xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธศาสตร์ไทยต่อ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ OBOR ของจีน"/ เอนก เหล่าธรรมทัศน์

เผยแพร่:   โดย: เอนก เหล่าธรรมทัศน์

(ภาพจาก http://www.neoias.com/index.php/neoias-current-affairs/505-one-belt-one-road-obor)
หมู่นี้หลายวงมาชวนให้คิดว่าไทยเราจะสนองตอบมหายุทธศาสตร์ของจีนที่เรียก One Belt One Road (OBOR) หรือ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ซึ่งในสายตาผมคือ ยุทธศาสตร์จีนในการสร้าง "เส้นทางสายไหม" ทางบกและทางทะเลขึ้นมาใหม่ อย่างไรดี ?

One Belt One Road หรือ ที่เรียกโดยย่อว่า OBOR นี้ คือยุทธศาสตร์ระดับโลกของจีน ในการเชื่อมโยงทางคมนาคมขนส่ง และร่วมมือกันในทางเศรษฐกิจ การค้าการ และ ลงทุน ตลอดจนผูกความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม และทางสังคม เข้ากับ เอเชียกลาง ยุโรป และอัฟริกา ทั้งทางบกและทางทะเล ขึ้นมาใหม่

กล่าวอีกอย่างหนึ่ง จีนกำลังจะฟื้น "เส้นทางสายไหม" ขึ้นมาใหม่ ทั้งที่เป็นเส้นทางภาคพื้นทวีป (ทางบก) ที่เรียกว่า One Belt และเส้นทางมหาสมุทร (ทางน้ำ) ที่เรียกว่า One Roadให้เศรษฐกิจในภูมิภาคนึ้ของโลกคึกคักหนักแน่น ในภาคพื้นทวีป เส้นทางสายไหม "ใหม่" จะหมายถึงการคมนาคมขนส่งและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่จะเชื่อมจีนเข้ากับเอเชียกลาง คอเคซัส รัสเซีย ยุโรปตะวันออก ยุโรปกลาง และยุโรปตะวันตก ส่วนเส้นทางสายไหมใหม่ทางทะเลจะอิงตามเส้นทางเรือที่ครั้งหนึ่งเชื่อมจีนเข้ากับเกาหลี ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา ไทย พม่า บังคลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน อิหร่าน และตะวันออกกลาง เข้าไปในทะเลแดง และจบลงที่ตุรกีและทะเลเมดิเตอเรเนียน หรือ อีกทางหนึ่ง ไปต่อในมหาสมุทรอินเดีย ไปเรื่อยๆ จนถึงชายทะเลด้านตะวันออกของทวีปอัฟริกา

เส้นทางสายไหมใหม่ทั้งทางบกและทะเลที่จีนจะชวนประเทศต่างๆ สร้างขึ้นนี้ จะเชื่อมโยงจีนเข้ากับเอเชียแทบทั้งทวีป รวมทั้งผนวกเข้ากับยุโรป และอัฟริกาได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็อาจจะทิ้งอเมริกาให้โดดเดี่ยวจมอยู่ในที่ตั้ง ขณะเดียวกัน เส้นทางนี้ก็ย่อมโน้มน้าวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ให้ยิ่งต้องเข้าใกล้เอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยิ่งขึ้น

หากสร้างได้สำเร็จ นอกจากเศรษฐกิจจะก้าวกระโดดครั้งใหญ่ หากยังบวกกับความเข้มแข็งทางทหารที่มากขึ้นได้ด้วย จีนจะผงาดเป็นมหาอำนาจโลกทางบกได้ เพราะคุม "ยูเรเชีย" (ยุโรปกับเอเชีย) ได้ พร้อมๆกับที่โผขึ้นเป็นมหาอำนาจโลกทางทะเล เพราะเข้ากุมมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันตกและมหาสมุทรอินเดียได้

ด้วยนัยทางยุทธศาสตร์ต่อโลก ที่มากพ้นไปกว่าการเชื่อมมิตรสัมพันธ์และร่วมมือกันในทางเศรษฐกิจ สิ่งที่เรียกว่า "มหายุทธศาสตร์" One Belt One Road นี้ ย่อมกระทบกระเทือนบรรดามหาอำนาจอื่นๆของโลกอย่างแน่นอน

มหาอำนาจที่น่าจะไม่ไว้วางใจ OBOR ที่สุด เฝ้าระวังที่สุด เห็นจะเป็นอเมริกา ส่วนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์นั้นคงไม่มีอะไรขัดแย้งกับยุทธศาสตร์นี้ น่าจะหวังผลจากการเติบโตยิ่งขึ้นอีกของเอเชียอยู่แล้ว ยุโรปอาจไม่สนิทใจนักกับอนาคตที่จีนจะคุมยูเรเชียได้มากขึ้น แต่ก็หวังเอาการเติบโตครั้งใหญ่ของเอเชียมาฉุดเศรษฐกิจที่ค่อนข้างหยุดนิ่งมานาน ไม่มีหนทางแก้ไขง่ายๆ ให้เดินหน้าต่อไป ส่วนรัสเซีย ที่จริง ก็หวั่นว่าจีนจะขึ้นมาคุมยูเรเชียไม่น้อย แต่ก็ด้วยเหตุว่าในรอบหลายปีมานี้ ถูกอเมริกาและยุโรปกดดันมากในไครเมีย ยูเครน รวมทั้งสหภาพยุโรปยังขยายตัวไม่หยุดยั้ง แม้แต่ยูเครนซึ่งประชิดติดอยู่กับรัสเซียก็ไม่ละเว้น ทำให้มหาอำนาจชาตินี้ต้องหันมาเป็นมิตรกับจีนมากขึ้น เป็นการถ่วงดุลย์อำนาจไว้ และก็หวังด้วยว่าทางหลวงและรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมร้อยตนเข้าจีนและเอเชียกลาง-ยุโรป จะร่วมกันดึงรัสเซียให้ออกจากการวงล้อมทางเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปพอสมควร

มีอีกสองชาติอำนาจที่ไม่สู้จะสบายใจกับอำนาจหรือบารมีทางการเมืองของจีนที่จะเพิ่มขึ้นอีกมากมายอันเนื่องมาจาก ยุทธศาสตร์ OBOR คือ เวียดนามและญี่ปุ่น ทั้งสองชาตินี้ล้วนขัดแย้งกับจีน เคยปะทะ หรือหวุดหวิดจะปะทะ กับจีนในทะเลจีนตะวันออกและจีนใต้มาแล้ว เวียดนามนั้นกระเหี้ยนกระหือจะเผชิญหน้ากับจีนมากกว่าญี่ปุ่นเสียอีก แต่ประเทศที่มีประชากรเกือบ100 ล้านคนนี้ ก็เล็กเกินไปที่จะขัดขวาง OBOR และถึงอย่างไรก็ตัดขาดจากจีนในทางเศรษฐกิจไม่ได้

ญี่ปุ่น เป็นชาติอำนาจใกล้จีนมาก มีประชากร 120 ล้าน มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่สามของโลก ขัดแย้งกับจีนในทะเลอย่างหนัก จนต้องเคลื่อนเข้าใกล้ชิดสหรัฐจนเกินงามในสายตาของจีน ญี่ปุ่นมีผลประโยชน์และอนาคตในเอเชียอาคเนย์และในจีนกับเกาหลีใต้มาก แต่หากสหรัฐไม่ออกหน้า ญี่ปุ่นคงไม่กล้าออกมาค้าน มหายุทธศาสตร์ OBOR แต่จะเฝ้าดูจีนอย่างใกล้ชิดต่อไป

ที่สำคัญต่อ จีนและ OBOR มากกว่ารัสเซีย มากกว่ายุโรป และ ญี่ปุ่น ย่อมเป็นที่แน่นอนครับ สหรัฐอเมริกา เวลานี้ นอกจากจะเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกในทางเศรษฐกิจแล้ว ยังกุมทะเลมหาสมุทรได้เกือบทั้งโลก แม้ว่าจะคุมยูเรเชียในทางบกไม่ได้ แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าโดยภาพรวมแล้ว สหรัฐคือผู้ครองโลก อยู่ และด้วยเหตุนี้จึงดูอ่อนไหวมากต่อยุทธศาสตร์สอง"เจ้าของ" ของจีน หนึ่ง เป็นเจ้าของใหญ่ของดินแดนยูเรเชีย และ สอง แย่งหรือแบ่งความเป็นเจ้าของมหาสมุทรมาจากอเมริกาบ้าง

กลับมาที่ไทย แน่นอนอีกว่าเราคงจะปฏิเสธจีนและ OBOR ไม่ได้ ความที่เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิด มีความสัมพันธ์กันย้อนไปเป็นหลายร้อยหรือเป็นพันปี ปัจจุบันจีนยังเป็นคู่ค้าหมายเลขหนึ่งของไทย และส่งนักท่องเที่ยวให้ไทยมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกทีเดียว และความสัมพันธ์จีน-ไทยก็จัดว่าใกล้ชิดและราบรื่นยิ่ง กระนั้นก็ตาม จะทำอะไรอย่างไรกับ OBOR ของจีน คงต้องระมัดระวังอารมณ์ความรู้สึกของมหาอำนาจอื่นๆด้วย

แม้ว่าความสัมพันธ์จีน-ไทยนั้นดีมากใกล้ชิดและราบรื่นมาก และจีนเองก็ถือว่าความสัมพันธ์กับเรานั้นอยู่ในแถวแรกสุด เทียบกับความสัมพันธ์ที่มีต่อประเทศอื่นๆทั่วโลก แต่ อย่าลืมว่าความสัมพันธ์ของเรากับสหรัฐก็ดีมาก ถึง แม้ว่าระยะหลังจะตึงเครียดบ้าง แต่โดยรวมก็ไม่ยิ่งหย่อนกว่าที่เรามีกับจีนนัก เราเป็น non-NATO major ally ของสหรัฐด้วย

ขณะเดียวกัน เราจะทิ้ง จะห่าง จะไกลอาเซียนก็ไม่ได้ เพราะพิสูจน์มาแล้วว่าอาเซียนนั้นเพิ่มพลังให้กับเรามากในการอยู่ร่วมกับมหาอำนาจทั้งหลายรวมทั้งกับ ยุโรป อินเดีย และญี่ปุ่น

ในโลกยุคปัจจุบัน ที่ดอนัลด์ ทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดี และจีนกำลังมุ่งทำ OBOR สหรัฐลดความสนใจเอเชียลงลดความผูกมัดกับการอยู่ร่วมกันในกระบวนการโลกาภิวัตน์ ทรัมป์หันมาแก้ปัญหาของอเมริกาเองก่อนอื่น เป็นชาตินิยมมากขึ้น มีเค้าจะทำสงครามการค้ากับจีนและเอเชียมากขึ้น แนวโน้มการประชันขันแข่งระหว่างจีนกับอเมริกาแม้จะเปลี่ยนรูปเปลี่ยนทิศไปบ้าง แต่โดยรวมเชื่อว่าความขัดแย้งสองมหาอำนาจน่าจะทบทวีขึ้น เช่นนี้ เราไม่ควรเข้าข้างใครมากนัก ไม่ใช่กงการอะไรของไทยว่าระหว่างจีนกับอเมริกานั้นใครจะแพ้ใครจะชนะ ใครจะเป็นเจ้าโลก หลังจากมี OBOR ออกมาแล้ว และ ขณะเดียวกัน เราควรจะต้องรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับญี่ปุ่นให้ดีด้วยความอบอุ่นเป็นพิเศษต่อไป ให้สมกับที่เราชาตินั้น ไม่เคยรบหรือแทบไม่ขัดแย้งกันมาเลย ต่างจากหลายชาติมากในเอเชีย ในช่วงสงครามโลก และการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยก็ยังคงสูงเป็นอันดับหนึ่ง ความสัมพันธ์กับยุโรปก็ต้องรักษาให้ดีต่อไป แม้จะไม่สำคัญต่อไทยเท่าสหรัฐ จีน และญี่ปุ่น แต่ก็ถือว่าสำคัญทีเดียว

นอกจากต้องเข้าร่วม OBOR แต่ต้องดำเนินยุทธศาสตร์รักษาพหุมิตรและอยู่ให้ดีกับพหุอำนาจต่อไป ยังควรพยายามใช้อาเซียนและเออีซีในการเจรจาต่อรองกับจีนในการทำ OBOR ให้ได้ด้วย ย่อมดีกว่าการทำงานกับจีนโดยไม่ใช้พลังร่วมของอาเซียนมาเพิ่มน้ำหนักให้เราเลย

เราต้องเร่งคิดว่าจะมีโครงการอะไรที่จัดอยู่ใน OBOR แต่เป็นประโยชน์กับเราด้วย ไม่ใช่เป็นฝ่ายสนองตอบต่อโครงการของจีนเท่านั้น เราต้องถือว่าขณะนี้ไทยไม่ใช่ลูกไล่หรือลูกน้องมหาอำนาจใดๆแล้ว เราตัองเป็นอิสระให้มากขึ้น และกล้าคิด คิดเป็น คิดจากผลประโยชน์เราเป็นหลักให้มากขึ้น และ ตระหนักว่าเราต้องเป็น "ชาติอำนาจระดับกลาง"ได้แล้ว ให้สมกับที่โลกในเวลานี้จัดให้เราเป็นประเทศ"รายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง" (higher middle income) แล้ว ทราบกันหรือยังว่าเราไม่ใช่ประเทศ"ยากจน" หรือไม่ใช่ประเทศ "รายได้ปานกลางกระเดียดไปทางรายได้ต่ำ" (lower middle income) อีกแล้ว

อนึ่ง โปรดสังเกตว่าโครงการ OBOR ที่สำเร็จในประเทศอื่นๆมาแล้ว มักจะเป็นเพราะ win-win สองฝ่ายเสมอ ฉะนั้น โครงการรถไฟความเร็วสูงนั้น ผมขอสนับสนุนว่า ถ้าไทยไม่ค่อยได้อะไร หรือได้ไม่พอ ก็ขออย่ารีบที่จะเข้าร่วม ควรเจรจาจนเราพอใจ และควรจะเสนอโครงการที่เริ่มจากผลประโยชน์ของเราบ้าง เช่น การใช้อ่าวไทยในการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์-ธรรมชาติและในการคมนาคมขนส่งให้มากขึ้น หรือการทำการท่องเที่ยว "สามเส้า" จีน-ไทย-สุวรรณภูมิ (พม่า กัมพูชา ลาว)ให้มากขึ้น

เราอาจกล้าถึงขนาดปฏิเสธที่จะไม่ทำรถไฟความเร็วสูงที่เราจะได้ประโยชน์น้อยเกินไป หรือ กล้ายืนยันที่จะไม่ขุดคลองตัดแผ่นดินไทยเชื่อมสองทะเลสองมหาสมุทร หรือกล้าที่จะไม่เข้าร่วมการขุดเกาะแก่งกลางแม่น้ำโขงที่เราเสียผลประโยชน์มากไป อย่างที่จีนต้องการ ต้องไม่เงียบหรือเกรงใจจีนจนเกินไปครับ

ควรถือเป็นหลักว่า หากจะทำอะไรที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของ OBOR เราจะต้องได้ผลประโยชน์มากพอ และ บางครั้ง มีเงื่อนไขหรือหลักการบางอย่างที่เขาจะตัองยอม และถ้าเขายอมไม่ได้ และหันไปทำอะไรกับเพื่อนบ้านประเทศอื่นๆ แทน ก็ต้องให้เขาทำครับ ไม่อิจฉาใคร และไม่เลียนแบบใครที่ทำอะไรกับเขาไปแล้ว

ส่งท้าย การทำ OBOR นั้นต้องสุภาพ ต้องเป็นมิตร รักษาน้ำใจไมตรี แต่ก็ต้องรู้และรักษาประโยชน์ของเราเองให้มาก ทำ OBOR กับจีน นั้น ต้องให้ได้ประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายจริงๆ เชื่อว่าจีนก็ยอมรับหลักการเช่นนั้นได้ ความสัมพันธ์เพื่อนต่อเพื่อนนั้น หากจะยั่งยืนต้องสุจริตและจริงใจด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น