาชนได้มีเพิ่มเติมหลายเรื่อง นอกจากนี้ ยังมีอะไรใหม่ๆ แต่จะเกิดขึ้นเมื่อมีรัฐบาลและสภาใหม่ ส่วนการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันจะต้องมีการปรับปรุงในบางส่วนให้ตรงกับรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะนำคำสั่งตามมาตรา 44 มา ปรับปรุงใหม่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นนโยบายของคสช. ที่จะให้ฝ่ายกฎหมายทยอยดูว่าส่วนใดจะยกเลิก ส่วนใดนำมาควบรวมกัน ไม่ให้กระจัดกระจาย ส่วนใดที่จะให้อยู่ต่อหลังการเลือกตั้งให้ทิ้งไว้ ใครจะยกเลิกทีหลังต้องออกเป็นพ.ร.บ. หลายฉบับมีการเขียนระบุไว้ว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเขียนกฎหมาย เมื่อพ.ร.บ.ออกมาคำสั่งนั้นจะถูกยกเลิกไป

** "มีชัย" ยันมีโอกาสเลือกตั้งเร็ว

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณี นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร และความยั่นยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การเลือกตั้งสามารถทำได้ในเดือนมกราคม 2561 ว่า เป็นการคาดการณ์ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างเร็วที่สุด แต่เอาเข้าจริงจะเร็วได้อย่างนั้นหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถแน่ใจว่าทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพรรคการเมือง จะพร้อมได้เมื่อไร และกฎหมายที่จะออกมาในระหว่างทางจะมีปัญหาอะไร บ้างไหม ฉะนั้นเรื่องแบบนี้ไม่มีใครคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ถึงเวลาที่ทำจริงมันมีอะไรก็แก้กันไป แต่จะทำให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ แต่ไม่น่าจะเป็นปลายปีนี้ เพราะถ้านับ 8 เดือนต่อจากนี้ไป ก็ปลายปีนี้พอดี กฎหมายเพิ่งจะทำเสร็จ ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกฎหมายลูก 2 ฉบับแรก คือ พรป.พรรคการเมือง และ พ.ร.ป.กกต. กรธ. ใช้เวลา 3 เดือน กว่าในการพิจารณา ซึ่งเราหวังว่าเมื่อวางพื้นฐานสำหรับ 2 ฉบับแรก แล้วจะสามารถเอาไปใช้พิจารณาฉบับอื่นได้เร็วขึ้น ไม่ต้องไปคิดใหม่ และทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ เราก็สามารถส่งกฎหมายลูกที่พิจารณา 2 ฉบับแรกให้ สนช.ได้เลย โดยไม่ต้องรอ

"ช่วงเวลา 8 เดือนที่พิจารณากฎหมายลูก ทุกคนเตรียม แต่ไม่ใช่กรธ.เตรียม ดังนั้นต้องนึกถึงคนอื่นด้วย ยิ่งพวกพรรคการเมืองใหม่ ที่จะตั้งยิ่งต้องการเวลามาก ส่วนพรรคเก่าก็ต้องการเวลาไม่น้อย เช่น การไปสำรวจว่าสมาชิกมีกี่คน อยู่ที่ไหนบ้าง จะจ่ายเงินกันอย่างไร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย" นายมีชัย กล่าว

นายมีชัย กล่าวว่า ทราบว่ารัฐบาลเขาถอดรหัสออกจากรัฐธรรมนูญแล้ว จะต้องมีกฎหมายที่ต้องรีบทำ ทั้งหมด กี่ ฉบับ และอะไรที่มีระยะเวลาที่ต้องทำให้แล้วเสร็จในระยะสั้น เช่น 120 วัน เขาก็ทำเสร็จแล้ว เช่น กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ และกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินปฏิรูปประเทศ ก็ทำเสร็จแล้ว คาดว่าสัปดาห์หน้าคงส่งให้สนช.ได้ หรือแม้แต่กฎหมายวินัยการเงินการคลัง ก็ทำใกล้เสร็จ ซึ่งทุกคนต้องเตรียมการ และใช้เวลาที่มีอยู่ในตอนนี้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด ไม่มีใครนั่งงอมืองอเท้า ทำกันหาบรุ่งหาบค่ำกันทั้งนั้น

เมื่อถามว่า กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติและกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินปฏิรูปประเทศ จะเสร็จก่อน 120 วันหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า เข้าใจว่าไม่นานเกิน 2 เดือนก็คงเสร็จ ส่วนอาจจะมีผลผูกพันกับอายุสปท. ก็ไม่เป็นไร เพราะเขาอาจคัดคนจาก สปท.ไปทำให้อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งในกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินปฏิรูปประเทศจะมีบอกว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ต้องใช้คนในสาขาต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งจากประชาชน หรือผู้ที่สนใจไปร่วมกันทำในอีกรูปแบบหนึ่งไม่ใช่แบบสภา เพราะครั้งนี้เป็นการลงมือทำจริงให้บังคับใช้ได้ ซึ่งสปท. ก็ทราบมาตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว สปท. คงไม่มีอะไรที่ต้องกังวลเพราะจบก็จบ กรธ. เมื่อทำกฎหมายลูกเสร็จก็จบเหมือนกันที่จะเหลืออยู่ยาวนานคือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สนช.ที่ต้องรอรัฐบาลใหม่

** “บิ๊กตู่” แจงวันนี้แค่นับหนึ่งสู่การเลือกตั้ง

วันเดียวกัน โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่คำแถลงการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ภายหลังข่าวพระราชสำนัก มีใจความโดยสรุปว่า คสช.และองค์กรที่เกี่ยวข้องจะยังคงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยมีภารกิจสำคัญใน การวางยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว เพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งนี้ คสช.และรัฐบาล มิได้เข้ามาเพื่อต้องการอำนาจและผลประโยชน์ หรืออยู่ยาวนาน โดยปล่อยให้ผ่านไปแต่ละวันโดยเปล่าประโยชน์ หากแต่ต้องการแก้ปัญหาเดิมๆที่ค้างคาอยู่จนเป็นกับดักสกัดความเจริญของชาติ

ส่วนประเด็นเรื่องการจัดการเลือกตั้งนั้น นายกฯกล่าวว่า ภายใน 5 เดือนนับจากวันประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งครบ 4 ฉบับ รัฐบาลไม่สามารถระบุได้ชัดแจ้งว่าวันเลือกตั้งจะเป็นเมื่อใด เพราะยังไม่อาจกำหนดวันเริ่มต้นของแต่ละเหตุการณ์ได้ บัดนี้เราทราบเพียงวันเริ่มต้นนับหนึ่งของเหตุการณ์แรกคือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ต่อจากนั้น เหตุการณ์อื่นๆ ก็จะขับเคลื่อนเลื่อนไหลไปตามลำดับ อันที่จริงไม่ว่าใครก็ไม่อาจระบุวันเวลาชัดเจนได้

“คณะรักษาความสงบแห่งชาติก็จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป บรรดาประกาศและคำสั่งของ คสช. หรือหัวหน้า คสช. ที่ออกไปแล้วยังคงมีผลใช้บังคับ อำนาจตามมาตรา 44 ยังคงมีอยู่ ซึ่งจะใช้ภายใต้หลักเกณฑ์เดิม คือ ใช้เท่าที่จำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของประเทศ หรือเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปและแก้ปัญหาของประเทศ ซึ่งไม่อาจใช้มาตรการปกติได้ทัน หากเนิ่นช้าออกไปจะเกิดความเสียหายแก่ส่วนรวม” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ.
กำลังโหลดความคิดเห็น