xs
xsm
sm
md
lg

“ตัวกู ของกู” ฤา “ตัวครู ของครู”

เผยแพร่:   โดย: วิทยา วชิระอังกูร


กระบวนการการศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบัน ไม่ว่าจะระบบการเรียนการสอนที่เด็กนักเรียนต้องถูกบีบบังคับโดยปริยายให้ต้องขวนขวายเรียนพิเศษกวดวิชาตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษา ชั้นเตรียมอุดมศึกษาก่อนเข้ามหาวิทยาลัย สถานเรียนกวดวิชาที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั้งในเมืองหลวงและต่างจังหวัดทั่วประเทศ มีทั้งเรียนในห้างสรรพสินค้า ในตึกแถวติดแอร์ และมีทั้งที่เปิดสอนกันในโรงเรียนอย่างเปิดเผยโดยการสนัสนุนของผู้บริหารโรงเรียน ในเวลาหลังเลิกเรียนในแต่ละวันในแต่ละโรงเรียนอย่างเป็นปกติธรรมดากันไปเลย และเด็กที่ผู้ปกครองมีความจำเป็นไม่สามารถให้ลูกเรียนพิเศษกับครูนอกเวลาได้ ก็จะกลายเป็นเด็กที่มีปมด้อยไปเลยอย่างไม่น่าเชื่อ

ในส่วนของครูเองส่วนใหญ่ก็ต้องใช้เวลาตรากตรำคร่ำเคร่งกับการค้นคว้าเขียนผลงานทางวิชาการเพื่อส่งประเมินผลเลื่อนวิทยฐานะให้สูงขึ้น เขียนกันทำกันทั้งประเทศ จนว่ากันว่าเกิดอาชีพทางวิชาการแนวใหม่มารองรับ คือรับจ้างทำผลงานทางวิชาการให้แก่คุณครูที่ปรารถนาจะเลื่อนวิทยฐานะให้สูงขึ้นทั้งหลาย 

นั่นคือสภาพความเป็นจริงในวงการการศึกษาไทย ในยุคสมัยที่การสื่อสารและเทคโนโลยีในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก เปลี่ยนแปลงรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วไม่หยุดยั้ง ระบบการเรียนการสอนและวิธีการประเมินผล ทั้งผู้เรียนและผู้สอนที่ยังล้าหลังย่อมส่งผลกระทบต่อการศึกษาทั้งระบบไม่มากก็น้อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รัฐบาลในยุค คสช.จะวางแผนกำหนดนโยบายการปฏิรูปการศึกษาไว้อย่างไร และมีแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนพัฒนาการศึกษาไทยทั้งระบบให้ดีขึ้นได้อย่างไร พื้นที่สำหรับบทความนี้คงไม่มีมากพอที่จะนำมาอรรถาธิบายรายละเอียดแผนงานและโครงการที่คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย ที่รัฐบาลนี้ตั้งขึ้น และกำลังดำเนินการต่อเนื่องจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อยู่อย่างขะมักเขม้น

บทความนี้ เพียงต้องการจะหยิบยกข่าวในวงการศึกษาเกี่ยวกับการออกมาพิทักษ์ปกป้องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูกันอย่างอึกทึกครึกโครม ถึงขั้นผนึกกำลัง คณะครู คณะครุศาสตร์ คณะการศึกษา รวมตัวกันล่ารายชื่อครู 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อปลด นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ให้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเลยทีเดียว  

ด้วยเหตุที่รัฐมนตรีธีระเกียรติ ออกมาแถลง จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู (ไม่มีวุฒิครู) สามารถสอบบรรจุเป็นครูผู้ช่วยได้ก่อน แล้วค่อยดำเนินการให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูในภายหลัง โดยให้เหตุผลว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีครูเกษียณอายุมากถึง 270,000 คน และเพื่อเปิดโอกาสให้คนเก่งคนดีที่ไม่มีวุฒิครูในสาขาที่ขาดแคลน 25 สาขาวิชา และประสงค์จะเข้ามาเป็นครูผู้ช่วย ได้เข้ามาเป็นครูเพิ่มเติมจากครูอาชีพในสาขาอื่นๆ ที่มีอยู่ ซึ่งจากการตรวจสอบแนวทางเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพครูที่แม้จะมี พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ที่กำหนดควบคุมให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพควบคุม ที่จะต้องมีวุฒิครูและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

แต่ก็มีข้อยกเว้น ตามที่คุรุสภากำหนดแนวทางการได้มาซึ่งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู สำหรับบุคคลที่ไม่มีวุฒิครูไว้หลายแนวทางด้วยกัน ซึ่งผู้เขียนคงจะไม่ลงรายละเอียด ผู้ที่ประสงค์จะทราบ ก็สามารถเข้าไปดูได้จากเว็บไซต์ของคุรุสภา หรือจากเอกสารประกาศของคุรุสภาซึ่งเป็นที่เปิดเผยโดยทั่วไปอยู่แล้ว

ผู้เขียนเพียงรู้สึกสงสัยจากข่าวครึกโครมที่เกิดขึ้นว่า การแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งที่ก็ไม่ใช่นโยบายใหม่ ที่นอกเหนือหรือขัดแย้งจากแนวทางที่คุรุสภาเคยกำหนดไว้แต่อย่างใดเลย และหลักการที่แถลงก็น่าจะมาจากคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ) ที่นำเสนอต่อรัฐมนตรี แต่เหตุไฉนถ้อยแถลงนั้น จึงก่อให้เกิดปฏิกิริยาของคณะครูค่อนประเทศอย่างรุนแรง ถึงขั้นจะเข้าชื่อยื่นขับไล่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยนัดระดมพลกันในวันที่ 1 เมษายนนี้

และในโซเชียลมีเดียต่างๆ บรรดาคนที่มีอาชีพครู และบุคลากรทางการศึกษา ต่างก็ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านการแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกันอย่างดุเดือดเลือดพล่าน อาทิ “คนที่จะเป็นทนายความได้ จะต้องจบนิติศาสตร์ คนที่เปิดคลินิกได้ จะต้องจบแพทย์....คนที่จะเปิดสำนักงานตรวจสอบบัญชีได้ จะต้องจบบัญชี...โรงพยาบาลจะรับคนที่จบพยาบาลศาสตร์ มาเป็นพยาบาล (ทั้งๆ ที่ชาวบ้านหลายคนสามารถดูแลผู้ป่วยได้) ...เราต่อสู้กันมายาวนานเพื่อพัฒนาวิชาชีพครูเพื่อให้วิชาชีพครูมีความเข้มแข็ง จะช่วยให้ครู 600,000 คน มีคุณภาพ...แต่แน่นอน มีติวเตอร์บางคนมีพรสวรรค์ในการสอน ชาวบ้านหลายคนมีความสามารถในการอบรมเด็กหรืออธิบายเรื่องใดๆ ให้เข้าใจได้ง่าย มันเป็นข้อยกเว้น แต่เรากลับเอาข้อยกเว้นมาทำลายวิชาชีพครู โดยไม่มีผลการวิจัยยืนยัน ไม่มีหลักการที่สมเหตุสมผล “มีแต่อารมณ์ มีแต่ความรู้สึก แล้วใช้อำนาจที่มี ทำลายวิชาชีพครู” “การตัดสินใจของระบบ ก.ค.ศ.โดยผู้มีอำนาจในครั้งนี้ จะเกิดผลกระทบตามมา” (คนที่นั่งในบอร์ด ก.ค.ศ. ไม่แน่ใจว่าจะมีคนจบครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์สัก 1 คน หรือไม่)”

1. วิชาชีพครูที่เริ่มเข้มแข็ง (นักเรียนเก่งๆ เริ่มหันมาสนใจเรียนครู) จะถูกทำลายในระยะยาว

2. คนเก่งวิชาการจำนวนหนึ่ง ที่เก่งเนื้อหา (Content) ที่ไม่ได้รับการบ่มเพาะเรื่องความเมตตา ความเอื้ออาทร การสร้างวินัยเชิงบวก การดูแลช่วยเหลือเด็ก จะเข้าสู่วิชาชีพครูมากขึ้น (การต่อสู้เอาใบประกอบวิชาชีพ คงทำได้ไม่ยาก หลังจากสอบบรรจุได้) จะเกิดผลกระทบในเชิง “พฤติกรรมความเป็นครู” ในระยะยาว (ไม่ได้ประกันหรือบอกว่าคนจบครู 100% จะมีคุณภาพ ซึ่งเหมือนกับผลผลิตในทุกวิชาชีพ)

“ถ้าเราคิดว่า มีครูจำนวนหนึ่งไม่มีคุณภาพ หรือบางสถาบันผลิตครูไม่ได้มาตรฐาน แล้วเราตัดสินแก้ปัญหาด้วยการให้คนจบปริญญาตรีทุกสาขามาเป็นครูได้ ผมคิดว่าเป็นตรรกกะที่ผิดและไร้เหตุผล “เราควรจะไปแก้ไขที่กระบวนการผลิตครู” (คนจบกฎหมาย จบแพทย์ จบพยาบาล ที่ไม่มีคุณภาพก็มี...มันมีทุกสถาบันที่มีการผลิตบัณฑิต เขาจบตามเกณฑ์ขั้นต่ำ ไม่ได้แปลว่ามีคุณภาพสูงทุกคน)”

ผู้เขียนในฐานะคนที่ไม่มีวุฒิครู แม้จะเคยชอบแอบสอนคนบ้าง แต่ก็ไม่เคยคิดจะประกอบวิชาชีพครู ต่อข่าวที่อึกทึกครึกโครมต่อหน้าในขณะนี้ ก็ได้คิดอะไรไปตามบทกวีที่ชอบเขียน โดยอาจจะคิดในมุมที่ไม่เหมือนใคร

“ตัวครู ของครู”
พุทธทาสสอนธรรมล้ำลึก
ให้ตรองให้ตรึกตระหนักรู้
ใช้คำตรง “ตัวกู ของกู”
ให้สำรวจตรวจดูกิเลสตน
เมื่อใดเกิด “ตัวกู ของกู”
กิเลสเกิดฟ่องฟูทะลักท้น
เห็นแก่ตัวไม่เห็นหัวคน
เห็นแต่หนทางที่ดีแต่ตัว
ท่านจึงสอนให้รู้ละตัวตน
ให้รู้เหตุรู้ผลรู้ดีชั่ว
แยกถูกแยกผิดที่พันพัว
ให้ตื่นรู้ถ้วนทั่วทุกชั่วดี
อย่าให้เกิด “ตัวกู” ฟูฟ่อง
“ของกู” อย่าจับจองจนล้นปรี่
ไม่มีกู “ตัวกู” ก็ไม่มี
“ของกู” ก็คลายคลี่เป็นของใครใคร
วันนี้มีปัญหาให้เรียนรู้
“ตัวครู ของครู” เกิดเคลื่อนไหว
ปัญหาการศึกษาแบบไทยไทย
ครูคือ “ผู้ให้” หรือ “ผู้เอา”
ปฏิรูปการศึกษา ไม่ทันสมัย
สังคมโลกก้าวไกลไม่เหมือนเก่า
จิตวิญญาณครูเปลี่ยนแปร่งแสงเงา
รากเหง้า “ฝึกหัดครู” ก็เปลี่ยนไป
คำว่า “ครู” เคยขลัง ครั้งก่อนเก่า
ก็เปลี่ยนเอาเป็น “อาจารย์” ภูมิฐานใหญ่
ครู กลายเป็นอาชีพเหมือนใครใคร
ครูไม่ใช่ “ครุ” แบบบุราณ
วันนี้ “ตัวครู ของครู” เกิดฟูฟ่อง
จะจับจองอาชีพครู กันพลุกพล่าน
เกิดหวงแหนอาชีพวิชาการ
เกิดตั้งด่าน “ตัวครู ของครู”
จึงนึกถึงพุทธธรรมท่านพุทธทาส
สอนฝึกจิตให้ฉลาดตระหนักรู้
ต้องฝึกให้ไม่มี “ตัวกู ของกู”
ให้เป็นอยู่ เยี่ยง “ครู” ที่แท้จริง

            ว.แหวนลงยา
กำลังโหลดความคิดเห็น