xs
xsm
sm
md
lg

ประชาธิปไตยไทย-พม่า ใครล้าหลังกว่าใคร (1)

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท

นางอองซาน ซูจี
วันนี้...คงต้องขออนุญาตลองแวะไปแถวๆ บ้านใกล้-เรือนเคียง คือแถวประเทศพม่า หรือเมียนมาร์ดูมั่ง เพราะช่วงวันเสาร์ที่ผ่านมา (1 เมษาฯ) เขาเพิ่งจัดให้มีการ “เลือกตั้งซ่อม” สมาชิกสภาแห่งชาติ และสภาภูมิภาคขึ้นใน 8 รัฐในหลายภูมิภาค เพื่อหาตัวแทนปวงชนเข้ามาเพิ่มเติมในตำแหน่งที่ว่างลงของทั้ง 2 สภา จำนวน 19 ที่นั่ง ซึ่งแม้จะเป็นการเลือกตั้งซ่อม ไม่ใช่เลือกตั้งทั่วไป แต่ถ้าดูจากจำนวนประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 2 ล้านคนในเที่ยวนี้ ก็อาจพอนำไปใช้เป็นมาตรวัดตัดสินอารมณ์ความรู้สึกของปวงชนชาวพม่าได้บ้างไม่มากก็น้อย ถึงปฏิกิริยา ทัศนคติที่มีต่อรัฐบาลประชาธิปไตยของ “นางอองซาน ซูจี” ว่าจะยังออกไปทาง “ซี้ดๆ ซ้าดๆ” หรือชักเริ่มๆออกไปทาง “ซีดๆ เซียวๆ” กันแน่!!!

และก็ดูเหมือนว่า “วีรสตรีประชาธิปไตย” อย่าง “นางอองซาน ซูจี” ท่านพอจะรู้ๆ อยู่บ้างว่า บรรดาปวงชนชาวพม่าจำนวนไม่น้อย น่าจะยังไม่ถึงจุด “ออกัสซั่ม” กันอีกเยอะ ในระหว่างการปราศรัยผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของทางการพม่า ช่วงวาระครบรอบ 1 ปีของการเป็นรัฐบาล เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ท่านถึงกับได้เอ่ยคำพูดบางประโยค ที่แสดงให้เห็นถึงความอัดอั้นตันใจ ความเหนื่อยยากลำบากในการบริหารชาติบ้านเมืองออกมาให้เป็นที่รับรู้ รับทราบของชาวพม่า รวมไปถึงชาวโลกที่นั่งลุ้นอยู่ห่างๆ ถึงขั้นว่า... “ถ้าหากคนส่วนใหญ่คิดว่าข้าพเจ้าไม่ดีพอสำหรับประเทศของเราและประชาชนของเรา หากมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่ดีกว่า หรือมีองค์กรที่ทำหน้าที่ได้ดีกว่า เราก็พร้อมที่จะก้าวลงจากตำแหน่งได้เสมอ...” คือถึงแม้อาจไม่ถึงขั้น “ถอดใจ” แต่ต้องเรียกว่าชักจะเหี่ยวๆ ฝ่อๆ อยู่พอสมควรเหมือนกัน...

พูดง่ายๆ ว่า...สิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” อันเป็นสุดยอดปรารถนาของชาวพม่า หรือของใครต่อใครมาโดยตลอดนั้น เอาไป-เอามาแล้ว...มันคงไม่ใช่ “ยาครอบจักรวาล” ที่สามารถเอาไว้ใช้ดม ใช้ทา อม หยอด สอด เสียบได้สารพัดอย่างที่คิดๆ กันไป ยิ่งสำหรับประเทศอย่างพม่าด้วยแล้ว อาจต้องมีอะไรนอกเหนือไปกว่าการไหลไปตามความปรารถนา ความต้องการของประชาชนซะร่ำไป เพราะคงต้องตั้งคำถามเอาไว้แต่แรกว่า...ประชาชนที่ว่านั้น หมายถึงประชาชนกลุ่มไหน เชื้อชาติไหน เผ่าพันธุ์ไหน หรือกระทั่งศาสนาไหน ฯลฯ กันแน่!!! เนื่องจากมันเต็มไปด้วยชาติพันธุ์ เผ่าพันธุ์ ไม่รู้ต่อกี่ชาติ กี่เผ่า ที่ล้วนแต่ยังคงยึดมั่นใน “อัตตา” แห่งความเป็นชาติ ความเป็นเผ่าพันธุ์ของตัวเองไปด้วยกันทั้งนั้น โอกาสที่จะจัดตั้งคณะกรรมการ “ป.ย.ป.” ขึ้นมาทำการ “ปรองดอง” แบบม้วนเดียวจบอย่างบ้านเรา ต้องเรียกว่า...ยากซ์ซ์ซ์เอามากๆ ที่จะเป็นไปได้ แม้จะรบราฆ่าฟันกันมาเป็นทศวรรษๆ แต่จนบัดนี้...ยังคงถือเป็น “ปัญหาหลัก” ที่สามารถสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับไม่ว่ารัฐบาลเผด็จการ หรือรัฐบาลประชาธิปไตยไปด้วยกันทั้งสิ้น...

ยิ่งมีเรื่อง “ศาสนา” ถูกโยงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ระหว่าง “พุทธ” กับ “มุสลิม” ในแถบรัฐยะไข่ จนปัจจุบันยังเถียงกันไม่จบว่าจะยกระดับไปถึงขั้นกลายเป็นปัญหาการก่อการร้าย การแทรกแซงจากนอกประเทศไปเลยหรือไม่ โดยเฉพาะหลังเกิดกรณีโจมตีสถานีตำรวจในรัฐยะไข่ ช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ฆ่าตำรวจพม่าไป 9 ราย แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพแห่งการล้างแค้น เอาคืนของพวกมุสลิมยะไข่ จนถูกนำไปเกี่ยวข้อง โยงใยกับพวกขบวนการ “ตอลิบัน” แถวๆ ปากีสถานโน่นเลย หรือทำให้นักสังเกตการณ์ทางการเมืองในบ้านเรา นำไปใส่สีตีไข่วาดภาพอนาคตแห่งความขัดแย้งในพม่า ว่าอาจไปไกลถึงขั้นอิรัก ซีเรียขึ้นมาในวันใดวันหนึ่ง เอาเลยถึงขั้นนั้น...

แต่ถึงแม้ไม่ต้องไปไกล ไปเกินกรุงลงกาถึงขั้นนั้น...ความเป็นประชาธิปไตยในพม่า ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หรือคงต้องผ่านอุปสรรคขวากหนามกันอีกเยอะ ทั้งเรื่องชาติพันธุ์ เผ่าพันธุ์ เรื่องศาสนา ไปจนแม้แต่เรื่องทัศนคติ ค่านิยมของชาวพม่าด้วยกันเอง ที่มีต่อความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย พูดง่ายๆ ว่า...ไม่ใช่แค่มีโอกาสได้ “เลือกตั้งที่รัก” แล้วจะออกัสซั่มพลั่กๆๆ กันได้แบบทันที-ทันใด เพราะแม้แต่ผู้ที่ปวงชนชาวพม่าส่วนใหญ่ให้ความชื่นชม ศรัทธา ยกย่องนิยมมาโดยตลอด แถมยังได้ชื่อว่า “วีรสตรีประชาธิปไตย” แห่งพม่า อย่าง “นางอองซาน ซูจี” จะมีโอกาสผงาดขึ้นเป็นผู้นำประเทศพม่าได้ตรงตามความปรารถนา ความต้องการของปวงชนไปแล้วก็เถอะ ตัวของ “นางอองซาน ซูจี” เอง ยังต้องหันมาหายใจทางปาก หรืออาจถึงขั้นทางเหงือกเอาเลยก็ว่าได้ เมื่อต้องเจอกับ “ปัญหา” ต่างๆ ในพม่าที่มันต้องอาศัยอะไรอื่นอีกเยอะ นอกเหนือไปจากสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” ล้วนๆ...ซึ่งจะเป็นอะไรบ้างนั้น คงต้องไปว่ากันต่อวันพรุ่งนี้...
กำลังโหลดความคิดเห็น