xs
xsm
sm
md
lg

ทุนพลังงาน ทุนธรรมกาย ทุนกระทิงแดง ความอยุติธรรมของสังคมไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

รายงานการจัดอันดับความมั่งคั่งของโลกประจำปี 2016 (Global Wealth Report 2016) รัสเซียติดอันดับหนึ่งประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจมากที่สุด อันดับ 2 อินเดีย อันดับที่ 3 ตกเป็นของประเทศไทย ด้วยปริมาณทรัพย์สินที่กลุ่มคนรวยที่สุดในประเทศไทย 1%ถือครองนั้นคิดเป็น 58% ของประเทศ

ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจไม่ได้สะท้อนในเรื่องความเหลื่อมล้ำแต่ ยังสะท้อนถึงความอยุติธรรมในสังคมไทยด้วย

เราบอกว่ากฎหมายไทยมีมาตรฐานเดียวกันไม่ว่าชนชั้นไหน จริงอยู่บทบัญญัติของกฎหมายก็เขียนไว้อย่างนั้นบังคับใช้ตามนัยของตัวอักษรเดียวกัน แต่เอาเข้าจริงแล้วการบังคับใช้กฎหมายนั้นเป็นที่รับรู้กันว่า มีมาตรฐานที่แตกต่างกันตามชนชั้นของสังคม ตั้งแต่กระบวนการยุติธรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คำพูดว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” นั้นเป็นคำพูดที่ไม่สามารถปฏิเสธได้และความเชื่อนี้ฝังอยู่ในหัวของคนไทยทั่วไป

แม้แต่ในการแข่งขันทางธุรกิจจะมีกฎกติการะเบียบกฎหมายที่เป็นบรรทัดฐาน มีกฎหมายป้องกันการฮั้วและการผูกขาด แต่ในความจริงนั้นทุนใหญ่มีโอกาสมากกว่าทุนเล็กเสมอ เพราะทุนใหญ่นั้นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจมากกว่า และทุนใหญ่ก็มักจะเป็นผู้สนับสนุนพรรคการเมืองและนักการเมืองที่เข้ามาบริหาประเทศ ไม่เว้นแม้แต่รัฐบาลทหารเราก็เห็นว่าเขามีความใกล้ชิดกับทุนใหญ่มาก

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ 3 เรื่องในช่วงเวลาที่ใกล้ๆ กัน

เรื่องแรกคือ เรื่องพลังงานที่เป็นผลประโยชน์ของชาติ คงไม่ต้องอธิบายทรัพยากรด้านปิโตรเลียมที่ค้นพบในประเทศนั้นถือเป็นผลผลิตของชาติของคนไทยทุกคนไม่ใช่ของชาติ 51%และผู้ถือหุ้นปตท. 49% เดิมทีที่เรายังไม่มีความรู้มากในการทำ

อุตสาหกรรมด้านนี้ เราก็เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาทำสัมปทานนั่นคือรัฐจะได้ค่าตอบแทนที่ไม่มากจากเงินค่าภาคหลวง

แต่ต่อมาเราพบว่าในโลกนี้นอกจากการสัมปทานแล้ว การยังวิธีการตกลงกับเอกชนแบบแบ่งปันผลผลิตกับอีกวิธีคือการรับจ้างผลผลิต ทั้ง 2 วิธีหลังนี้เป็นวิธีที่รัฐจะได้ผมตอบแทนที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่าระบบสัมปทาน

แต่จะทำวิธีนี้ได้จะต้องมีหน่วยงานของรัฐขึ้นมารองรับ เขาจึงพูดกันว่าจะต้องมี “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ขึ้นมา ทำหน้าที่คล้ายๆ กับกสทช.ที่ดูแลผลประโยชน์ของรัฐในคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์และโทรศัพท์เพื่อเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลเอาเงินเข้ารัฐ แต่ไม่ไปประกอบธุรกิจแข่งกับเอกชนเช่นดีแทค ทรู หรือเอไอเอสซึ่งทำให้ผลประโยชน์เป็นของชาติ 100%

แต่พวกนี้ไม่อ้างอิง กสทช.ที่มีรูปแบบเดียวกัน แต่หลอกลวงคนว่าถ้าเป็นบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจะเป็นแบบข สมก. รฟท. หรือ ทศท.ที่ล้มเหลวเพราะรัฐบริหารเองซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง

คงสงสัยนะครับว่า เมื่อบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจะเกิดขึ้นมาเพื่อดูแล ผลประโยชน์ของชาติจึงถูกต่อต้านจากหลายฝ่าย คำตอบก็คือ การเกิดบรรษัทน้ำมันแห่งชาตินั้นจะทำให้กลุ่มทุนพลังงานนั้นเสียประโยชน์ อย่างน้อยเขา ต้องการให้ 2 แหล่งน้ำมันคือบงกชกับเอราวัณที่หมดอายุใน 5-6 ปีข้างหน้านั้นได้ต่ออายุเสียก่อน โดยแหล่งก๊าซเอราวัณเป็นของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด และแหล่งบงกชเป็นของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่จะทยอยสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565 และ 2566

ทั้งสองแหล่งนั้นมีการผลิตก๊าซธรรมชาติสูงถึง 2,214 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หรือร้อยละ 76 ของปริมาณการผลิตก๊าซในอ่าวไทย ซึ่งมีการคำนวณออกมาเป็นตัวเลขปีละ2แสนล้านบาท ผู้สัมปทานเดิมต้องการยึดครอง 2 แหล่งนี้ต่อไป และต้องได้ก่อนจะมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

จะเห็นว่าเรารู้อยู่แล้วว่า ทั้งสองแหล่งมีมูลค่าเท่าไหร่ ดังนั้นเราจะต้องไม่ยอมให้ใช้ระบบสัมปทานต่อไป

แต่ ปตท.และเครือข่ายขุนนางพลังงานออกมาต่อต้านบรรษัทน้ำมัน แห่งชาติด้วยการปูพรมผ่านสื่อด้วยผลประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบต่างๆ พวกเขา พยายามอ้างว่า ไม่จำเป็นต้องมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาเพราะมี ปตท.ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐอยู่แล้ว แต่โดยความจริงปตท.นั้นเป็นรัฐเพียง 51% และเป็นเอกชน 49% ดังนั้นถ้าเอาปตท.มาดูแลปิโตรเลียมของชาติ
เมื่อมีกำไรมา100บาทก็ต้องเอาไปแบ่งให้เอกชน49บาท ช่วยอธิบายหน่อยว่าทำไมเอกชนที่ถือหุ้นปตท.หยิบมือหนึ่งจึงมีสิทธิอะไรที่เอาประโยชน์จากทรัพยากรของชาติซึ่งเป็นผลประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศไปถึง 49%

ดังนั้นการเกิดของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในรูปแบบก สทช.เข้ามาดูแลระบบคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์และโทรศัพท์นั้น ฝ่ายที่ได้ประโยชน์ก็คือประเทศชาติ ลองนึกสิว่าถ้า กสทช.มีสถานภาพแบบปตท.ที่มูลเอกชนถือหุ้นอยู่ครึ่งหนึ่ง เงินที่ควรเป็นของรัฐทั้งหมดจากการกำไรที่รัฐควรได้ต้องแบ่งให้เอกชนครึ่งหนึ่ง

แต่อานุภาพของกลุ่มทุนพลังงานนั้นมีฤทธิ์เดชที่ครอบงำทุกภาคส่วน สื่อ เทคโนแครต ระบบราชการ และรัฐบาล เราจึงเห็นว่า ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่แม้แต่ขอให้ระบุในข้อสังเกตเพิ่มเติมไปว่า บรรษัทน้ำมันแห่งชาติต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนเปิดการประมูล2แหล่งคือบงกชและเอราวัณซึ่งมีอายุสัมปทานอีกถึง5ปี กระทรวงพลังงานและ สนช.ข้างมากก็ไม่ยอมให้เกิดขึ้น ทั้งที่ประเทศชาติจะได้ประโยชน์มากขึ้น

และเมื่อ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมผ่านสภาในวันรุ่งขึ้นกระทรวงพลังงานก็ประกาศเปิดประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณทันที

เรื่องที่สองทุนธรรมกาย เราต้องยอมรับว่าธรรมกายนั้นมีอำนาจครอบงำองค์กรปกครองสงฆ์อย่างมหาเถรสมาคม ธรรมกายถวายปัจจัยให้พระผู้ใหญ่ปีหนึ่งจำนวนมหาศาล ธรรมกายถวายปัจจัยให้พระปกครองในองค์กรปกครองสงฆ์ทั้งระดับภาค จังหวัด รวมไปถึงเจ้าอาวาสวัดต่างๆ แม้แต่อดีตสมเด็จพระสังฆราชมีพระลิขิตว่า ธัมมชโยปาราชิกแล้ว แต่ยังไม่สามารถทำอะไรธัมมชโยได้และยังได้รับการสนับสนุนจากมหาเถรสมาคมให้ได้รับการเลื่อนชั้นยศทางพระที่สูงขึ้น แม้มีความผิดในทางอาญาทั้งยักยอกเงินและทีดินวัดเป็นของตัวเอง ใกล้ชิดสีกา และอวดอุตริมนุสธรรมคดีขึ้นสู่ศาลแล้ว อัยการสูงสุดยังถอนฟ้อง ซึ่งสะท้อนความผิดปกติของกระบวนการยุติธรรม

และต่อมาเมื่อเกิดกรณีฉ้อโกงเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น นับหมื่นล้านบาท แม้อำนาจรัฐจะเข้ามาดำเนินคดีกับธัมมชโยตามมาด้วยการถอดยศพระแต่สุดท้ายก็ทำอะไรธัมมชโยไม่ได้ จนกระทั่งวันนี้ยังไม่รู้ว่าธัมมชโยไปอยู่ที่ไหน และเมื่อรัฐจะเข้าไปจัดการกับวัดธรรมกายก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากพระปกครองระดับต่างๆ ทุกรูปยังออกมาปกป้องวัดธรรมกายเหมือนกับไม่มีเรื่องที่ไม่ดีงามเกิดขึ้น

ความผิดของธัมมชโยไม่ได้เป็นเรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องฉ้อโกงที่ต้องถูกดำเนินคดีตามบรรทัดฐานปกติของกฎหมายเท่านั้นเอง
มันสะท้อนได้ว่าอำนาจเงินนั้นเป็นสิ่งที่ใช้ซื้ออำนาจรับได้ทุกระดับชั้นไม่เว้นแม้แต่ทางโลกหรือทางธรรม ไม่ว่าอำนาจรัฐหรืออำนาจปกครองสงฆ์ก็ตกอยู่ในอำนาจของเงินทั้งสิ้น

เรื่องต่อมากรณีของทายาทธุรกิจกระทิงแดงขับรถชนตำรวจตาย คดีนี้เกิดเมื่อปี 2555 อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ มีความเห็นสั่งฟ้องต่อนายวรยุทธ อยู่วิทยา เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2559 ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ขณะนี้เหลืออายุความ 10 ปี และข้อหาหลบหนีไม่หยุดให้ความช่วยเหลือตามสมควรทันที หมดอายุความเดือนกันยายนปีนี้ พนักงานอัยการได้มีหนังสือแจ้งไปยังนายวรยุทธ ให้มารับทราบคำสั่งเพื่อส่งฟ้องต่อศาล แต่หลังจากนั้นนายวรยุทธได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนเข้าพบพนักงานอัยการแล้ว 6 ครั้งจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถนำตัวนายวรยุทธมาส่งฟ้องต่อศาลได้ เมื่อมีข่าวปรากฏขึ้นต่อสื่อมวลชนระดับโลกถึงความไม่ชอบมาพากลในเรื่องนี้อัยการได้ออกมาแถลงว่า นัดให้ผู้ต้องหามาพบพนักงานอัยการในวันที่ 27 เม.ย.นี้ พร้อมยืนยันว่าหากไม่มาด้วยเหตุผล"เพียงพอ"จะขอหมายจับ

เหตุการณ์การขับรถชนคนตายไม่ได้เป็นคดีที่ซับซ้อนเลย แต่ไม่น่าเชื่อว่าเหตุการณ์ผ่านไป5ปีแล้ว แม้คนตายเป็นตำรวจแต่อัยการยังไม่สามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษได้ อัยการอ้างว่า ผู้ต้องหา “ใช้เทคนิคทางกฎหมาย” ผ่านการยื่นคำร้องขอความเป็นธรรม รวมทั้งยื่นให้สอบพยานหลักฐานเพิ่ม เพื่อประวิงเวลามอบตัว คนโดยทั่วไปเขาก็ไม่เชื่อหรอกครับว่า อัยการจะไม่มีความสามารถเท่าทันต่อ “เทคนิคทางกฎหมาย” ของฝ่ายผู้ต้องหา แต่เขาเชื่อโดยสามัญสำนึกว่ามาจากปัจจัยอื่นมากกว่า

แล้วอย่างนี้ประชาชนเขาจะเชื่อได้อย่างไรว่า กระบวนการยุติธรรมของเรามีความเป็นธรรมมีการบังคับใช้กฎหมายที่เท่าเทียมกัน คุกไม่ได้มีไว้ขังคนจน แต่ไว้ขังคนที่กระทำผิดอย่างเท่าเทียมกันทุกชนชั้น

เรื่องของพลังงาน เรื่องของธรรมกาย เรื่องของกระทิงแดงจึงเป็นเรื่องสะท้อนของอำนาจทุนอำนาจเงินที่จะทำให้กลไกของรัฐกลายเป็นความอยุติธรรม

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น