ผู้จัดการรายวัน 360 - ขสมก.ยอมรับยังไม่ยกเลิกซื้อ “เมล์เอ็นจีวี” กับ “เบสท์ริน” อ้างต้องรอผลสรุปจาก “กรมศุลกากร” ก่อน เผย ก.คมนาคมก็ไม่เร่ง แย้มถ้าเอกชนฟ้องศาล ก็ทำอะไรไม่ได้ ด้าน "กุลิศ" ออกตัวเรื่องสัญญาต้องไปตกลงกันเอง
วานนี้ (23 มี.ค.) นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ขสมก.ยังไม่สามารถตัดสินใจปัญหาการจัดซื้อรถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง(รถเมล์เอ็นจีวี) จำนวน 489 คัน ที่ยังมีปัญหาแหล่งกำเนิดสินค้าในการนำเข้าได้ เพราะยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความกระจ่างมา แม้จะส่งหนังสือขอรับคำปรึกษาไปหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งเรียก ขสมก.ไปให้ข้อมูล โดย สตง.แนะนำว่า ขสมก.ควรทำหนังสือสอบถามเรื่องนี้ไปยังสถานทูตมาเลเซีย จึงได้ทำตามคำแนะนำแล้ว และสถานทูตมาเลเซียยังไม่ตอบกลับมา ส่วนทางด้านกรมศุลกากรนั้น ขสมก.ได้ทำหนังสือทวงถามไป 2-3 ฉบับแล้วเพื่อขอผลสรุปการตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) ซึ่งก็ยังไม่ได้รับคำตอบเช่นกัน ขณะที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้ให้คำแนะนำว่า ขสมก.ควรรอผลสรุปจากกรมศุลกากรก่อน ทั้งนี้ ขสมก.ได้หารือเรื่องดังกล่าวในการประชุมคณะกรรมการ ขสมก.ทุกครั้ง ซึ่งคณะกรรมการให้นโยบายว่า ขสมก.ต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามสัญญา กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ส่วนกระทรวงคมนาคมก่อนหน้านี้เคยเร่งรัด แต่ปัจจุบันก็ขอให้ ขสมก.รอคำตอบจากกรมศุลกากรเช่นกัน
“ยอมรับว่าหากผู้รับงาน คือ บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญากับ ขสมก.ยื่นฟ้องร้อง ขสมก. เรื่องนี้ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของศาล จากนั้น ขสมก.จะไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้อีกต่อไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา” นายสุระชัย ระบุ
** กรมศุลฯออกตัวไม่เกี่ยวเลิกสัญญา
ขณะที่ นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมหลักฐานเอกสาร เพื่อรวบรวมส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีนำเข้ารถเมล์เอ็นจีวี จำนวน 99 คัน ที่มีการสำแดงถิ่นกำเนิดเป็นเท็จ และเลี่ยงภาษี และความผิดฐานเป็นนอมินีในการนำเข้ารถเมล์เอ็นจีวี โดยยืนยันว่าหลักฐานทั้งหมดจะถูกส่งถึงมือดีเอสไอโดยเร็วที่สุด และที่ผ่านมาก็ได้มีการส่งหนังสือจากกรมศุลกากรไปยัง ขสมก. แล้วหลายฉบับ โดยรายละเอียดในหนังสือจะเป็นการตอบคำถามในกรอบที่กรมศุลกากรได้ดำเนินการอยู่ แต่ไม่ได้มีการก้าวล่วงระหว่างหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานแต่อย่างใด ซึ่งกรมศุลกากรยืนยันว่าทำหน้าที่ในส่วนที่รับผิดชอบเท่านั้น
“เรื่องสัญญาที่บริษัทเอกชนทำไว้กับ ขสมก. นั้น เป็นเรื่องที่ต้องไปตกลงกันเอง กรมฯ ไม่ก้าวก่ายส่วนใดที่นอกเหนือจากหน้าที่ของหน่วยงาน" นายกุลิศ กล่าว.
วานนี้ (23 มี.ค.) นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ขสมก.ยังไม่สามารถตัดสินใจปัญหาการจัดซื้อรถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง(รถเมล์เอ็นจีวี) จำนวน 489 คัน ที่ยังมีปัญหาแหล่งกำเนิดสินค้าในการนำเข้าได้ เพราะยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความกระจ่างมา แม้จะส่งหนังสือขอรับคำปรึกษาไปหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งเรียก ขสมก.ไปให้ข้อมูล โดย สตง.แนะนำว่า ขสมก.ควรทำหนังสือสอบถามเรื่องนี้ไปยังสถานทูตมาเลเซีย จึงได้ทำตามคำแนะนำแล้ว และสถานทูตมาเลเซียยังไม่ตอบกลับมา ส่วนทางด้านกรมศุลกากรนั้น ขสมก.ได้ทำหนังสือทวงถามไป 2-3 ฉบับแล้วเพื่อขอผลสรุปการตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) ซึ่งก็ยังไม่ได้รับคำตอบเช่นกัน ขณะที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้ให้คำแนะนำว่า ขสมก.ควรรอผลสรุปจากกรมศุลกากรก่อน ทั้งนี้ ขสมก.ได้หารือเรื่องดังกล่าวในการประชุมคณะกรรมการ ขสมก.ทุกครั้ง ซึ่งคณะกรรมการให้นโยบายว่า ขสมก.ต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามสัญญา กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ส่วนกระทรวงคมนาคมก่อนหน้านี้เคยเร่งรัด แต่ปัจจุบันก็ขอให้ ขสมก.รอคำตอบจากกรมศุลกากรเช่นกัน
“ยอมรับว่าหากผู้รับงาน คือ บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญากับ ขสมก.ยื่นฟ้องร้อง ขสมก. เรื่องนี้ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของศาล จากนั้น ขสมก.จะไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้อีกต่อไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา” นายสุระชัย ระบุ
** กรมศุลฯออกตัวไม่เกี่ยวเลิกสัญญา
ขณะที่ นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมหลักฐานเอกสาร เพื่อรวบรวมส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีนำเข้ารถเมล์เอ็นจีวี จำนวน 99 คัน ที่มีการสำแดงถิ่นกำเนิดเป็นเท็จ และเลี่ยงภาษี และความผิดฐานเป็นนอมินีในการนำเข้ารถเมล์เอ็นจีวี โดยยืนยันว่าหลักฐานทั้งหมดจะถูกส่งถึงมือดีเอสไอโดยเร็วที่สุด และที่ผ่านมาก็ได้มีการส่งหนังสือจากกรมศุลกากรไปยัง ขสมก. แล้วหลายฉบับ โดยรายละเอียดในหนังสือจะเป็นการตอบคำถามในกรอบที่กรมศุลกากรได้ดำเนินการอยู่ แต่ไม่ได้มีการก้าวล่วงระหว่างหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานแต่อย่างใด ซึ่งกรมศุลกากรยืนยันว่าทำหน้าที่ในส่วนที่รับผิดชอบเท่านั้น
“เรื่องสัญญาที่บริษัทเอกชนทำไว้กับ ขสมก. นั้น เป็นเรื่องที่ต้องไปตกลงกันเอง กรมฯ ไม่ก้าวก่ายส่วนใดที่นอกเหนือจากหน้าที่ของหน่วยงาน" นายกุลิศ กล่าว.