xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า-ฉลุย!เดินรถสายสีน้ำเงินปี62

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360- ครม.ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้า หวังส่งเสริมการใช้พร้อมให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้า 20% ของรถยนต์ใหม่ ด้าน บีโอไอ เร่งจัดทีมดึงนักลงทุนผลิตปิกอัพใช้ไทยเป็นฐานไฟฟ้า พร้อมเห็นชอบรถไฟฟ้าสีน้ำเงินได้รับบีโอไอ รฟม.เตรียมเซ็นจ้าง BEM เดินรถสายสีน้ำเงิน ก่อนทยอยเปิดเดินรถปลายปี 2562 จัดเก็บอัตราค่าโดยสารเท่าเดิมเริ่มต้นที่ 16 บาทสูงสุดที่ 42 บาท

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (28 มี.ค.) ยังเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยและเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราพิเศษ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) โดยลดอัตราภาษีลงกึ่งหนึ่งจากอัตราปกติ พร้อมกำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องผ่านการอนุมัติโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยหลังจากปีที่ 5 เป็นต้นไปต้องใช้แบตเตอรี่ผลิตในประเทศ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเนื่องของยานยนต์

ครม.ยังมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดย สำนักงบประมาณ ส่งเสริมให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 20% ของรถยนต์ใหม่ ขณะเดียวกันยังมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการผลิตและใช้แบตเตอรี่ในประเทศ 5 ปีข้างหน้า เป็นต้น โดยคาดว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะมีรถยนต์ไฟฟ้าใช้ในประเทศประมาณ 2-3 หมื่นคัน เกิดการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และหากค่ายรถยนต์ผลิตรถไฟฟ้าและมีผู้ใช้มากขึ้นจะทำให้ราคาปรับลดลงได้ในอนาคต

****ค่ายรถปิกอัพสนใจลงทุนรถไฟฟ้า
 
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บีโอไอ มีมาตรการการชักจูงการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ออกไปชักจูงการลงทุนจากค่ายผู้ผลิตรถไฟฟ้าทั่วโลกที่ยังไม่เคยมีฐานการผลิตรถยนต์ในไทยให้เข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ในไทย ส่วนภาษีสรรพสามิตที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีวานนี้ (28มี.ค.) ถือเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อรถไฟฟ้าใช้ในไทยด้วยระดับภาษีที่เอื้อให้เกิดตลาดในประเทศ

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาของรถยนต์ไฮบริดกับรถยนต์ธรรมดาจะแตกต่างกันไม่เกิน 1 แสนบาทบาท จากปัจจุบันที่แตกต่างประมาณ 2-3 แสนบาท ขณะเดียวกันคาดว่าแต่ละค่ายรถยนต์จะมีการออกแคมเปญเพื่อมากระตุ้นยอดขายกินส่วนแบ่งการตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันสัดส่วนการใช้รถยนต์ไฮบริดของไทยมีเพียง 10% ของรถยนต์นั่งทั้งหมด 40% เท่านั้น

*** ไฟเขียวจ้าง BEM เดินรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน
 
ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (28 มี.ค.) เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ

พร้อมกันนี้ ครม. ยังได้เห็นชอบในหลักการให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการตามขั้นตอนพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนปี 2520 และมีมติเพิ่มเติมในเรื่องระบบตั๋วร่วมให้เพิ่มเติมในข้อสัญญาเพื่อให้เริ่มใช้งานได้ทันทีและพิจารณาคนกลาง (Third Party) เพื่อตรวจสอบในเรื่องรายได้-รายจ่ายของโครงการหลังจากที่มีการรวมสัญญาเพื่อความโปร่งใส

ทั้งนี้ ผลการเจรจาผู้เดินรถรายเดิมคือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในเรื่องค่าลงทุน ค่างานระบบรถไฟฟ้า ค่าบำรุงรักษา ผลตอบแทนต่างๆ หลักการเจรจาได้ยึดหลักผลประโยชน์กับประชาชนใน 2 เรื่องคือ ไม่มีค่าแรกเข้า หรือเก็บเพียงครั้งเดียว และจัดเก็บอัตราค่าโดยสารเท่าเดิมเริ่มต้นที่ 16 บาทสูงสุดที่ 42 บาท สามารถเดินทางได้ตลอดสายของสายเฉลิมรัชมงคล จำนวน 18 สถานี และส่วนต่อขยาย 19 สถานี รวมเป็นประโยชน์ที่คืนให้ประชาชนประมาณ 62,569 ล้านบาท คิดเป็น 2,085 ล้านบาทต่อปี

ส่วนเรื่องอัตราผลตอบแทน (IRR) ต่อรองที่ 9.75ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี กรณีมีรายได้ผลตอบแทนเกิน 9.75%-11 % รฟม.จะได้รับส่วนแบ่งรายได้ 50:50 โดยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะมี 3 ส่วน ได้แก่สัญญาสายเฉลิมรัชมงคลเดิม จะหมดสัญญาในปี 2572 ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดและเมื่อครบสัญญาจะผนวกรวมกับสัญญาสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่สิ้นสุดปี 2592 พร้อมกัน

*** ใช้สัญญารูปแบบ PPP-Net Cost
 
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า สัญญารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินใช้รูปแบบ PPP-Net Cost รัฐไม่อุดหนุนการเงิน เอกชนมีความเสี่ยงในการดำเนินงาน โดยรายได้จะขึ้นกับปริมาณผู้โดยสาร ซึ่งรัฐได้เจรจาในเรื่องค่าโดยสารเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดโดยเก็บในอัตราเดิมของสายเฉลิมรัชมงคล สามารถเดินทางเป็นวงกลมได้ไกลขึ้น และการเดินรถต่อเนื่องมีประสิทธิภาพและปลอดภัย เนื่องจากเป็นผู้เดินรถรายเดิม โดยจะนำข้อสั่งการเพิ่มเติมเรื่อง Third Party และตั๋วร่วมเจรจากับ BEMและเร่งลงนามสัญญาให้เร็วที่สุด ตามแผนจะเปิดเดินรถบางส่วนจากสถานีหัวลำโพง-ท่าพระ-หลักสองปลายปี 2562 และเปิดได้ทั้งระบบในต้นปี 2563 โดยเอกชนมีเวลาในการจัดหาติดตั้งระบบและตัวรถ 3 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น