xs
xsm
sm
md
lg

บันทึกลับ! ไพ่ฝากจากทักษิณในรัฐบาลทหาร (ตอนที่ 10) : เฉลยปริศนา "หม่อมอุ๋ย" คอนเน็กชั่น (ไม่อ่านเสียดายแย่)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


"ณ บ้านพระอาทิตย์"
"โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์"

การที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎหมายปิโตรเลียมที่เสนอโดยกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันที่คณะกรรมาธิการฯ จัดทำ รายงานการศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พรบ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 เสร็จสิ้น และอยู่ในระหว่างกระบวนการรอเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณารับรองผลการศึกษา นั้น เท่ากับว่าคณะรัฐมนตรีไม่ได้สนใจในผลการศึกษาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสียด้วยซ้ำไป จริงหรือไม่? จากนั้นจึงส่งร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบในวาระที่ 1 รับหลักการวันที่ 24 มิถุนายน 2559

แต่ความจริงปรากฏว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมิได้เป็นระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างผลิตแบบสากลอย่างแท้จริง แต่กลับมีผลในทางปฏิบัติกลับไปเป็นระบบสัมปทานเหมือนเดิม เพราะไม่มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้ามาดูแลในการบริหารและขายปิโตรเลียมที่จะตกเป็นของรัฐ ทำให้ต้องฝากเอกชนทั้งบริหารและขายแทนรัฐทั้งหมดเหมือนกับสัมปทานไม่มีผิดเพี้ยน จริงหรือไม่?

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ยื่นหนังสือคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2558 โดยระบุเหตุผลว่าเป็นร่างกฎหมายที่มีช่องโหว่ให้ทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวค้างเติ่งอยู่ใน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่พิจารณากฎหมายมาร่วม 9 เดือน

ผลปรากฏต่อมาว่า คณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายปิโตรเลียม ได้เพิ่มมาตรา 10/1 ระบุให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อพร้อม ก็ปรากฏว่าแม้การบัญญัติบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเพียงในรูปเป็นเงาจางๆ แต่ก็ทำให้กลุ่มทุนพลังงานมีความตระหนกตกใจ เกรงกลัวว่าจะกระทบธุรกิจของกลุ่มทุนพลังงาน เพราะเมื่อบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจัดตั้งแล้วก็จะต้องเข้ามารับโอนทรัพย์สินที่ผูกขาด (โดยเฉพาะท่อก๊าซธรรมชาติ) เพื่อทำให้เอกชนสามารถประมูลแข่งขันเสรีและเป็นธรรมในการผลิตปิโตรเลียม ะมีสภาพบังคับทำให้ต้องตรวจนับปริมาณปิโตรเลียมทุกหยดที่รัฐจะได้ แทนการรอให้กลุ่มทุนพลังงานรายงานตัวเลขแต่เพียงฝ่ายเดียว

กลุ่มทุนพลังงานเกือบจะเพลี่ยงพล้ำ แต่ก็ได้แม่ทัพสำคัญอย่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ออกมาจากที่กบดาลมาแถลงข่าวคัดค้านบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยวาดภาพว่ามีนายทหาร 6 คน พยายามผลักดันการตั้งบรรษัทฯ เพื่อจะให้กรมพลังงานทหารเข้ามามีผลประโยชน์ จริงหรือไม่?

ทั้งๆที่ในความเป็นจริงมาตรา 10/1 ไม่ได้มีข้อความเกี่ยวกับทหารแม้แต่คำเดียว!!!

ปรากฏว่าหมากกลของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่วาดภาพความน่ากลัวให้แก่บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ว่าจะนำประเทศไทยย้อนยุคกลับไปห้าสิบปีเป็นน้ำมันสามทหารนั้นได้ผล เป็นหมัดเด็ด โป้งเดียวจอด!!!

พลเอกประยุทธ์ต้องออกมาปัดป้องแก้ตัวพัลวัน ปฏิเสธว่าทหารไม่ได้ต้องการจะเข้าไปมีส่วนควบคุมบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ และประกาศเสมือนว่าจะให้ ปตท. เป็นผู้ทำหน้าที่บรรษัทน้ำมันแห่งชาติแทน ทั้งๆที่ปตท.มีผู้ถือหุ้นเป็นเอกชนและต่างชาติอยู่เกือบครึ่งหนึ่ง จะนำทรัพย์สินของชาติทีได้จากแปลงสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุ ไปให้ผู้ถือหุ้นเอกชนเหล่านี้ จะมีความชอบธรรมได้อย่างไร?

และในที่สุด วันที่ 30 มีนาคม 2560 ในระหว่างการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวนหนึ่งได้อภิปรายรบเร้าขอให้ คณะกรรมาธิการฯ ถอน มาตรา 10/1 ออกไป จนทำให้ต้องมีการถอนมาตรา 10/1 ออกไปได้ในที่สุด !!!

คำถามเบื้องหลังการที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ออกโรงเองครั้งนี้ มาจากไหน? เพราะอะไร? และมีความสัมพันธ์กับกลุ่มทุนพลังงานหรือไม่อย่างไร?

ต้องย้อนกลับไปเมื่อครั้ง นายโสภณ สุภาพงษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด เคยกล่าวในเวที กปปส. ว่าตนเองได้ถูกนายทักษิณเรียกไปชี้แจงเกี่ยวกับกรณีทุจริตการหมุนเวียนหาประโยชน์ที่มิชอบระหว่างน้ำมันส่งออกกับน้ำมันที่ใช้ในประเทศ ทำให้รับทราบถึงความสนใจธุรกิจพลังงานของนายทักษิณ

แต่บุคคลที่ทำให้นายทักษิณเริ่มเข้ามาสนใจธุรกิจพลังงานจริงจังนั้น น่าจะเป็นนายอัล ฟาเยด ซึ่งเคยเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าแฮร์รอดส์ โดยนายอัล ฟาเยด ได้มายื่นขอสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมในไทย 2 แปลง และได้รับการแนะนำให้รู้จักนายทักษิณ และต่อมาในปี 2546 ก็ปรากฏข่าวในบีบีซีว่านายทักษิณสนใจเสนอซื้อสโมสรฟุตบอลฟูลแลมของนายอัล ฟาเยด แต่ไม่สำเร็จ ภายหลังนายทักษิณจึงเบนเข็มไปซื้อสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี้แทน

บทบาทของนายทักษิณในธุรกิจพลังงานมีจริงหรือไม่ ก็ต้องติดตามบทความเขียนอยู่ในเว็บไซต์ ThaiPublica เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 เมื่อมีข่าวว่าบริษัทมูบาดาลาได้เข้าร่วมทุนผลิตปิโตรเลียมแหล่งนงเยาว์ในอ่าวไทยกับบริษัทคริส เอ็นเนอร์ยี ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเทมาเส็ก ผู้ที่ซื้อกลุ่มบริษัทชินคอร์ปไปจากครอบครัวนายทักษิณ ซึ่งผู้เขียนบทความได้เจาะลึกตั้งคำถามว่านายทักษิณอยู่เบื้องหลังการให้สัมปทานแหล่งนี้ จริงหรือไม่?

สอดคล้องกับข่าวก่อนหน้านี้ว่า พล.อ.เตีย บัณห์ รัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา เคยให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2551 ว่า "พ.ต.ท.ทักษิณเคยเสนอที่จะเข้ามาลงทุนโครงการพลังงานในกัมพูชา”

สาเหตุที่ข่าวดังกล่าวดังขึ้นในประเทศไทยเพราะผู้บริหารของบริษัทมูบาดาลาได้เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บริหารของสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี้ ที่นายทักษิณเพิ่งขายให้แก่สมาชิกของราชวงศ์ผู้ปกครองรัฐอาบูดาบี และบุคคลนี้เกี่ยวข้องกับบริษัทมูบาดาลาจริงหรือไม่? ซึ่งการขายสโมสรฟุตบอลดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังที่กลุ่มในเครือบริษัทมูบาดาลา (กลุ่มเพิร์ล ออย) ได้รับโอนสัมปทานจาก 2 บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่โดยนายชาติชาย เย็นบำรุง ซึ่งเป็นบุคคลที่เคยทำงานร่วมกับนายทักษิณ ชินวัตรเพราะเคยทำงานเป็นผู้จัดการทั่วไปของบริษัท ชินวัตรไดเร็กทอรี่ส์ จำกัด จริงหรือไม่?

และนายสรรเสริญ สะมะลาภา อดีต ส.ส.พรรคประชาติปัตย์ ได้เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภา บรรยายถึงการขายสโมสรฟุตบอลดังกล่าวระบุว่า
   
    “การซื้อสโมสรฟุตบอลนั้นไม่ใช่ซื้อแบบธรรมดา เพราะทักษิณซื้อมา 5,000 ล้าน แต่ขายให้ชีค มานซูร์ 10,000 ล้าน ทั้งๆที่บริหารมาประมาณ 1 ปี ขาดทุนเพิ่ม 1,700 ล้าน และมีหนี้เพิ่ม 3,900 ล้าน อย่างนี้ไม่เรียกว่าต่างตอบแทนแล้วจะเรียกว่าอะไร?”
(อ่านย้อนหลัง "บันทึกลับ! ไพ่ฝากจากทักษิณในรัฐบาลทหาร?" ในเว็บไซต์ผู้จัดการ)

การปฏิวัติจะทำให้การหาประโยชน์จากสัมปทานปิโตรเลียมเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะไม่มีพรรคฝ่ายค้านในสภา? โดยในช่วงหลังการปฏิวัติปี 2549 รัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้เร่งสานต่อให้สัมปทานรอบที่ 19 ที่ยื่นความจำนงเข้ามาในช่วงรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร และนอกจากนั้นยังได้มีการประกาศเพิ่มด้วยการเปิดให้สัมปทานรอบที่ 20 อีกด้วย ซึ่งมีการให้สัมปทานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งแก่ในเครือกลุ่มบริษัทมูบาดาลา (กลุ่มเพิร์ล ออย) และรวมถึงบริษัทที่จัดตั้งโดยนายชาติชาย เย็นบำรุง ใช่หรือไม่?

และต้องไม่ลืมด้วยว่าในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในขณะที่นายปิยสวัสดิ์ อัมะรนันทน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทั้ง 2 คนนั้นไม่เพียงแต่ทำงานร่วมกันในคณะรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ยังเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยมีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นกรรมการ ร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายพลังงานทั้งปวงในช่วงหนึ่งด้วย โดยร่วมกันเอื้อประโยชน์เอกชนผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมกันขนาดไหนหรือไม่? ให้ติดตามผลงานการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายปิโตรเลียมดังนี้

มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 4/2549 (ครั้งที่ 107) เมื่อวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2549 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ (กพช.) โดยในวาระเรื่องที่ 5 การแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ข้อที่ 2.2 แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ได้แก่

-ปรับปรุงกรณีที่ผู้รับสัมปทานสามารถขอขยายอายุสัมปทาน เมื่อการประกอบกิจการปิโตรเลียมส่วนใหญ่ ต้องหยุดชะงักลง ให้ครอบคลุมถึงกรณีที่มิใช่ความผิดของผู้รับสัมปทาน

-ยกเลิกการจำกัดจำนวนแปลงและพื้นที่รวมของแปลงสำรวจ

-กำหนดให้ผู้รับสัมปทานหลายรายที่มีพื้นที่คาบเกี่ยวกัน ในแหล่งสะสมปิโตรเลียมแหล่งเดียวกัน หรือต่างแหล่งกัน และการผลิตปิโตรเลียมของผู้รับสัมปทานรายหนึ่งรายใด ไม่คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์สามารถร่วมกันผลิตได้

-กำหนดให้อธิบดีสั่งให้บุคคลอื่นเข้าดำเนินการบำบัดป้องกันความโสโครก จากการประกอบกิจการปิโตรเลียมโดยผู้รับสัมปทานได้ โดยให้ผู้รับสัมปทานเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

-กำหนดให้ผู้รับสัมปทานต้องเสนอแผนงาน งบประมาณประจำปี และงบการเงินประจำปีต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

-ปรับเพดานอัตราและระยะเวลาการลดหย่อนค่าภาคหลวงเพิ่มขึ้น สำหรับแหล่งที่มีสภาพธรณีวิทยาไม่เอื้ออำนวย หรือแหล่งที่มีอัตราการผลิตลดต่ำลง หรือแหล่งที่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงกว่าปกติ

-เพิ่มข้อกำหนดให้รัฐมนตรีสามารถเปลี่ยนแปลงค่าคงที่ทางธรณีวิทยา ได้ในกรณีที่เห็นสมควร

(หมายเหตุ คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้เคยศึกษาถึงปัญหากฎหมายพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่องธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศ ภาคที่ 2)

ดังนั้นแสดงให้เห็นว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นผู้ที่รู้เรื่อง พรบ.ปิโตรเลียม เป็นอย่างดี เพราะได้เคยอาศัยบทบาทของประธานคณะกรรมกานโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการออกมติเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับสัมปทานเอกชนเพิ่มขึ้น จริงหรือไม่?

ส่วนสายสัมพันธ์ระหว่าง ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล กับ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์นั้น ปรากฏในหนังสือบันทึกรัฐมนตรีหญิง โดยคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 2553 ระบุจากคำสัมภาษณ์ของนายปิยสวัสดิ์ ระบุว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เป็นฝ่ายโทรศัพท์ชวนให้นายปิยสวัสดิ์ มารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานด้วยตัวเอง

จากผลงานดังกล่าวข้างต้น นายทักษิณ ชินวัตร ก็น่าจะพึงพอใจในนโยบายพลังงานเหล่านี้หรือไม่? ด้วยเหตุผลดังนี้

1. แม้นายทักษิณ ชินวัตร จะต้องหลบหนีอยู่ต่างประเทศ แต่ในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ สามารถมีนักธุรกิจมาซื้อทีมฟุตบอลของนายทักษิณในราคาที่แพงกว่าที่ซื้อมาถึง 2 เท่าตัว จริงหรือไม่? ซึ่งบังเอิญหรือไม่ที่นักธุรกิจนั้นมีสายสัมพันธ์กับผู้ที่ได้ประโยชน์ในการทำธุรกิจพลังงานในประเทศไทยในช่วงนั้นพอดี และได้รับประโยชน์จากมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่มีประธานคือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือไม่? และได้รับประโยชน์จากการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 19 และ 20 ของกระทรวงพลังงานที่มีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จริงหรือไม่?

2. ฝีมือการแปรรูปบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีนายปิยสวัดิ์ อัมระนันทน์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ทำให้มีเอกชนจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งได้ทั้งอำนาจมหาชน และท่อก๊าซธรรมชาติในทะเลจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยไปด้วย

การยังไม่ได้ส่งคืนท่อก๊าซธรรมชาติในทะเลแก่รัฐ ในขณะที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนั้น ทำให้ ปตท.ยังคงผูกขาดกิจการก๊าซธรรมชาติโดยปริยายจริงหรือไม่ ส่งผลทำให้ถือหุ้นทั้งเอกชนในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงหุ้นของผู้มีอุปการคุณของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งถูกแปรรูปไปตั้งแต่ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ยังคงได้รับประโยชน์ต่อไปจริงหรือไม่?

3. ในสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนั้น ได้มีการต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมไปอีก 10 ปี ให้กับแหล่งเอราวัณซึ่งนำโดย บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัดและคณะ และต่ออายุสัมปทาน 10 ปีให้กับแหล่งบงกช ซึ่งนำโดย บริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) ด้วยจริงหรือไม่?

การต่อสัมปทานอายุ 10 ปีดังกล่าวในรอบนั้น ย่อมเป็นประโยชน์ไม่เพียงแต่ผู้ถือหุ้นในเครือเชฟรอนเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นของบริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ก็คือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีผู้ถือหุ้นทั้งเอกชนในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงหุ้นของผู้มีอุปการคุณของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งถูกแปรรูปไปตั้งแต่ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ได้รับประโยชน์ต่อไปอย่างมั่นคงด้วย จริงหรือไม่?

เพราะถ้าย้อนกลับไปดูการแปรรูป ปตท. จะเห็นได้ว่า มีการจัดสรรสิทธิการจองซื้อหุ้นให้แก่ (ก) ผู้บริหารและพนักงาน ปตท. (ข) ผู้มีอุปการคุณที่ ปตท. กำหนด (ค) โควต้าให้แก่โบรกเกอร์ที่แจกให้แก่ครอบครัวนักการเมือง และ (ง) โควต้านักลงทุนต่างชาติ ที่ส่วนหนึ่งอาจเป็น “ฝรั่งหัวดำ” ซึ่งก็คือคนไทยที่มีบริษัทในเกาะฟอกเงินและเป็นนอมินีนักการเมืองหรือไม่ รวมถึงหุ้นอุปการคุณทั้งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อ้างว่าไม่สามารถเปิดเผยได้ (อ่านย้อนหลัง : บันทึกลับ! ไพ่ฝากจากทักษิณในรัฐบาลทหาร (ตอนที่ 4) : เปิดตัวไอ้โม่ง, ผู้มีอุปการคุณ และ พยานปากสำคัญ!? ในเว็บไซต์ผู้จัดการ)

บุคคลที่ได้สิทธิพิเศษซื้อหุ้นเหล่านี้ จึงเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการใช้สิทธิมหาชนของรัฐมาโดยตลอด และการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติย่อมจะกระทบถึงกระเป๋าของบุคคลเหล่านี้เต็มที่ กำไรจะลด ราคาหุ้นจะลด บริษัทพลังงานจะถูกบีบให้ต้องดิ้นรน แข่งขันในเชิงธุรกิจแบบไม่มีแต้มต่อ ใช่หรือไม่?

ทั้งนี้ในอดีตที่ผ่านมา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุลเคยมีสัมพันธ์กับนายทักษิณ ชินวัตร ผ่าน ดร. วีรพงษ์ รามางกูร เพราะทั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร และ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เคยแชร์อพาร์ตเมนท์ในระหว่างการเรียนที่มหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกาด้วยกัน และนายทักษิณ ชินวัตร ก็ให้น้ำหนักรับฟัง ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อยู่พอสมควร ใช่หรือไม่? และต่อมานายทักษิณแต่งตั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2544 แทน ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล ที่ถูกเขี่ยพ้นเก้าอี้ไป จริงหรือไม่?

หลังจากนั้น นายทักษิณต้องการจะสร้างภาพในการชำระคืนหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก่อนครบกำหนด ก็ต้องอาศัย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ในฐานะผู้ว่าแบงก์ชาตินี่แหละที่ช่วยจัดการให้ จริงหรือไม่?

และแม้แต่การขายที่ดินรัชดาภิเษกให้แก่คุณหญิงพจมาน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2546 นั้น ก็ดำเนินการในขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เป็นประธานกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ดังนั้นการขายที่ดินรัชดาภิเษกนั้นจึงเป็นกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เป็นผู้เปิดประตูให้แก่ คุณหญิงพจมานได้ประมูลทรัพย์สินของกองทุนฟื้นฟู ทั้งๆที่ยังอยู่ในฐานะภรรยาตามกฎหมายของนายกรัฐมนตรี จริงหรือไม่?

และคดีนี้เองที่เป็นผลต่อมาที่ทำให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุกนายทักษิณ ชินวัตร 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และเป็นสาเหตุของการหลบหนีคดีความมาจนถึงทุกวันนี้?

บทบาทของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ภายหลังจากการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 ได้สร้างความประทับใจให้กับนายทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร แค่ไหน ก็ต้องย้อนกลับไปดูข่าวในเว็บไซต์ manager เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2550 ในหัวข้อ “"อุ๋ย"อุ้ม"แม้ว"ซิ้อที่ดินฉาวไม่ผิด” โดยในเนื้อข่าวครั้งนั้นระบุว่า:

“คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ว่า วานนี้ (18 เม.ย. 2550) มีการประชุมคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีการซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษกจากกองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ของคุณหญิงพจมาน ชินวัตรที่มีนายอุดม เฟื่องฟุ้ง เป็นประธาน ก็ได้เชิญ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะอดีตประธานกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ สมัยนั้น เข้าชี้แจงข้อเท็จจริง เพิ่มเติมตามที่ ทนายของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมานผู้ถูกกล่าวหา ร้องขอให้สอบพยานเพิ่ม และได้ฝากคำถามให้ คตส. ข้อซักถาม…
ภายหลังจากที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้เข้าชี้แจงต่อ อนุกรรมการไต่สวนฯแล้ว ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้เดินคุยมากับทีมทนายของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยยืนยันกับทีมทนายว่า คำถามที่ทีมทนายส่งให้อนุกรรมการไต่สวนฯ ก่อนหน้านี้ สามารถตอบได้ทุกคำถาม โดยเฉพาะที่ระบุว่า ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่มีอำนาจที่จะนำกฎหมายมากำกับ ควบคุม ดูแล ตรวจสอบกิจการของกองทุนฟื้นฟูฯ เพราะตามกฎหมายเฉพาะ คณะกรรมการจัดการกองทุนฯ เป็นผู้มีอำนาจในการ วางนโยบาย ควบคุมดูแลกิจการของกองทุนฟื้นฟู รวมทั้งการออกข้อบังคับ
       
       ดังนั้น การออกระเบียบการซื้อขาย ไม่จำเป็นต้องนำกลับไปหารือกับฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือกระทรวงการคลัง จึงเท่ากับว่า นายกรัฐมนตรี ไม่ได้กำกับดูแลกองทุนฟื้นฟู ฯ ดังนั้น ทีมทนายทักษิณ จึงมั่นใจว่า การชี้แจงของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เป็นประโยชน์”

ความสัมพันธ์ระหว่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กับ นายทักษิณ ชินวัตร ยังมีอยู่ต่อเนื่องแต่อยู่นอกสายตาของประชาชนส่วนใหญ่ จริงหรือไม่? โดยในสมัยการจัดตั้ง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ครั้งหนึ่ง มีข้อมูลที่ต้องตั้งคำถามว่ามีการติดต่อและต่อรองกันในเรื่องตำแหน่งทางการเมืองระหว่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกับนายทักษิณ อยู่ช่วงหนึ่ง แต่ไม่สามารถตกลงเงื่อนไขกันได้ เป็นจริงหรือไม่?

แต่กลุ่มที่เหนียวแน่นและยั่งยืนที่สุด คือกลุ่มผู้บริหารของกลุ่มทุนพลังงานเอง ทั้งผู้บริหารในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตที่จะมีการส่งต่อไม้วิ่งผลัดกันไปอีกเป็นทอดๆ กลุ่มนี้ขยายอิทธิพลได้มากเพราะอยู่ยงคงกะพัน ไม่ต้องลุกจากเก้าอี้ตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยกลุ่มนี้จับมือกับกลุ่มทุนพลังงานต่างประเทศบางรายอย่างเหนียวแน่นจริงหรือไม่? โดยเฉพาะบริษัทในเครือเชฟรอน ซึ่งนายอานันท์ ปันยารชุน ในฐานะเป็นที่ปรึกษาบริษัท เชฟรอน เอเชีย เซ้าท์ จำกัดตั้งแต่ปี 2549 จนถึง ปัจจุบัน ซึ่งบริษัทดังกล่าวนี้ถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จริงหรือไม่?

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างหม่อมอุ๋ยกับกลุ่มผู้บริหารบริษัทพลังงานนั้น ต้องวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กับนายอานันท์ ปันยารชุน โดยนายอานันท์แต่งตั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ระหว่างปี 2534 - 2535

นอกจากนี้ นายอานันท์ ปันยารชุน ยังเป็นผู้เปิดโอกาสสำคัญให้กับ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อีกด้วยใช่หรือไม่? โดยนายปิยสวัสดิ์ซึ่งเป็นหลานของ ดร.เสนาะ อูนากูล ได้เข้ามาทำงานในสภาพัฒน์ในช่วงที่ ดร.เสนาะ อูนากูล เป็นเลขาธิการและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

จากนิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2543 ในหัวข้อ "ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ Technocrat-Strategist?" ได้อธิบายการโอบอุ้มกันและกันระหว่างนายอานันท์ กับ นายปิยสวัสดิ์ ย้อนหลังไปตั้งแต่ช่วงที่นายอานันท์เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ระบุเอาไว้ว่า

"ปิยสวัสดิ์เข้ามาทำงานในหน่วยงานในฐานะระดับกองสังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในชื่อ สำนักคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ปลายปี 2529 โดยเขาเป็นเลขาธิการคนแรก แต่ยังถือว่าเป็นการยืมตัวจากสภาพัฒน์ฯ จนถึงปลายปี 2535 ก็ยกระดับขึ้นเป็นกรม และปิยสวัสดิ์ใช้เวลาในการไต่เต้าอีกเล็กน้อยจนมีตำแหน่งเหมาะสมกับตำแหน่งแต่มีฐานะสูงขึ้นในช่วงนั้นเอง"

การยกระดับส่วนงานที่นายปิยสวัสดิ์นั่งเป็นผู้บริหารอยู่ขึ้นเป็นกรมนั้นเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เปรียบได้เหมือนการเปลี่ยนจากรถยนต์มินิคูเปอร์ ไปเป็นรถเบนซ์เอสคลาสระดับหรูสุด จริงหรือไม่? โดยมีการตราพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติขึ้น เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2535 จัดตั้งคณะกรรมการซึ่งทรงพลังอำนาจในด้านการพลังงานขึ้น พร้อมทั้งในมาตรา 10 บัญญัติให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) จึงเป็นการปูพื้นเปิดประตูอ้ารอให้แก่นายปิยสวัสดิ์ตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งเข้ารับตำแหน่งรองเลขาธิการฯเป็นการจองที่เอาไว้ก่อน และเมื่อครบ 2 ปีตามอาวุโส ก็เลื่อนขึ้นเป็นเลขาธิการฯ ในปี 2537 จริงหรือไม่?

ดังนั้นผู้ที่วางแผนทำถนนชีวิตที่สวยหรูให้แก่นายปิยสวัสดิ์ ก็คือนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี จริงหรือไม่?

และนอกจากจะเป็นการสร้างฐานะองค์กรใหม่ให้แก่นายปิยสวัสดิ์แล้ว นายอานันท์ยังได้ตราพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2535 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้น และบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจพลังงานทุกราย จะต้องส่งเงินเข้ากองทุนเป็นประจำ สะสมเงินตลอดเวลาหลายปีนี้นับแสนล้านบาท จริงหรือไม่? โดยฐานะกองทุนดังกล่าว ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2560 มีเงินเกือบ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีคำถามว่า มีคนเคยได้รับประโยชน์ส่วนตนหรือไม่ และนำเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ได้อนุมัติหรือไม่ หาคำตอบนี้ได้จากนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ว่า ว่าเงินเหล่านี้มีใครไปตั้งมูลนิธิแล้วได้ประโยชน์ส่วนตนในฐานะที่ปรึกษา หรือไม่ หรือเอาเงินไปลงทุนซื้อหุ้นกิจการพลังงาน ได้หรือไม่?

คำถามมีอยู่ว่า กองทุนนี้อาจจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างคอนเน็กชั่นให้แก่ผู้ที่ควบคุมกลไกของกองทุนนี้ สามารถเป็นแหล่งเงินสำหรับมูลนิธิต่างๆมากมาย ได้หรือไม่? รวมไปถึงมูลนิธิปลูกป่าที่มีนายทหารขนาดซุบเปอร์บิ๊กนั่งเป็นประธานอยู่ด้วย จริงหรือไม่?

และบังเอิญหรือไม่ที่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ เมื่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแล้ว ก็ได้ต่ออายุสัมปทานแปลงเอราวัณที่บริษัทเชฟรอนเป็นผู้รับสัมปทานไปอีก 10 ปี โดยไม่เปิดให้มีการแข่งขัน ซึ่งนายอานันท์ ปันยารชุน ก็เป็นที่ปรึกษาของเชฟรอนเอเชีย เซ้าท์ ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด จริงหรือไม่?

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ จึงถือเป็นคู่หูทีมเดียวกัน ที่เคยทำงานมาร่วมกัน และมีสายสัมพันธ์เคยทำงานร่วมกับทั้งนายอานันท์ ปันยารชุน และ นายทักษิณ ชินวัตรมาก่อนทั้งสิ้น ใช่หรือไม่?

เพียงแต่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ไม่เคยออกหน้าต่อสู้ปกป้องผลประโยชน์ของทุนพลังงาน ไม่ว่าช่วงการถกเถียงเรื่องสัมปทานรอบที่ 21 ที่สุดท้ายถูกยกเลิก หรือการต่อสู้ในรายละเอียดของร่าง พรบ.ปิโตรเลียม ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ก็ไม่ได้ออกหน้ามาเลย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร จึงเป็นบุคคลเดียวที่เหลืออยู่ ที่ยังมีน้ำหนักมาสร้างกระแสใหม่อย่างแนบเนียนที่สุด จริงหรือไม่?

ดังนั้นจึงไม่ควรจะแปลกใจว่าทำไมพรรคเพื่อไทยและทักษิณจึงเงียบสนิทกับเรื่องนโยบายปิโตรเลียมที่ปราศจากบรรษัทน้ำมันแห่งชาติของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จริงหรือไม่?

และที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดที่สุด คือกำลังจะมีความพยายาม “ล็อคสเปค” ให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมในแหล่งเอราวัณและบงกชได้เปรียบในการประมูลเหนือคู่แข่งทุกราย จริงหรือไม่ !!!!?

กำลังโหลดความคิดเห็น