xs
xsm
sm
md
lg

บี้สรรพากรเก็บภาษีหุ้นชินฯ ขู่ไม่ทำยื่นปปช.ฟันผิดม.157

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360-"พิศิษฐ์" ย้ำกรมสรรพากรต้องดำเนินการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นกลุ่มชินฯ หลังมีมติให้ใช้ช่องทาง มาตรา 61 ป.รัษฎากร ภายใน 31 มี.ค.นี้ หากไม่ดำเนินการ จะยื่น ป.ป.ช. ฐานเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ พร้อมจี้ตรวจสอบภาษี 60 นักการเมือง "บิ๊กป้อม" มั่นใจทำทุกอย่างถูกกฎหมาย ยินดีให้ สตง. ตรวจสอบภาษี เผยเช็ค 1 ล้าน ได้รับตั้งแต่ยังไม่เป็นรมว.กลาโหม เผยล่าสุดราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำวินิจฉัยภาษีอากรแล้ว ยันเก็บภาษีหุ้นชินฯ หมดอายุความปี 55

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยถึงการดำเนินการให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีการขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น ให้กับกลุ่มทุนเทมาเส็กว่า เรื่องนี้มีมติในการใช้ช่องทางกฎหมาย มาตรา 61 ตามประมวลรัษฎากร เพื่อให้กรมสรรพากรดำเนินการเรียกเก็บภาษี ซึ่งตอนนี้ ต้องให้เวลากรมสรรพากรทำงาน แต่ก็ต้องอยู่ในห้วงเวลาไม่เกินวันที่ 31 มี.ค.นี้ ที่การจัดเก็บภาษีจะหมดอายุความ แต่หลังพ้นกรอบเวลา หากกรมสรรพากรไม่ทำหน้าที่ ก็จะยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการ ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตาม มาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญาต่อไป

ทั้งนี้ หากผู้ได้รับแจ้งการประเมินภาษี เห็นว่ายังไม่มีความเป็นธรรม สามารถอุทธรณ์ตามกระบวนการได้ หรือหากไม่ชำระภาษี หรือเหตุผลในการอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น ก็ต้องขึ้นสู่กระบวนการทางศาล ให้ศาลภาษีอากรเป็นผู้ตัดสินให้ได้ข้อยุติ ไม่ใช่ผู้มีหน้าที่จัดเก็บภาษีจะตีความว่ากฎหมายไม่สามารถดำเนินการอะไรได้

ส่วนการดำเนินการเก็บภาษีนักการเมืองในช่วงรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ส่งรายชื่อให้กรมสรรพากรดำเนินการตรวจสอบแล้ว ซึ่งกลั่นกรองจาก 100 กว่าคน เหลือ 60 คน โดยพิจารณาจากนักการเมืองที่มีรายได้เพิ่มขึ้น หรือหนี้สินลดลงเกินกว่า 5 ถึง 6 ล้านบาท

นายพิสิษฐ์กล่าวว่า ในครั้งแรกเมื่อส่งรายชื่อนักการเมืองทั้ง 60 คนไป กรมสรรพากร แจ้งว่าได้ตรวจสอบกับทางป.ป.ช.แล้ว ไม่พบว่ามีการแสดงทรัพย์สินเป็นเท็จ หรือร่ำรวยผิดปกติ แต่ทาง สตง. ก็ยืนยันว่า กรมสรรพากรต้องดำเนินการตรวจสอบและจัดเก็บภาษี แม้จะมีสถานะเป็นปกติ เพื่อดูว่ามีการจัดเก็บภาษีครบถ้วนหรือไม่ พร้อมฝากถึงบุคคลที่รู้ตัวว่ายังเสียภาษีไม่ครบถ้วน ให้รีบไปดำเนินการเสียภาษี จะได้ไม่เสียเงินเพิ่ม หากมีการจัดเก็บจากการเรียกประเมิน แต่เสียแค่เบี้ยปรับตามเวลา

"การดำเนินการจัดเก็บภาษีนักการเมือง เป็นเรื่องที่ต้องติดตามเร่งรัด เพราะหากปล่อยเวลาใกล้หมดอายุความ ก็จะคล้ายกับกรณีภาษีหุ้นชินคอร์ปว่าประเมินภาษีไม่ได้ ขยายเวลาไม่ได้ จนต้องใช้กฎหมายอื่นมาช่วยในการจัดเก็บ ซึ่งเรื่องนี้กรมสรรพากร ต้องนำมาเป็นบทเรียน พร้อมย้ำการดำเนินการเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องทางการเมือง แต่เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ต้องการใช้การจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรม" นายพิสิษฐ์กล่าว

ส่วนการดำเนินการติดตามภาษีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในปัจจุบัน ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการ เพราะยังไม่พ้นจากตำแหน่ง ส่วนกรณี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย จะยื่นหนังสือร้องอธิบดีกรมสรรพากร ให้ตรวจสอบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กรณีเช็ค 1 ล้านบาทที่เข้าข่ายควรตรวจสอบภาษีด้วยนั้น เป็นเรื่องของนายเรืองไกรที่จะดำเนินการ ในส่วนของ สตง. จะติดตามเรื่องปกติ โดยจะสุ่มบุคคลที่มีประโยชน์ คือ บุคคลคนที่มีรายได้เกินจากความเหมาะสมจำเป็น เราจะมุ่งจัดเก็บรายใหญ่ที่ทรัพย์สินเพิ่มจำนวนมากๆ เป็นเกณฑ์เช่นเดียวกับที่กรมสรรพากร ใช้ตรวจอยู่แล้ว

สำหรับการเปิดเผยรายชื่ออดีตรัฐมนตรี 4 ราย ที่จะถูกสอบภาษีนั้น นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า สตง. ไม่ได้เป็นคนเปิดเผย และไม่ได้รับรู้อะไรทั้งนั้น เพราะไม่ได้มีเจตนาให้มีผลกระทบในเรื่องใดๆ ต้องการเพียงว่า ให้กรมสรรพากรไปดูว่าบุคคลใดที่จะต้องเสียภาษี ก็ให้ไปเสียให้ครบแต่ถ้าประเมินแล้วรวยเป็นปกติและรายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีให้แจ้งมายัง สตง.

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีเมื่อรัฐบาลปัจุบันทำงานครบ 1 ปี จะมีการตรวจสอบเรื่องทรัพย์สิน ซึ่งส่งผลถึงเรื่องการตรวจสอบภาษีหรือไม่ ว่า เรื่องนี้ให้กรมสรรพากร เป็นคนพูดดีกว่า

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้ สตง. ตรวจสอบภาษีของตนว่า ก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย ถ้าเห็นว่าตนทำผิด ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ต้องเป็นห่วง ตนก็ปฏิบัติตามกฎหมาย เหมือนกับทุกคน ส่วนการเปิดเผยว่ามีเช็คโอนเงินมาให้ 1 ล้านบาทนั้น เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นนานแล้วตั้งแต่ปี 2551 ก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่งรมว.กลาโหม ดังนั้น ขอย้ำว่า ตนก็ไม่เคยรับเงินใคร และขอยืนยันว่า ไม่เคยคิดจะฟ้องร้องใคร เพราะทุกอย่างต้องการให้มีการตรวจสอบ อีกทั้งตนทำอะไร ไม่เคยผิดกฎหมาย เหมือนประชาชนทั่วไปที่ยึดถือและใช้กฎหมายร่วมกันเป็นหลัก

วันเดียวกันนี้ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คําวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 41/2560 เรื่อง การขยายเวลาการออกหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร ว่าจะนำมาใช้เมื่อพ้นกำหนดเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้ยื่นรายการไว้ได้หรือไม่ ซึ่งปรากฎว่า ไม่สามารถนำมาใช้ได้ หากมีการยื่นรายการตามแบบไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ซึ่งหมายความว่า กรมสรรพากรไม่สามารถให้นายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ชินวัตร เสียภาษีหุ้นชินฯ ได้อีก เพราะได้ยื่นแบบเสียภาษีตั้งแต่ปี 2550 และหมดอายุความเมื่อปี 2555
กำลังโหลดความคิดเห็น