xs
xsm
sm
md
lg

เปิดประมูลแหล่งก๊าซฯ "เอราวัณ-บงกช"ก.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360-กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเตรียมเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ-บงกช เดือน ก.ค.นี้ แย้มคุณสมบัติผู้ยื่นประมูล ต้องมีประสบการณ์ผลิตปิโตรเลียม รักษาระดับการผลิต2แหล่งก๊าซฯ ให้ต่อเนื่อง เตรียมถกโฟกัสกรุ๊ป5เม.ย.สรุปแนวทางรูปแบบประมูลว่าจะใช้ระบบใด มั่นใจธ.ค.ได้รายชื่อผู้ชนะ ด้านศาลแพ่งให้ถอนคำฟ้อง คปพ.ผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ “ปานเทพ” ยันขอต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ชาติ

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า การกำหนดเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูล (Bidding TOR) เพื่อการเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและบงกชที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565-66 จะแล้วเสร็จสิ้นเดือนเม.ย. เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนมิ.ย.2560 เปิดให้เอกชนยื่นประมูลได้ในเดือนก.ค.2560 และคาดว่าจะประกาศผลผู้ชนะในเดือนธ.ค.2560 โดยเบื้องต้นจะมีการเปิดกว้างให้เอกชนทั้งไทยและต่างชาติสามารถยื่นเสนอประมูลได้ ซึ่งต่างชาติขณะนี้ก็มีทั้งตะวันออกกลางและจีนสนใจเข้ามา และเงื่อนไขสำคัญ คือ จะต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญการผลิตปิโตรเลียม รวมถึงการรักษาความต่อเนื่องอัตราการผลิตก๊าซฯ จาก2แหล่ง เป็นต้น

"เงื่อนไขในBidding TOR ที่สำคัญ คือ เราจะเปิดกว้างเป็นการทั่วไป แต่ก็ไม่ใช่ ไม่มีประสบการณ์เลย คือ ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะมาผลิต ต้องเคยบริหารหรือร่วมทุนในการผลิตปิโตรเลียม ทั้งในและต่างประเทศ ต้องสามารถผลิตก๊าซฯ ในปริมาณเท่าใดก็จะระบุไว้ชัด และสำคัญต้องทำให้การผลิตมีความต่อเนื่องใน 2 แหล่ง เมื่อเข้ามาระยะแรก ต้องรักษาระดับการผลิตก๊าซฯ ในอัตรา 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้า ก็ต้องจ่ายค่าปรับให้รัฐบาล สาเหตุที่ต้องการรักษากำลังผลิตก๊าซให้คงที่ เนื่องจากทั้ง 2 แหล่งมีกำลังผลิตถึง 2 ใน 3 ของกำลังผลิตรวมในอ่าวไทย ดังนั้น หากกำลังผลิตลดลง จะกระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชน"นายวีระศักดิ์กล่าว

สำหรับรูปแบบของการประมูล จะใช้ระบบใดระหว่างสัมปทาน แบ่งปันผลผลิต (PSC) และสัญญาจ้างบริการ (SC) ในวันที่ 5 เม.ย.นี้ กรมฯ เตรียมจัดประชุมกลุ่มย่อย หรือโฟกัส กรุ๊ป โดยเชิญผู้รับสัมปทานรายเดิมและผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการด้านปิโตรเลียม สรุปภาพรวมของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะแหล่งบงกชและเอราวัณว่าจะใช้รูปแบบใด จากนั้นจะนำเสนอ รมว.พลังงาน เห็นชอบ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป

ทั้งนี้ การจัดโฟกัส กรุ๊ป ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัท เชฟรอน และบริษัท ปตท.สผ. ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานรายเดิม เพราะเอกชนรายใหม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้อยู่แล้ว แต่ก็ยอมรับว่าหากผลประมูลออกมาได้รายเก่า การผลิตก๊าซฯ ก็จะต่อเนื่องและสามารถเพิ่มระดับการผลิตให้สู่ปกติ 2,500 ล้านลบ.ฟุตต่อวันในปี 2567-68 แต่ถ้ารายใหม่ ก็จะเป็นปัญหาการผลิตอาจไม่ต่อเนื่องได้ โดยกว่าจะทำได้ระดับปกติจะอยู่ที่ปี 2570-71

ส่วนการเปิดให้เอกชนยื่นสิทธิ์สำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 นั้น คงจะไม่มีการใช้คำว่ารอบที่ 21 แล้ว เพราะหลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและภาษีเงินได้ปิโตรเลียงพ.ศ. ... ก็ถือว่าเป็นการเริ่มใช้กฏหมายใหม่ โดยกำลังดูว่าการประมูลเอราวัณและบงกชจะถือว่าเป็นการเปิดสำรวจและผลิตรอบที่ 1 หรือไม่อย่างไรแน่ แต่ก็ยังเป็น 29 แปลงตามเดิม โดยคาดว่าจะเปิดได้หลังจากที่ได้ผู้ชนะประมูลเอราวัณและบงกช 3-4 เดือน

วันเดียวกันนี้ ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลแพ่งนัดไต่สวนคำร้อง กรณีที่พนักงานสอบสวนสน.ดุสิต ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณามีคำสั่งยุติการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ในข้อหาการละเมิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จากกรณีที่กลุ่ม คปพ. รวมกลุ่มชุมนุมคัดค้านการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ปิโตเลียม ของ สนช. ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา และศาลแพ่งได้ออกหมายเรียกแกนนำ 10 คน มาไต่สวน ซึ่งศาลใช้เวลาพิจารณานานกว่า 1 ชั่วโมง

ภายหลัง นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำคปพ. กล่าวว่า ขณะนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ผู้ร้อง ได้แถลงขอถอนคำร้อง โดยอ้างว่าผู้ชุมนุมได้ยกเลิกการชุมนุมไปแล้ว ซึ่งแกนนำ คปพ. ไม่คัดค้านคำร้อง ศาลจึงอนุญาตให้ถอนคำร้อง และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ส่วนการต่อสู้หลังจากนี้ ก็จะเดินหน้าอธิบายเรื่องนี้ทุกเวทีในขอบเขตที่สามารถทำได้ตามกฎหมาย และพร้อมเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย ทั้งนี้ หากต้องถูกดำเนินคดี ทั้งทางอาญา และแพ่งก็ยินดี เพื่อรักษาผลประโยชน์ชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น