xs
xsm
sm
md
lg

โปรดอย่ากีดกันผู้ที่ต้องการสอบบรรจุเป็นครูโดยที่ไม่มีปริญญาทางการศึกษา เพื่ออนาคตของชาติ

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

แฟ้มภาพ
อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


เมื่อเร็วๆ นี้ (20 มี.ค. 60) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ได้แถลงมติคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ซึ่งเห็นชอบให้บรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยไม่จำเป็นต้องมีใบประกอบวิชาชีพครูหรือปริญญาทางการศึกษาก็ได้ เรื่องนี้ทำให้ได้รับการต่อต้านจากบรรดาครูและคณาจารย์ในคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ การศึกษา อย่างกว้างขวาง มีการรณรงค์คัดค้านและอภิปรายในที่สาธารณะว่าจะทำให้เกิดปัญหาและเกิดความตกต่ำทางการศึกษา

อันที่จริงเรื่องการกีดกันไม่ให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากสาขาวิชาชีพอื่นเป็นครูนั้นมีมานาน และผู้ที่ห่วงใยในปัญหานี้มากที่สุดคือสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงสำเร็จการศึกษาทางอักษรศาสตร์และปริญญาเอกทางพัฒนศึกษาศาสตร์ในภายหลัง ว่าในสาขาวิชาที่ขาดแคลนหรือเป็นความรู้ชั้นสูงควรเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้มีปริญญาทางการศึกษาโดยตรงได้มีโอกาสในการสอบบรรจุดังที่ ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานกรรมการคุรุสภา ในช่วงนั้นได้ให้สัมภาษณ์ว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริว่าการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ในสาขาขาดแคลน คุรุสภาควรให้บุคคลเหล่านี้เข้ามาเป็นครูได้ก่อน โดยไม่มีการปิดกั้นตั้งแต่ต้น และหากเป็นครูครบ 2 ปี แล้วยังไม่มีใบอนุญาตฯ ก็สามารถให้ออกจากระบบได้ และอยากให้คุรุสภาอนุญาตให้ผู้ที่จบสาขาขาดแคลนเข้ามาเป็นครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ (ดูรายละเอียดได้จาก http://www.kruupdate.com/news/newid-2785.html ซึ่งภายในสองปีต้องสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้)

เรื่องนี้ผู้เขียนเองได้ผ่านการเรียนหนังสือมาจากทั้งครูผู้ที่สำเร็จการศึกษาทางครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และการศึกษามาโดยตรง ผู้เขียนเองเป็นเด็กต่างจังหวัดและได้เรียนกับครูซึ่งไม่จบปริญญาตรีด้วยซ้ำ แต่ครูรุ่นเก่าเหล่านี้ จำนวนมากคือผู้ที่สอบได้ที่หนึ่งของจังหวัดแล้วจึงได้รับทุนให้ไปเรียนครู ครูเหล่านี้แม้จะจบแค่ ปกศ สูง หรือ ปม หรือ พม เท่านั้นก็สามารถสอนหนังสือได้ดี เพราะมีพื้นฐานความรู้และความเฉลียวฉลาดดี อีกทั้งมีจิตใจของความเป็นครูสูงมาก น่าเสียดายที่ครูรุ่นนี้เกษียณอายุราชการออกไปจนหมดแล้ว

ได้ทราบมาว่าสมัยต่อมา ประเทศไทยเร่งผลิตครูอย่างมากเพราะเราเกิด baby boomer มีประชากรเกิดเกินล้านคนตั้งแต่ปี 2505 เกือบ 30 ปี บางปีมีเด็กเกิดกว่า 1.5 ล้านคน ทำให้เกิดการขาดแคลนครูอย่างรุนแรง และเกิดการเปิดวิทยาลัยครูต่อมาเป็นสถาบันราชภัฎอย่างมากมาย และผลิตมาไม่ตรงกับความต้องการด้วย ครูสาขาที่ขาดแคลนคือ ครูคณิตศาสตร์ ครูวิทยาศาสตร์ และครูภาษาอังกฤษ ขาดแคลนมาก ทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ส่วนครูสาขาอื่นๆ นั้นผลิตมาจนล้น คนเข้ามาเป็นครูนั้นมีน้อย ไม่ได้อยากเป็นครูกัน คะแนนสอบเข้าคณะทางการศึกษานั้นต่ำมากไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป ทั้งๆ ที่ผลตอบแทนหรือเงินเดือนของครูค่อนข้างดีกว่าสมัยก่อน และได้ C8-C9 ห้อยสายสะพายกันได้ง่ายกว่าในอดีตมากนัก อีกทั้งผลการทดสอบเช่น PISA หรือ TIMS ของไทยก็ไม่ค่อยจะดีเท่า ปัญหาการศึกษาไทยจึงอยู่ที่คุณภาพครูที่ตกต่ำ หรือพูดอย่างตรงไปตรงมา เราไม่ได้คนเก่งมาเป็นครูมาสอนลูกหลานเราหลายสิบปีแล้ว แตกต่างจากในอดีตที่คนสอบได้ที่หนึ่งของจังหวัดเลือกที่จะไปเรียนครูเพราะได้ทุนและได้รับการยอมรับนับถือกราบไหว้อย่างสูงในสังคม

เมื่อผู้เขียนเข้ามาเรียนในกรุงเทพมหานคร ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผู้เขียนกลับพบว่าครูที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในยุคนั้น ไม่ได้จบมาทางครูหรือทางการศึกษาเลย อาจารย์สอนภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส จบอักษรศาสตร์บัณฑิต/มหาบัณฑิต เป็นส่วนใหญ่ บางท่านจบปริญญาตรีและโทมาจากต่างประเทศด้วยซ้ำ ส่วนอาจารย์สอนคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา แทบทั้งหมดสำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิต/มหาบัณฑิต ครูสอนผู้เขียนที่ไม่ได้จบการศึกษาทางครุศาสตร์บัณฑิต ศึกษาศาสตร์บัณฑิต หรือการศึกษาบัณฑิตเหล่านี้ มีภูมิความรู้ความสามารถสูง เฉลียวฉลาด และมีจิตวิญญาณของความเป็นครูสูง ครูผู้สอนสามารถโยงความรู้จากระดับมัธยมศึกษาตอนปลายไปจนถึงชั้นมหาวิทยาลัยได้อย่างดียิ่ง ผู้เขียนเองประทับใจอาจารย์หลายท่านมาก ยังจำได้ว่าได้อ่านกลอนภาษาอังกฤษของ อาจารย์พินิจ ถัดทะพงษ์ที่แปลเพลงอังกฤษเป็นกลอนไทย และแปลกลอนไทยเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างสละสลวยที่สุด ความสามารถดีเยี่ยมไม่แพ้เจ้าของภาษา ยังทันได้เรียนภาษาฝรั่งเศสโดยสอนด้วยภาษาอังกฤษกับอาจารย์วัฒนพร วัฒนพงษ์ ได้เรียนเคมีกับกับอาจารย์ วราภรณ์ ถิระสิริ ที่สอนเคมีได้ดีมหัศจรรย์จนจำได้บ้างแม้ไม่ได้ใช้มาหลายสิบปีแล้วก็ตาม ครูโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่นที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเรียนจำนวนมาก ด้วยพื้นความรู้ที่สูงมากได้ผันไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็มาก

ทำให้ผู้เขียนมีความรู้สึกว่า การสำเร็จปริญญาทางครุศาสตร์หรือไม่ไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญว่าจะสอนได้ดี แต่การได้คนเก่ง ฉลาด ที่สามารถเรียนรู้เนื้อหาได้ไว มีความเข้าใจในเนื้อหาที่สอนได้ลึกซึ้งน่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญกว่ามาก ผู้เขียนได้ลองสังเกตว่าสถาบันกวดวิชาเองก็เปลี่ยนไปมาก สมัยก่อนสถาบันกวดวิชาที่มีชื่อเสียงจะเป็นอาจารย์หรือครูในโรงเรียนดังที่ออกมาเปิดสอนพิเศษ แต่ในปัจจุบัน กลายเป็น พี่ๆ ที่เพิ่งจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ในสาขาวิชาที่ไม่ใช่วิชาครูโดยตรง เช่น จบนิเทศศาสตร์ พาณิยศาสตร์และการบัญชี วิศวกรรมศาสตร์ คนที่จบคณะชั้นนำเหล่านี้ มีความชอบสอน ชอบเป็นครูโดยนิสัยใจคอแต่ทนไม่ได้กับระบบราชการครูอันเทอะทะไร้ประสิทธิภาพ ก็ออกมาสอนพิเศษตั้งสถาบันกวดวิชา มีเด็กนักเรียนแห่มาเรียนมากมาย ไม่ได้มีปริญญาทางการศึกษา/ครุศาสตร์ เลย แต่ก็ทำได้ดี เพราะมีผู้ความรู้มาดี เป็นผู้มีความแม่นในเนื้อหาวิชา เฉลียวฉลาด และเข้าใจจิตใจนักเรียนดี

การพยายามยกระดับวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง เช่น การปรับหลักสูตรจาก 4 ปี เป็น 5 ปี ผู้เขียนได้วิจัยโดยวิเคราะห์เนื้อหาหลักสูตรครูระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศที่ผลิตครูคณิตศาสตร์ พบว่าได้เรียนเนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์น้อยมาก และไม่สอดคล้องกับเนื้อหาคณิตศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาเลย เช่น เนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์มัธยมศึกษาตอนปลายเป็นเนื้อหาวิชาสถิติกว่า 40% แต่หลักสูตรผลิตครูคณิตศาสตร์ระดับปริญญาตรีได้เรียนสถิติโดยเฉลี่ยเพียง 6 หน่วยกิต จาก 150 กว่าหน่วยกิต หรือเพียงไม่ถึงร้อยละ 3 แต่วิชาที่สอนกันมากคือการสอนวิชาครู การมีวิชาครูที่ดีน่าจะช่วยทำให้สอนได้ดี แต่หากมีความรู้ในเนื้อหาไม่ดีแล้ว สอนได้อย่างดีแต่เนื้อหาผิด มีความเข้าใจผิด จะติดตัวนักเรียนไปจนตาย เพราะสอนดี อันนี้น่าจะเป็นอันตรายมากกว่าอื่นใด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สังวรณ์ งัดกระโทก แห่งสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้ให้ข้อมูลว่า

ผลการวิจัยเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์การศึกษา พบว่า ในช่วงเวลาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ คุณภาพการศึกษามักดีขึ่้นมากกว่าช่วงเวลาปกติ คำอธิบายของนักวิจัย คือ ภาวะตกงานในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจทำให้คนจบสาขาอาชีพอื่นมาเป็นครูมากขึ้น หรือเข้าสู่อาชีพครูมากขึ้น คำอธิบายนี้เป็นการตบหน้าสถาบันการผลิตครูกันเลยทีเดียว

คำถามว่าจริงใหม ที่คุณภาพการศึกษาดีขึ้นหากมีคนจบสาขาอื่นๆ มาเป็นครู คำตอบที่พอหาได้ คือ งานวิจัย TEDS-M ของ สสวท ที่ทำร่วมกับประเทศอื่นๆ ที่ผมเป็น Research Assistant ตอนเรียนปริญญาเอกที่ Michigan State University ที่เปรียบเทียบคุณภาพการผลิตครู 3 รูปแบบ/เส้นทาง

ผลวิจัยที่สำคัญข้อหนึ่งพบว่่่า ในประเทศเรา มีสถาบันผลิตครู ไม่เกิน 3 แห่ง ที่ผลิตครูได้มีคุณภาพเทียบเคียงกับนานาชาติ ซึ่งในแต่ละปี สถาบันทั้งสามแห่งนี้ผลิตครูได้นิดเดียว บางคนที่จบก็ไม่เป็นครูอีก จินตนาการได้ว่าจะมีนักเรียนประถม มัธยม อีกจำนวนมากที่ไม่ได้เรียนการครูที่ผลิตโดยสถาบันที่มีคุณภาพเหล่านี้ ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่คนสับสน สสวท ควรนำงานวิจัยนั้นออกมาเผยแพร่บ้างก็ดี ที่ผ่านมา เรามักจะไม่ได้ทราบเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาจากงานวิจัยของ สสวท เลย มักจะเก็บขึ้นหิ้ง เพราะ ศธ. กลัว จึงสั่งให้ปิด เราเลยรู้เรื่องราวการศึกษาของไทยจากต่างประเทศมากกว่า เช่น การรายงานผล PISA ของ OECD เป็นต้น

วกมาเรื่องการสอบครูในปัจจุบัน ที่กำหนดให้นักศึกษาสาขาไม่ใช่ศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ สามารถสอบครูได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการตบหน้าสถาบันการผลิตครูครั้งที่สอง ถามว่าทำได้ใหม คำตอบคือทำได้ ประเทศอื่นๆ ก็มีทำ โดยเฉพาะประเทศที่ขาดครู สถาบันการผลิตครูทั่วโลกมีประเด็นที่ท้าทายมากในเรื่องทิศทางการผลิตครู หลังการขึ้นอันดับ 1 ของประเทศจีนในการสอบ PISA เพราะว่าครูจีนขาดศาสตร์การสอน แต่สอนนักเรียนให้ได้คะแนนสูงได้

นโยบายการสอบครูรอบนี้ เป็นไปตามหลักเครือข่ายสังคม คือ คนในเครือข่าย (network) ที่ขาดความที่พึ่งพิงได้ ขาดความท้าทายแล้ว มักจะแสวงหาเครือข่ายใหม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็คงคิดแบบนั้น ผมเข้าใจว่านักศึกษาสาขาอื่นที่สมัครสอบครู คงมีความรู้สึก หรือมีใจอยากเป็นครูบ้างแล้วละ แต่หากสอบได้ควรได้รับการอบรมก่อนสอน และควรมีวิธีการพัฒนาในระหว่างสอนด้วยก็ดี

แล้วสถาบันการผลิตครู จะทำอย่างไรดี ผมว่านโยบายการสอบครูครั้งนี้จะทำให้สถาบันการผลิตครูหันมาทบทวนเรื่องการผลิตครูกันมากขึ้น ศาสตร์ของความเป็นครูควรสอนอะไรบ้าง ชั้นปีใหน จะต้องเป็นพหุคณะหรือเปล่า รวมถึงในระดับชาติควรกำหนดได้ว่าสถาบันใดควรผลิตครูได้บ้าง เพื่อให้เกิดคุณภาพและคงศักดิ์ศรีของครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์


ผู้เขียนมีความเห็นว่าต้องมีการปรับหลักสูตรและวิธีการเรียนการสอนทางศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ ใหม่ทั้งหมด โดยต้องลดสัดส่วนการสอนวิชาครุศาสตร์ให้น้อยกว่านี้และสอนวิชาครูเท่าที่จำเป็น และอาจารย์ในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ต้องไม่สอนวิชาเนื้อหาเอง (ไม่ควรตั้งคณะในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์อีก) และให้นักศึกษาข้ามมาเรียนกับนักศึกษาในวิชาเอกโดยตรงในมหาวิทยาลัยให้ได้มากที่สุด ให้มีความเข้มแข็งทางวิชาการ เช่น ครูคณิตศาสตร์ต้องมาเรียนที่ภาควิชาคณิตศาสตร์ ครูฟิสิกส์ต้องเรียนเนื้อหาวิชาฟิสิกส์ที่ภาควิชาฟิสิกส์ ครูสังคมศึกษาต้องข้ามมาเรียนกับคณะเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ หรือครูสอนทางธุรกิจศึกษาต้องข้ามมาเรียนวิชาเนื้อหาที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เป็นต้น

อีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะดีกว่าด้วยซ้ำคือ คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ สอนเฉพาะระดับหลังปริญญาตรี เช่น สอนประกาศนียบัตรวิชาชีพครู หรือ ปริญญาโททางครุศาสตร์ โดยผู้เข้ามาเรียนต้องสำเร็จการศึกษาวิชาเนื้อหามาแล้ว จึงมีเนื้อหาที่จะสอนแม่นยำกว่า วิธีการนี้อันที่จริงเคยทำกันมานานแล้ว เช่น ครูสมัยก่อนจบอักษรศาสตร์บัณฑิต/วิทยาศาสตร์บัณฑิต แล้วมาต่อครุศาสตร์บัณฑิต หรือ ปม หรือ พม ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว แต่น่าที่จะรื้อฟื้นให้มี และหาทางดึงดูดคนเก่งๆ จากวิชาชีพอื่นๆ ให้มาเป็นครูให้มากในสาขาที่ขาดแคลน

สิ่งหนึ่งที่กระทรวงศึกษาธิการและครูต้องเตรียมตัวคือเมื่อเด็กเกิดน้อยลงเหลือเพียงครึ่งเดียวหรือหนึ่งในสามของในอดีต โรงเรียนต่างๆ จะไม่มีนักเรียนและต้องทยอยปิดตัวลงไป จำนวนโรงเรียนต้องลดลง โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่เป็นที่นิยม และการเดินทางไม่ได้ยากลำบากอีกต่อไป จำนวนครูก็เช่นกันต้องลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียวหรือหนึ่งในสาม แต่ต้องมีคุณภาพมากขึ้นตามโลกและวิชาความรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น