xs
xsm
sm
md
lg

กรณีวิสามัญฯ “ชัยภูมิ ป่าแส” ชาวลาหู่ ต้องทำความจริงให้ปรากฏ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”
 
กรณีทหารวิสามัญฆาตกรรม นายชัยภูมิ ป่าแส ชาวไทยลาหู่ ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ นั้น กลายเป็นคำถามต่อสังคมไทยว่าเกิดอะไรขึ้น ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

ฝ่ายที่ออกมาต่อสู้เพื่อนายชัยภูมินั้น บอกว่าเป็นนักกิจกรรมที่เป็นแกนนำสำคัญของกลุ่มรักษ์ลาหู่ ที่ทำกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเขามีผลงานในการทำกิจกรรมที่ผลเป็นงานประจักษ์ หลากหลายอาทิ ผลงานด้านดนตรี การแต่งเพลง ผลงานด้านภาพยนตร์สั้นที่สะท้อนปัญหาของเด็กชายขอบ จนได้รับรางวัลช้างเผือกพิเศษดีเด่น ในเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 16 โดยมูลนิธิหนังไทย จากเรื่องเข็มขัดกับหวี

กล่าวกันว่าบทบาทสำคัญของชัยภูมิคือเป็นแบบอย่างให้เด็กและเยาวชนในชุมชนได้รวมตัวกันทำกิจกรรมที่มีคุณค่าห่างไกลจากอบายมุขต่างๆ รวมทั้งเป็นคนหนึ่งที่บทบาทสำคัญในการฟื้นฟูอนุรักษ์เผยแพร่วัฒนธรรมลาหู่และภาษาลาหู่ไปสู่สังคมวงกว้าง นำเรื่องราวชีวิตของชาวลาหู่ไปสู่สังคมวงกว้าง

ในขณะที่ตำรวจทหารบอกว่ามีข้อมูลที่นายชัยภูมิเชื่อมโยงกับพ่อค้ายาเสพติด

ข้อมูลด้านเป็นนักกิจกรรมของนายชัยภูมินั้นเป็นข้อมูลจริงๆ แน่ เพราะหลายฝ่ายยืนยันว่าเป็นที่รับรู้กันทั่วไป แต่ข้อมูลของฝ่ายทหารตำรวจที่บอกว่าเชื่อมโยงกับพ่อค้ายาเสพติดนั้นน่าจะเป็นข้อมูลใหม่ที่ไม่มีใครรู้มาก่อน

แต่นายชัยภูมิจะค้ายาเสพติดจริงตามข้อกล่าวหาหรือไม่ ต้องแยกออกจากการวิสามัญฆาตกรรมนะ เพราะไม่ใช่ว่า นายชัยภูมิค้ายาเสพติดหรือเชื่อมโยงกับพ่อค้ายาเสพติด ทหารจึงมีสิทธิวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ เพราะกระบวนการตัดสินความผิดแก่ผู้ถูกกล่าวหาผู้ต้องหา หรือจำเลย โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหา หรือจำเลยถึงแก่ความตาย ที่เรียกว่าคดีวิสามัญฆาตกรรมถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล ซึ่งฝ่าฝืนต่อหลักการสากลและกฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

ยกเว้นเป็นไปตามข้อกล่าวหาที่ระบุว่านายชัยภูมิต่อสู้ขัดขวางการจับกุมแล้วพยายามปาระเบิดใส่ทหารจึงใช้ปืนยิงจนนายชัยภูมิเสียชีวิต กฎหมายจึงจะให้สิทธิเจ้าหน้าที่ป้องกันตัวได้

มาตรา 83 วรรค 3 เขียนไว้ว่า ถ้าบุคคลซึ่งจะถูกจับขัดขวางหรือจะขัดขวางการจับ หรือหลบหนีหรือพยายามจะหลบหนี ผู้ทำการจับมีอำนาจใช้วิธีหรือการป้องกันทั้งหลายเท่าที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับนั้น

จะเห็นว่าเขาเขียนไว้ “เท่าที่เหมาะสม” เท่านั้น

ถ้านายชัยภูมิพยายามปาระเบิดเข้าใส่ทหารที่ตั้งด่านตามที่ถูกกล่าวหาจริง ผมคิดว่านี่เป็นเหตุที่ “เหมาะสม” นะ แต่นายชัยภูมิตายแล้วนี่พูดไม่ได้ แม้ว่าเพื่อนที่มาด้วยกันยังอยู่ ซึ่งตอนนี้ถูกควบคุมตัวอยู่ มันก็น่าคิดเหมือนกันว่า เพื่อนที่ถูกควบคุมตัวอยู่ซึ่งเป็นประจักษ์พยานปากสำคัญนั้นจะกล้าพูดความจริงแค่ไหน

แน่นอน สุดท้ายคดีนี้ต้องไปพิสูจน์กันที่ศาล เราพูดกันสวยหรูว่าขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่ 2 ฝ่ายเอามาต่อสู้กัน ตอนนี้ตำรวจทหารก็ยืนยันว่า มีหลักฐานสำคัญที่เชื่อมโยงว่านายชัยภูมิเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด แต่ผมไม่สนใจประเด็นนั้นแล้วนะครับ ค้ายาเสพติดผิดกฎหมายแน่ต้องดำเนินคดี แต่เป็นคนละส่วนกับการตายของนายชัยภูมิ ผมสนใจเพียงว่า นายชัยภูมิทำไมถึงถูกวิสามัญฆาตกรรมและเป็นไปตามที่ทหารกล่าวหาหรือไม่เท่านั้นเอง

ฝ่ายที่ไม่เชื่อว่านายชัยภูมิต่อสู้ก่อนถูกวิสามัญฯ พยายามเอาภาพที่นายชัยภูมิให้ความร่วมมือตอนตรวจค้นมาเผยแพร่ เพื่อให้เห็นว่า ไม่น่าเป็นไปได้ที่ฉากต่อมานายชัยภูมิจะต่อสู้ขัดขืนแล้วพยายามปาระเบิดใส่ทหารตามที่ถูกกล่าวหาเลย แต่ส่วนตัวผมว่าความเชื่อนี้อาจจะถูกหรือผิดก็ได้ เพราะสุดท้ายเมื่อค้นพบยาเสพติด(ถ้ามีจริง)นายชัยภูมิอาจขัดขวางก็ได้ แล้วนั่นเป็นแค่ภาพนิ่ง แต่ภาพต่อจากนี้ล่ะเป็นอย่างไร นี่เป็นคำถาม

ดังนั้นผมจึงเห็นด้วยนะครับที่สังคมเรียกร้องให้ทหารเอาภาพวงจรปิดซึ่งมีกล้องหลายตัวในที่เกิดเหตุมาเปิดเผย แล้วต้องให้ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์นะครับว่า กล้องเหล่านั้นผ่านการตัดต่อหรือไม่ เพราะจนถึงขณะนี้เหตุการณ์ล่วงเลยมาหลายวันแล้ว

ถ้าเป็นไปอย่างที่ทหารกล่าวหาจริง ทหารซึ่งเป็นรั้วของชาติจะได้พ้นจากข้อครหาเสียที
แต่เท่าที่ผมติดตามข่าวก็ไม่มีท่าทีว่าทหารและตำรวจจะยอมนำกล่องวงจรปิดมาเปิดเผยต่อสังคม การ์ดที่ตั้งเอาไว้ก็คือ ไปสู้คดีกันในศาล

แต่ที่ผมฟังแล้วแปลกมาก็คือว่า พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พูดกับสื่อเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ภาพกล้องวงจรปิดขณะเกิดเหตุจนถึงขณะนี้ตำรวจยังไม่ได้รับหลักฐานชิ้นดังกล่าว จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่า มีหรือไม่

เป็นไปได้อย่างไรครับตำรวจต้องลงพื้นที่เพื่อร่วมชันสูตรศพและตรวจสอบที่เกิดเหตุอยู่แล้ว จะไม่ตรวจสอบว่ามีกล้องวงจรปิดหรือไม่ แล้วจนถึงวันนี้ล่วงเลยมาเกือบสิบวันก็ยังไม่ได้รวบรวมหลักฐานจากกล้องวงจรปิดมาไว้ในมือของตำรวจ

ในขณะที่ พล.ต.สมพงษ์ แจ้งจำรัส รองแม่ทัพภาคที่ 3 ซึ่งถูกตั้งเป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนกรณีวิสามัญฯครั้งนี้ยืนยันว่า ทุกกระบวนการทำงานนั้น อาศัยหลักฐานที่เป็นรูปธรรมเช่นภาพจากกล้องวงจรปิด แต่ทั้งนี้ไม่อยากขยายความอะไร เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลต่อรูปคดี ส่วนกรณีที่มีหลายฝ่ายต้องการให้เผยแพร่ภาพจากกล้องวงจรปิดที่บันทึกเหตุการณ์ขณะทหารวิสามัญนายชัยภูมินั้น ขณะนี้คงไม่สามารถทำได้ เพราะเชื่อว่าเมื่อเปิดเผยออกไปก็จะต้องมีกลุ่มคนออกมาต่อต้านว่าคลิปดังกล่าวถูกตัดต่อ จนอาจเป็นเหตุให้เรื่องราวบานปลาย

แปลว่ากล้องวงจรปิดน่ะมีแน่ แต่ตอนนี้อยู่ในมือของทหารยังไม่ถึงมือของตำรวจที่มีหน้าที่สอบสวนหรืออย่างไร

เราอาจไปกล่าวหาไม่ได้ว่ารองแม่ทัพภาค 3 ซึ่งถูกตั้งเป็นประธานสอบสวนเรื่องนี้จะเข้าข้างพลทหารที่เป็นผู้ลงมือหรือไม่ แต่เรามองจากหลักความยุติธรรมทั่วไปมองจากสามัญสำนึกไม่ต้องมองจากกฎเกณฑ์ของความยุติธรรมก็ได้ เราว่าเรื่องแบบนี้มันจะเกิดความเป็นธรรมให้ไว้เนื้อเชื่อใจได้อย่างสนิทใจไหมถ้าฝ่ายเดียวกันตรวจสอบฝ่ายเดียวกัน หากผมเป็นคู่กรณีเองผมคิดว่าคงยากที่จะทำใจให้เชื่ออย่างนั้นได้

มีคนเคยศึกษาไว้นะครับว่า ตามสถิติแล้วส่วนใหญ่เจ้าพนักงานตำรวจมักสรุปสำนวนว่าการวิสามัญฆาตกรรมดังกล่าวเป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายและพอสมควรแก่เหตุ และมักพบว่าในชั้นสั่งคดีพนักงานอัยการสูงสุดมักมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีคล้อยตามความเห็นของพนักงานสอบสวน คดีจึงมักจะจบลงที่ชั้นการพิจารณาของอัยการสั่งไม่ฟ้อง เพราะฉะนั้น การที่จะนำคดีวิสามัญฆาตกรรมขึ้นสู่ศาลเพื่อพิจารณาพิพากษาหรือชี้ขาดว่าเจ้าพนักงานที่ตกเป็นจำเลยมีความผิดหรือไม่จึงแทบจะไม่เกิดขึ้นเลยเนื่องจากคดีมักจะไปจบลงตรงชั้นการทำ คำสั่งไม่ฟ้องของอัยการสูงสุดนั้นเอง อีกทั้งในทางปฏิบัติศาลมักจะวางตัวนิ่งเฉยไม่ก้าวล่วงเข้าไปซักถามพยานของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย การแสวงหาความจริงในคดีจึงอาจเกิดขึ้นได้ไม่เต็มที่ ทำ ให้แนวทางการทำคำสั่งในคดีขึ้นอยู่กับรูปแบบการเสนอพยานหลักฐานของฝ่ายเจ้าพนักงานรัฐเป็นสำคัญ

คำถามสำคัญของผมต่อกรณีนี้ก็คือ กรณีการวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น แม้กฎหมายจะวางไว้อย่างรัดกุมให้มีหลายฝ่ายเข้ามาร่วมสอบสวนทั้งอัยการและฝ่ายปกครอง แต่ต้องไม่ลืมว่า กรณีแบบนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างชาวบ้านธรรมดากับฝ่ายอำนาจรัฐนะครับ ลองคิดดูสิว่า เราจะสร้างหลักประกันให้คู่กรณีมีความมั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรมได้อย่างไร

ทำอย่างไรให้ทุกขั้นตอนมีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน กลายเป็นหน่วยงานรัฐตรวจสอบกันเอง โอเคล่ะกรณีนี้คนวิสามัญฯเป็นทหารแต่กรณีตำรวจเป็นผู้วิสามัญฯแล้วตำรวจเป็นผู้สอบสวนยิ่งแล้วใหญ่ เราจะควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจได้ตามหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างไร แม้ว่าจะมีหน่วยงานของรัฐเช่นอัยการและฝ่ายปกครองร่วมตรวจสอบก็ตาม เป็นไปได้หรือไม่เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ควรจะมีองค์กรตรวจสอบควบคุมการใช้อำนาจของกระบวนการยุติธรรมจากภายนอกเข้ามาร่วมด้วย

ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะผมเป็นห่วงภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมครับ เพราะผมถือว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นด่านสำคัญที่สุดที่จะทำให้บ้านเมืองมีความสงบสุข

ผมห่วงภาพลักษณ์ของทหาร ไม่อยากให้ทหารถูกกล่าวหาต่อเรื่องนี้จากฝ่ายต่างๆ ผมจึงสนับสนุนให้ทำความจริงให้ปรากฏตอบทุกคำถามต่อสังคมเพื่อเกียรติยศและศักดิ์ศรีของทหารเอง

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น